“ขุนนาง” มาจากไหน ทำไมเรียกว่าขุนนาง ศัพท์คำนี้มีความหมายอย่างไร

ขุนนางสมัยโบราณ

ขุนนาง หรือข้าราชการสมัยโบราณ ไม่มีเงินเดือนเช่นปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่นิยมของคนไทยมาก ความนิยมดังกล่าวก็ยังคงไม่คลายมนต์ลงไปสักเท่าใด ผู้ใหญ่จึงมักอวยพรลูกหลานว่า “ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน” แล้ว “ขุนนาง” คำนี้มาจากไหน ส.พลายน้อย เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ ข้าราชการทหารและพลเรือน” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


ในสมัยสุโขทัยมีคำ ขุนนาง ใช้บ้างแล้วประปราย ในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม) มีจารึกตอนหนึ่งว่า “เป็นขุนยี่ขุนนาง…” และในหนังสือไตรภูมิพระร่วงตอนเปตภูมิก็มีกล่าวถึงคำว่าขุนนางเหมือนกัน แต่ความหมายในสมัยนั้นจะตรงกับในสมัยนี้หรือไม่ตอบไม่ได้

Advertisement

การวินิจฉัยที่มาของคำ ‘ขุนนาง’ ได้มีผู้อธิบายไว้ต่างๆ กัน ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องน่าศึกษา ถึงแม้ว่าจะเป็นการสันนิษฐานแต่ก็เป็นความรู้ส่วนหนึ่งที่แสดงว่าคนแต่ก่อนเขาคิดเข้าใจว่าอย่างไร ไม่ควรจะปล่อยให้หายสูญไป จึงขอนำข้อสันนิษฐานต่างๆ มาให้พิจารณากันเล่น

หลวงวิจิตรวาทการอธิบายไว้ว่า “ผู้มีบุญวาสนาที่มีข้ามากๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเลือกเอาข้าผู้หญิงไว้ช่วงใช้ใกล้ตัว จึงเกิดมีเมียนับเป็นสิบๆ คน ชนิดนี้ก็เรียกว่า ขุนนาง เพราะเอานางมาเลี้ยงไว้มากๆ เมื่อครอบครัวใหญ่โตมีผู้คนมากมายก็จำต้องมีคนหนึ่งซึ่งตั้งอำนาจเด่นขึ้นมา ได้แก่เมียใหญ่เมียหลวง

เมียคนนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูผู้คน และการเลี้ยงดูในหน้าที่ของเมียใหญ่นี้ ก็มักต้องเลี้ยงดูผู้ชายเป็นส่วนมาก เพราะผู้หญิงนั้นตัวเก็บเอาไปเลี้ยงหมดแล้ว หน้าที่การเลี้ยงดูผู้ชายทำให้เมียใหญ่ได้รับตำแหน่งเป็น ขุนนาย ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดมีคำสองคำ คือตัวเป็น ขุนนาง เมียเป็น ขุนนาย น่าเสียดายที่คำขุนนายมาเลือนไปภายหลัง และกลายเป็น คุณนาย ในเวลานี้ ซึ่งผิดความหมายเดิมไปมาก”

ตามคำอธิบายของหลวงวิจิตรวาทการดังกล่าวข้างต้นนั้น ท่านจะสันนิษฐานขึ้นเอง หรือจะอธิบายตามเค้าของเก่าก็ไม่ทราบได้ เพราะในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ฉบับของหมอแบรดเลย์ ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ได้อธิบายคำ ขุนนาง ไว้ว่า “ขุนนางคือการที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ที่ท่านได้เลี้ยงนางไว้นั้น คือความที่รักษานางไว้นั้นเอง” ซึ่งจะเห็นว่าเข้าใจแบบนี้มากว่าร้อยปีแล้ว ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานการใช้คำ ‘ขุนนาย’ ที่ใด จึงไม่อาจสนับสนุนหรือออกความเห็นอย่างไรได้

ฝ่ายท่านที่รู้ภาษาจีนไปพบคำในภาษาจีนที่มีสุ้มเสียงใกล้ๆ กับคำว่าขุนนาง ก็เลยยกคำขุนนางของไทยว่ามาจากภาษาจีน และในภาษาจีนเองก็มีคำที่ใกล้กับคำขุนนางอยู่สองคำ คือคำว่า กวั๊นหนู่ ซึ่งแปลว่าทาสของประเทศ แต่จะหมายความกว้างขวางแค่ไหนไม่ทราบ และอีกคำหนึ่งว่ามาจาก กู๊นเหยี่ยง หรือ กู๊นหย่าง แปลว่า ราชการและข้าราชการ ในภาษาจีนเสียง ย กับ น มักสับที่กันเสมอ ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนกู๊นหย่าง เป็นกู๊นหน่าง ก็ใกล้กับคำว่า ขุนนาง มากทีเดียว แต่ขุนนางจะมาจากกู๊นหน่างจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ยังหาหลักฐานการใช้คำนี้ที่เก่าไปกว่าจารึกวัดศรีชุมดังกล่าวแล้วไม่ได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในลายพระหัตถ์ สาส์นสมเด็จ ตอนหนึ่งว่า “อีกปากหนึ่งอธิบายคำว่า ขุน ว่ามาจาก กุ๋น-เจียง กุ๋น-ไตเจียง กุ๋นในภาษาจีนหมายว่าขุนนาง ฟังเข้าที่ แต่ก็ไม่พ้นสงสัยไปได้ ถ้ากุ๋นเป็นขุนแล้วเอาคำลูกไปนำหน้าขึ้นขุนเป็นลูกขุนนั้นนำทำไม จะได้ความว่ากระไร คำว่า ขุนนาง เห็นจะพูดหมายรวม คือ ขุนและนาง หมายเอาผัวเมียแล้วกลายเป็นผัวคนเดียว ขุนหมายถึงผัว”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงตอบว่า “คำที่เรียกว่าขุนนาง ความบ่งชัดว่าเรียกรวมทั้งชายและหญิง คือข้าราชการกับภรรยา กำเนิดของคำขุนนางน่าจะเกิดแต่การพระราชพิธีบางอย่าง ซึ่งเรียกไปเข้ากระบวนทั้งสามีภรรยา พิธีเช่นนั้นมีปรากฏอยู่ในพิธีสิบสองเดือนในกฎมณเฑียรบาลไทยและกฎมณเฑียรพม่า อาจจะเขียนโดยย่อหรือพูดตามสะดวกปากว่า หมายเรียกขุนนางไปเข้าพิธี เป็นต้น

ครั้นภายหลังมาแม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้หญิงนอกวังเข้าเกี่ยวข้องในการพิธีน้อยลงจนแทบจะไม่มีทีเดียว ยังเหลือพิธีถือน้ำอย่างเดียว ซึ่งภรรยาข้าราชการต้องไปถือวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกันกับสามี แต่คำว่า ขุนนาง เคยพูดกันติดปากมาเสียนานแล้ว จึงกลายเป็นเรียกข้าราชการผู้ชาย ทูลนี้โดยเดา ขอให้ทรงพิเคราะห์ดูเถิด”

ต่อมาได้ทรงพระดำริว่า “ที่เรียกคำว่า ขุนนาง ก็น่าจะมาแต่คำควงเหมือนกัน เช่นว่า ให้หมายสั่งทั้ง ขุน – นาง แล้วจึงมาเปลี่ยนเป็นฝ่าย หน้า – ใน” ต่อมาในชั้นหลังเลยอ่านรวมเป็นคำเดียวว่า ขุนนาง ซึ่งตามพระมตินี้ก็น่าจะเป็นไปได้เหมือนกัน

ผู้ที่สันนิษฐานลึกไปกว่าที่กล่าวมาแล้วก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา ท่านได้สันนิษฐานคำ ขุนนาง ไว้ในเรื่อง โขลน ตอนหนึ่งว่า “คะระวะนะ ออกเสียงเป็น คะโรนามะ เพี้ยนมาเป็นคะโรนาง เป็นโครนนาง มาเป็น โคนนาง มาเป็น คุนนาง แล้วก็กลายมาเป็นขุนนาง คำว่าขุนนางนี้มีผู้เคยตีความหมายกันมามาก แต่ก็ยังไม่รู้กันแน่ว่าแปลว่าอะไร ผู้เเขียนขอลงสันนิษฐานไว้ในที่นี้ว่า ขุนนางเป็นคำมาจาก คะระวะนะ ซึ่งเป็นต้นตอ แล้วเพี้ยนกันมาเป็นต่อๆ ดังกล่าวแล้ว แปลว่าประมุขหรือพระเจ้าแผ่นดินนั้นเอง (เทียบคำ จุนนิง ภาษาเยอรมัน ที่แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน)

อนึ่ง คำว่า โครนนาง หรือขุนนาง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าหรือพระเจ้าแผ่นดิน ในชั้นเดิมคงจะใช้หมายถึงเมียด้วยเป็นคู่กัน คือเรียกทั้งพระเจ้าแผ่นดินและมเหสีว่า โครนนาง ต่อมาภายหลังจึงใช้ผันแปรไป โดยแยกออกเรียกเป็นสองคำ โครนหรือโคนหรือขุน หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินชาย นางหมายถึงมเหสี คำว่านางที่ใช้กันมาแต่โบราณจึงหมายถึงหญิงสูงศักดิ์ทั้งสิ้น”

ตามข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ความเห็นของผู้ใดจะถูกผิดอย่างไรก็ยากที่จะตัดสิน เพราะเป็นเรื่องของภาษาที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว ไม่มีจดหมายเหตุกล่าวถึงประวัติการใช้คำเหล่านี้ไว้เลย ถ้าว่าตามความคิดของผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าคำขุนนางเป็นภาษาไทย ยิ่งปรากฏในศิลาจารึกดังอ้างมาข้างต้นก็ยิ่งน่าศึกษาค้นคว้ามากขึ้น

กล่าวกันตามสำนวนโวหารในภาษาไทย มีอยู่หลายคำที่กล่าวถึงขุนนาง เช่น ขุนนางวางน้ำ หรือขุนน้ำขุนนาง ทำไมต้องมีคำว่าน้ำ เข้าไปเกี่ยวข้องดูประหลาดชอบกล ยังมีคำเปรียบอีกสำนวนหนึ่งที่ใช้พูดกันมาแต่โบราณ คือ ขุนนางใช่พ่อแม่ ซึ่งชูชกกล่าวไว้ในเรื่องเวสสันดรชาดก มีความหมายว่า ขุนนางนั้นไม่เหมือนพ่อแม่ที่รักใคร่ลูกอย่างแท้จริง ขุนนางมีแต่วางตนเป็นนาย ที่จะรักใคร่เหมือนพ่อแม่นั้นยาก

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2564