ยุทธศาสตร์ทัพพม่า สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ตีล้านนา ล้านช้าง และหัวเมืองเหนือ

ภาพประกอบเนื้อหา - "พระเจ้าตากทรงรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองตะวันออก เข้าตีกองทหารพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น" จิตรกรรมฝาผนังภายในท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงตั้งข้อวินิจฉัยไว้ในพระนิพนธ์ไทยรบพม่า ว่า ในชั้นต้นพม่าไม่ได้ประสงค์จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ เห็นได้จากกองทัพที่พระเจ้ามังระ (Hsinbyushin) โปรดให้ยกมาทั้งทางเชียงใหม่และทางทวายนั้นมีธุระในทางทหารผิดกัน คือ กองทัพที่ยกมาทางเชียงใหม่นั้นรับหน้าที่ปราบปรามกบฏในแคว้นล้านนา และยังจะต้องยกเลยขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบาง (หลักฐานข้างพม่าเรียก ล้านช้าง) ในขณะที่กองทัพที่ยกมาทางทวายรับหน้าที่ตีเมืองทวายเพียงเมืองเดียว ด้วยเหตุนี้ความคิดที่จะตีกรุงศรีอยุธยา จึงน่าจะเป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาภายหลังจากที่พม่าเห็นว่าไทยอยู่ในสภาพที่อ่อนแอจนเป็นช่องทางให้พม่าสามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้

ข้อวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ข้างต้น ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงในพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบอง ที่ยืนยันว่า พระเจ้ามังระโปรดให้เตรียมการตีกรุงศรีอยุธยาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาช้านาน พงศาวดารพม่าระบุว่า ในชั้นต้นพระเจ้ามังระโปรดให้เตรียมกองทัพไว้ทั้งสิ้น 27 กอง กองทัพดังกล่าวนี้ประกอบด้วยทัพช้าง 100 ทัพม้า 1,000 และพลเดินเท้า 20,000 โดยเนเมียวสีหบดี (Neimyou Thihapatei) เป็นแม่ทัพ กะยอดินสีหตุ (Kyawdin Thihgathu) และคุเชงยามะจอ (Tuyin Yamagyaw) เป็นปลัดทัพ

Advertisement

ทัพทั้งหมดยกออกจากกรุงอังวะในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2307 โดยมีเป้าหมายที่จะปราบกบฏในล้านนา เข้าตีล้านช้าง และขยายลงมาตีกรุงศรีอยุธยา กองทัพที่ยกมาทั้ง 27 กองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกำลังที่ยกลงมาทางเส้นเชียงใหม่ ภายหลังจากที่เนเมียวสีหบดีได้รวบรวมกำลังเพิ่มเติมจากหัวเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน ปราบกบฏในล้านนาและยึดครองล้านช้างได้แล้ว กองทัพพม่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นรวมแล้วกว่า 40,000 มิได้มีเพียง 5,000 ดังระบุในคำให้การชาวอังวะ

สำหรับพม่าแล้ว กรุงศรีอยุธยาตอนปลายยังคงเป็นราชธานีที่ยากจะต่อรบด้วย ทัศนคตินี้ถูกสะท้อนให้เห็นในพระราชดำริของพระเจ้ามังระว่าด้วยการเตรียมทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผู้ชำระพงศาวดารคองบอง ได้เรียบเรียงความไว้ว่า พระเจ้ามังระทรงมีพระราชดำริว่า อาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่เคยถึงกาลต้องถูกทำลายลงโดยเด็ดขาดมาก่อน ฉะนั้นจะอาศัยทัพของเนเมียวฯ ที่ยกไปทางเชียงใหม่เพียงทัพเดียวย่อมยากจะตีอยุธยาให้สำเร็จโดยง่าย จึงจำเป็นต้องจัดกองทัพให้มหานรธา (Mahā Naw-ra-htā) ไปช่วยกระทำการอีกด้านหนึ่ง หลักฐานส่วนนี้มีน้ำหนักพอจะยืนยันได้ว่าการตีกรุงศรีอยุธยาเป็นงานใหญ่ที่พม่าเตรียมการอย่างรัดกุมล่วงหน้าเป็นแรมปี

หลักฐานในพงศาวดารพม่าระบุว่า กองทัพของมหานรธาประกอบด้วยทัพช้าง 100 ทัพม้า 1,000 และพลเดินเท้า 20,000 โดยมีเนเมียวกุณเย๊ะ (Neimyou Gûnayé) และคุเชงยานองจอ (Tuyin Yanaungyaw) ติดตามไปเป็นปลัดทัพ กองทัพทั้งหมดเคลื่อนไปสมทบกับกำลังอีกส่วนหนึ่งซึ่งเกณฑ์จากเมืองหงสาวดี (Hanthawaddy) เมาะตะมะ (Martaban) ตะนาวศรี (Tenasserim) มะริด (Mergui) และทวาย (Tavoy) รวมกำลังแล้วทั้งสิ้นกว่า 30,000 กำลังทั้งหมดนี้เคลื่อนออกจากเมืองทวายในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2308 โดยมีเป้าหมายมุ่งเข้าตีเมืองเพชรบุรี (Byat-hpi) ราชบุรี (Yap-hpi) สุพรรณบุรี (Thahpan : poum) กาญจนบุรี (Kan-puri) ไทรโยค (Hsa-ya?) และสวานโปง (Hsun : hpoun?) ก่อนจะพุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

นอกจากขนาดของกองทัพที่พงศาวดารพม่าบรรยายไว้ ยุทธศาสตร์เส้นทางเดินทัพโดยเฉพาะเส้นเชียงใหม่ ภายใต้การบัญชาการของเนเมียวสีหบดียังเป็นหลักฐานในตัวเองที่ยืนยันว่า พม่ามีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างรัดกุมในการตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง

โดยปกติแล้วเส้นทางเดินทัพที่พม่าใช้เข้าตีกรุงศรีอยุธยามีสองเส้นทางคือ เส้นเหนือ ซึ่งหากไม่ยกเข้ามาทางเชียงใหม่ก็ยกเข้ามาทางเมืองตากและระแหง (คือทางด่านแม่ละเมา แต่ในที่นี้ขอรวมเรียกว่าเส้นเชียงใหม่ตามพงศาวดารพม่า) และเส้นตะวันตก คือยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ส่วนเส้นใต้หรือเส้นทวายซึ่งยกเข้ามาทางด่านสิงขรนั้นเป็นเส้นทางใหม่ ซึ่งพม่าเริ่มนำมาใช้ในสมัยพระเจ้าอลองพญา (Alungpaya พ.ศ. 2295-2303)

ทั้งนี้เพราะในสมัยดังกล่าว พม่ามีกองทัพเรือที่ช่วยในการลำเลียงพลจากร่างกุ้งและเมาะตะมะตัดลงสู่ทวายได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับพระเจ้าอลองพญาเองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหันไปใช้เส้นทางใหม่ที่ฝ่ายไทยคาดไม่ถึง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถใช้โจมตีได้โดยฉับพลัน (Surprise attack) ในจำนวนเส้นทางเดินทัพทั้งหมดที่กล่าวมา เส้นเหนือหรือเส้นเชียงใหม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่างไปจากเส้นอื่น จากการศึกษาเปรียบเทียบทำให้ทราบว่า พม่าจะเลือกใช้เส้นด่านพระเจดีย์สามองค์และเส้นทวาย ต่อเมื่อต้องการบุกให้ถึงอยุธยาโดยฉับพลัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายไทยเตรียมการตั้งรับทัน เส้นทางทั้งสองสายจะกินเวลาการเดินทัพสั้นกว่าเส้นทางสายเชียงใหม่มาก โดยเฉพาะเส้นด่านพระเจดีย์สามองค์นั้นกินเวลาสั้นที่สุด คือเพียง 15 วันโดยประมาณ ขณะที่เส้นเชียงใหม่ต้องใช้เวลาถึงกว่าเดือน

ปกติแล้วทัพพม่าที่เลือกเดินเส้นทางเชียงใหม่มักจะไม่ใช่ทัพที่จะเข้าโจมตีอยุธยาโดยฉับพลัน แต่จะเป็นกองทัพที่มุ่งทำการระยะยาวแต่หวังผลแน่นอน เป้าหมายแรกของกองทัพที่ยกมาทางนี้คือ การยึดครองหัวเมืองสำคัญที่จะเป็นแหล่งเสบียงอาหารและกำลังคนที่พม่าสามารถอาศัยทำศึกระยะยาวได้

ทัพพม่าที่ยกมาตามเส้นเชียงใหม่จะแบ่งปฏิบัติการทางการทหารออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก จะเข้ายึดหัวเมืองสำคัญในแคว้นล้านนาประเทศโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็มีบางครั้งที่ระยะเวลาระหว่างการตีเชียงใหม่กับการบุกอยุธยาทิ้งช่วงเป็นแรมปี หากพม่ามีเหตุเผอิญต้องติดศึกด้านอื่นที่สำคัญกว่า ดังเห็นได้ในสงครามช้างเผือก (พ.ศ. 2106) กระนั้นก็ดีการทิ้งช่วงดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเชียงใหม่และเมืองศูนย์อื่นในแคว้นล้านนาหมดสิ้นไป หลักฐานทั้งในพงศาวดารอยุธยาและพงศาวดารพม่าให้การต้องกันว่า ในสงครามครั้งสำคัญ อาทิ สงครามช้างเผือกและสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองทรงอาศัยเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์ลำเลียงเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์และกำลังคนให้กับกองทัพของพระองค์ที่ยกมาทางด่านแม่ละเมาเพื่อเปิดศึกระยะยาวกับอยุธยา

ในสงครามคราวเสียกรุงครั้งหลัง ภารกิจแรกของกองทัพเนเมียวฯ ที่ยกลงมาทางเชียงใหม่คือการปราบกบฏในแคว้นล้านนา จากนั้นเนเมียวฯ จึงอาศัยกำลังคนจากหัวเมืองสำคัญในแคว้นล้านนา อาทิ เมืองแพร่ (Bye) เมืองน่าน (Anan) เมืองลำปาง (La-kun) เมืองพะเยา (Hpayo) และกำลังจากล้านช้าง (ซึ่งพม่ายึดได้ภายหลังการปราบกบฏในล้านนา) ลงมาตีกรุงศรีอยุธยา ในศึกอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 ซึ่งเป็นสงครามที่สำคัญที่สุดในสมัยธนบุรี อะแซหวุ่นกี้ (Athiwungyi) ก็ได้สั่งให้โปสุพลาและโปมะยุง่วน ซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ที่เมืองเชียงแสน ยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่ก่อนล่วงหน้า เพื่อเตรียมการให้การสนับสนุนกองทัพใหญ่ที่จะยกตามมาทางเส้นเชียงใหม่ภายหลัง แต่ปรากฏว่าครั้งนั้น โปสุพลาและโปมะยุง่วนทำการล่วงหน้า

ปฏิบัติการขั้นที่สองของกองทัพพม่าที่ยกมาทางเส้นทางเชียงใหม่คือการแบ่งกำลังเข้าตีหัวเมืองซึ่งเป็นฐานกำลังของอยุธยา ที่กระจัดกระจายกันอยู่บนลุ่มน้ำปิง ยมและน่าน เมืองที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการยึดครองขั้นนี้คือเมืองพิษณุโลก วัตถุประสงค์สำคัญของปฏิบัติการขั้นนี้ ไม่เพียงเป็นการตัดกำลังสนับสนุนหรือป้องกันการตีกระหนาบของกองทัพไทยทางด้านเหนือ แต่ยังเป็นการยึดครองพื้นที่ที่เป็นทั้งแหล่งเสบียงอาหารและกำลังคนที่พม่าสามารถกะเกณฑ์มาใช้ในราชการสงครามได้…

ส่วนขั้นตอนที่สามซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารขั้นสุดท้ายของกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางเส้นเชียงใหม่คือการเข้าล้อมและโจมตีกรุงศรีอยุธยา

ไม่พึงต้องสงสัยว่า กองทัพของเนเมียวฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนกองทัพที่อาศัยเส้นเชียงใหม่เป็นเส้นทางเดินทัพ เป็นกองทัพขนาดใหญ่ที่มีการวางแผนงานอย่างรัดกุมและเป็นขั้นตอน ปฏิบัติการปราบกบฏในแคว้นล้านนาและการตีล้านช้างของกองทัพนี้ ไม่ใช่ “ธุระทางทหาร” ที่แยกเป็นคนละส่วนกับภารกิจในการร่วมมือกับกองทัพของมหานรธาเพื่อตีกรุงศรีอยุธยา ในทางตรงกันข้าม “ธุระทางทหาร” นั้นเป็นหนึ่งในปฏิบัติการตามขั้นต้นของกองทัพที่วางแผนยุทธศาสตร์ไว้อย่างรัดกุม ตามแบบฉบับของกองทัพพม่าที่ใช้เส้นเชียงใหม่เป็นเส้นเดินทัพ

นอกจากนี้การที่พระเจ้ามังระมีพระบัญชาให้กองทัพของเนเมียวฯ ขยายแนวปฏิบัติการทางทหารไปจนถึงลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงเจตนารมณ์แต่ดั้งเดิม และแน่วแน่ของพระเจ้ามังระ ในการพิสูจน์ความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินล้านช้างและอยุธยา สำหรับพระเจ้ามังระ พระราชดำริในการตีกรุงศรีอยุธยามิได้เป็นการตัดสินพระทัยโดยกะทันหัน แต่เป็นเจตจำนงที่ก่อตัวขึ้นจากแรงผลักดันทางความคิดความเชื่อ ที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมทางการเมืองของพม่ามาแต่โบราณกาล…

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2” เขียนโดย ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ (พิมพ์ครั้งที่ 9. สำนักพิมพ์มติชน, 2555.), ***ตัดทอนเอกสารอ้างอิงเพื่อความกระชับ โปรดดูเชิงอรรถในเล่ม***

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2564