“เมรุชั่วคราวนกหัสดีลิงค์เมืองอุบล” มรดกทางงานช่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน

นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อเรียกนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยายว่าอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะทางกายภาพคือ รูปตัวส่วนใหญ่มีลักษณะแบบนก แต่มีจะงอยปากเป็นงวงช้าง

ประวัติความเป็นมาของธรรมเนียมการทำเมรุศพรูปนกหัสดีลิงค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ประทานอธิบายว่า “เป็นประเพณีจากอินเดียมาสู่เขมร จากเขมรเข้ามาไทยทางภาคอีสาน แล้วทางพายัพจึงเอาแบบอย่างจากภาคอีสานไปอีกทอดหนึ่ง” สำหรับเมืองอุบลตำแหน่งที่จะมีสิทธิ์นำศพขึ้นเมรุนกหัสดีลิงค์ได้นั้นต้องเป็นเจ้าเมืองและเจ้าอุปฮาด เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และลูกหลาน นอกจากนี้แล้วไม่มีสิทธิ์ที่จะขึ้นนกหัสดีลิงค์ได้ เว้นแต่พระเถระผู้ใหญ่ของเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พิธีสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์จึงไม่ค่อยมี เนื่องจากเชื้อวงศ์เจ้านายพื้นเมืองถูกยกเลิก คงจะมีได้เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้น เจ้านายที่ว่านี้เรียกว่า “อัญญาสี่”

ในสมัยก่อนต้องสร้างนกหัสดีลิงค์แล้วชักลากไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่สนามทุ่งศรีเมือง เป็นเวลา ๓ วัน การเผาศพนกหัสดีลิงค์จะต้องมีการฆ่านกเสียก่อน อนุสนธิตามตำนานกล่าวว่า ผู้ที่จะฆ่าต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองนครเชียงรุ่งโบราณ ต่อมาในยุคของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง (เข้าใจว่าเป็นการเลียนแบบพระราชพิธีหลวงของกรุงเทพฯ จึงให้ยกเลิก) และอนุญาตให้เฉพาะพระเถระที่ทรงคุณธรรม โดยเริ่มจากพระธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม นับเป็นนกหัสดีลิงค์ตัวสุดท้าย และเป็นพระเถระผู้ใหญ่องค์แรกที่ได้รับเกียรติยศให้ทำพิธีเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง

ลักษณะทางศิลปกรรม โครงสร้างรูปทรงเป็นไม้ไผ่มาจักตอกเป็นรูปนก ทำเมรุหอแก้วบนหลังนก สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดิน ไม่ยกร้านหรือยกพื้นสูงเหมือนปัจจุบัน การประดับตกแต่งด้วยกระดาษมากรุเขียนลายองค์ประกอบที่สำคัญของตัวนกตามคติโบราณ ส่วนหัวนกจะต้องให้งวงม้วนได้ ตากะพริบได้ หันคอได้ หูแกว่ง อ้าปากและมีเสียงร้อง โดยการสร้างนกจะต้องมีการยกครู ช่างในยุคก่อนที่ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ ได้แก่ พระครูวิโรจน์รัตโนบล ญาพ่อมหาเสนาวัดทุ่งศรีเมือง ช่างสาย ช่างสี ช่างคำหมา และล่าสุดงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตโนบล มีช่างพระที่ประกอบเมรุนกหัสดีลิงค์ที่วัดทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ ๑๗-๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ คือพระครูเกษมธรรมานุวัตร โดยมีพ่อใหญ่บำเพ็ญ ณ อุบล เป็นผู้ให้คำปรึกษา และคุณพ่อสุวิชช คูณผล ปราชญ์ท้องถิ่นอีสาน