ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | พีรยา มหากิตติคุณ |
เผยแพร่ |
เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 วันรุ่งขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ อันมีใจความว่าคำประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน และประชาชนมิได้เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนั้นของรัฐบาล โดยมี นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ จึงกราบถวายบังคมลาออกตามมารยาททางการเมือง
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อรับมือกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะภารกิจสำคัญคือ การเจรจาเพื่อยุติสถานะสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด
ทุกฝ่ายเห็นควรมอบภาระนี้ให้แก่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงการเมืองระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากไม่สามารถรอให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย โดยปล่อยให้ช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศได้ จึงจำต้องมีคณะรัฐบาลใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ตระเตรียมการต่างๆ และบริหารประเทศเป็นการ “ชั่วคราว” ไปพลางก่อน
ในการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว มีการพิจารณาความเหมาะสมจากบุคคลที่เป็นแกนนำสำคัญอยู่หลายคน ในที่สุดทุกฝ่ายร่วมกันตัดสินใจสนับสนุนให้ นายทวี บุณยเกตุ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่างรับรู้ว่าเป็นเพียง “ชั่วคราว” ไม่กี่วันเท่านั้น เหตุผลหลักที่ทำให้นายปรีดี สนับสนุนการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายทวีจากการศึกษาของ วิจิตร วิชัยสาร เกิดจาก[47]
1. นายปรีดีต้องการให้มีบุคคลที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลายคน มิใช่เป็นตำแหน่งที่ผูกขาดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
2. นายปรีดีไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง ด้วยเกรงข้อครหาว่าต้องการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพราะหวังตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงต้องการช่วยเหลือรัฐบาลอยู่เบื้องหลังมากกว่า
3. นายปรีดีและแกนนำเสรีไทยที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างมีความเห็นว่านายทวีเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมมากที่สุด (ในเวลานั้น) เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
3.1 นายทวีเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนที่จบการศึกษาจากฝรั่งเศสและได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมงานปฏิวัติมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะ จวบจนก่อการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากนั้นก็ได้ร่วมงานในตำแหน่งสำคัญมาโดยลำดับ
3.2 นายทวีมีประสบการณ์สำคัญที่เหมาะสมยิ่งกว่าผู้อื่นคือ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ชุดที่ 1 นายทวี ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญที่สุดคือ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การปฏิบัติงานที่ผ่านมาทั้งหมด ทำให้นายทวีเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความสามารถในการประสานงานกับบุคคลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
3.3 เหตุผลที่น่าจะมีความสำคัญมากที่สุดคือ ฐานะของนายทวี ในขบวนการเสรีไทยนั้น นายทวีเป็นแกนนำที่นายปรีดีไว้วางใจให้ทำงานอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่หลังจากที่นายทวีขัดแย้งกับ จอมพล ป. ถึงขั้นลาออกจากตำแหน่ง การทำงานร่วมกันระหว่างนายปรีดี นายทวีกับคณะเสรีไทยและฝ่ายสัมพันธมิตร จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในความเหมาะสมของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายทวีในช่วงเวลานี้ ดังที่นายปรีดีกล่าวว่า “เลือกเอาผู้ที่เขา [หมายถึงสัมพันธมิตร – ผู้เขียน] รู้จักดี แล้วก็รู้อยู่ว่า อยู่เพียง 9-10 วันเท่านั้น”[48]
ทวี บุณยเกตุ กับภารกิจ “นายกรัฐมนตรี 17 วัน”
รัฐบาล ทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม-17 กันยายน 2488) จึงเป็นรัฐบาลชุดเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็น “ผู้จัดการ” อยู่เบื้องหลัง ผู้กลั่นกรองว่าควรจะให้ใครดำรงตำแหน่งอะไรบ้าง[49] รัฐบาลชุดนี้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมการทุกอย่างไปสู่การเจรจายุติสถานะสงครามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และต้องแสดงออกถึงการให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลจึงต้องดำเนินการหลายด้านดังนี้
1. ด้านการต่างประเทศ รัฐบาลนายทวีดำเนินการปิดสถานทูตแมนจูกั๊วะ ถอนทหารออกจากเชียงตุง เมืองพาน ในภูมิภาคฉาน เพื่อลดการเผชิญหน้ากับจีน ส่งมอบดินแดนทั้งหลายที่เคยได้รับระหว่างสงครามกลับคืนแก่เจ้าของเดิม ได้แก่ คืน 4 รัฐมาลัย (ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู) และสหรัฐไทยเดิม (เชียงตุง เมืองพาน ในภูมิภาคฉาน) แก่อังกฤษ และส่งมอบดินแดน 4 จังหวัดอินโดจีน (ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ พระตะบอง หรือจังหวัดลานช้าง นครจำปาศักดิ์ พิบูลสงคราม พระตะบอง) รวมทั้งเกาะแก่งทั้งหลายในแม่น้ำโขงกลับคืนแก่ฝรั่งเศส ยกเลิกประกาศทุกฉบับที่ลงนามกับญี่ปุ่น ส่งคณะผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี เพื่อเจรจาเบื้องต้นเกี่ยวกับการทหาร
ผลจากการเจรจาครั้งแรกนี้ทำให้ฝ่ายไทยตระหนักว่าการเจรจาเพื่อยุติสถานะสงครามกับอังกฤษจะมิได้ดำเนินไปโดยง่าย และให้การต้อนรับคณะนายทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่เดินทางเข้ามาสำรวจความเสียหายและเจรจาเกี่ยวกับการยอมจำนนของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยซึ่งรวมถึงคณะของ พลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรประจำเอเชียอาคเนย์ด้วย
2. ด้านภายในประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการเจรจาเพื่อยุติสถานะสงคราม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการหลายอย่าง อาทิ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ไทย-Thailand” กลับมาใช้คำเดิมว่า “สยาม-Siam” ยุบตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” เพื่อลดชื่อเสียงเกียรติภูมิของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ครั้นเมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว นายทวีได้นำคณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เข้าจัดตั้งรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้ (19 กันยายน-15 ตุลาคม 2488) โดยนายทวียังคงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและยังคงเป็นตัวแทนของนายปรีดีในการผลักดันเรื่องสำคัญต่างๆ อาทิ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เพื่อดำเนินการเอาผิดกับ จอมพล ป. และคณะ[50]
นายทวีจะมาปรากฏชื่ออีกครั้งในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการในสมัยรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ (24 มีนาคม-23 สิงหาคม 2489) แต่หลังจากนายปรีดีลาออกแล้ว นายทวีไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีกโดยให้เหตุผลว่าสภาพของการเมืองระหว่างนั้น (2488-90) เต็มไปด้วยความสกปรกที่เกิดจากการแตกแยกของกลุ่มการเมือง ทั้งกลุ่มของ นายควง อภัยวงศ์ กลุ่มของ นายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งมีวิธีการแข่งขันที่ไม่ถูกต้องนานารูปแบบ ทำให้เขาต้องการถอยตัวออกมาทั้งๆ ที่ได้รับการทาบทามจากทุกกลุ่มให้เข้าร่วมพร้อมข้อเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม[51]
ทวี บุณยเกตุ ลี้ภัยที่ปีนัง
ภายหลังรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารเปิดทางให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง นายทวีจึงเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่มักจะได้รับการทาบทามจากกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านคณะรัฐประหารให้เข้ารับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อาทิ พล.ต. เนตร เขมะโยธิน ได้ทาบทามให้นายทวีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[52]
นายทวีจึงถูกคณะรัฐประหารจับกุมในข้อหากบฏเสนาธิการในคืนวันที่ 30 กันยายน 2491 หลังจากได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ 11 พฤศจิกายนแล้ว นายทวีจึงตัดสินใจเดินทางไปขอลี้ภัยที่ปีนัง โดยให้เหตุผลว่าถูกขู่ว่าถ้าไม่หนีออกไปนอกประเทศจะฆ่าให้ตาย[53]
ระหว่างที่นายทวีใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ชักชวนให้นายทวีเข้าร่วมยึดอำนาจอีกครั้งในเหตุการณ์ที่ภายหลังเรียกว่ากบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492) ซึ่งทำให้นายทวีมีรายชื่ออยู่ในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ในรัฐบาลของฝ่ายกบฏที่มี นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี
นายทวีจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกคณะรัฐประหารส่งโทรเลขลวงให้กลับมาประเทศไทย แบบเดียวกับที่นายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งหลบหนีมาอยู่ที่ปีนังได้รับเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากนายทวีอยู่นอกเมืองจึงมาขึ้นเครื่องบินไม่ทัน ต้องรอเดินทางในวันรุ่งขึ้น นายทวีจึงรอดพ้นจากการถูกจับกุมและไม่ถูกคณะรัฐประหารฆ่าล้างเอาชีวิตแบบเดียวกับ นายทองเปลว ชลภูมิ และนักการเมืองฝ่ายสนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ คนอื่นๆ[54] แต่การข่มขู่คุกคามนี้คงจะมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้นายทวีต้องกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่บำเพ็ญตนให้ “เงียบ” ที่สุดตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ที่ปีนัง จนสื่อมวลชนตั้งสมญานามว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี 17 วันที่โลกลืม”[55]
เมื่อ ทวี บุณยเกตุ กลับบ้าน กับภารกิจสุดท้าย “สภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511”
นายทวีเดินทางกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นสุดอำนาจลงจากการรัฐประหารวันที่ 15 กันยายน 2500 และด้วยชื่อเสียงเกียรติภูมิ นายทวีจึงได้รับการทาบทามจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เข้าร่วมในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ลำดับที่ 76 ในจำนวน 240 คน ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็น “รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2”[56] รองจาก พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาฯ และ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ รองประธานสภาฯ คนที่ 1
แต่เนื่องจาก นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกา สภาฯ จึงลงมติให้นายทวีเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น “รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 1” แทน และต่อมาเมื่อ พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ถึงแก่อสัญกรรม สภาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายทวีดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายทวีจึงได้ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายของชีวิตผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเป็นผู้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย[57]
ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายในหลายประเด็น แต่ความสำเร็จประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากการเร่งรัดเอาจริงเอาจังของนายทวี ดังคำกล่าวของวิญญูชน (นามแฝง) แห่งสำนักพิมพ์ประชาธิปไตยที่กล่าวว่า “เหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วคงจะเป็นเพราะนายทวี บุณยเกตุ รองประธานฯ ซึ่งทำการแทนประธาน ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งขอร้องไม่ให้สมาชิกลุกจากที่ เพราะจะทำให้ขาดองค์ประชุม การกระทำครั้งนี้ย่อมจะได้รับการสรรเสริญจากประชาชนทั่วไป”[58]
จากนักปฏิวัติหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเมืองกรีนยอง ประเทศฝรั่งเศส จนถึงบั้นปลายแห่งชีวิต นายทวี บุณยเกตุ จึงได้รับการยกย่องเสมอว่า “เป็นสุภาพบุรุษที่เอาการเอางานและพูดจาเป็นงานเป็นการ แต่ภายในวงการเมืองก็ได้มีความเคารพยำเกรงและให้ความเชื่อถือในความซื่อสัตย์”[59]
การศึกษาชีวิต แนวคิด บทบาทของบุคคล กลุ่มบุคคลและความเป็นไปของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยยังคงเป็นหัวข้อที่ได้รับการศึกษาวิจัยมาโดยตลอด เพราะเป็นช่วงเวลาที่คณะราษฎรต้องใช้อำนาจตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งดำเนินไปท่ามกลางการบุกรุกของกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีผลทำให้แกนนำคณะราษฎร นักการเมือง ตลอดจนราษฎรทั้งหลาย จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
การมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน มีแนวคิดต่อสถานะของสงคราม มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตามมาด้วยการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ และการเอาคืน จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของระบบการเมืองไทยตลอดทศวรรษ 2480-90
ถ้าหากในอนาคตมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น สามารถนำอัตชีวประวัติส่วนตัวของนายทวีที่ท่านเรียกว่า “ชั่วชีวิตของข้าพเจ้า” อันเป็นบันทึกที่นายทวีเขียนขึ้นแต่ยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติม มีการใช้หลักฐานร่วมสมัยจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา
หรือแม้แต่การศึกษาแนวคิดและบทบาทของบุคคลร่วมสมัยคนอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละช่วงเวลา คงจะทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสมเหตุสมผล เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “นายกฯ” มาจากไหน ทำไมเรียกตำแหน่งนี้ว่า “นายกรัฐมนตรี”
- “ทวี บุณยเกตุ” เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 3 สัปดาห์ กับผลงานเปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็น Siam
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เชิงอรรถ :
[47] วิจิตร วิชัยสาร. “รัฐบาลไทยสมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี (31 สิงหาคม-16 กันยายน 2488)”. น. 72-73.
[48] สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร. “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง 2491”. น. 206.
[49] ไทยน้อย. 10 นายกรัฐมนตรี. น. 488-490.
[50] สุพจน์ ด่านตระกูล. “บทนำ,” ใน คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม : เอกสารประวัติศาสตร์. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน. 2545), น. 22.
[51] Jayanta Kumar Ray “Nai Thawee Bunyaketu,” pp. 114-121.
[52] Ibid., p. 123.
[53] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : พีเพรส, 2550), น. 153-174.
[54] สัมภาษณ์ นายวิลาส โอสถานนท์ วันที่ 8 มีนาคม 2532 อ้างถึงใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). น. 192. และ Jayanta Kumar Ray. “Nai Thawee Bunyaketu,” p. 121.
[55] ไทยน้อย. 10 นายกรัฐมนตรี. น. 494.
[56] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี. น. 922-926, 957, 949-983.
[57] ก/ป1/2511/15 การถึงแก่อนิจกรรมของ พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้ง นายทวี บุณยเกตุ ประธานสภาฯ คนใหม่ (18 เม.ย. 2511-10 พ.ค. 2511)
[58] ก/ป1/2511/5 การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2511 (1 ม.ค. 2511-29 มิ.ย. 2511)
[59] สิริ เปรมจิตต์. ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี. (พระนคร : เขษมบรรณกิจ, 2505), น. 307.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรี 17 วัน : เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย” เขียนโดย พีรยา มหากิตติคุณ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2561 โดยต้นฉบับเป็นบทความที่ปรับปรุงจากรายงานวิจัยเรื่องประวัติและผลงานของนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ (2556) ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักนายกรัฐมนตรีและควบคุมโครงการวิจัย (นายกรัฐมนตรีรวม 27 ท่าน) โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2564