พบรูปปั้นเต็มตัวพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่ลานวัดพระแก้ว

ภาพถ่ายรูปปั้นนโปเลียนที่ 3 ที่ลานวัดพระแก้ว ในงานฉลอง 100 ปี กรุงเทพฯ ฝีมือนายลอฟตัส (ภาพจาก ไกรฤกษ์ นานา)

ภาพๆ หนึ่ง ในการจัดแสดงภาพเก่าเมืองไทย จากฝีมือช่างภาพหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 สองคน คือ นายจิตร จิตราคณี และนายลอฟตัส (William Kennett Loftus) ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่สะดุดตาและเป็นที่สนใจของไกรฤกษ์ นานา

ภาพที่ว่านั้นคือ รูปปั้นผู้ชายฝรั่ง ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ไว้ “เคราแพะ” อันเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะพระองค์ ในภาพรูปปั้นตัวนี้ตั้งอยู่รอบลานวัดพระแก้ว แต่ไม่มีคำบรรยายใดๆ ทราบเพียงเป็นรูปที่นายลอฟตัสถ่ายไว้ จึงสันนิษฐานได้ว่าจะเป็นเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์  พ.ศ. 2411-2453) เพราะนายลอฟตัสเริ่มเข้ามารับจ้างถ่ายรูปในเมืองไทย ในปี พ.ศ. 2425 เป็นปีแรก และเป็นปีเดียวกันกับที่มีการฉลองพระนครครบ 100 ปี

ภายหลังการ ไกรฤกษ์ นานา ได้การค้นคว้าเอกสารต่างๆ และเรียบเรียงเป็นบทความชื่อ ” ‘รูปปั้นล่องหน’ ของนโปเลียนที่ 3 จากปารีสแตก ถึงฉลองพระนคร 100 ปี” หลักฐานชี้อยู่ที่เมืองไทย (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549) ไว้ดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


ต่อมาภาพถ่ายภาพนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียน [ไกรฤกษ์ นานา] เริ่มต้นค้นหาข้อเท็จจริง ในที่ต่างๆ เป็นเหตุให้พบข้อมูลใหม่ที่พิสูจน์ว่า เคยมีเครื่องประดับชนิดรูปปั้นหินอ่อน จากตะวันตกภายในวัดพระแก้วจริง และจะตั้งอยู่ต่อไปอีก 3 รัชกาล ก่อนที่จะสูญหายไปอย่างไร้ร่อยรอยในเวลาต่อมา การที่ภาพนี้ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่อมแสดงว่ารูปปั้นพระเจ้านโปเลียนที่ 3 มิได้ตั้งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงสอดคล้องกับข้อมูลในจดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยรัชกาลที่ 5 ว่ามีการสั่งเครื่องตั้งประดับพระอารามที่เป็นศิลาเข้ามาใหม่ เครื่องประดับศิลา ก็คือรูปปั้นหินอ่อนจากตะวันตก ตามภาพหลักฐานของนายลอฟตัสนั่นเอง

นักเดินทางหูตาไว สมัยรัชกาลที่ 5 ชุดหนึ่ง คือ คณะของซาเรวิตซ์ (ต่อมาเสวยราชย์เป็น พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย-ผู้เขียน[ไกรฤกษ์ นานา]) เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) เจ้าชายอ้อคทอมสกี้ ผู้ตามเสด็จทรงบันทึกสิ่งที่พบเห็นภายในวัดพระแก้วว่า

“ตามระเบียงที่ลานรอบวัด มีรูปปั้นหินอ่อนหลายตัววางอยู่ จนเมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นคล้ายกับ รูปปั้นฝีมืออิตาเลียนอย่างหยาบๆ ปั้นเป็นรูปผู้มีชื่อเสียงของยุโรป มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ข้าพเจ้าสอบถามผู้ที่นําเข้าไป ว่าเหตุใดรูปปั้นเหล่านี้จึงมาวางไว้ในสถานที่เช่นนี้ ก็ไม่ได้รับคําชี้แจงที่กระจ่างชัดนัก เท่าที่ทราบซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ ได้คําอธิบายว่าเขาตั้งใจจะให้หมายถึงการที่กลุ่มคนพวกนี้ มาชุมนุมกันเพื่อสดับตรับฟังคําสอนของพระพุทธเจ้าที่แพร่หลายไป อย่างกว้างขวาง”

ทว่าหนังสือพิมพ์จากฝรั่งเศส 2 ฉบับต่อไปนี้ สามารถเปิดเผยความจริงที่เราต้องการรู้                     1.  L’ ILLUSTRATION ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1891 และ 2. L’ UNIVERS ILLUSTRÉ ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1893

เสนอภาพข่าวเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองสยาม 2 เหตุการณ์ที่มิได้เกี่ยวข้องกันเลย แต่สอดคล้องสัมพันธ์กันอยู่ตอนจบเมื่อนักข่าวขี้สงสัย 2 คน จาก 2 สํานักพิมพ์อ้างตรงกันถึงรูปปั้นพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่ตั้งอยู่ ณ ลานวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ!

ในฉบับที่ 1 เสนอข่าวเรื่องสถาปนามกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยาม คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่แล้วนักข่าวชื่อนาย L. Marc ปิดท้ายรายงานว่า สายข่าวฝรั่งเศสพบรูปปั้นหินอ่อนนับสิบตัวที่ลานวัดพระแก้ว หนึ่งในจํานวนนั้นมีพระเจ้านโปเลียนที่ 3 รวมอยู่ด้วย

ในฉบับที่ 2 นั้น เสนอข่าววิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 แต่นักข่าวที่ชื่อนาย P. Nicolas รายงาน ท้ายข่าวว่าเขาเห็นรูปปั้นอดีตจักรพรรดิฝรั่งเศสยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ ลานภายในพระอารามหลวงของไทย ท่ามกลางบรรยากาศภายนอกกําแพงที่ตรงกันข้ามคือ ไทยกับฝรั่งเศสกําลังรบกันอุตลุด ที่ปากน้ำเจ้าพระยา

………..

พระเจ้านโปเลียนที่ 3 มิใช่คนแปลกหน้าในเมืองไทย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อเจ้าชีวิต ความว่า

“วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ไทยเซ็นสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในรัชกาลของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ราชทูตฝรั่งเศส ม. เดอ มอนตินยี่ นําเอาของขวัญมาหลายอย่าง เช่น พระรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีมาถวาย”

รูปปั้นที่ตรัสถึงคือรูปปั้นครึ่งตัวแบบ Bust ซึ่งพระราชทานเข้ามาในสมัยที่มีให้เห็นกันเกร่อ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท-ผู้เขียน[ไกรฤกษ์ นานา]) แต่ Bust ก็เป็นคนละชั้นกับรูปปั้นเต็มตัว ในยุคสิ้นราชวงศ์ ที่ถูกทางการฝรั่งเศสสั่งเก็บให้พ้นทางจนกลายเป็นของหาพบยาก จึงเกิดคุณค่าด้านความรู้สึก และก่อให้เกิดกระแสนโปเลียน ในสื่อสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสต่อความใจกว้างของชาวสยาม จนเป็น สาเหตุของคําโจษขานของคณะผู้มาเยือนชาวรัสเซีย ที่ยังตะขิดตะขวงใจว่า รูปปั้นตัวนี้มาทําอะไรที่เมืองไทย?

โจทย์ข้อใหม่ไม่มีคําเฉลยตรงตัว แต่ก็พอมีเหตุผลให้เชื่อว่ามี “กิจการ” บางอย่าง และบุคคลที่รับผิดชอบในกิจการนั้น เป็นผู้นํารูปปั้นจากตะวันตกเข้ามายังวัดพระแก้วจริง บันทึกคําบอกเล่าของฝรั่งอีก 3 ฉบับต่อไปนี้ ชี้เบาะแสงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โยงใยไปถึงรูปปั้นพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เราตามหา คือ

1. หนังสือชื่อ Turrets, Towers & Temples โดย Esther Singleton ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1898 เขียนว่าวัดที่ศักดิ์สิทธิ์และงดงามที่สุดในสยามเห็นจะเป็นวัดพระแก้ว ฯลฯ รูปปั้นสลักศิลา โดยรอบพระอุโบสถเป็นศิลปกรรมที่สั่งเข้ามาจากเมืองจีนในรัชกาลก่อนๆ แต่ยังมีรูปปั้นหินอ่อน รูปผู้มีชื่อเสียงจากยุโรปหลายตัวถูกสั่งทําเป็นพิเศษ สําหรับปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) เพื่อประดับตบแต่งคราวบูรณะวัดพระแก้วครั้งใหญ่เนื่องในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน

2. หนังสือชื่อ Temples and Elephants ของนาย Carl Bock ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1884 ถือ เป็นกุญแจดอกใหญ่ช่วยไขปริศนานี้ เขียนอย่างรื่นรมย์ว่า นายคาร์ลเป็นชาวต่างประเทศคนหนึ่ง (จากนอร์เวย์) ที่เข้ามายังสยามในระยะนั้น ทันงานเฉลิมฉลองพระนครครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2425 เขาให้รายละเอียดของงานไว้หลายแง่มุม แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการบูรณะวัดพระแก้ว เป็นคําบรรยายที่น่าทึ่งที่สุด

“งานซ่อมแซมวัดพระแก้ว ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2422 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2425 รวมเวลากว่า 2 ปีก็เพื่อเร่งให้เสร็จทันวันฉลองพระนครครบร้อยปี เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง โครงการใหญ่นี้อยู่ในความควบคุมดูแลของบรรดาพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ละองค์ต่างก็ได้รับมอบหมายงานส่วนหนึ่งๆ ไปทําโดยเฉพาะ

ตัวอย่างเช่นองค์หนึ่งให้ทรงดูแลการปูพื้นหินอ่อนใหม่ องค์ที่สองจัดทําศิลาจารึกในพระอุโบสถใหม่ องค์ที่สามวางตาดทองเหลืองบนพื้นพระอุโบสถ องค์ที่สี่รับหน้าที่ซ่อมงานประดับมุก องค์ที่ห้ารับภาระเรื่องซ่อมเพดาน องค์ที่หกเปลี่ยนช่อฟ้าที่ชํารุด องค์ที่เจ็ดจัดการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสีทอง องค์ที่แปดสร้างซ่อมตบแต่งบรรดาตุ๊กตาหินและกระถางต้นไม้ในลานวัด รวมทั้งสร้างยักษ์ชุบหรือเคลือบทองแดง และจัดซื้อตุ๊กตาหินอ่อนมาเพิ่มเติมด้วย”

3. หนังสือชื่อ Carpenters World Travels ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 โดยนาย Frank G. Carpenter เขียนว่า“บนลานวัดพระแก้วโดยรอบพระอุโบสถ ใกล้ๆ ศาลาราย โดยเฉพาะที่เชิงบันไดขึ้นพระมหาเจดีย์ ข้าพเจ้าเห็นรูปปั้นหินอ่อน รูปผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลกในลักษณะท่าทางต่างๆ กัน ที่จําได้มี จักรพรรดิฝรั่งเศส ชาวดัตช์ และเสนาบดีญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าว่าทางรัฐบาลสยามซื้อมาจากนักแกะสลักชาวอิตาเลียน มันแปลกมากที่มีของเหล่านี้อยู่ในพระอารามหลวง ที่จริงก็เป็น เรื่องปกติที่จะเห็นของแปลกๆ ในกรุงเทพฯ เสมอ”

ข้อสังเกตจากเอกสารที่ได้ ในฉบับที่ 1 ปี ค.ศ. 1882 เป็นปีที่มีการบูรณะวัดพระแก้วครั้ง ใหญ่ ตรงกับงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปีพอดี อันเป็นปีแรกที่มีรายงานการพบเห็นรูปปั้นหินอ่อนที่มีรูปพระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นประธานอยู่

และฉบับที่ 2 ซึ่งถือเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง กล่าวว่ามีการสั่งซื้อตุ๊กตาหินอ่อนเข้ามาใหม่ ในปี ค.ศ. 1882 ตุ๊กตาชุดนี้แหละที่มีรูปปั้นพระเจ้านโปเลียนที่ 3 รวมอยู่ด้วย

ส่วนในฉบับที่ 3 ยืนยันว่าปี ค.ศ. 1926 นายแฟรงค์ยังเห็นรูปปั้นเหล่านั้น และจะเป็นปีสุดท้ายที่รูปปั้นหินอ่อนตั้งอยู่ ทั้งนี้เพราะในปีถัดมา คือปี ค.ศ. 1927 รูปปั้นจากตะวันตกทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายออกมา เพื่อนําไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สร้างขึ้นใหม่แทน รายงานนี้สอดคล้องกับคําอธิบายที่ฐานรูปปั้น Saint Peter และ Ceres ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี จึงพอจะอนุมานได้ว่ารูปปั้นชุดนโปเลียนเคยตั้งอยู่ ณ ลานวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ เป็นเวลานานถึง 44 ปีเป็นอย่างต่ำ (ค.ศ. 1882-1926) ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายออกไปภายนอก

งานฉลองพระนครครบ 100 ปี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงครองราชย์ได้ 13 ปี กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 100 ปี บริบูรณ์ จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นอย่างมโหฬาร โดยกําหนดงานพระราชพิธีสมโภช ขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2425 (ค.ศ. 1882) อันเป็นวันเริ่มพระราชพิธีสวดพระพุทธมนต์ ในอุโบสถวัดพระแก้ว ซึ่งได้มีการปฏิสังขรณ์พร้อมกัน และได้ฉลองร่วมในโอกาสสมโภชนี้เป็นงานเดียวกันด้วย

งานสมโภชพระนครครั้งนี้เป็นงานใหญ่ ที่นําความเอิกเกริกรื่นเริงมาสู่พสกนิกรอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่งานฉลองการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วที่ดําเนินควบคู่กันไปนี้ ก็มีความสําคัญมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะครึ่งหนึ่งในงานนี้พิธีได้มีอยู่ภายในวัดพระแก้วตลอดเรื่อยไปจนถึงวันที่ 20 เมษายน

ภาพพระราชพิธีในกรุงเทพฯ ส่วนภาพเล็กเป็นรูปปั้นพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ณ ลานวัดพระแก้ว ในหนังสือพิมพ์ L’ ILLUSTRATION ค.ศ. 1891 (ภาพจาก ไกรฤกษ์ นานา)

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 เป็นวันสําคัญที่สุดของการสมโภช เพราะพระนครมีอายุครบ 100 ปีเต็มที่ได้สร้างกรุงเทพฯ มา นอกเหนือจากการมหรสพที่จัดอย่างครื้นเครงมากมายที่สุดที่ เคยมีมาในกรุงเทพฯ แล้ว ทางราชการยังได้จัดการแสดงพิพิธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวงควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักและตื่นตัวกับความก้าวหน้าของวิชาความรู้ที่ ทันสมัยต่างๆ เช่น ผลงานทางด้านกสิกรรม วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรม รวมทั้ง สิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่จากตะวันตก ตลอดจนการแสดง “ของประหลาด” หรือของแปลกๆ จากต่างประเทศที่ชาวสยามไม่เคยพบเห็นมาก่อน การแสดงพิพิธภัณฑ์ หรือบางทีเรียก “งานเอ็กซิบิชั่น” เป็นการเลียนแบบงานมหกรรมโลก หรือ International Exhibition ที่มีจัดกันอย่างสม่ำเสมอในทวีปยุโรปและอเมริกา งานคราวนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือจากชาวยุโรปที่รับราชการอยู่กับราชสํานักสยามหลายสิบคน เช่น ชาวอิตาเลียน อังกฤษ และเยอรมัน

อันว่าของประหลาดที่จัดแสดงในงานนี้ ส่วนหนึ่งก็คือเครื่องประดับแปลกใหม่ ภายในวัดพระแก้ว อันได้แก่ รูปปั้นศิลาจากต่างประเทศที่สามารถจําลองรูปร่างหน้าต ของบุคคลสําคัญๆ ระดับโลก ที่เคยมีชีวิตจริงๆ มาไว้รวมกันให้ดูครึกครื้น นอกเหนือจากทัศนะอื่นๆ ตามที่คณะผู้มาเยือนจากรัสเซียได้รับการบอกเล่าว่า ตั้งใจจะให้หมาย ถึงกลุ่มผู้มีชื่อเสียงของโลกมาชุมนุมสังสรรค์กัน เพื่อสดับตรับฟังคําสอนของพระพุทธเจ้าที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางนั่นเอง

แต่บุคคลที่จะลืมไม่ได้ ก็คือท่านผู้ที่เป็นนายงานจัดตบแต่งลานวัดพระแก้วที่งดงามอยู่แล้ว ให้แปลกตาออกไปอีกด้วย รูปปั้นหินอ่อนที่สั่งซื้อเข้ามาใหม่ ล้วนเป็นผลงานของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรทั้งสิ้น หนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย สรรเสริญความดีความชอบของพระองค์ท่านในภารกิจนี้ว่า “พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาสน์เลอสรรค์ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณบังคับการกรมช่างทอง และได้ทรงเป็นนายด้านจัดการเครื่องประดับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม งาม บริบูรณ์ดังพระราชประสงค์ สมควรจะได้รับตําแหน่งยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมได้”

กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร

ท้ายที่สุดการที่บังเอิญมีฝรั่งคนหนึ่ง ชื่อนายลอฟตัสถ่ายภาพรูปพระเจ้านโปเลียน ที่ 3 ไว้ ก็เพราะในระยะเดียวกันกับที่มีงานฉลองพระนครนั้น นายลอฟตัสเป็นช่างภาพหลวงที่กําลังมีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงเทพฯ นอกจากเขาจะมีสตูดิโอของตัวเอง ตั้งอยู่ย่านประตูผีแล้ว เขายังรับจ้างถ่ายรูปนอกสถานที่อีกด้วย รูปของเขาจากงานเอ็กซิบิชั่น ค.ศ. 1882 และงานสมโภชพระนครครบ 100 ปี เป็นหลักฐานสําคัญที่เปิดโปงเรื่องรูปปั้นของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ให้เรารู้จัก รูปปั้นตัวนี้ได้กลายเป็นภาพพจน์หนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีวัดพระแก้วเป็นฉาก และได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมากมายแม้ในต่าง ประเทศ

คําถามที่เหลืออยู่คือ รูปปั้นคนดังระดับนี้ ตอนนี้ล่องหนหายไปอยู่ที่ไหน?

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2564