ยูเอ็นลงมติให้ “มอญ” เป็นชนชาติหนึ่งในโลก ที่ไม่มีชาติเป็นของตนเอง

(ซ้าย) นายอู่ถั่นจับมือทักทายประธานาธิบดีเคเนดี้

มอญ เป็นชนชาติที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ชะตากรรมพลิกผันให้ “ไร้แผ่นดิน” ดังที่องค์ บรรจุน ลูกหลานมอญในไทยกล่าวถึงเสมอว่า “สิ้นแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ” แม้มอญจะแพ้พม่าในสงคราม แต่กลับชนะในด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ชเวดากอง มหาเจดีย์ของชาวมอญ ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ที่ชาวพม่าก็เลื่อมใสศรัทธา หรอืการเขียนภาษาพม่าก็ต้องใช้อักษรมอญ ฯลฯ

เรื่องของมอญที่ไร้แผ่นดิน เคยเป็นประเด็นถกเถียงในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ

เมื่อ นายอู่ถั่น (พ.ศ. 2452-2517) นักการทูตลูกครึ่งมอญ-พม่า เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จากประเทศในเอเชียคนแรก ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2504-2514 กล่าวในที่ประชุม the last Mon is dead-มอญคนสุดท้ายได้ตายไปแล้ว”

หากนายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2475-ปัจจุบัน) เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ตอบกลับนายอู่ถั่นไปว่า No, that not true I am Mon-ไม่เลย ผมนี่ไงคนมอญ” เพราะบิดาของนายอานันท์ คือ พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ

เรื่องนี้สุมิตร ปุณณะการี เขียนไว้ในนิตยสารสยามอารยะ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2538 (อ้างอิงตามธีรภาพ โลหิตกุล) ว่า

“…อู ถั่น อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้ถือตนเป็นคนพม่า ทั้งๆ ที่มีเชื่อสายมอญอยู่ด้วย เคยพูดในที่ประชุมสหประชาชาติว่า…the last Mon is dead…มอญคนสุดท้ายได้ตายไปแล้ว

แต่นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวยอร์ก ผู้เป็นลูกหลายเจ้านายมอญเก่า และรู้ดีว่ามอญนั้นยิ่งใหญ่เพียงใดในอดีต ได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมสหประชาชาติว่า…No, that not true I am Mon…ไม่เลย ผมนี่ไงคนมอญ

นับแต่นั้น สหประชาชาติจึงลงมติว่า ‘มอญ’ เป็นชนชาติหนึ่งในโลกที่ไม่มีชาติเป็นของตนเอง… [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]


ข้อมูลจาก

ธีรภาพ โลหิตกุล. กบฏกริช บาหลี อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กรกฎาคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 26 สิงหาคม 2564