วิกฤติจากผู้บริหารแบงก์สยามกัมมาจล ที่เกือบทำให้แบงก์ล่ม

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และ ผู้บริหาร แบงค์สยามกัมมาจลทุน จำกัด หรือ แบงค์สยามกัมมาจล หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้บริหารและพนักงานบริษัทแบงค์สยามกัมมาจลทุน จำกัด หรือ “แบงค์สยามกัมมาจล” (ภาพจากหนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”)

เมื่อทดลองการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบ “บุคคลัภย์” จนประสบความสำเร็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดตั้ง “แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” เป็นธนาคารเต็มรูปแบบ จึงขอพระบรมราชานุญาติจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยมีทุนจดทะเบียนแรกก่อตั้ง (พ.ศ. 2449) จำนวน 3,000,000 ล้านบาท

การบริหารงานในระยะแรกของแบงก์สยามกัมมาจล มีผู้จัดการร่วมบริหารธนาคาร 2 คือ พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายไทย และ นายแฮร์ ปี. ชว๊าร์ซ ชาวเยอรมันเป็นผู้จัดการชาวตะวันตก ผู้จัดการทั้งสองร่วมกันบริหาร โดยแยกเป็นแผนกไทย และแผนกต่างประเทศ หากภายหลังเกิดปัญหาในแผนกไทย

เดือนมกราคม พ.ศ. 2453 จึงมีการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ได้ข้อยุติว่า กำหนดอำนาจให้ผู้จัดการแผนกไทยจัดการดูแลกิจการภายในประเทศ โดยต้องให้ผู้จัดการแผนกต่างประเทศรู้เห็นและอนุมัติด้วย ส่วนผู้จัดการแผนกต่างประเทศดำเนินการได้ตามปกติ ไม่ต้องแจ้งให้ผู้จัดการแผนกไทยรู้เห็น แต่กรรมการผู้แทนพระคลังข้างที่ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ผู้จัดการทั้งสองมีอำนาจเท่ากัน

นายชว๊าร์ซกังวลว่า หากที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่วินิจฉัยไปในทางอื่น จะส่งผลเสียต่อชาวเยอรมันที่ถือหุ้นอยู่ 1 ใน 5 ของทุนจดทะเบียน หรือ 600,000 บาท จึงได้ถวายฎีกาขอให้รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสสั่งให้พระคลังข้างที่ ลงคะแนนตามที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2453

รัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรฎีการของนายชว๊าร์ซ โปรดเกล้าฯ ให้ที่ปรึกษาทั่วไปและที่ปรึกษาราชการคลังตรวจพิจารณาเพื่อแสดงความคิดเห็นขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงนำเรื่องแบงก์สยามกัมมาจล ขึ้นปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี (26 ธันวาคม พ.ศ. 2453) ดังที่ทรงบันทึกใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า

“การที่ชว๊าร์ซขอให้ฉัน (ในน่าที่พระเจ้าแผ่นดิน) มีพระบรมราชโองการบังคับพระคลังข้างที่ให้ตกลงไว้ใจให้ชว๊าร์ซมีอำนาจจัดการแบงก์สยามกัมมาจลสิทธิ์ขาดฉนั้น จะควรบังคับหรือไม่, และถ้าไม่บังคับเช่นนั้น ผลที่เสียจะบังเกิดแก่รัฐบาลและชาติบ้านเมืองอย่างไรบ้างหรือไม่

……….

ตั้งแต่รัชกาลที่ 5, เมื่อเยอรมันได้ทราบอยู่ว่าทูลกระหม่อมไม่โปรดและทรงระแวงอยู่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส, เยมรมันเห็นว่าเปนโอกาสที่จะเข้าครอบสยามได้, จึ่งได้ดำเนิรอุบายอย่างลึกลับชนิดน้ำลอดใต้ทราย, เริ่มด้วยจัดการค้าขายของถูกๆ โดยยอมขาดทุน, เพื่อให้คนไทยชอบและวางใจ

……..

ส่วนในทางการเงินนั้นเปนรัฐประศาสโนบายของเยอรมันอันดำเนิรอยู่โดยทั่วไปหลายแห่ง, คือเอาทุนไปลงไว้ตามบริษัทหรือแบงก์ใหญ่ ในประเทศต่างๆ ที่เขาปรารถนาจะครอบงำ, แล้วแลดำเนินอุบายให้กิจการในบริษัทหรือแบงก์นั้นๆ ยุ่งเหยิง, แล้วเขาจึ่งตั้งตัวเปนผู้ที่มีเมตตาเข้าช่วยดูแลแก้ไข, และในที่สุดก็รวบเอาอำนาจอำนวยการในบริษัทหรือแบงก์นั้นๆ อุบายนี้ได้ดำเนิรสำเร็จในประเทศอิตาลีเปนตัวอย่าง, จนเวลานั้นเยอรมันคุยป๋ออยู่ว่าอิตาเลียนเท่ากับเปนทาสน้ำเงินของเขาทั้งหมด, สำหรับกรุงสยาม, เยอรมันได้มุ่งดำเนิรแบบเดียวกับอิตาลี,

………

พระเทพทวาราวดี  [(สาย ณ มหาไชย) กรรมการผู้แทนพระคลังข้างที่] ในเวลานั้นชอบพอกันมากกับนายเซียวยู่เส็ง, ผู้จัดการแบงก์ ยู่เส็งเฮง” (เป็นของส่วนตัวพระเทพทวาราวดีกับยู่เส็ง, ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช), เขาจึงแนะนำว่านายยู่เส็งผู้นี้เป็นคนที่ฉลาดในทางการเงิน, สืบถามถึงประวัติได้ความว่า นายยู่เส็งเป็นบุตรนายกวย, พ่อค้าอยู่ที่เมืองสงขลา, เป็นคนร่วมแส้กับเซียวฮุดเส็ง, เจ้าของหนังสือพิมพ์ ‘จีนโนสยามวารศัพท์’ เมื่อหนุ่มๆ นายยู่เส็งได้เคยรับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข, แต่ต้องออกและติดคุก 5 เดือน เพราะขะโมยธนาณัติ, ต่อมาได้ทำการค้าขายจนตั้งตัวขึ้นได้ใหม่, และพระเทพทวาราวดีกับพระพิบูลย์พัฒนากรรับรองว่าในเวลานั้นเป็นคนดีมีผู้นับหน้าถือตามาก.

ฉันได้พูดกับพระเทพทวาราวดีว่า ถ้าจะให้ยู่เส็งเปนผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจลควรให้เลิกแบงก์ยู่เส็งเฮงเสีย, พระเทพก็รับว่าจะไปพูดจา; แต่ยู่เส็งไม่ยอมเลิกแบงก์ยู่เส็งเฮง, โดยอธิบายว่า มีกิจธุระในทางซื้อใบสำคัญเงิน (Draft) ทำการติดต่ออยู่กับพวกพ่อค้าจีนสะดวกดีกว่าทางแบงก์สยามกัมมาจล, แต่รับรองว่าจะคิดหาผู้อื่นเป็นผู้จัดการแบงก์ยู่เส็งเฮงแทนตัว, และตัวเองจะตั้งหน้าทำการแต่ในน่าที่ผู้จัดการแผนกไทยแห่งแบงก์สยามกัมมาจล.” (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

รัชกาลที่ 6 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายยู่เส็ง ศิวะโกเศศ เป็นผู้จัดการฝ่ายไทยในแบงก์สยามกัมมาจล กับได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “นายฉลองนัยนารถ” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการแก้ปัญหาสภาพคล่องของแบงก์สยามกัมมาจล โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 330,000 บาท ให้แก่แบงก์สยามกัมมาจล ชดเชยความเสียหายที่ผู้จัดการเดิม, ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนำเงินทุน 100,000 บาท ที่พระราชทานเป็นทุนนอนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจล มีกำหนดระยะเวลา 10 ปีโดยไม่เบิกถอนก่อนกำหนด

กิจการของแบงก์สยามกัมมาจลก็ดูเหมือนว่าดำเนินต่อมาด้วยดี

แต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2456 ก็เกิดเรื่องขึ้นอีก เนื่องจากนายเซียวยู่เส็งโยกเอาเงินจากแบงก์สยามกัมมาจลไปอุดหนุนทุนของแบงก์ยู่เส็งเฮง, โยกหนี้ของของยู่เส็งเซ็งไปลงไว้ในบัญชีของสยามกัมมาจลบ้าง และร่วมกับพระยารัษฎากรโกศล (ฮง  นาวานุเคราะห์) อธิบดีกรมสรรพากรโกงเงินหลวงไปใช้ในกิจการของแบงก์ เมื่อมีการสอบสวนตัดสินความนายฮง และนายยู่เส็งต้องโทษจำคุกและถอดถอนจากตำแหน่งติดคุก

ส่วนแบงก์สยามกัมมาจลก็เซซวนจวนล้ม ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ประชาชนผู้ฝากเงินทราบข่าวการฉ้อฉลในแบงก์สยามกัมมาจล ต่างก็พากันไปถอนเงิน รัชกาลที่ 6 รับสั่งให้เรียกตัวนายยู่เส็ง และผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนให้ได้ความจริงว่า เอาเงินไปใช้อะไรในแบงก์จีนอย่างไร ข้อสำคัญคือจะให้แบงก์สยามล้มไม่ได้ แต่แบงก์จีนล้มได้ พระองค์ยังทรงอนุญาตให้ยืมเงินพระคลังข้างที่หรือพระคลังมหาสมบัติไปจ่ายชั่วครั้งคราวพอประทังความเสียหายก่อน

วิกฤติการณ์ในแบงก์สยามกัมมาจลคราวนั้นทำให้แบงก์ขาดทุน สูญเงินไปกว่า 5.7 ล้านบาท เงินทุนของธนาคารซึ่งมีมาแต่เดิมและที่ได้สะสมไว้กว่า 4.3 ล้านบาท ขาดทุนสูญไป เงินที่กระทรวงพระคลังฯ ได้ออกช่วยให้แบงก์กู้เพื่อให้แบงก์คงดำเนินการได้ก็สูญไปอีกเกือบเต็มจำนวน รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ลดทุนของธนาคารจาก 3,000,000 บาท ลงเหลือเพียง 300,000 บาท แล้วเพิ่มทุนใหม่อีก 3,000,000 บาท ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวในสัดส่วนเท่าจำนวนหุ้นเดิม เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,634,000 บาท และโปรดเกล้าฯ ให้ “กระทรวงมหาสมบัติ” เข้าดูแลกิจการของแบงก์สยามกัมมาจล

 


ข้อมูลจาก

วรชาติ มีชูบท. เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559

รามวชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 เมษายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2564