พินัยกรรมลับ วิธีแต่งตั้ง “รัชทายาท” ราชวงศ์ชิงของจักรพรรดิยงเจิ้ง

เจิ้งต้ากวงหมิง พระตำหนักเฉียนชิงกง จักรพรรดิยงเจิ้ง พินัยกรรมลับ รัชทายาท ราชวงศ์ชิง
หลังป้าย "正大光明-เจิ้งต้ากวงหมิง" ในพระตำหนักเฉียนชิงกง คือที่เก็บ “พินัยกรรมลับ” แต่งตั้งรัชทายาท, ภาพจักรพรรดิผู่อี๋ ปี 1917 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ย้อนดูพินัยกรรมลับ วิธีแต่งตั้งรัชทายาทแห่ง “ราชวงศ์ชิง” ของ “จักรพรรดิยงเจิ้ง” ที่ได้ไอเดียจากเปอร์เซีย

การแต่งตั้งผู้สืบราชบัลลังก์ หรือรัชทายาทของจีน มีการช่วงชิงและเข่นฆ่ากันเรื่อยมา หนึ่งเหตุการณ์ที่มีการกล่าวขานถึงอย่างมาก คือ รัชกาลจักรพรรดิคังซี ที่มีการเล่าขานว่า พินัยกรรมที่พระองค์เขียนและเก็บไว้ที่พระตำหนักเฉียนชิงกง ต้องการมอบราชบัลลังก์ให้ “องค์ชายสิบสี่”

แต่พินัยกรรมที่เปิดเผยดังกล่าวถูกแก้ไขเปลี่ยนเป็น “องค์ชายสี่” หรือ จักรพรรดิยงเจิ้ง แทน ด้วยการเติมขีดลากเส้นนิดหน่อย คำว่า “十四 – สิบสี่” ถูกเป็น “于四-แก่สี่” จนกลายเป็นเค้าโครงของภาพยนตร์เรื่อง “ศึกสายเลือด”

เหตุการณ์ข้างต้นมีเค้าความจริงในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง

เฉียนชิงกง เป็นพระตำหนักแรกในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิงประทับที่พระตำหนักแห่งนี้เรื่อยมาถึง 15 พระองค์ ภายในพระตำหนักเฉียนชิงกงแขวนป้าย “正大光明-เจิ้งต้ากวงหมิง” ที่เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิซุ่นซื้อ จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ชิง ที่ได้รับการยกย่องว่าตัวอักษรมีพลังและประณีต

แต่ที่ทำให้ป้ายนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ไม่ใช่เพราะความสวยงามของศิลปะการเขียนตัวอักษรจีน แต่เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับการตั้งรัชทายาท

เล่ากันว่า บทเรียนจากศึกชิงบัลลังก์ระหว่างองค์ชายในช่วงปลายรัชศกคังซี เมื่อ จักรพรรดิยงเจิ้ง ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้เริ่มใช้วิธีการตั้ง “รัชทายาท” แบบลับ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน โดยพระองค์ทรงเขียนพินัยกรรมลับไว้ 2 ฉบับ ทั้งนี้ วิธีตั้งรัชทายาทแบบลับดังกล่าว ปรากฏในเปอร์เซียตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8

พินัยกรรมลับที่ว่า ฉบับหนึ่งพกติดพระองค์ ส่วนอีกฉบับเก็บไว้ใน “กล่องแต่งตั้งรัชทายาท” ซึ่งอยู่หลังป้าย “เจิ้งต้ากวงหมิง” เมื่อจักรพรรดิสวรรคต ขุนนางผู้สนองพระราชโองการจะนำกล่องแต่งตั้งรัชทายาทออกจากหลังป้ายต่อหน้าสักขีพยาน เมื่อตรวจเทียบความถูกต้องพินัยกรรมที่จักรพรรดิพกติดพระองค์แล้วจึงประกาศพระนามจักรพรรดิองค์ใหม่

“เมื่อจักรพรรดิขึ้นครองราชย์จะต้องเลือกพระโอรสที่มีความสามารถเป็นผู้สืบบัลลังก์ โดยเขียนพระนามปิดผนึก และเก็บรักษาไว้ เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ ขุนนางผู้ใหญ่และเชื้อพระวงศ์จะเปิดผนึกดูเนื้อความ และยกผู้ที่ปรากฏชื่อในจดหมายขึ้นเป็นจักรพรรดิ” (จาก จิ๋วถังซู บท โปชื่อจ้วน)

ตลอดสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิที่ขึ้นครองราชย์ด้วยกล่องแต่งตั้งรัชทายาทมี 4 พระองค์ ได้แก่ เฉียนหลง เจียงชิ่ง เต้ากวง และเสียนเฟิง

แม้ไม่มีบันทึกทางการ แต่องค์ชายในราชวงศ์ชิงโดยทั่วไปล้วนพากเพียร เล่าเรียนตำรา จึงเป็นได้ว่าจักรพรรดิยงเจิ้งเคยอ่านพบวิธีของเปอร์เซีย ซึ่งอย่างน้อย “กล่องตั้งรัชทายาท” ก็ทำให้บรรดาองค์ชายที่เคยขัดแย้งกัน เปลี่ยนมาแสดงออกถึงคุณงามความดีของตนแทน ทำให้ไม่เกิดคู่แข่ง และลดการซ่องสุมกำลัง

ตั้งแต่นั้นมา การสืบราชสมบัติของ “ราชวงศ์ชิง” ก็ไม่รุนแรงเท่าในอดีต จนปลายยุคราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเสียนเฟิงมีพระราชโอรสเพียง 1 พระองค์ ส่วนจักรพรรดิถงจื้อและกวงซี่ว์ไม่มีพระราชโอรส อำนาจการตั้งรัชทายาทจึงตกอยู่พระนางซูสีไทเฮา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

จ้าวกว่างเชา-เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ-แปล. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, สำนักพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2564