กำเนิดกิจการโคนม และการดื่ม “นมวัว” ในประเทศไทย

นมวัว วัวนม
(ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

แม้ประเทศไทยจะมีการเลี้ยง โคนม และผลิตน้ำนมเพื่อการบริโภคภายในประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 โดยชาวอินเดียที่อพยพเข้าเมืองไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภค นมวัว อยู่แต่เดิม หรือที่ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร ได้ทำฟาร์มเลี้ยงโคนมที่ตำบลบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2463 แต่การบริโภค “นมวัว” ก็ยังไม่เป็นการแพร่หลายนัก เป็นเพียงการบริโภคเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โครงการสำคัญของกรมเกษตรอย่างหนึ่งคือ โครงการบำรุงและส่งเสริมการเลี้ยงโคนม กระทั่ง พ.ศ. 2485 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการเลี้ยงโคงานและโคเนื้อ ส่วนโคนมนั้นเลี้ยงเพื่อการศึกษา ก่อนหาทางส่งเสริมต่อไป ปีถัดมา รัฐบาลยังอนุมัติให้กระทรวงเกษตราธิการจัดตั้งบริษัททำนมขึ้น มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทอุตสาหกรรมนมจำกัด เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2486 เพื่อผลิตนมออกมาจำหน่ายแก่โรงพยาบาลและประชาชน

การบริโภคนมของไทยเกิดขึ้นอย่างจริงจังเนื่องจากผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) เพราะหลังสงครามโลกได้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก จนมีการจัดตั้งองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) องค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการจัดตั้งองค์การยูนิเซฟในประเทศไทย พ.ศ. 2491 อันมีบทบาทเข้ามาสนับสนุนเรื่องสุขภาพอนามัยและโภชนาการของเด็ก ทำให้มีการริเริ่มโครงการดื่มนมในโรงเรียน และการแจกจ่ายเกลือไอโอดีน

กลางทศวรรษ 2490 มีการทดลองนมเข้าโคนมต่างประเทศมาเลี้ยงและผสมพันธุ์ เพื่อหาโคนมที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในไทย โดยเฉพาะปี 2501 เกิดโครงการตั้งหน่วยผสมเทียมขึ้นเพื่อฉีดเชื้อโคนมพันธ์ต่างประเทศผสมกับโคนมพื้นเมือง จนได้โคนมพันธุ์ดีสำหรับให้ราษฎรนำไปเลี้ยง จนเกิดความนิยมแพร่หลายขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพชรบุรี นครปฐม และราชบุรี ก่อให้เกิดกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยในตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกษตรกรกลุ่มนี้กลายเป็นผู้บุกเบิกกิจการเลี้ยงโคนมกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย

พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจทางโภชนาการครั้งใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาทุพโภชนาการ และมีสถิติทารกเสียชีวิตสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก มีการนำเข้านมวัวอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสยุโรป ทรงได้ศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมสำหรับเป็นอาชีพแก่เกษตรกรไทย การเลี้ยงโคนมก็แพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงมีการจัดตั้งโรงงานผลิตนมที่มีระบบฆ่าเชื้อและบรรจุขวดที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย

จนกระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลเดนมาร์ค ในการจัดตั้ง “ฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค” ที่ตำบลมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่เปิดทำการในวันที่ 17 มกราคม 2505 ถือจุดเริ่มต้นที่คนไทยหันมาเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

ปลาย พ.ศ. 2509 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน อันเนื่องมาจากต้นทศวรรษ 2510 การบริโภคเนื้อ นม และไข่ กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างแพร่หลาย รวมถึงการส่งเสริมอาหารหลัก 5 หมู่

ภายหลังรัฐบาลไทยได้โอนฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค มาจัดตั้งเป็น “องค์การโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.)” สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าหน้าที่ฝึกอบรมและส่งเสริมเกษตรในการเลี้ยงโคนม รวมทั้งรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร

นอกจากนี้ในปี 2505 รัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้ง “โรงโคนมจิตรลดา” เพื่อค้นคว้าทดลองวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมด้านต่าง ๆ ต่อมาเมื่อเกิดภาวะนมสดล้นตลาดช่วง พ.ศ. 2511-2512 ผู้เลี้ยงโคนมถวายฎีกาแด่รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โรงนมผงสวนดุสิต” ใน พ.ศ. 2512 เป็นโรงนมผงแห่งแรกของประเทศ เพื่อแปรรูปน้ำนมดิบ ต่อมา พ.ศ. 2513 มีการก่อสร้าง “โรงงานหนองโพ” ที่ตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี เป็นโรงานนมผงที่ได้ต้นแบบมาจากโรงงานนมผง สวนจิตรลดา และมีการจัดตั้งเป็น “สหกรณ์โคนมหนองโพ” ใน พ.ศ 2514 และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระหว่าง พ.ศ. 2515-2514 โรงงานทั้งสองแห่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบอีกหลายรายการ เช่น เนยแข็ง,  ไอศกรีม, โยเกิร์ต, เนยสด, นมข้นหวาน ฯลฯ แต่ความนิยมในการบริโภคและการทำตลาดก็ยังไม่กว้างขวางนัก นั่นแสดงให้เห็นว่า การบริโภค นมวัว ในไทยยังไม่แพร่หลาย ขณะเดียวกันเรื่องโภชนาการของเด็กก็ยังมีปัญหาอยู่

จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) มีการสนับสนุนกิจการโคนมด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง เช่น ลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าภาชนะบรรจุ และวัตถุดิบในการผลิตภาชนะบรรจุนมพร้อมดื่ม, สนับสนุนโรงงานแปรรูปนมใช้น้ำนมดิบแทนนมผงคืนรูปให้มากที่สุด และขยายการรณรงค์การบริโภคนม โดยจัดทำโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ฯลฯ ทั้งนี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดสรรงบประมาณ ให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลเด็กก่อนชั้นประถม และค่อยๆ ขยายกลุ่มจนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 ในเวลาต่อมา

เมื่อสิ้นแผนฯ 7 ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคนมพร้อมดื่ม ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมก็ต้องประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 ที่ทำให้ต้องเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย, น้ำนมดิบ และนมพร้อมดื่ม ขณะที่น้ำหนักและส่วนสูงของเด็กไทยที่ใช้เป็นเครื่องชี้วัดเกณฑ์ภาวะโภชนการของไทย ก็เริ่มเป็นไปในมาตรฐานที่ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาติชาย มุกสง. (2565). ปฏิวัติที่ปลายลิ้น. กรุงเทพฯ : มติชน.

วิภาวี พงษ์ปิ่น. “เมื่อปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม: รัฐและกำเนิดวัฒนธรรมการดื่มนมวัวในประเทศไทย” ใน, เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมนุษยวิทยา ครั้งที่ 9  ปาก-ท้อง ของกิน: จริยธรรมและการเมืองเรื่องอาหารการกิน 25-27 มีนาคม 2553.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 ปรับปรุงเนื้อหา 7 มิถุนายน 2566