กรบ : โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์ และสมรรถนะ

กรบ กบ หรือตบ เป็นเครื่องมือจับปลา ใช้แทงปลาที่อาศัยอยู่ตามสนุ่นหรือหญ้ารก วัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายขอบหนอง คลอง บึง เป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ตกแต่งประณีต มีรูปแบบสะดุดตา

ใช้จับปลาตัวใหญ่ เครื่องมือจับปลาอย่างกรบผสานทั้งรูปลักษณ์และการทำงานอย่างลงตัว

กรบใช้เทคนิควิธีการแทงปลาเช่นเดียวกับฉมวก ใช้เหล็กแหลมเป็นตัวหลักในการทำงาน มีด้ามจับสั้นกว่าฉมวก แต่มีเหล็กแหลมหลายซี่มากกว่า ใช้ได้ผลดีในฤดูแล้งที่น้ำงวดระดับลง

สนุ่นลดระดับตามน้ำทำให้ปลาติดตามสนุ่น เคลื่อนไหวไม่สะดวก ชาวบ้านจึงใช้กรบแทงปลาได้โดยง่าย

เหล็กแหลมจำนวนมาก ขนาดที่ใหญ่กว่า แสดงว่าชาวบ้านลงแรงฝีมือ รวมถึงลงแรงกายมาก สะท้อนว่าชาวบ้านหวังผลจากการใช้กรบมากกว่าฉมวก ปรากฏว่ากรบมักแทงปลาขนาดใหญ่อย่างปลาค้าว ปลาสวาย ปลากระโห้ ปลาเทโพ บางครั้งแทงได้เต่า ตะพาบ ส่วนฉมวกมักแทงปลาขนาดเล็กกว่าอย่างปลาช่อน ปลาดุก

วัสดุที่ใช้ทำกรบ ได้แก่ ไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง เส้นเชือก หวายหรือลวด เหล็กแหลม ครั่ง

วิธีทำ เตรียมเหล็กปลายแหลมขนาดความยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ตามจำนวนซี่ที่ต้องการ มักทำกรบมี ๓, ๕ หรือ ๗ ซี่ นำเหล็กปลายแหลมสวมเข้ากับไม้รวกลำเล็กๆ ที่มีความยาวเท่าๆ กัน โดยใช้วิธีเผาเหล็กให้แดง ใส่ครั่งไว้ในรูไม้ไผ่ กดเหล็กเข้าไปในรู เมื่อครั่งละลายและเย็นลงแล้วจะยึดเหล็กได้แน่น จากนั้นใช้ปลอกเหล็กสวมรัดระหว่างโคนเหล็กแหลมกับปลายไม้ไผ่ให้แน่นหนา ใช้หวายหรือลวดถักยึดตรึงให้ซี่เหล็กแยกห่างกัน เตรียมไม้เนื้อแข็งเป็นส่วนมือจับ เจาะรูไว้เพื่อเสียบโคนไม้ไผ่ ใช้ลวดเคียนหรือมัดให้แข็งแรง ส่วนของด้ามจับมักทำให้โค้งงอเพื่อหยิบจับถนัดมือ บริเวณด้ามจับของกรบหลายต่อหลายชิ้นมักแกะสลักเป็นรูปหัวนก ลิง งู เป็นต้น

วิธีใช้ กรบใช้ในแหล่งน้ำหน้าแล้ง น้ำลดระดับลงลึกไม่เกินหัวเข่า ปลามักอาศัยพึ่งพิงร่มเงาจากสนุ่น เมื่อปลาใหญ่เคลื่อนไหวสนุ่นจะสั่นสะเทือน แต่ถ้าเป็นปลาเล็กปลาน้อยสนุ่นจะขยับเบาๆ ผู้คนจึงแทงกรบไปตามสนุ่นเฉพาะเมื่อสนุ่นสั่นแรงๆ เพื่อแทงเฉพาะปลาใหญ่

ส่วนบริเวณท้องน้ำใกล้สนุ่นที่ไม่มีสนุ่น ชาวบ้านจะหากิ่งไม้ใบหญ้าวางเลียนแบบสนุ่นเพื่อดูการเคลื่อนไหวของปลาแล้วใช้กรบแทงปลาก็ได้

ในช่วงหน้าแล้ง พืชผล เนื้อปลา เนื้อสัตว์ ไม่อุดมสมบูรณ์เท่าหน้าอื่น บางครั้งมีงานบ้านงานบุญต้องการแกงหม้อใหญ่ ชาวบ้านรวมกลุ่มกันจับปลาล่าสัตว์ สำหรับการจับปลาด้วยกรบมักรวมกลุ่มกัน ๒๐-๓๐ คน ช่วยกันถากถางวัชพืช อาจต้องเผาสนุ่นเพื่อความสะดวก การที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยสนุ่นเพื่อบอกการเคลื่อนไหวของปลาเหมือนที่หากินคนเดียว เพราะกลุ่มชาวบ้านจะถือกรบเดินเรียงแถวหน้ากระดาน โอกาสที่ปลาใหญ่หลุดรอดมีน้อย และน้ำหน้าแล้งก็ตื้นอยู่แล้ว

การรวมกลุ่มนอกเหนือจากช่วงทำนา โดยใช้กรบแทงปลาจึงเกิดขึ้นในกิจกรรมพิเศษของกลุ่ม บอกถึงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชาวบ้าน การช่วยงานบ้านงานบุญระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท และสมาชิกในชุมชน หมายความว่าผู้ที่ไม่เคยช่วยแรงใครก็ไม่อาจระดมคนมาช่วยงานตัวเองได้

กรบมีรูปลักษณ์เด่นชัด โดยเฉพาะการมีซี่เหล็กแหลม ๓, ๕ หรือ ๗ ซี่ มักเป็นเลขคี่ เป็นเลขสื่อถึงความเป็นมงคล เพียงเพราะชาวบ้านนำไปผูกประเด็นกับประเพณีพิธีศพที่นิมนต์พระมาเทศน์ ๔ รูป ประเด็นนี้บอกถึงการหาวิธีการเสริมความมั่นใจในกิจกรรมจับปลาล่าสัตว์ มนุษย์ควบคุมเครื่องมือ เรียนรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวได้ แต่กำหนดสถานการณ์อย่างแท้จริงไม่ได้

นอกจากมีซี่เหล็กแหลมจำนวนมาก กรบยังมีด้ามจับที่ตกแต่งอย่างตั้งใจ ทั้งที่แค่มีเหล็กแหลมมีด้ามก็ใช้งานได้แล้ว แต่การแกะสลักรูปสัตว์บอกถึงการมองธรรมชาติรอบตัว และยังยกระดับเครื่องใช้เป็นงานฝีมือหรืองานช่าง และหากผลงานสะท้อนสุนทรียภาพทางใจระดับสูงอาจเรียกว่างานศิลปะ คือเป็นศิลปะแบบชาวบ้านนั่นเอง

กรบเป็นเครื่องมือที่คนมีส่วนร่วมในการใช้งาน อาจจัดเป็นเครื่องมือจับสัตว์ ส่วนเครื่องมืออีกมากใช้กลไกทำงานเพื่อรอให้สัตว์มาติดเครื่องมือ โดยคนมาตามเก็บสัตว์ทีหลัง อาจจัดเป็นเครื่องมือดักสัตว์ ดังนั้นกรบจึงเป็นเครื่องมือที่คนต้องกำหนดบังคับขับเคลื่อนการใช้งานเอง

เครื่องมือจับปลาอย่างกรบมีจุดเด่นที่รูปลักษณะ เป็นงานฝีมือ และใช้จับปลาตัวใหญ่ ได้ปริมาณพอเพียงกับงานพิธีในช่วงหน้าแล้ง กล่าวได้ว่าเป็นประดิษฐกรรมชาวบ้านที่โดดเด่นทั้งรูปลักษณ์และสมรรถนะ3