วลี “สถานการณ์ สร้างวีรบุรุษ” คำว่า “สถานการณ์” มีความหมายอย่างไร

จิ๋นซีฮ่องเต้ วีรบุรุษที่เกิดจากสถานการณ์ช่วงเสื่อมของราชวงศ์โจวตะวันตก รวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็นจักรวรรดิเอกภาพ

ห้วงเวลาวิกฤติคับขัน แล้วเกิดมีผู้สามารถแก้เหตุดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปได้ ที่เรามักพูดกันว่า “สถานการณ์ สร้างวีรบุรุษ” หลี่ไคหยวน นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์อธิบายสำนวนดังกล่าวไว้ในผลงานของเขาที่ชื่อ “ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้” ว่า “สถานการณ์ สร้างวีรบุรุษ” เป็นสำนวนจีนโบราณ

คำว่า “สถานการณ์” ในภาษาจีน ประกอบด้วยคำสองคำได้แก่ “สือซื่อ (时势)” คำว่า “สือ (时)” มาจากคำเต็มว่า “สือจวี่ (时局 )” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นสถานการณ์แห่งรัฐ (national situation) คำว่า “ซื่อ (势)” มาจากคำเต็มว่า “ชวีซื่อ (趋势)” ซึ่งมีความหมายว่าแนวโน้ม (trend, tendency)

ดังนั้น “สถานการณ์” ก็คือ “แนวโน้มหลักแห่งประวัติศาสตร์” หรือความแน่นอน (ที่จักต้องเป็นไป) ของประวัติศาสตร์ หรือบ้างครั้งเรียกว่า “ฟ้าลิขิต”

เช่นช่วงหลังการเสื่อมสลายของราชวงศ์โจวตะวันตกไปแล้ว เจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ เริ่มแผ่อิทธิพลเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กันแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ครั้นถึงยุคสมัยจ้านกว๋อผู้นำแต่ละรัฐต่างสถาปนาตนเองเป็นท่านอ๋อง แนวโน้มกระแสหลักที่ดินแดนใต้ฟ้ามุ่งสู่ความเป็นรัฐจักรวรรดิที่เป็นเอกภาพค่อยปรากฏชัดเจนขึ้นมาทีละขั้น

ท่ามกลางแนวโน้มสถานการณ์กระแสหลักนี้ รัฐฉินได้อาศัยเงื่อนไขเฉพาะที่รัฐตนมีตอบรับสอดคล้องกับฟ้าลิขิต ทำลายรัฐต่างๆ สถาปนารัฐเอกภาพทำให้เกิด “จักรวรรดิฉิน” และ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน

ทว่า การผนวกดินแดนใต้ฟ้าเป็นเอกภาพของจิ๋นซี แม้สอดคล้องกับลิขิตฟ้า หรือสถานการณ์ แต่ก็ฝืนเจตนาประชาชน

ปลายยุคราชวงศ์ฉินสถานการณ์จึงปั่นป่วนวุ่นวายครั้งใหญ่ หลิวปังดำเนินการสอดคล้องคล้อยตามทั้งลิขิตฟ้าและมติประชา สถาปนาจักรวรรดิฮั่นขึ้นมาได้ หลังผ่านการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์วิวัฒนา การสืบเนื่องมาจนถึงยุคใกล้หยวนซื่อไข่ฟื้นฟูระบอบราชวงศ์สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ ถือเป็นละครตลกช่วงชีวิตสั้นนิดเดียวที่ฝ่าฝืนทั้งลิขิตฟ้า และมติประชาชน

ประวัติศาสตร์ประเทศจีนสองพันปี การหมุนเวียนสลับเปลี่ยนขึ้นลงของราชวงศ์ต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการเข้าแทนที่กันระหว่างรัฐจักรวรรดิที่เป็นเอกภาพกับมหาชนก่อความรุนแรงนั้น ย่อมถือได้ว่าเกิดจากการรวมศูนย์กับการแยกตัว กับผสานรวมระหว่างลิขิตฟ้าและเจตนาประชานั้นเอง

ลิขิตฟ้าและมติประชาชน เป็นจุดสองจุดในการประเมินค่าประวัติศาสตร์ หากตรวจสอบจากมุมมองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะเห็นว่า จักรวรรดิฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้ หากยังรวมถึงราชวงศ์อื่นๆ ที่ผ่านในประวัติศาสตร์ก็สามารถมองได้ชัดเจน ซึ่งในสังคมโบราณลิขิตฟ้าหนักหน่วง มติประชาชนบางเบา แต่สังคมปัจจุบันมติประชาชนหนักกว่า

ลิขิตฟ้านำหน้ามติประชาชนตามหลัง แต่ลิขิตฟ้ายากที่จะคาดคะเน มติประชาชนแม้ตรวจสอบได้ ก็ผันแปรมากมาย การทำสองส่วนให้สอดคล้องกันจึงเป็นงานยากของผู้นำ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่ไคหยวน เขียน, สุนทร ลีวงศ์เจริญ แปล. ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้, กรุงเทพฯ : มติชน, มกราคม 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564