ผู้เขียน | บัณฑิต จุลาสัย / หน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
---|---|
เผยแพร่ |
จากจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดโรคไวรัสมงกุฎ บริเวณชุมชนท่าเรือคลองเตย (พ.ศ.2564) สร้างความตระหนกให้กับคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานคร ด้วยที่ตั้งนั้นอยู่แทบจะใจกลางพระนคร อีกทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของแรงงานภาคบริการที่ออกไปทำงานทั่วมหานคร จึงเป็นประเด็นร้อนแรงเร่งด่วนให้รัฐบาลต้องรีบเข้ามาจัดการออกมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในสงครามโรคครั้งนี้
ที่จริงสำหรับพื้นที่ย่านคลองเตยแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต หรือเป็นเรื่องร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วย ณ ที่แห่งนี้ มีเรื่องราวตื่นเต้นเร้าใจเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่เรียกขานพื้นที่นี้ ว่า คลองเตย ด้วยซ้ำไป
ตามหลักฐานโบราณคดีและเอกสารประวัติศาสตร์ พื้นที่ย่านนี้เดิมทีเรียกขานว่า พระประแดง ที่ไม่ใช่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เพราะพระประแดงวันนี้ เป็นเมืองมอญใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แต่พระประแดงเก่า มีอดีตความย้อนกลับไปไกลถึงสมัยพระนครแห่งราชณาจักรขอม ตามข้อสันนิษฐานของ รศ.ศานติ ภักดีคำ ซึ่งสอดคล้องกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่อธิบายคำว่า ประแดง ผแดง หรือผาแดง มาจาก กัมรเตง ในภาษาเขมรโบราณ
กัมรเตง หรือ กมรเตง เป็นคำนำแสดงพระราชอิสริยยศของกษัตริย์หรือเจ้านายแห่งราชอาณาจักรขอม หมายถึง ผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นใหญ่ ดังที่พบในจารึกสมัยกรุงสุโขทัย มีคำที่กร่อนแล้ว เป็น กรมประแดง เป็นต้น
แต่จากหลักฐานโบราณคดีที่แน่ชัดคือองค์พระสององค์ที่มีมาก่อนรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังที่ปรากฎในพงศาวดารอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการค้นพบเทวรูป ดังนี้
…ขณะนั้น คลองสำโรง ที่จะไปคลองศีรษะจรเข้ คลองทับนาง ที่จะไปปากน้ำ เจ้าพระยาตื้น เรือใหญ่จะเดินไปมาขัดสน จึงให้ชำระ ขุดได้รูปเทพารักษ์ ๒ องค์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ จาฤกชื่อองค์หนึ่ง ชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังขกร ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึงให้พลีกรรมบวงสรวง แล้วรับออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง…
ต่อมา เกิดเหตุการณ์รุนแรงในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา ด้วยพระยาละแวกแห่งเมืองเขมร ยกทัพมาปล้นแผ่นดินสยามหลายครั้ง ครั้งหนึ่งนั้นยกทัพเรือมาจนถึงปากน้ำพระประแดง เจ้าเมืองธนบุรีป้องกันไม่ทัน พระยาละแวกจึงจับชาวบ้านธนบุรีและนนทบุรี ไปเป็นเชลย แต่เมื่อขึ้นต่อไปก็ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ ต้องล่าทัพขนเชลยธนบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรีกลับ รวมทั้งเทวรูปทั้งสององค์
…พระเจ้าละแวก ให้เอารูปเทพารักษ์ทองสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ ชื่อพระยาแสนตา และบาทสังขกร อันมีมเหศักขภาพ ซึ่งอยู่ ณ เมืองพระประแดง อันขุดได้แต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ไปด้วย…
ในแผนที่ประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๕ แม้จะไม่พบนาม พระประแดง (เก่า) แล้ว แต่พบ ศาลเจ้าพ่อพระประแดง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย ตรงบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯและย่านคลองเตยในปัจจุบัน
ส่วนพื้นที่โดยรอบนั้น ล้วนเป็นนาไร่ มีบ้านเรือนอยู่บ้างตามริมแม่น้ำลำคลอง และมีวัดหลายแห่ง เช่น วัดคลองเตย วัดไก่เตี้ย วัดเงิน วัดทอง วัดนาคะราด และวัดหน้าพระธาตุ เป็นต้น
เหตุการณ์สำคัญ ที่ส่งผลมาถึงย่านคลองเตยจนทุกวันนี้ คือการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ ที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นหนึ่งในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้กรุงเทพเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกไกล ที่สามารถรองรับเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งในเวลานั้นเมืองท่าสิงคโปร์ยังไม่เป็นเช่นวันนี้
การก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมาก ทั้งการขุดลอกสันดอนในแม่น้ำ เพื่อให้เรือขนาดใหญ่เข้าถึง การปรับและเตรียมพื้นที่ริมแม่น้ำ สำหรับก่อสร้างท่าเรือ คลังสินค้า ทางสัญจร และอื่นๆ ทั้งที่จะสร้างทันทีและยังพื้นที่สำรองไว้เผื่อการขยายตัวต่อไป
มีการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ที่ดินที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ต่อเนื่องกันหลายฉบับ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อยู่อาศัยมาแต่ก่อนจำนวนมาก ที่ต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น
แม้แต่วัดวาอารามที่อยู่ในพื้นที่จำนวนห้าวัด กระทรวงเศรษฐการ ได้ผาติกรรมเพื่อสร้างท่าเรือ ได้แก่วัดและที่ธรณีสงฆ์ของ วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดไก่เตี้ย (ร้าง) และวัดเงิน ต่อมาคณะสงฆ์ จึงตั้งคณะกรรมการฯ หาสถานที่สร้างวัดใหม่ทดแทน ได้ที่ตำบลคลองบ้านกล้วย โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ประทานนามว่า วัดธาตุทอง
สำหรับการก่อสร้างท่าเรือนั้น น่าจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย จนต้องใช้ดำเนินการนานหลายปี ด้วยอยู่ในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ ๒ กว่าจะมาแล้วเสร็จเมื่อสงครามสิ้นสุดและเปิดใช้ได้ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
หลังจากนั้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จัดตั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อรับโอนกิจการท่าเรือจากสำนักงานท่าเรือกรุงเทพมาดำเนินการ
ในการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ครั้งนั้น นอกจากต้องใช้วัสดุก่อสร้าง ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และในประเทศแล้ว ยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกรรมกร ที่ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด มีการจัดเตรียมที่พักคนงานในบริเวณเดียวกัน เพื่อความสะดวก และในเวลานั้นยังมีพื้นที่ว่างรอการใช้งานอยู่มาก
แต่เมื่อการก่อสร้างยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปี (พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๙๐) จากที่พักคนงานชั่วคราว กลายเป็นการอยู่อาศัยถาวรของแรงงานและครอบครัว แม้เมื่อท่าเรือเปิดดำเนินการ แรงงานก่อสร้างเดิมส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปรับงานเป็นกรรมกรขนสินค้าขึ้นลงเรือ อีกส่วนหนึ่งออกไปทำงาน ณ สถานที่ก่อสร้างอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ยังคงอาศัยในบ้านพักชั่วคราวเดิม ด้วยกิจการท่าเรือในช่วงปีแรกๆ ยังไม่คึกคัก จึงไม่ได้รื้อถอนที่พักชั่วคราว
กิจการท่าเรือทวีความคึกคักมากขึ้น ปริมาณสินค้าผ่านมากขึ้น ยิ่งในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกานอกจากจะขอตั้งฐานทัพในไทยในหลายพื้นที่ทางภาคอีสานแล้ว ยังขอใช้ท่าเรือคลองเตยเป็นท่าเรือหลักรับส่งอาวุธยุทธปกรณ์ต่อเนื่องหลายสิบปี
ในขณะที่การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกจากจะเพิ่มกิจกรรมการค้านำเข้าและส่งออกผ่านท่าเรือกรุงเทพแล้ว ยังสร้างความเจริญให้กับประเทศ มีการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างในย่านธุรกิจ อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในนครหลวง ส่งผลให้แรงงานจากชนบทอพยพเข้ามาทำงาน ทั้งช่วงเวลานอกฤดูกาลและตลอดทั้งปี
ส่วนหนึ่งของแรงงานอพยพเหล่านี้ ในตอนแรกมักจะขออยู่อาศัยกับเครือญาติที่อาศัยในย่านคลองเตย หรือเลือกเป็นที่พักอาศัย ด้วยเป็นพื้นที่ทางราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทำเลอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพ จึงประหยัดทั้งค่าที่พักและค่าเดินทาง
จากหมู่บ้านพักแรงงานก่อสร้างชั่วคราวในพื้นที่การท่าเรือฯ ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นชุมชนพักอาศัยกลางพระนคร มีผู้คนอยู่หนาแน่นทั้งผู้ใช้แรงงานท่าเรือและโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง และแรงงานภาคบริการในธุรกิจต่างๆ รวมทั้งครอบครัวที่พากันอพยพตามมาจากทั่วประเทศ เมื่อวางแผนจะอยู่อาศัยในช่วงเวลาสั้นๆ ตามฤดูกาล จึงไม่ได้แจ้งย้ายที่อยู่กับทางราชการ ผนวกกับการอาศัยในพื้นที่ราชการ แม้จะเปลี่ยนเป็นการอยู่อาศัยถาวรแต่ก็ไร้สิทธิ์ตามกฎหมาย
จากโรงเรือนชั่วคราวแปรเปลี่ยนเป็นเพิงไม้ที่ก่อสร้างง่ายๆ กันเอง ด้วยรู้ว่าจะต้องถูกรื้อถอน เมื่อทางราชการต้องการใช้พื้นที่ เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งก่อสร้างจึงผุพังทรุดโทรมตามอายุวัสดุ รวมถึงบริเวณเริ่มเสื่อมโทรม
สภาพและขนาดที่อยู่อาศัย ยังไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้อยู่อาศัยเดิมและครอบครัว รวมทั้งผู้ที่ย้ายมาสมทบ เป็นชุมชนไม่ได้วางแผนระบบสาธารณูปโภค มีเพียงการเชื่อมต่อไฟฟ้าและน้ำใช้จากบ้านข้างเคียง ไม่มีระบบสาธารณูปการ จนเป็นที่มาของแหล่งเสื่อมโทรม หรือสลัมกรุงเทพ ที่มีชื่อเสียงระดับสากล
จึงเป็นที่มาของข่าวการขับไล่รื้อถอนที่พักอาศัย เพื่อขยายกิจการท่าเรือหรือแผนงานก่อสร้างอื่นของทางราชการ ข่าวเพลิงไหม้จากอุบัติเหตุหรือเหตุอื่น ข่าวจับกุมผู้ค้ายาเสพติด ผู้เล่นการพนัน ผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี รวมทั้ง ก่อนการเลือกตั้ง หรือจัดตั้งรัฐบาล จะมีข่าวประท้วง ต่อต้าน ให้ความเห็นใจ หรือแผนพัฒนาชุมชนท่าเรือคลองเตย
รวมทั้งข่าวล่าสุด คือกลายเป็นคลัสเตอร์โควิดกลางพระนคร ที่เพิ่มสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของไทยไม่แพ้ใครแล้วในเวทีสากล
แต่ไม่ว่าจะเกิดเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ชุมชนและผู้คนย่านคลองเตย ก็จะดำรงอยู่ต่อไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564