เส้นทาง “จูเลียน อัสซานจ์” ตั้ง “วิกิลีกส์” องค์กรแฉแห่งยุค ตีแผ่เอกสารหลุดเขย่าโลก

จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) แสดงหน้าตาของเว็บไซต์ วิกิลีกส์ (Wikileaks) ในงานแถลงข่าวที่โรงแรม Park Plaza ในลอนดอน เมื่อ 23 ตุลาคม 2010 ภาพจาก LEON NEAL / AFP

องค์กรสื่อหลายประเทศมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ร่วมร้อยปี ในยุคศตวรรษที่ 21 มีองค์กรด้านสื่อสารมวลชนไม่กี่แห่งที่สร้างปรากฏการณ์เขย่าโลกได้แบบถึงรากจริงๆ ในบรรดาสื่อเหล่านั้น ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดย่อมมี “วิกิลีกส์” (Wikileaks) โดยจูเลียน อัสซานจ์ รวมอยู่ด้วย รอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรของเขาเผยแพร่เอกสารที่ทำให้ผู้นำ, ฝักฝ่ายทางการเมือง จนถึงองค์กรใหญ่จากมหาอำนาจหลายประเทศต้องสะเทือนไปตามๆ กัน

เริ่มต้นชีวิต

จูเลียน อัสซานจ์ เกิดเมื่อ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 ที่เมืองทาวน์สวิลล์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในวัยเด็ก ครอบครัวของอัสซานจ์ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง เนื่องจากพ่อแม่ของเขาเป็นเจ้าของคณะละครเร่ เขาจึงได้รับการศึกษาทั้งในหลักสูตรและแบบโฮมสคูล เล่าลือกันว่า เขาเข้าออกโรงเรียนเป็นว่าเล่น จำนวนโรงเรียนที่เข้าออกเป็นหลักสิบแห่ง

อัสซานจ์ เปิดเผยถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขาไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ TED ในปีค.ศ. 2010 เกี่ยวกับคำเล่าลือเรื่องการต้องย้าย ซึ่งผู้ดำเนินรายการถามถึงตัวเลขว่าย้ายโรงเรียนมาแล้วกว่า 37 แห่ง จริงหรือไม่ อัสซานจ์ ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธตัวเลขดังกล่าว แต่ตอบเชิงให้เหตุผลว่า

“พ่อแม่ของผมเคยทำธุรกิจภาพยนตร์ แล้วต้องคอยหนีจากพวกกลุ่มลัทธิทางศาสนา เมื่อต้องรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันแล้ว…(น่าจะเป็นเหตุมาสู่การย้ายโรงเรียนบ่อยได้-กองบรรณาธิการ)”

เมื่ออัสซานจ์เติบโตขึ้น เขาเติบโตมาพร้อมกับยุคแห่งอินเทอร์เน็ต ในปีค.ศ. 1995 อัสซานจ์และเพื่อนๆ ได้แสดงทักษะความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ที่ไม่ธรรมดาจากการแฮ็คเข้าระบบรักษาความปลอดภัยขององค์กรระดับสูง อย่างนาซา (NASA) หรือ เพนตากอน จนเขาถูกตั้งข้อหากว่า 31 กระทงจากการกระทำในครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาตัดสินว่าการกระทำของเขาเป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นของวัยเยาว์ อัสซานจ์ เสียค่าปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

“ตอนนั้น ผมเป็นนักข่าว ผมเป็นนักกิจกรรม ทำข่าวตั้งแต่อายุยังน้อย เขียนนิตยสาร แล้วก็ถูกฟ้องร้องเพราะเรื่องนั้น ตอนเป็นวัยรุ่น คุณต้องระวังหน่อยกับพวกแฮคเกอร์ ผมหมายความว่า กลวิธีบางอย่างสามารถประยุกต์ใช้กับอะไรได้มากมาย โชคไม่ดี ตอนนี้คนส่วนใหญ่ที่ใช้(กลวิธี)เป็นพวกมาเฟียรัสเซียซึ่งพยายามจะขโมยบัญชีธนาคารของย่าของคุณ คำนี้(แฮคเกอร์)เลยไม่ได้มีความหมายดีอย่างที่เคยเป็น…”

จากนั้น เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แต่ลาออกก่อนจะจบการศึกษา และได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์

ตั้ง “วิกิลีกส์” เขย่าโลก

จูเลียน อัสซานจ์ ก่อตั้ง “วิกิลีกส์” (WikiLeaks) ในปีค.ศ. 2006 ซึ่งเวลาต่อมาเป็นที่พูดถึงอย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงสื่อมวลชนในแง่บทบาทการเผยแพร่ข้อมูลและเอกสารลับต่างๆ ในเว็บไซต์ ถึงขนาดที่องค์กรและตัวของเขาเองถูกเรียกว่าเป็น “ศัตรูของทางการสหรัฐ”

การเผยแพร่ข้อมูลของวิกิลีกส์ ถูกจดจำในฐานะแหล่งข่าวที่เปิดเผยเกี่ยวกับเอกสารที่เป็นความลับหรือมีความละเอียดอ่อนต่อทางการในหลายประเทศ การเผยแพร่ครั้งแรกของเว็บไซต์วิกิลีกส์ เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 เป็นข้อความจากผู้นำกบฏโซมาเลียที่สนับสนุนการใช้มือปืนรับจ้างลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลอื่นออกมาเรื่อยๆ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับสถานกักกันทหารสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม ในคิวบา, รายชื่อสมาชิกลับของพรรค British National Party, เอกสารภายในจากกลุ่ม(ลัทธิ)ความเชื่อ Scientology จนถึงความเคลื่อนไหวและอีเมลส่วนตัวจากหน่วยวิจัยภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย

ในยุค 90s จนถึงต้นทศวรรษ 2010s กล่าวกันว่า องค์กรของจูเลียน ตีแผ่เอกสารลับมากกว่าสื่อทั้งหมดในโลกรวมกันเสียอีก เมื่อผู้ดำเนินรายการ TED ในปี 2010 ถามว่า เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือ? จูเลียนตอบในเชิงตั้งข้อสังเกตว่า

“มันน่าเป็นห่วงนะที่ว่าจริงไหมที่สื่อที่เหลือของโลกนั้น ทำงานได้แย่มาก แม้แต่นักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ ยังนำเอกสารข้อมูลประเภทเหล่านั้นมาเปิดเผยได้มากกว่าสื่อมวลชนทั่วโลกรวมกันเสียอีก”

อัสซานจ์ เล่าการทำงานขององค์กรนี้ว่า องค์กรได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่ให้เบาะแสเบื้องลึก แหล่งข่าวที่่ว่าส่งข้อมูลมาให้วิกิลีกส์ได้หลายช่องทาง อาทิ จดหมายทางไปรษณีย์ จากนั้นก็นำข้อมูลมาตรวจสอบ จัดเรียงข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ สิ่งที่องค์กรทำคือใช้ระบบเข้ารหัสข้อมูลแบบทันสมัยที่สุดเพื่อกระจายข้อมูลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตและปกปิดร่องรอย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ องค์กรต้องป้องกันตัวเองทั้งในแง่ทางการเมืองและกฎหมาย

อัสซานจ์ เล่าว่า ข้อมูลที่ได้มาก็น้อยครั้งมากที่จะรู้ตัวตนของแหล่งข่าวที่นำข้อมูลมาให้ และหากเกิดไปรู้ตัวตนเข้าก็ต้องรีบทำลายข้อมูลนั้นให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมา

ผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ยังเล่าถึงปัญหาในการทำงานว่า พวกเขาได้รับเอกสารจำนวนมหาศาลหลายชิ้นเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ แต่ไม่มีคนเพียงพอจะตรวจสอบได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการหาอาสาสมัครนักข่าว หรือการหาทุน/ค่าจ้างสำหรับการทำงานด้านสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องหาคนที่เชื่อใจได้ด้วย อัสซานจ์ รู้ตัวว่าองค์กรของเขายากจะเติบโตด้วยอัตราอันรวดเร็วแบบธุรกิจอื่น และต้องปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อหาคนที่สามารถจัดการรับมือกับเอกสารที่เป็นเรื่องความมั่นคงระดับชาติ

ข้อมูลที่วิกิลีกส์ เผยแพร่นั้นเป็นข้อมูลภายในซึ่งคนทั่วไปยากจะเข้าถึงได้ บางครั้งการนำมาเปิดเผยสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนอาจทำให้ผู้คนรับรู้ถึงเรื่องราวหลังฉากได้ แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดคำถามว่า การเปิดเผยเรื่องลึกเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นต่อโลกจริงหรือ หรือมันทำให้เกิดประโยชน์กับใคร?

อัสซานจ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของเว็บไซต์วิกิลีกส์ของเขาไว้ว่า

“ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ว่า ข้อมูลแบบไหนกันที่สำคัญต่อโลก ข้อมูลแบบไหนกันที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปขึ้นได้ ข้อมูลมันมีอยู่มากมาย ถ้าเกิดมีข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ถึงกับลงทุนเป็นตัวเงินเพื่อปกปิดแล้ว อันนั้นเป็นสัญญาณที่ดีมากว่าถ้าเกิดเมื่อไหร่ที่ข้อมูลรั่วไหลออกไปแล้ว ข้อมูลนั้นๆ ย่อมจะต้องก่อผลประโยชน์ขึ้นได้

เพราะว่า พวกองค์กรที่รู้ข้อมูลพวกนี้ดีที่สุดนั้น รู้ชนิดทุกแง่ทุกมุม ยังถึงกับลงทุนเพื่อปกปิดข้อมูลนั้นเลย นั่นแหละ คือสิ่งที่เราพบเห็นกันในความเป็นจริง และนั่นแหละคือประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในวงการข่าว”

แรงสั่นสะเทือนจากสิ่งที่ “วิกิลีกส์” ก่อขึ้น

ในปีค.ศ. 2010 วิกิลีกส์และอัสซานจ์เริ่มถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จากกรณีที่มีการปล่อยคลิปวิดีโอทางการทหารของสหรัฐฯ ซึ่งอัดภาพจากเฮลิคอปเตอร์ขณะที่ทหารสหรัฐฯ ทำปฏิบัติการสังหารเป้าหมายในอิรักและมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วนับสิบราย ในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีนักข่าวรอยเตอร์สและเด็กด้วย

คลิปที่อัดไว้ทำให้ผู้ชมได้ยินเสียงสนทนาขณะปฏิบัติงานสังหารเป้าหมาย มีเสียงเจ้าหน้าที่หัวเราะขณะยิงสังหารด้วย

ในปีเดียวกันนั้น เว็บไซต์วิกิลีกส์ ได้เผยแพร่เอกสารลับของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักในช่วงเดือน ก.ค. และ ต.ค. ในปี ค.ศ. 2010 เป็นจำนวนมาก

เอกสารลับเหล่านี้ส่วนใหญ่ลงวันที่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ถึง พ.ศ. 2010 หรือบางฉบับย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1966 ซึ่งเป็นการเปิดเผยประเด็นที่ละเอียดอ่อนของทางการ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังความพยายามของสหรัฐฯ ต่อเรื่องภายในของอิหร่าน การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แม้แต่ฝ่ายบริหารของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีในขณะนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์การรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ

วิธีตรวจสอบ-ค้นหาต้นตอเอกสาร(หลุด)ที่องค์กรได้รับมา

อีกหนึ่งตัวอย่างที่อัสซานจ์ นำมาเล่าขณะขึ้นเวที TED เมื่อปี 2010 คือเอกสารเกี่ยวกับเหตุน้ำมันรั่วหลายครั้งในอัลเบเนีย ช่วงปลายปี 2009 อัสซานจ์ กล่าวอ้างว่าพวกเขาได้รับเอกสารรายงานทางวิศวกรรมเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งระบุว่าเป็นผลมาจากการแข่งขันระหว่างบริษัทคู่อริกัน และมีเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลเกี่ยวข้อง เขาเล่าว่า

“รายงานนี้ไม่มีตราประทับอะไรเลย เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ และค่อนข้างระแวงว่าอาจเป็นเกมของบริษัทที่ส่งมาเพื่อหวังผลจากการปั่นกระแส เราจึงเปิดเผยรายงานและระบุว่า เอกสารนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่ แม้เอกสารจะดูมีแนวโน้มเป็นของจริง แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางพิสูจน์ได้”

หลังจากนั้น อัสซานจ์ เผยว่า ได้รับจดหมายจากบริษัทที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรายงานและต้องการค้นหาต้นตอเอกสารรั่ว อัสซานจ์ ตอบกลับไปว่า อยากได้ข้อมูลเพิ่ม และถามว่าเอกสารชิ้นไหนที่บริษัทของคุณกำลังพูดถึงอยู่ และมีสิ่งบ่งชี้ทางกฎหมายว่าคุณเป็นเจ้าของเอกสารนี้ไหม

“พวกนั้นเลยส่งภาพแคปเจอร์หน้าจอหนึ่งมาให้ ในภาพมีชื่อของคนเขียนเป็นเลขประจำตัวไมโครซอฟต์เวิร์ด…เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย และนี่เป็นหนึ่งในวิธีที่เราใช้ค้นหาและพิสูจน์เอกสาร”

ผลต่อตัวอัสซานจ์ 

และในที่สุด อัสซานจ์ ตกเป็นเป้าจากความไม่พอใจนี้ถึงขนาดที่นักการเมืองบางคนเรียกร้องให้จับตัวเขาในฐานะผู้ก่อการร้าย

ไม่นานหลังจากนั้น สื่อหลายสำนักก็มุ่งความสนใจไปที่ข้อกล่าวหากรณีล่วงละเมิดทางเพศของเขา ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อพยายามใส่ร้ายป้ายสีเขา กระนั้นก็ตาม อัสซานจ์ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากฟาเอล คอร์เรอา ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ในขณะนั้น โดยทั้งสองเห็นพ้องในเรื่องสิทธิเสรีภาพ จากนั้นเขาจึงขอลี้ภัยในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังประเทศสวีเดนในคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ต่อมา อัสซานจ์ ได้ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ โดยระบุว่าเขาถูกกักตัวอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถออกนอกพื้นที่ของสถานทูตได้โดยไม่ถูกจับ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 สหประชาชาติออกมาแถลงว่า เขาควรมีสิทธิในการออกไปข้างนอกได้โดยเสรี และได้รับการชดเชยจากการถูกลิดรอนเสรีภาพในครั้งนี้

ในขณะนั้น แม้ว่าตัวผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์จะไม่สามารถออกนอกจากสถานทูตเอกวาดอร์ ประจำกรุงลอนดอนได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเผยแพร่ข้อมูลอันละเอียดอ่อนของทางการในเว็บไซต์วิกิลีกส์ได้ ดังในกรณีที่ มีการกล่าวว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NSA) ได้สอดแนมประธานาธิบดี ของฝรั่งเศสตั้งแต่ปีค.ศ. 2006-2012

เอกสารอีกชิ้นที่วิกิลีกส์เผยแพร่เมื่อปี 2016 คือ เอกสารที่บ่งชี้ว่า NSA ดักฟังบทสนทนาระหว่างนายบันคีมุน (Ban-Ki Moon) ขณะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ กับแองเจลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และสอดแนมการสนทนาระหว่างบุคลากรระดับสูงของสหประชาชาติกับผู้นำประเทศอีกหลายแห่ง อัสซานจ์ ยังระบุว่า หน่วยงานสหรัฐฯ สอดแนมแม้แต่บทสนทนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านน้ำมันของตัวเอง

หลังจากที่อัสซานจ์อาศัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ ประจำประเทศอังกฤษ กว่า 5 ปี ในที่สุดอัยการสวีเดนสวีเดนตัดสินใจยุติการสืบสวนคดีของเขา ด้วยเหตุผลเพราะการสืบสวนไม่คืบหน้า และหลักฐานไม่เพียงพอ และได้ยกฟ้องข้อหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 ทางการสหราชอาณาจักรและเอกวาดอร์ ได้ออกมายืนยันการเจรจาเกี่ยวกับดำเนินคดีกับอัสซานจ์ จนในที่สุดเขาถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2019 ข้อหาจารกรรมข้อมูลแล้วนำเอกสารความลับของทางราชการและกองทัพสหรัฐฯ หลายแสนฉบับไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ความกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชน และปัญหาด้านมนุษยธรรม เมื่อผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ มีอาการป่วยเรื้อรังจากการติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำในกรุงลอนดอน

โดยในปัจจุบัน แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมในสหราชอาณาจักร จะปฏิเสธคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดียังสหรัฐอเมริกา แต่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังมีความพยายามในการร้องขอให้มีการส่งตัวผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีคส์มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ


อ้างอิง :

Ray, Michael. “Julian Assange”. Britannica. Published 29 JUN 2021. Access 5 JUL 2021 < https://www.britannica.com/biography/Julian-Assange>

US ‘spied on French presidents’ – Wikileaks. BBC. Published 24 JUN 2015. Access 5 JUL 2021 <https://www.bbc.com/news/33248484>

Why the world needs Wikileaks. Julian Assange. TEDGlobal 2010. Online. Published JUL 2010. Access 5 JUL 2021. <https://www.ted.com/talks/julian_assange_why_the_world_needs_wikileaks#t-850758>

Julian Assange: UK judge blocks extradition of Wikileaks founder to US. BBC. Published 4 JUN 2021. Access 5 JUL 2021. <https://www.bbc.com/news/uk-55528241>

Biden administration will continue to seek Assange extradition. Aljazeera. Published 9 FEB 2021. Access 5 JUL 2021. <https://www.aljazeera.com/news/2021/2/9/biden-administration-will-continue-to-seek-assange-extradition>

จูเลียน อัสซานจ์ : นักรณรงค์ หรือ คนอยากดัง. บีบีซีไทย. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 12 เม.ย. 2019. เข้าถึงเมื่อ 5 ก.ค. 2021 <https://www.bbc.com/thai/international-47894111>

7 ปีที่รอคอย ชัยชนะของ “จูเลียน อัสซานจ์”. มติชนสุดสัปดาห์. เผยแพร่เมื่อ 28 พ.ค. 2560. เข้าถึงเมื่อ 5 ก.ค. 2564 <https://www.matichonweekly.com/column/article_38178>

เปิดใจ สเตลลา มอร์ริส ภรรยาลับเจ้าพ่อวิกิลีกส์. มติชนสุดสัปดาห์. เผยแพร่เมื่อ 22 เม.ย. 2563. เข้าถึงเมื่อ 5 ก.ค. 2564 <https://www.matichonweekly.com/column/article_298102>

จูเลียน อัสซานจ์ จ่ออุทธรณ์ ศาลผู้ดีส่งตัวไปมะกัน. ไทยรัฐออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 5 ม.ค. 2564. เข้าถึงเมื่อ 5 ก.ค. 2564 <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2006357>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2564