ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ฤดูร้อนของคนในอดีต ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีพัดลม ฯลฯ ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน มีแต่ “น้ำแข็ง” จาก “ธรรมชาติ” กับสติปัญญาของมนุษย์ ที่หยิบยืมน้ำที่แข็งตัวตามธรรมชาติ มาแก้ไขธรรมชาติรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล
แล้วน้ำที่แข็งตัวตามธรรมชาตินำมาใช้อย่างไร
ตัวอย่างประเทศหนึ่งที่นำน้ำแข็งตามธรรมชาติมาใช้ดับความร้อน ได้แก่ ประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ทั้งราชสำนักและชาวบ้านต่างใช้น้ำแข็งเป็นเรื่องปกติ สมัยราชวงศ์ชิงสถานที่เก็บน้ำแข็งแบ่งเป็น ที่เก็บน้ำแข็งหลวง, ที่เก็บน้ำแข็งท้องถิ่น และที่เก็บน้ำแข็งของชาวบ้าน
ขอลงรายละเอียด “ที่เก็บน้ำแข็งหลวง” เป็นตัวอย่างให้เห็นความยิ่งใหญ่สถานที่ และปริมาณการใช้น้ำแข็ง ซึ่งมันคงสะท้อนถึงสภาพอากาศว่าคงร้อนเอาการอยู่ หรือคนเมืองหนาวสมัยนั้นไวต่อความร้อนก็เป็นได้
เฉพาะในกรุงปักกิ่งมี “ที่เก็บน้ำแข็งหลวง” ประมาณ 18 แห่ง ดังนี้ ในพระราชวังต้องห้าม 5 แห่ง เก็บน้ำแข็งได้ 25,000 ก้อน, นอกประตูตะวันตกของภูเขาจิ่งมีที่เก็บ 6 แห่ง เก็บได้ 54,000 ก้อน, นอกประตูเต๋อเซิ่งมีที่เก็บ 3 แห่ง เก็บได้ 36,700 ก้อน น้ำแข็งจากทั้ง 3 ที่นี้ใช้ในพิธีเซ่นไหว้และราชสำนักเท่านั้น
ด้านนอกประตูเต๋อเซิ่งมีที่เก็บน้ำแข็งก่อด้วยดิน 2 แห่ง เก็บได้ 40,000 ก้อน และนอกประตูเจิ้งหน่งมีที่เก็บน้ำแข็งก่อด้วยดินอีก 2 แห่ง เก็บได้ 60,000 ก้อน (จาก ต้าชิงหุ้ยเตี่ยน ว่าด้วยเรื่องการเก็บน้ำแข็งของตูสุ่ยชิงลี่ซือสังกัดกระทรวงโยธา)
น้ำแข็งนับหมื่นๆ ก้อนที่ว่านั้น แต่ละก้อนมีรูปทรงทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ทุกด้านยาวเท่ากันคือ 1 ฟุต 5 นิ้ว แต่ละก้อนจะมีน้ำหนักราว 80 กิโลกรัม ลองคำนวณดูก็จะเห็นว่าขนาดของที่เก็บน้ำแข็งใหญ่ขนาดไหน
สำหรับการก่อสร้างที่เก็บน้ำแข็ง ถ้าเป็นที่เก็บน้ำแข็งของชาวบ้านก็ก่อด้วยดิน แต่ในพระราชวังต้องห้าม ที่เก็บน้ำแข็งเป็นห้องที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 105 เมตร กว้าง 6.36 เมตร ยาว 11.03 เมตร พื้นปูด้วยแผ่นดินขนาดใหญ่ ที่มุมมีท่อระบายน้ำแข็งที่ละลาย ผนังก่อด้วยหินสูง 1.5 เมตร และก่ออิฐต่อขึ้นไป 2.57 เมตร ผนังห้องเก็บน้ำแข็งหนา 2 เมตร
น้ำแข็งที่จะนำมาเก็บสำรองไว้ใช้นั้น ไม่ใช่ว่าจะไปตัดจากแหล่งน้ำที่แข็งตัวฤดูหนาวได้เลย
การตัดน้ำแข็งจะเริ่มขึ้นหลังวันหลี่ตง [ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน] ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูหนาว ต้องมีการทำความสะอาดแหล่งน้ำนั้นก่อน เช่น ตักไม้น้ำและขยะออก เปิดประตูต้นน้ำเพื่อให้น้ำผลักสิ่งปฏิกูล แล้วจึงปิดประตูปลายน้ำเพื่อเก็บน้ำ ก่อนตัดน้ำ ก็มีการบูชาเทพเจ้าแห้งน้ำ คนงานที่ตัดน้ำแข็งจะต้องใส่เสื้อ, กางเกง, รองเท้า, ถุงมือแบบที่ใช้เฉพาะงาน ตัดน้ำแข็งเสร็จแล้วก็ต้องขนมาเก็บที่ที่เก็บน้ำแข็ง โดยเรียงจากพื้นขึ้นไปถึงเพดานเป็นแถวตามความจุของสถานที่
น้ำแข็ง ที่ตัดมาก็จะเก็บไว้ใช้ในฤดูร้อยปีถัดไป โดยมีการกำหนดกฎชัดเจนว่า ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เดือน 5 ถึงวันที่ 30 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีนเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
จ้าวกว่าเชา เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ชาญ ธนประกอบ แปล. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2564