วิกฤตต้มยำกุ้งกับชีวิต “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” ล้มละลายสู่การเกิดใหม่ และฉายาแมวเก้าชีวิต

ภาพถ่าย สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เมื่อปี 2006 ไม่ปรากฏสถานที่ถ่าย ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน สงวนลิขสิทธิ์

วิกฤตต้มยำกุ้งห้วงทศวรรษ 2540 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คนหลากหลายวงการ เวลาผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว ชื่อของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นักธุรกิจชื่อดังในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กเมื่อหลายปีก่อนมาปรากฏในหน้าสื่อช่วงพ.ศ. 2564 อันเป็นห้วงวิกฤตอีกครั้งในไทย ครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตโรคระบาดระดับโลก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งระงับซื้อขายหุ้นกลุ่มธนาคารทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดในขณะนั้น ภายหลังจากรัฐบาลออกคำสั่งให้กลุ่มธุรกิจธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้เสีย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณเตือนถึงวิกฤตที่จะสุกงอมเต็มที่ในช่วงกลางปีเดียวกัน

วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

ข้อมูลจากการสืบค้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของทีมงานศิลปวัฒนธรรมอธิบายบรรยากาศช่วง 2540 ไว้ว่า “วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี พ.ศ. 2540 ถูกบันทึกว่าได้เริ่มต้นจากประเทศไทย ก่อนลุกลามไปหลายประเทศในทวีปเอเชีย นับแต่การล้มละลายของค่าเงินบาท หลังรัฐบาลขาดเงินตราต่างประเทศที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทจนต้องประกาศปล่อยค่าเงินลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทมีมูลค่าลดลงกว่า 50 เปอร์เซนต์หลังการใช้มาตรการดังกล่าวเพียง 6 เดือน

วิกฤตในครั้งนี้สื่อให้เห็นถึงการบริหารงานที่ล้มเหลวของฝ่ายการเมืองทั้งระดับชาติ และภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียที่รัฐและประชาคมมิได้จัดระบบกฎเกณฑ์ทางการเงินอย่างเหมาะสม และไม่อาจรับมือกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์หรือแรงกดดันจากต่างชาติได้โดยเฉพาะองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินพร้อมกับบีบบังคับให้รัฐบาลที่รับความช่วยเหลือต้องยอมรับเงื่อนไขในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ จนทำให้รัฐบาลสูญเสียอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริง”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 3 มีนาคม 2540 ไทยสั่งห้ามซื้อขายหุ้นกลุ่มธนาคารส่งสัญญาณ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ประวัติส่วนตัวและธุรกิจของนายสวัสดิ์ 

ก่อนหน้าเกิดภาวะวิกฤตขึ้น นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เป็นเจ้าของธุรกิจโรงงานเหล็กไม่ต่ำกว่า 2 แห่ง เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเอ็นทีเอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (NTS) และบริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (NSM) ภายหลังได้ตั้งบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทนิคมอุตสาหกรรม

รายงานจาก “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2540 อธิบายการดำเนินงานบริษัทในเครือ “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” ว่า ผลประกอบการบ. เอ็นทีเอส สตีลกรุ๊ป ในปี 2539 ขาดทุน 936.23 ล้านบาท ส่วนช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2540 ขาดทุนอีก 222.60 ล้านบาท

ในปี 2539 เหมราชพัฒนาที่ดิน กำไร 601.47 ล้านบาท ไตรมาสที่ 1 ปี 2540 กำไร 155.83 ล้านบาท

สวัสดิ์ กำเนิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2484 เป็นนักธุรกิจจีนเชื้อสายกวางตุ้ง มีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอสังหาริมทรัพย์ในไทย

นายสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ ข่าวสด ถึงชีวิตวัยเด็กว่า เกิดที่วัดพระพิเรนทร์ วรจักร บิดาและมารดามาจากเมืองจีน ท่านทำงานตั้งแต่ยังวัยรุ่น สมัยร้อยปีที่แล้ว เมื่อสมัยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่เมืองจีน บิดามารดาเป็นผู้อพยพมาเมืองไทยและทำงานหนักมาตลอด ตอนที่เขาอายุ 4-5 ขวบก็ต้องมาช่วยพ่อแม่

ขณะที่นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2542 ให้ข้อมูลว่า สวัสดิ์ถูกส่งไปเรียนที่กวางเจา ประเทศจีน 5 ปี และกลับมาเรียนต่อในไทย ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาของนายสวัสดิ์ พบการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมากมาลงทุน เมื่อมีประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2540 นายสวัสดิ์ จึงอยู่ในสภาพเป็นหนี้มหาศาล (บีบีซี ไทย, 29 มิถุนายน 2564)

ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องบริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค จำกัด พร้อมด้วยนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการและนายกสมาคมผู้ค้าเหล็ก กล่าวหาว่าผิดสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาบังคับจำนอง โจทก์เรียกร้องให้ร่วมกันชดใช้เงินคืน 508 ล้านบาท คำฟ้องระบุว่า พ.ศ. 2536 บริษัทนครไทยฯ ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์วงเงิน 300 ล้านบาท และมีรายละเอียดการค้ำประกันอื่นๆ อีก หลังกู้แล้วปรากฏว่า ไม่ได้ชำระเงินคืนจนต้องทำเรื่องฟ้องร้องขึ้น (มติชน, 30 กรกฎาคม 2540)

แม้จะมีปัญหาจากการทำธุรกิจ แต่ข้อมูลจากรายงานข่าวเมื่อปี 2540 นายสวัสดิ์ พร้อมนักธุรกิจชั้นนำจำนวนหนึ่งเข้าพบพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ หลังจากนั้น 2 วัน รัฐบาลก็ขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ทั้งที่ท่าทีก่อนหน้านี้รัฐบาลดูจะมีจุดยืนปฏิเสธมาตลอด (กรุงเทพธุรกิจ, 3 สิงหาคม 2540)

ก่อนหน้าการเข้าพบพลเอกเปรม นายสวัสดิ์ พร้อมนักธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็ก รายงานข่าวจาก “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2540 ระบุว่านายสวัสดิ์ เข้าพบนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี และเดินทางเข้าออกกระทรวงต่างๆ หลายครั้ง ซึ่งมองได้ว่าเป็นการ “กระทุ้ง” รัฐบาลเพื่อให้ช่วยอุตสาหกรรมเหล็กด้วยนโยบายทางภาษีนำเข้า และลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าลงเพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมเหล็กในไทยเสียเปรียบด้านต้นทุนจนแข่งขันกับต่างชาติยากขึ้น รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงนั้นโรงงานผลิตเหล็กของนายสวัสดิ์ หยุดเดินเครื่องการผลิตวันละ 4 ชั่วโมงเพราะสู้ราคากระแสไฟฟ้าไม่ไหว

ไม่เพียงแค่ในช่วงเวลานั้น รายงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 ยังระบุว่า ไทยมีข้อตกลงกับ WTO และอาฟตา ว่าไทยต้องปรับลดภาษีนำเข้าเหล็กทุกประเภทให้เหลือ 0-5% ในปี 2546 (อีก 5 ปีครึ่งนับจากวันที่ข่าวเผยแพร่) นั่นย่อมทำให้ผู้ผลิตในประเทศเสียเปรียบอีกด้วยในอนาคต เป็นไปได้ว่า นั่นทำให้นายสวัสดิ์ ต้องเดินหน้าขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่เชื่อกันว่า การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลยังไม่ได้ผลมากนัก เนื้อหาต่อมาในรายงานระบุว่า

“…นั่นเองที่เป็นที่มาของการใช้ไม้ตายเข้าพึ่งบารมี ‘ป๋าเปรม’ เพื่อ ‘แทงชิ่ง’ กระทบ ‘บิ๊กจิ๋ว’ นักวิจารณ์การเมืองมองว่านี่คือเกมการเมืองซึ่งเป็น ‘ไพ่ใบสุดท้าย’ ของสวัสดิ์ แน่นอนว่าเขาได้รับ ‘ชัยชนะ’ ครั้งนี้อย่างงดงาม แต่ในทางกลับกัน เขาก็ไม่เหลือไพ่ในมือที่จะใช้ต่อรองกับใครในรัฐบาลได้ เพราะชัยชนะส่วนหนึ่งได้ฝากไว้ซึ่ง ‘รอยแผล’ ที่รัฐบาลพลเอกชวลิตต้องเสียหน้า

จนมีกระแสข่าวออกมาจากคนใกล้ชิดว่า พลเอกชวลิตไม่ค่อยพอใจต่อการกระทำของกลุ่มนักธุรกิจที่นำโดยสวัสดิ์เท่าไรนัก”

เห็นได้ว่า นายสวัสดิ์ มีบทบาทอย่างมากทั้งในแวดวงธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม และยังไปจนถึงเรื่องในเชิงการเมือง ชื่อ “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เคยปรากฏว่าเป็นชื่อผู้เขียนบทความเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญกับความขัดแย้งทางความคิด” ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2540 เนื้อหาวิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีว่า

“…เมื่อเราจะปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องเคารพสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย การที่มีผู้พยายามสร้างกระแสว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นของรัฐบาลแล้ว จะเกิดวิกฤติการณ์ถึงขั้นนองเลือดนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และแสดงถึงความเป็นเผด็จการทางความคิด และบุคคลเหล่านี้นี่เองเป็นผู้ก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างไม่รู้จบสิ้น”

นายสวัสดิ์ เคยคลุกคลีในแวดวงการเมือง เคยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทย เคยร่วมงานกับพรรคชาติไทยในทศวรรษ 2540 และเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540

อันที่จริงแล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ไม่ใช่ช่วงแรกที่สวัสดิ์ เผชิญหน้าปัญหาหนักหน่วง รายงานข่าวจากประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2541 อธิบายว่า ในปี 2527 รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศลดค่าเงินบาท ครั้งนั้น สวัสดิ์ ก็ลำบากแทบเอาตัวไม่รอดมาแล้ว แต่ยังไม่สาหัสเท่าในห้วง 2540-41 นั่นจึงทำให้หลายคนมองว่า สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เป็น “แมวเก้าชีวิต”

รายงานระบุว่า สวัสดิ์ มีภาระหนี้กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทนครไทยสตริปมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSM โรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน) มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท (ก่อนค่าเงินลอยตัว) ติดค้างสถาบันการเงินภายในประเทศกว่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานข่าวจากประชาชาติธุรกิจฉบับดังกล่าวยังเขียนว่า ปัญหานี้ไม่ได้ทำให้นายสวัสดิ์ท้อ ยังพยายามเคลื่อนไหวเพื่อต่อสายป่าน จนกระทั่งมีข่าวว่า วันที่ 13 มีนาคม 2541 ปรากฏการลงนามเซ็นสัญญากู้เงินกับ 10 สถาบันการเงินในประเทศ นอกจากนี้ยังมี “…การลงนามการออกหุ้นกู้ 3 ประเภทกับนักลงทุนต่างประเทศวงเงิน 444 ล้าน เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 1. หุ้นกู้ 225 ล้านเหรียญสหรัฐ ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 12% ระยะเวลาไถ่ถอนถึงปี 2006

2. หุ้นกู้ควบวอร์แรนต์ 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 12.25% ไถ่ถอนถึงปี 2008 สามารถใช้สิทธิ์วอร์แรนต์ได้ทันที

และสุดท้ายเป็นหุ้นกู้ 44 ล้านเหรียญสหรัฐ ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 12.75 ไถ่ถอนภายในปี 2009 ควบสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญได้ทันที

และ NSM ก็ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5,600 ล้านบาท เป็น 8,600 ล้านบาท รับการเพิ่มทุนและการใช้สิทธิ์แปลงวอร์แรนต์และหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญในอนาคตอันใกล้”

นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการผู้จัดการ NSM ซึ่งถือเป็นขุนพลคู่ใจนายสวัสดิ์ กล่าวไว้เมื่อครั้งนั้นว่า

“เป็นครั้งประวัติศาสตร์เหมือนกันที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ในไทยที่มีบุริมสิทธิหรือสิทธิในหลักประกันอันดับหนึ่ง ยอมเฉลี่ยสิทธิในหลักประกันจํานวน 50% ไปให้เจ้าหนี้ที่มาทีหลังได้รับสิทธิเท่าๆ กัน

โดยสถาบันการเงินไทยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าให้เอาเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้มาใช้หนี้จํานวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วสถาบันการเงินไทยจะปล่อยเงินกู้ร้อนใหม่อีกก้อนให้ NSM. มาใช้เป็นทุนหมุนเวียน…เราก็บอกกับสถาบันการเงินในประเทศตรงๆ ว่า หากไม่ยอมเฉลี่ยหลักประกันไปให้เจ้าหนี้รายใหม่ ในขณะที่ไม่มีเงินภายในประเทศอัดฉีดให้เพิ่ม เราก็ต้องล้มละลาย”

เวลาผ่านมาจนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 มีประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง, บริษัท นครไทย อินทิเกรทเต็ดสตีลส์ จำกัด และนางสาวนุชนารถ หอรุ่งเรือง ในราชกิจจานุเบกษา ในคดีหมายเลขแดงที่ 4423/2549

ภายหลังจากนั้น 3 ปี นายสวัสดิ์ ถึงพ้นสถานะบุคคลล้มละลาย

นายสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ “ทันหุ้น” ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2554 เล่าถึงวิกฤตชีวิตครั้งนั้นโดยยอมรับว่า “มืด” เหมือนกัน นอนไม่หลับ ต้องคิดว่าจะจัดการปัญหาหนี้อย่างไร

“…แต่หลังจากนั้นใช้เวลาอยู่กับตัวเอง 2-3 วัน ก็คิดว่า อะไรที่เป็นส่วนตัวเราเก็บไว้ก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ทำอย่างไรจึงจะรักษาบริษัทเหล่านั้นไว้ให้ได้ ช่วงนั้นไม่โทษใคร นอกจากโทษตัวเองที่ไม่รอบคอบ”

ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ มีเนื้อหาเล่าถึงคำกล่าวของนายสวัสดิ์ไว้อย่างน่าสนใจในแง่ “รีเทิร์น-ตายครั้งเดียวก็เกินพอ” ว่า

“…หากชีวิตเกิดวิกฤตจะต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าไปเครียด ดังนั้นจึงมีเวลาในการจัดสรรชีวิตว่าควรจะทำอย่างไร และรอจังหวะเพื่อกลับมา หรือรีเทิร์นรอบใหม่ เพราะทุกอย่างยังไม่สาย สรุปคือ ตายครั้งเดียวก็เกินพอ แต่อย่าดึงลูกหลานมาตายด้วย…”

นายสวัสดิ์ ยังเคยให้สัมภาษณ์ “มติชนออนไลน์” ถึงชีวิตช่วง 3 ปีในสถานะบุคคลล้มละลายไว้ เมื่อถามว่ารู้สึกเหมือนเกิดใหม่หรือไม่ นายสวัสดิ์ กล่าวว่า

“ผมไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เพราะตอนที่ผมรวยที่สุดผมไม่รู้ว่าความแตกต่างระหว่างการมีเงินกับไม่มีเงิน รวยกับจนมีข้อแตกต่างกันอย่างไร เพราะตอนที่ผมรวยที่สุด ผมนั่งทำงานที่ตึกตั้งแต่เช้ายันค่ำ โปรเจ็กต์บายโปรเจ็กต์ ผมมีบริษัทในเครือเกิดขึ้นมามากมาย NTS ศรีราชาฮาเบอร์ เหมราชพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีบริษัทอื่นตามมาอีกมากมาย

ไม่ใช่รวยแล้วไปซื้อเรือยอร์ชไปเที่ยวรอบโลก ผมยังมาออฟฟิศแบบนี้ไม่ว่ารวยหรือจน ผมจึงไม่รู้ข้อแตกต่างว่า รวยกับจน มีเงินกับไม่มีเงินเป็นอย่างไร

เงิน 1,000 บาทต่อวันพอหรือไม่ พอ เพราะเข้าออฟฟิศ ดื่มกาแฟของออฟฟิศ เที่ยงกินข้าวที่ออฟฟิศบริษัทจ่ายอีก ออกจากบ้านน้ำมันรถบริษัทเติมให้ แต่คุณเห็นผมไปกินที่โรงแรม 5 ดาว 6 ดาว บอกตรง ๆ ไปเอ็นเตอร์เทนแขก ปกติพวกเราทุกคนชอบกินของชอบ ไม่ได้ชอบกินของแพง บางครั้งก่อนกลับบ้านโทรไปสั่งเด็กให้ไปซื้อก๋วยจั๊บที่เยาวราชมาให้(กู)ชาม ถูกหรือไม่”

เมื่อถามถึงกฎหมายล้มละลาย ซึ่งนายสวัสดิ์ มีบทบาทผลักดันพัฒนาตัวกฎหมายล้มละลาย นายสวัสดิ์ กล่าวว่า

“…กฎหมายล้มละลายควรจะเขียนมากกว่านี้ว่า ถ้ากรณีแบบนี้แบงก์ยึด(บ้าน)ได้ แต่ต้องให้เจ้าของบ้านคนนั้นเช่าต่อในราคาที่เป็นไปได้ แล้วเปิดโอกาสให้ซื้อกลับ ไม่อย่างนั้นเสียหาย เพราะไม่ใช่จะขายบ้านได้ทันที ขโมยรื้อบ้าน รื้อรั้ว แล้วปัญหาสังคม หากต้องถูกออกจากบ้าน

เพราะฉะนั้นกฎหมายสำหรับบุคคลธรรมดา ที่ผมเขียนไว้ ถ้าเป็นหนี้ต่ำกว่า 2 ล้านบาทห้ามฟ้องล้มละลาย แต่ตอนหลังต่อรองมาเหลือ 1 ล้านบาท อย่างผมนิติบุคคล ผมบอกว่า การล้มละลาย วัฒนธรรมไทยมันแย่

บริษัทไปกู้เงินมีทรัพย์สินพอเพียง แต่ว่าต้องให้เราค้ำประกันส่วนตัวด้วยหมด มันไม่แฟร์ ตั้งแต่มีระบบแบงก์ใช้วิธีนี้ไม่แฟร์กับลูกหนี้ แต่ว่ามันมาเป็นอย่างนี้แล้ว..การแก้กฎหมายลัมละลายผ่านมาด้วยดีถึงวันนี้ มองในภาพรวม บุคคลที่ล้มละลายแล้วถ้าไม่เขียนให้ชัดเจน ชั่วชีวิตคุณไม่ได้เกิดเลย แต่นี่ล้มละลายเพียง 3 ปี ทั้งหมดต้องขอบคุณท่านอาจารย์ไพศาล กุมาลย์วิสัย ประธานคณะกรรมาธิการคณะนี้ “

นายสวัสดิ์ ยังเล่าถึงกระบวนการเบื้องหลังอีกว่า

“…ผมล้มละลาย 3 ปี เราต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามันเป็นวัฒนธรรมมา อันนี้ผมรับได้ กรณีคนไปฆ่าคนตายติดคุกไป 20 ปี แล้วออกมาสังคมเราเรียกร้อง ให้โอกาสเถอะเขาใช้กรรมแล้ว ให้รับเขาเข้าทำงาน แต่คนล้มละลายในอดีตเขียนไว้ ทำงานไม่ได้ มันใช้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องหาโอกาสให้คนเหล่านั้นได้เกิดใหม่ ตายครั้งหนึ่งก็พอแล้ว ต่อไปนี้ อะไรที่ไม่มีเงิน จะไม่ซื้อแล้ว อะไรที่เกินกำลัง จะไม่ซื้อแล้ว โอกาสเกิดใหม่ 3 ปีล้างไพ่

แรก ๆ จริง ๆ เขียนไว้ให้ล้มละลายเพียง 1 ปี โดยให้มีการโหวตลับ เพราะวุฒิในรุ่นผมมีทั้งข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหาร ตำรวจ เห็นด้วยกับเรา แต่เวลาโหวตสว่าง เกรงใจรัฐบาล ในที่สุดชนะโหวตลับเรียบร้อย แต่นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเบรกคุยกับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ขอเลื่อนไปคราวหน้า

พวกผมบอกว่า ไม่ได้ เพราะรัฐบาลบอกว่า ถ้ากฎหมายเหล่านี้ไม่ผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) บอกว่าเสียหายมาก ต้องผ่าน ถ้าอย่างนั้นขอเลื่อนเอาวาระอื่นขึ้นก่อน

ท่านขอเชิญเราไปคุยหลังสภา ห้องนายกรัฐมนตรี มีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์, คุณสุทัศน์ เงินหมื่น 1 ปีขอเพิ่มเป็น 5 ปีได้หรือไม่ พวกกรรมาธิการเข้าไปบอกไม่ได้ อาจารย์ไพศาล กุมาลย์วิสัย เข้าไปด้วย ท่านเก่งกฎหมาย และเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ด้วย ท่านเลยต่อรอง จาก 5 ปี เหลือ 3 ปี

และยังตัดออกอีก 2 มาตรามีรายละเอียด ถ้าหากปลดจากการล้มละลายจะต้องขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ก่อน ซึ่งชาติหนึ่งเจ้าหนี้ก็ไม่ให้ปลด และอีกมาตราขอยื่นต่อศาลว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่เราจะพ้นการล้มละลาย เราบอกอาจารย์ไพศาลเก่งขอตัด 2 มาตรานี้ได้ และต่อรองเหลือล้มละลายเพียง 3 ปี พี่ชวนก็ยอม นี่คือเบื้องหลังออกมาเบ็ดเสร็จ 3 ปี นับตั้งแต่ศาลสั่งให้ล้มละลาย

กฎหมายล้มละลายผมคิดว่าวุฒิสมาชิกรุ่นผมทำถูกแล้ว ต้องคิดง่าย ๆ บางคนมาด่า พวกนี้ล้มแล้วรวย แกล้งล้ม ผมบอกดูถูกกูไปหน่อยแล้ว คนเราสังคมที่อยู่ได้ ณ วันนี้ทุกคนอยากอยู่อย่างผู้มีเกียรติทุกคน ถ้า คิดอย่างนั้น เดินออกนอกบ้านก็ไม่ปลอดภัย ผมบอกกับเพื่อนผมว่า ระวังถูกขอทานเตะเอา”

ในแง่ชีวิตส่วนตัว นายสวัสดิ์ เคยให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 เล่าว่า เป็นหนอนหนังสือตัวยง ชอบอ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง หนังสือที่ชอบเป็นพิเศษคือหมวดวรรณคดี และประวัติศาสตร์ที่สามารถสะท้อนเหตุการณ์ปัจจุบันได้ นายสวัสดิ์ ยังเผยว่า ที่บ้านมีห้องสมุดส่วนตัว มีหนังสือจำนวนมากเพราะซื้อเก็บไว้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น

“ชอบอ่านหนังสือของท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างตอนนี้ (พ.ย. 2553 – กองบรรณาธิการ) กำลังอ่านเรื่อง ฮวนนั้ง เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึง ‘อัตติลา’ เป็นบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าส่งมาให้ทำลายล้างพวกโรมัน เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของโลกตอนหนึ่ง ที่อ่านกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เคยเบื่อ” 

สภาพการเงิน

ภายหลังวิกฤตการเงิน นายสวัสดิ์ เป็นหนี้จำนวนมหาศาล รายงานจากประชาชาติธุรกิจเมื่อ 6 พ.ย. 2551 ระบุว่า แบกภาระหนี้รวมแล้วไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาท กระทั่งประกาศต่อสาธารณะว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้

สำหรับธุรกิจของนายสวัสดิ์ เวลาต่อมา บริษัท เอ็นทีเอส สตีล ร่วมทุนกับบริษัทเหล็กในเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จากนั้นเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท มิลเลนเนียม สตีล จำกัด (มหาชน) และขายหุ้นให้ทาทาสตีลจากอินเดียเมื่อปีพ.ศ. 2549 เปลี่ยนชื่อเป็นทาทาสตีล ประเทศไทย (TSTH)

ส่วนบริษัทนครไทยสตริปมิล ขายหุ้นให้กับบริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) ขณะที่วอร์แรนต์ของ 2 บริษัทที่ได้รับตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ก็ถูกขายออกไปหมด

อย่างไรก็ตาม นายสวัสดิ์ ยังแบกรับหนี้จำนวนมหาศาลอยู่ ในส่วนหนี้ที่ติดตัวมาจากครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งคือหนี้ค้ำประกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเงินต้น 8,000 ล้านบาท หนี้ที่เหลือเป็นดอกเบี้ย (กรุงเทพธุรกิจ, 1 กรกฎาคม 2564)


อ้างอิง: 

“ฟ้อง ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ ใช้ 500 ล.” มติชน. ฉบับ 30 กรกฎาคม 2540.

“แบงก์ไทยคายหลักประกันดีลหฤโหดของ ‘สวัสดิ์’ “. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับ 19 มีนาคม 2541.

“ศิษย์เก่าต้มยำกุ้ง”. โฟกัส คนเด่น ใน, ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับ 6 พฤศจิกายน 2551.

” ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ กำชัยชนะ บนความบอบช้ำในเกมธุรกิจ”. กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับ 3 สิงหาคม 2540.

“3 มีนาคม 2540: ไทยสั่งห้ามซื้อขายหุ้นกลุ่มธนาคารส่งสัญญาณ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง'”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 3 มีนาคม 2560. เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1743>

“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง : นักธุรกิจยุค ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เจ้าของวลี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ “. บีบีซี ไทย. ออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ 29 มิถุนายน 2564. เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. <https://www.bbc.com/thai/thailand-57655310>

” ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ เปิด ‘แทคติก’ ลับเฉพาะ ! ล้มละลาย 3 ปี มี โรลสรอยซ์ ขี่ได้ไม่ซ้ำกันทุกวัน”. มติชนออนไลน์. จัดเก็บข้อมูลใน News data online. เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564.

” ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ เจ้าพ่อเหล็กผู้ล้มละลายจากต้มยำกุ้ง เจ้าของวลีเด็ด ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ “. กรุงเทพธุรกิจ. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564. <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945832>

“ฮวนนั้ง หนังสือโปรด ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ “. กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553.

“ชีวิตรีเทิร์น ‘สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง’ ตายครั้งเดียวก็เกินพอ”. ทันหุ้น. ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2554.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564