ทำไมธุรกิจให้เช่าสับปะรดเคยฮิตในยุโรป “สับปะรด” เป็นของหรู-แสดงฐานะในอดีตได้อย่างไร

ภาพประกอบเนื้อหา - สับปะรดในตลาด

ในสังคมแห่งทุนนิยม ความมั่งคั่งร่ำรวยของผู้มีอันจะกินมักแสดงออกผ่านวัตถุสิ่งของต่างๆ รอบตัว ตัวอย่างที่คุ้นตากันดี เช่น เครื่องประดับ ของใช้แบรนด์เนม รถสปอร์ต ฯลฯ สิ่งของเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงของใช้งานตามหน้าที่ในตัวมันเอง แต่ยังมีหน้าที่แฝงอีกแง่คือการแสดงสถานะทางการเงินของผู้ใช้งานไปด้วย

แน่นอนว่าแต่ละบริบทย่อมแตกต่างกันไป หากย้อนไปเมื่อครั้งอดีต ผลไม้ที่ดูธรรมดาสามัญในโลกปัจจุบันอย่าง “สับปะรด” กลับถูกนับว่าเป็นของมีมูลค่า เป็นเครื่องมือแสดงสถานะ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีฐานะในอดีตเมื่อหลายศตวรรษก่อนหน้านี้

ยุโรปในอดีตนั้น สับปะรดถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับที่จำเป็นต้องมีในการพบปะทางสังคมของเหล่าขุนนางผู้มั่งคั่ง เนื่องจากสับปะรดสมัยนั้นเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงกว่าหลายพันปอนด์ต่อหนึ่งลูก บ่อยครั้งที่สับปะรดมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงสถานะมากกว่าจะนำมารับประทาน อีกทั้งสับปะรดเพียงลูกเดียวอาจถูกนำไปใช้ในงานต่างๆ มากกว่าหนึ่งงาน จนกว่ามันจะเน่าเสียไป

และเมื่อการซื้อ-ขายสับปะรดขยายวงกว้างมากขึ้น ในระดับของชาวบ้านทั่วๆ ไป หากวันใดมีงานเลี้ยงพิเศษ อาจเรียกได้ว่า เป็นปกติที่จะพบเห็นการเช่าสับปะรดมาสักหนึ่งลูกเพื่อแสดงถึงสถานะการเงินของตน

กระทั่งในช่วทศวรรษ 1770 คำว่า “สับปะรด (pineapple)” ถูกนำมาใช้ในวลี “A pineapple of the finest flavour” ซึ่งเป็นวลีที่ใช้กับอะไรก็ตามที่เป็นที่สุดของที่สุด ตัวอย่างหนึ่งคือละครเวทีเรื่อง The Rivals ของ Sheridan ในปี ค.ศ. 1775 เมื่อตัวละคร Mrs. Malaprop ร้องอุทานว่า “He is the very pineapple of politeness!” ซึ่งมีความหมายว่า “เขานั้นสุภาพเป็นที่สุด”

หรือในละครทีวีเรื่อง Sanditon ซึ่งพัฒนาบทมาจากนวนิยายซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของ Jane Austen ได้ฉายภาพให้เห็นสับปะรดในมื้ออาหารกลางวันสุดหรูท่ามกลางสถานที่อันโอ่อ่า แต่เมื่อผ่าออกมาพบว่าข้างในนั้นเต็มไปด้วยตัวหนอน โดยฉากนี้มีเจนตาสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่อสถานะทางการเงินอันรุ่มรวย

จะเห็นได้ว่า ในมโนทัศน์ของผู้คนโดยทั่วไปในยุคนั้นค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันว่า สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีความเกี่ยวโยงกับสถานะความร่ำรวย นอกจากนี้ยังเห็นได้จากการตกแต่งอาคารสถานที่ที่มีมูลค่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการแกะสลักตกแต่งเป็นรูปทรง หรือลวดลายสับปะรดอยู่ในงานตกแต่งอาคารสถานที่

บทความของบีธาน เบลล์ (Bethan Bell) ใน BBC อธิบายว่า คุณค่าและความหมายของสับปะรด ก่อร่างขึ้นมาในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 17 เมื่ออาหารแปลกใหม่จำนวนมากถูกนำกลับมายังยุโรปหลังจากการสำรวจโลกใหม่และทวีปเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงสับปะรดที่ต่อมาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งศักดิ์ศรีและความหรูหรา ตามที่ดร.ลอเรน โอฮาแกน (Dr. Lauren O’Hagan) จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ได้กล่าวว่า “สับปะรดไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนในโลกเก่า ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดสะท้อนความหมายทางวัฒนธรรมในตัวผลไม้นี้ ด้วยเหตุนี้มันจึงให้ผู้คนสามารถสร้างความหมายใหม่ๆ ขึ้นมาได้”

การรับรู้ความหมายของสับปะรดในยุโรปต่างจากผลไม้อย่าง “แอปเปิล” ซึ่งเกี่ยวโยงกับความหมายแง่ผลไม้ต้องห้ามในสวนเอเดน หรือเมล็ดทับทิมที่เก็บเพอร์เซโฟนี เทพกรีกโบราณเอาไว้ในนรกนานครึ่งปี ตามตำนานในดินแดนตะวันตก

ดร. ลอเรน ยังกล่าวเสริมว่า เนื่องด้วย “รูปลักษณ์ที่แปลกใหม่” ของสับปะรด ยิ่งเมื่อมีรูปทรงพิเศษจากส่วนยอดมงกุฎ(ส่วนหัวของสับปะรด) อันเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์แห่งกษัตริย์ จึงทำให้สับปะรดมีคุณลักษณะพิเศษในทางความเชื่อไปด้วย

นอกจากนี้ชื่อเล่นของสับปะรดในภาษาอังกฤษ คือ “King Pine” ยังทำให้มันเป็นที่สนใจของพระมหากษัตริย์ เช่นในภาพวาดของ Hendrick Danckerts ซึ่งเป็นภาพที่ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ได้รับสับปะรดจาก John Rose คนสวนในพระราชวัง โดยภาพนี้มักถูกอ้างว่าเป็นสับปะรดยุคแรกๆ ที่ปลูกขึ้นในอังกฤษที่ Dorney Court ใน Berkshire แต่ภายหลังจึงเริ่มเชื่อกันว่าถ้ามีจริง มันมีแนวโน้มถูกนำเข้ามามากกว่าจะปลูกขึ้นในอังกฤษตั้งแต่แรก

ในยุคจอร์เจียน ถึงแม้อังกฤษเริ่มปลูกสับปะรดมากขึ้น แต่คุณค่าและความหมายของมันก็ยังไม่ได้ลดลง การปลูกสับปะรดยังคงเป็นกิจการที่ดำเนินการโดยขุนนางระดับสูง

Johanna Lausen-Higgins จาก The Royal Botanical Garden ให้ข้อมูลไว้ว่า ความพยายามปลูกสับปะรดในระยะแรกเริ่มขึ้นในสวนส้ม ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอากาศที่เย็นจัด แต่มันก็ไม่ได้ให้ความร้อนหรือแสงแดดเพียงพอสำหรับสับปะรดซึ่งเป็นผลไม้ในเขตเมืองร้อน

นอกจากนี้เว็บไซต์ BBC ยังได้รายงานอีกว่า ในปี ค.ศ. 1764 นิตยสาร The Gentleman ได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเก็บความร้อนดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ที่ประมาณ 150 ปอนด์ (ตามการคำนวนอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษ หากเทียบเป็นในปีค.ศ. 2020 จะมีราคาเท่ากับ 28,000 ปอนด์) แต่ค่าใช้จ่ายข้างต้นนี้ก็ไม่สามารถรับประกันผลตอบแทนใดๆ ได้ เนื่องจากการเพาะปลูกและดูแลสับปะรดในสมัยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

นอกจากนี้แล้ว สับปะรดยังเป็นผลไม้ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตเต็มที่ และสับปะรดที่มีสภาพสมบูรณ์ก็หายาก หากพบสับปะรดที่สภาพสมบูรณ์ ในสมัยนั้นมักมีราคาขายอยู่ที่ 60 ปอนด์ (ประมาณ 11,000 ปอนด์ ในปีค.ศ. 2020) ด้วยมูลค่าที่สูงขนาดนี้ มันจึงไม่ค่อยถูกนำมารับประทานไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถูกนำมาประดับบนจานอาหารพิเศษในมื้อค่ำ

มูลค่าที่แสนแพงของสับปะรดในยุคนั้นถึงขนาดนำมาซึ่งความเสี่ยงจะถูกขโมยด้วยเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1807 การดำเนินคดีของศาลอาญากลางอังกฤษ ปรากฏว่ามีหลายกรณีที่เกี่ยวกับการขโมยสับปะรด และ Dr. Lauren O’Hagan ได้ชี้ให้เห็นถึงกรณีตัวอย่างในคดีของ Mr. Godding ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 7 ปีในจากข้อหาขโมยสับปะรด 7 ลูก

และจากความใฝ่ฝันที่อยากจะครอบครองสับปะรดสักลูกของชนชั้นกลางจึงนำไปสู่ธุรกิจเปิดให้เช่าสับปะรด ซึ่งผุดขึ้นมาทั่วสหราชอาณาจักร รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่เห็นช่องทางจากความนิยมนี้ และตลาดสินค้าที่มีธีมเกี่ยวกับสับปะรดก็กระจายตัวออกไปวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ความนิยมของสับปะรดไม่ได้คงอยู่อย่างยั่งยืน สถานะความนิยมของสับปะรดก็เสื่อมลงเมื่อเรือกลไฟสามารถนำเข้าสับปะรดจากประเทศใต้ปกครองเข้ามาสู่อังกฤษอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สับปะรดมีราคาถูกลง และไม่ใช่แค่เพียงชนชั้นกลางเท่านั้น แม้แต่เหล่าผู้ใช้แรงงานยังสามารถเข้าถึงสับปะรดได้เช่นกัน

เป็นธรรมดาของกลไกตลาด เมื่ออุปทานมากขึ้น มูลค่าสินค้าก็จะลดลง เช่นนั้นแล้วสถานะความหรูหรา ความมีเกียรติ หรือสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งจึงเลื่อนไหลออกจากตัว “สับปะรด” ไปโดยปริยาย จากผลไม้ของผู้มีอันจะกินกลับกลายเป็นผลไม้ที่พบได้ทั่วไปตามเมืองต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่นั้นมา


อ้างอิง :

Bell, Bethan. The rise, fall, and rise of the status pineapple. BBC. Published 2 AUG 2020. Access 26 JUN 2021 <https://www.bbc.com/news/uk-england-53432877>

McCord, Garrett. The Unique History and Symbol of the Pineapple. The spruce eats. Published 4 JUN 2021. Access 26 JUN 2021 <https://www.thespruceeats.com/pineapple-symbol-of-friendship-and-luxury-4047011>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2564