“ภาษีเต้านม” กฎหมายสะท้อนการแบ่งชนชั้นวรรณะของสตรีในอินเดีย

(ภาพประกอบเนื้อหา) ผู้หญิงชาวอินเดียใน ค.ศ. 1912

“ภาษีเต้านม” กฎหมายสะท้อนการแบ่งชนชั้นวรรณะของสตรีใน “อินเดีย”

วิถีชีวิตผู้คนในประเทศอินเดียส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยจะยึดถือระบบวรรณะอย่างเคร่งครัดและจะไม่มีการข้ามวรรณะกันเด็ดขาด วรรณะทั้ง 4 นั้นได้แก่ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ยังมีคนนอกวรรณะ ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคม นั่นคือ จัณฑาล

Advertisement

ระบบวรรณะในสังคมของอินเดียตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำของลำดับชนชั้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ ซึ่งบางอาชีพจะถือว่าต่ำต้อยมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น คนกวาดถนนหรือคนเก็บขยะจะอยู่ในชนชั้นที่ต่ำที่สุดทางสังคม ตามคำสอนเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาในอินเดีย ถ้าชาวฮินดูแต่งงานกับคนนอกวรรณะหรือกินอาหารร่วมกับคนที่วรรณะต่างจากตัวเองถือว่าเป็นเรื่องที่บาป ดังนั้น คนอินเดียจึงปฏิบัติและยึดถือเรื่องของวรรณะอย่างเคร่งครัด

นอกจากการแบ่งผู้คนจากอาชีพแล้ว ยังมีการแบ่งผู้คนจากหน้าอก กล่าวคือ ผู้หญิงที่อยู่ในวรรณะสูงสามารถใส่เสื้อผ้าปกปิดหน้าอกได้ ในขณะที่ผู้หญิงวรรณะต่ำจะต้องเปลือยอก หากผู้หญิงวรรณะต่ำคนใดใส่เสื้อผ้าปกปิดหน้าอกถือว่าเป็นความผิด

ภายหลังเมื่อศาสนาคริสต์แพร่หลายในอินเดีย ผู้คนบางส่วนโดยเฉพาะคนวรรณะต่ำเริ่มหันมานับถือศาสนาศริสต์มากขึ้นและด้วยอิทธิพลดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงในวรรณะจัณฑาลเริ่มเรียกร้องที่จะทำการปกปิดหน้าอกของตนเอง อีกทั้งผู้หญิงคริสเตียนอินเดียก็ยืนกรานที่จะปกปิดหน้าอกเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าคนในวรรณะสูงรู้สึกไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว จึงนำมาสู่กระแสต่อต้านและความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคม

กระแสการต่อต้านดังกล่าวนำมาสู่การเก็บ “ภาษีเต้านม” ขึ้น โดยราชอาณาจักร Tranvancore (Kingdom of Tranvancore – อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ภายใต้การปกครองทางอ้อมของอังกฤษ) ทำการเก็บภาษีสำหรับผู้หญิงที่ต้องการปกปิดหน้าอก หากหญิงในวรรณะต่ำคนใดไม่ต้องการเปลือยอกก็ต้องจ่ายภาษี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากหญิงในวรรณะต่ำมีฐานะยากจน และการเก็บภาษีดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้คำนวณจากรายได้ หากแต่พิจารณาจากขนาดเต้านมของหญิงผู้นั้น แม้แต่เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจะเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ุและบางคนก็เพิ่งจะมีเต้านมก็ถูกเรียกภาษีเช่นกัน แม้จะเสียในอัตราที่น้อยก็ตาม

แม้จะมีกระแสไม่เห็นด้วยกับกับกฎดังกล่าว แต่ผู้หญิงชนชั้นล่างก็ไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนได้ แต่มีหญิงคนหนึ่งชื่อว่า Nangeli อาศัยอยู่ที่เมืองชายฝั่งทะเล Cherthala ที่รัฐ Kerala ใน ค.ศ. 1803 เธอต่อต้านกฎดังกล่าว ด้วยการสวมเสื้อท่อนบนในที่สาธารณะ ปฏิเสธที่จะเปลือยหน้าอก แม้จะถูกบังคับให้ทำตามกฎดังกล่าว แต่เธอยังได้ประท้วงด้วยการใช้มีดเฉือนที่หน้าอกตัวเอง แล้วมอบเต้านมนั้นให้เจ้าหน้าที่เก็บภาษี เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านกฎดังกล่าว

ไม่นาน Nangeli ก็เสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก ในวันฌาปนกิจ สามีของเธอไม่สามารถควบคุมความเศร้าโศกได้ จึงกระโดดลงไปในกองเพลิงระหว่างการเผาศพเพื่อแสดงความรัก และประท้วงภาษีที่ไม่เป็นธรรมนี้

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้น แต่การเก็บภาษียังคงดำเนินต่อไป กระทั่งได้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ได้ถูกบังคับใช้เป็นเวลานานกว่า 100 ปี

การต่อสู้ของ Nangeli นั้นเป็นเหมือนกับแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ผู้หญิงในสังคมอินเดียตระหนักถึงสิทธิ์ในร่างกายของตนเอง เรื่องราวของเธอนั้นเกิดขึ้นก่อนที่แนวคิดสตรีนิยมจะเบ่งบานในโลกตะวันตกเสียอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“The breast tax: Imposed On woman Who Chose To Cover Their Breasts ”. 2021. History Daily. Retrieved June  25, 2021, https://historydaily.org/india-breast-tax-facts-stories-trivia

Vishnu. 2020. “Breast Tax: The Most Horrendous Tax History Has Ever Seen”. History of Yesterday. Retrieved June  25, 2021, https://historyofyesterday.com/breast-tax-the-most-horrendous-tax-history-has-ever-seen

Team MAKERS. 2020. “Women at the Intersection of Caste and Sex: History of Breast Tax”. MAKERS INDIA. Retrieved June  25, 2021, https://in.makers.yahoo.com/women-at-the-intersection-of-caste-and-sex-history-of-breast-tax


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2564