ผ่าเหตุเบื้องหลังคณะราษฎรเปลี่ยนระเบียบ “ประหารชีวิตนักโทษ” หลังปฏิวัติ 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

การเปลี่ยนแปลงระเบียบการประหารชีวิตนักโทษหลังการปฏิวัติสยาม 2475

…หลังการปฏิวัติสยามเรื่องการประหารชีวิตนักโทษได้ถูกหยิบมาพิจารณาในหมู่ชนชั้นนำ เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร ได้เสนอวาระให้ระงับการประหารนักโทษในการประชุมคณะเสนาบดีครั้งแรกหลังการปฏิวัติสยาม[5] เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ความว่า

2. นักโทษประหารชีวิตร พระยามโนฯ บัญชาให้พระยาจ่าแสนยบดี เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ระงับการประหารชิวตรนักโทษซึ่งว่าถึงกำหนดจะประหารไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีบัญชาโทษเป็นอย่างอื่น พระยาจ่าแสนยบดีรับบัญชาไปปฏิบัติ[6]

2 เดือนถัดมา (กันยายน พ.ศ. 2475) คณะกรรมการราษฎรได้เปลี่ยนแปลงระเบียบการอ่านคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต ให้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบใหม่ที่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

โดยคณะกรรมการราษฎรได้ลงมติเห็นชอบให้ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตให้แก่โจทก์และจำเลยฟัง ก่อนนำคำพิพากษากราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลงโทษจำเลยตามคำพิพากษา ซึ่งแตกต่างจากในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องนำคำพิพากษาศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตกราบบังคมทูลฯ พระมหากษัตริย์ก่อน

จากนั้นเมื่อพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย จึงค่อยอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและพระราชหัตถเลขาให้โจทก์และจำเลยฟัง อันทำให้คดีความต่างๆ ค้างอยู่ในศาลฎีกานานมาก[7]

เมื่อคณะกรรมการราษฎรนำระเบียบใหม่เกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตขึ้นกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสฯ เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการราษฎร ความว่า

“จะทำอย่างนั้นก็ได้ เพราะที่จริงตามพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่ใช้อยู่ในเวลานี้ พระเจ้าแผ่นดินถูกตัดอำนาจในการศาลหมด แม้อำนาจให้อภัยหรือลดโทษก็ถูกตัดไปด้วย ซึ่งเป็นการเรี่ยวแรงกว่าประเทศใดๆ หมด. จะทำอย่างไรในเรื่องนี้แล้วแต่ความเห็นชอบของคณกรรมการราษฎร”[8]

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภายหลังการปฏิวัติ 2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบการประหารชีวิต อันสืบเนื่องจากความพยายามของคณะกรรมการราษฎรที่ต้องการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางตุลาการ โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับรู้และปรับตัวเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ได้อย่างราบรื่น

ปัญหาเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตในระบอบใหม่

ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ถือเป็นครั้งแรกหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ที่มีการถกเถียงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแนวคิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตภายในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังเลขานุการกรมร่างกฎหมายความว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีใคร่จะทราบว่า โทษประหารชีวิตนั้นสำหรับประเทศสยามจะสมควรเลิกได้หรือไม่ประการใด และบัดนี้มีประเทศใดบ้างที่เลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ขอให้ท่านจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโทษประหารชีวิตนี้ส่งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป[9]

สำหรับมูลเหตุของการพิจารณาเรื่องการยกเลิกโทษประหารนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้ชี้แจงภายหลังว่า เกิดจากความประสงค์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องลงนามสนองพระบรมราชโองการในการประหารชีวิต และทุกครั้งที่ลงนามท่านมีความรู้สึกไม่สบายใจเป็นอันมาก ดังนั้นจึงเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าควรจะเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศสยามหรือไม่[10]

ในการพิจารณาของกรมร่างกฎหมาย นายเรอเน กียอง ที่ปรึกษากรมร่างกฎหมาย ได้ทำบันทึก “เรื่องโทษประหารชีวิต”[11] นำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยในช่วงต้นของบันทึก นายกียองได้ชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตมีการเสนอความเห็นและจัดทำบันทึกเป็นครั้งคราวทั้งในการประชุมรัฐสภาทั่วโลก การประชุมแสดงปาฐกถา หรือแม้กระทั่งในหนังสือนวนิยายและบทละครยังได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย

ดังนั้นการที่จะให้รัฐบาลสยามชี้ขาดว่า จะให้มีหรือไม่ให้มีโทษประหารชีวิตจึงควรพิจารณาข้อโต้เถียงระหว่างฝ่ายที่ส่งเสริมและฝ่ายที่คัดค้านโทษประหารชีวิต

ตามบันทึกของนายกียอง ฝ่ายที่ส่งเสริมโทษประหารชีวิตได้ให้เหตุผลว่า การประหารชีวิตเป็นโทษที่ใช้กันทุกประเทศและในทุกยุคสมัย รวมทั้งยังเป็นโทษที่สาสมกับความผิดที่กระทำให้ผู้อื่นตายอย่างเที่ยงธรรมและสามารถคุ้มครองป้องกันสังคมได้ เพราะทำให้ผู้ร้ายเกรงกลัวโทษไม่กล้ากระทำความผิดโดยเฉพาะในสังคมที่ยังไม่เจริญ

ขณะเดียวกันการลงโทษประหารชีวิตต้องเป็นความผิดที่ร้ายแรงสยดสยองที่ศาลได้ตัดสินมาอย่างดี ถึงแม้จะมีความผิดพลาดในการประหารชีวิตบุคคลที่ไม่ได้กระทำผิด แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยรายมาก และไม่ควรใช้เหตุผลนี้ในการยกเลิกโทษประหารชีวิต

ส่วนฝ่ายที่คัดค้านโทษประหารชีวิตได้ให้เหตุผลในการยกเลิกโทษประหารชีวิตว่า โทษประหารชีวิตขัดกับหลักการมนุษยธรรมที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ การอ้างว่าโทษประหารชีวิตใช้กันทั่วไปทุกประเทศตั้งแต่อดีตฟังไม่ขึ้น เพราะบางประเทศได้ยกเลิกโทษประหารแล้วและจารีตประเพณีเก่าแก่ที่เห็นว่าเป็นเรื่องอยุติธรรมย่อมถูกยกเลิกเมื่อมนุษย์มีความเจริญมากขึ้น ประกอบกับตามสถิติของประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตกลับไม่พบว่าการกระทำผิดอาชญาเพิ่มขึ้นมากมาย

นอกจากนี้จากการที่โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ไม่สามารถนำชีวิตผู้ต้องโทษกลับคืนมาได้ หากเกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม จึงไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษได้รับการพิจารณาคดีใหม่ (Revision of sentence) รวมถึงขัดกับแนวคิดการลงโทษเพื่อป้องกันผู้กระทำผิดไม่ให้กระทำความผิดอีกครั้ง

จากความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านโทษประหารชีวิตข้างต้น นายกียองเห็นว่า การที่รัฐบาลจะวินิจฉัยว่าประเทศสยามควรหรือไม่ควรมีโทษประหารต้องพิจารณาจาก “พฤติการณ์แห่งท้องถิ่น” เพราะในบางประเทศหรือในบางยุคสมัยอาจมีการกระทำผิดมากมายจนต้องดำเนินการลงโทษอย่างเข้มงวด และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องพิจารณาว่า โทษประหารชีวิตในเวลานี้ยังมีความจำเป็นต้องคงไว้เพื่อเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความกลัวเกรงไม่กล้ากระทำผิดหรือไม่[12]

ถึงแม้ตามบันทึกของนายกียองจะไม่ได้ให้ความเห็นกับรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาว่าควรคงไว้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศสยาม แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนท้ายของบันทึก นายกียองกลับเสนอความเห็นอย่างยืดยาวเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการลงโทษประหารชีวิตให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น หากรัฐบาลเห็นว่าเงื่อนไขของท้องถิ่นยังไม่ควรเลิกโทษประหาร อันสะท้อนนัยของนายกียองที่ยังคงสนับสนุนให้มีโทษประหารในประเทศสยาม ดังปรากฏในบันทึกความตอนหนึ่งว่า

“…การลงโทษประหารชีวิตมิใช่เป็นการลงโทษเพื่อแก้แค้น เป็นแต่เพียงหนทางที่จะกำจัดผู้กระทำผิดออกไปเสียให้เด็ดขาดและเพื่อมิให้เป็นผู้ทำการเดือดร้อนรำคาญแก่ฝูงชนต่อไป ฉะนั้นสำหรับประเทศที่เห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้มีโทษประหารชีวิตไว้แล้ว อย่างน้อยในการลงโทษประหารชีวิตนี้ควรจะระวังที่จะไม่ให้เป็นการเพิ่มความทรมานโดยมิจำเป็น วิธีประหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ (ใช้ฟันด้วยดาบ ใช้กิโยตีน ขวาน เก้าอี้ไฟฟ้า แขวนคอ ฯลฯ) เป็นอมนุษยธรรม แต่โดยส่วนใหญ่หาใช่เครื่องประหารเป็นเช่นนั้นในตัวของมันเองไม่ ที่ว่าเป็นก็เพราะจะต้องมีการตระเตรียมการประหาร ทำการแต่งกายนักโทษ และเป็นการนำคนซึ่งมีอาการเหมือนคนป่วยคนวิกลจริตไปสู่ตะแลงแกง ซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ไม่ควรจะให้มีอยู่เลย…”[13]

นอกจากนี้ นายกียองยังเสนอให้ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วยในการประหารชีวิตนักโทษ เช่น การให้นักโทษประหารดมยาสลบก่อนถูกประหาร เพื่อไม่ให้นักโทษรู้สึกถึงความเจ็บปวด ซึ่งนายกียองเห็นว่า “วิธีนี้สมาคมสงเคราะห์สัตว์ก็ได้ใช้กระทำแก่สัตว์อยู่เสมอ และจะใช้กระทำแก่มนุษย์บ้างมิได้หรือ?”[14]

รวมถึงควรมีการออกกฎหมายให้เลิกใช้เพชฌฆาต และให้แพทย์หรือศัลยแพทย์เป็นผู้ทำการประหารชีวิตแทน โดยใช้เครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากดำเนินการตามข้อเสนอนี้จะเป็น “ทางนำไปสู่ความเป็นมนุษยธรรม” และอาจทำให้ประเทศสยามได้รับความยกย่องจากทั่วโลกในฐานะเป็นต้นแบบของการประหารชีวิตที่มีมนุษยธรรม

จากการพิจารณาบันทึกความเห็นของนายกียอง ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงมีมติให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมร่วมมือกันพิจารณาเรื่องโทษประหารชีวิตว่าจะควรให้คงมีไว้หรือยกเลิก[15] รวมถึงส่งสำเนาบันทึกความเห็นของนายกียองไปยังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมเพื่อประกอบการพิจารณา[16]

แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องโทษประหารของหน่วยงานทั้งสองกลับเงียบหายไปเป็นเวลาถึง 7 เดือน จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีหนังสือเตือนไปยังกระทรวงยุติธรรมขอให้ชี้แจงว่าการพิจารณาเรื่องโทษประหารได้ดำเนินการแล้วเพียงใด[17]

เวลาล่วงเลยประมาณ 1 เดือนเศษ กระทรวงยุติธรรมจึงมีหนังสือชี้แจงไปยังรัฐบาลลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 เกี่ยวกับความล่าช้าในการพิจารณาโทษประหารชีวิตว่า กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตั้งกรรมการพิจารณาโทษประหาร ประกอบด้วย หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นประธาน เซอร์รอเบิร์ต ฮอลลันด์ และ นายเรอเน กียอง ซึ่งหม่อมเจ้าสกลวรรณากรได้แจ้งว่า เริ่มสะสางเอกสารต่างๆ ในเรื่องนี้จากต่างประเทศเพื่อประกอบการพิจารณา และได้ส่งให้กรรมการอีก 2 คนพิจารณาอยู่[18]

หลังจากนั้นกลับไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องโทษประหารชีวิตของกรรมการชุดนี้หรือมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกรรมการชุดนี้แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องการพิจารณาโทษประหารชีวิตที่หายไปนี้ น่าจะสัมพันธ์กับการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะยังคงมีโทษประหารชีวิตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา

สู่การประหารที่มีมนุษยธรรม : ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตในการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477

หลังการปฏิวัติสยาม สถาบันทางการเมืองในระบอบใหม่ทั้งฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายรัฐบาล ต่างมีส่วนผลักดันให้มีการตราและแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อใช้ในการจัดการปกครองและบริหารประเทศให้สอดคล้องยุคสมัย โดยกฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ. 127 ถือเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการวางเพลิงและการปลอมแปลงเงินตรา เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกสมาคม เรื่องข้าราชการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เรื่องแจ้งความเท็จ เรื่องการลักคนเพื่อเรียกค่าไถ่ และที่สำคัญคือ บทบัญญัติที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต ซึ่งเป็นที่มาของวิวาทะรอบใหม่ของฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านโทษประหารชีวิตในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต ถูกดำเนินการอย่างเร่งด่วนในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์กบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 อันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎรของฝ่ายโต้การปฏิวัติที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช

เมื่อท้ายที่สุดฝ่ายโต้การปฏิวัติพ่ายแพ้ลง ทางรัฐบาลจึงได้ถือโอกาสกวาดล้างฝ่ายโต้การปฏิวัติอย่างรุนแรง ด้วยการจับกุมและสอบสวนบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกบฏครั้งนี้ถึง 600 คน ในจำนวนนี้ส่งฟ้องศาล 346 คน ซึ่งในส่วนของการดำเนินคดีนั้นทางสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 เพื่อตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด[19]

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัชกาลที่ 7 มีความตึงเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลเห็นว่ารัชกาลที่ 7 ให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏโต้การปฏิวัติ นอกจากนี้รัชกาลที่ 7 ยังไม่ทรงเห็นชอบในการลงโทษผู้ก่อกบฏถึงขั้นประหารชีวิต โดยพระองค์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งประหารชีวิตฝ่ายกบฏ อันทำให้รัฐบาลไม่สามารถประหารชีวิตฝ่ายกบฏตามคำพิพากษาลงโทษของศาลพิเศษได้[20]

และเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศและได้ยื่นข้อเสนอต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่อาจยินยอมในข้อเสนอของพระองค์โดยเฉพาะในเรื่องการอภัยโทษให้กับฝ่ายกบฏและการเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์ ดังนั้น รัชกาลที่ 7 จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติในปลายปี พ.ศ. 2477

ทั้งนี้วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2477 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาอาชญาและกฎหมายลักษณะอาชญา (อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมกำลังพิจารณาเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการลงพระปรมาภิไธยบังคับคดีประหารชีวิตของพระมหากษัตริย์กับเรื่องการเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิต

โดยที่ประชุมมีมติว่าในเรื่องที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยบังคับคดีประหารชีวิต ให้แก้เป็นไม่ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยบังคับคดี ส่วนเรื่องการประหารชีวิตให้เปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจากตัดศีรษะเป็นยิงด้วยปืน พร้อมทั้งมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไปดำเนินการในเรื่องแก้กฎหมายนี้แล้วเสนอมาเพื่อพิจารณาต่อไป[21]

ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477 2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2477 และ 3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาชญาทหาร พ.ศ. 2477 จากนั้นได้เสนอให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาพิจารณาในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2477 และรัฐบาลได้มีมติให้นำร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477 ฉบับที่ 3 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมสภาฯ ที่สัมพันธ์กับความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงวิธีการประหารชีวิตให้มีความเป็นมนุษยธรรมมากขึ้น อันเป็นการสร้างมาตรฐานการลงทัณฑ์ของรัฐให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ความว่า

“การแก้มาตรานี้ก็โดยที่เห็นว่าการประหารชีวิตโดยวิธีตัดศีรษะนั้นเห็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างยิ่ง สยดสยองสำหรับผู้ที่ถูกประหาร ผู้ประหาร และผู้มีหน้าที่ควบคุมโดยทั่วไป และบางครั้งเป็นการทรมานอย่างน่าเวทนาเพชฌฆาตบางคนของเราไม่มีความชำนาญพอในการนี้ มีการฟันพลาดบ่อยๆ บางครั้งมีเสียงโอดครวญอย่างน่าสงสาร เพราะแทนที่จะฟันคอไปถูกบนศีรษะบ้างบนหลังบ้าง การตระเตรียมนักโทษก่อนประหารก็ดูเป็นการใหญ่โต ซึ่งเป็นการทรมานมากขึ้นอีก จนนักโทษบางคนเป็นบ้าไปหรือเกือบเป็นบ้าไป

อนึ่งค่าใช้จ่ายในการจ้างเพชฌฆาตและตระเตรียมการงานครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินมิใช่น้อย ถ้าเปลี่ยนเป็นวิธียิงเสียจะทุ่นค่าโสหุ้ย [ค่าใช้จ่าย – ผู้เขียน] มาก และจะไม่มีการทรมานดังข้างต้นและจะไม่เป็นที่น่าสยดสยองต่อใครมากนัก และไม่ต้องมีการตระเตรียมอย่างใด อย่างมากก็เพียงพาไปยืนเอาผ้าปิดตาเท่านั้น จึงเห็นว่าควรเปลี่ยนวิธีประหารชีวิตเสียใหม่”[22]

สำหรับประเด็นที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับการตัดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานพระบรมราชานุญาตลงโทษประหารชีวิต ในเรื่องนี้ผู้แทนราษฎรหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการตัดสิทธิแก่พลเมืองที่จะได้รับพระบรมราชวินิจฉัยจากพระมหากษัตริย์

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงว่าแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับระบอบรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในความเห็นของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ว่า ตามระบอบรัฐธรรมนูญการกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีรัฐมนตรีรับผิดชอบ ซึ่งหากมีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะทำให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องการประหารชีวิตด้วย ประกอบกับในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การตัดสินคดีความย่อมเด็ดขาดในทางศาล จึงไม่มีความจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาตอีกครั้ง[23]

สำหรับประเด็นที่ 2 ของการอภิปรายในสภา คือ ข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตกับฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต โดยฝ่ายที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตมีผู้อภิปรายที่โดดเด่น เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส. อุบลราชธานี) นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ (ส.ส. ธนบุรี) นายมังกร สามเสน (ส.ส. ประเภทสอง) พระพิไสยสุนทรการ (ส.ส. ภูเก็ต) นายมงคล รัตนวิจิตร์ (ส.ส. นครศรีธรรมราช) ขุนสมาหารหิตะคดี (ส.ส. พระนคร) เป็นต้น

โดย ส.ส. กลุ่มนี้มีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่น่าสยดสยอง ไม่สอดคล้องกับสังคมสยามที่นับถือพระพุทธศาสนา ประกอบกับประเทศสยามได้เข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นควรเปลี่ยนแปลงประเพณีที่ล้าหลังให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยยกเลิกโทษประหารชีวิตและกำหนดโทษอาญาสูงสุดคือโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

นอกจากนี้ในการอภิปรายของ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. อุบลราชธานี ได้แสดงทัศนะเปรียบเทียบความรุนแรงของโทษประหารชีวิตกับจำคุกตลอดชีวิตว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นมีความรุนแรงมากกว่าโทษประหารชีวิต เนื่องจากนักโทษจะต้อง “ถูกกักขังเสรีภาพ” ทุกข์ทรมานอยู่ในคุก ซึ่งในระหว่างที่นักโทษอยู่ในคุกอาจปรับเปลี่ยนนิสัยใจคอให้กลายเป็นคนดีได้[24]

ขณะที่พระพิไสยสุนทรการ ส.ส. ภูเก็ต เสนอให้ยกเลิกโทษประหารและส่งนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปคุมขังตามเกาะที่ห่างไกลเช่นเดียวกับการลงโทษของอารยประเทศ[25]

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ได้อภิปรายยืนยันความจำเป็นของการลงโทษประหารชีวิตในประเทศสยาม เนื่องจากการลงโทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษที่เหมาะสมกับประเทศสยาม รวมถึงจะช่วยให้ผู้ร้ายไม่กล้าก่ออาชญากรรมเนื่องจากมีบทลงโทษที่รุนแรง และหากยกเลิกโทษประหารจะทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างความเห็นของกลุ่มนี้สะท้อนได้จากการอภิปรายของ ร.ต. สอน วงษ์โต ส.ส. ชัยนาท ความว่า

“…การประหารชีวิตนั้นกฎหมายได้กำหนดแล้วว่าเป็นอุกกฤษฐโทษ ไม่มีโทษอันใดเสมอเหมือน คนทุกคนต้องกลัวตาย ท่านจะเห็นคุกมหันตโทษ ในปีหนึ่งมีนักโทษที่ต้องประหารชีวิตราว 500 600 คน… อีกประการหนึ่งที่สมาชิกเสนอว่าเราจะยกเลิกกฎหมายอาชญาประหารชีวิตเสียให้มีแต่จำคุกตลอดชีวิต เอาศาสนามาเป็นข้ออ้าง นี่ก็เป็นหลักเกณฑ์การที่จะเลิกประหารชีวิต

ข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องด้วย คนที่บาบาเรียน และโหดร้ายยังมีอยู่มากมาย บ้านเมืองเราเวลานี้การศึกษายังไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการสมควรที่จะเลิกการประหารชีวิตเสียไม่ได้ เพื่อให้เห็นว่าการที่ไปฆ่าเขาให้ตาย ก็ย่อมได้รับโทษประหารชีวิต เขาจะต้องยำเกรงในสิ่งที่ตายไป และทำให้เขารู้สึกสทกสท้านไป…”[26]

อย่างไรก็ตาม เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายได้ระยะหนึ่ง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ตัวแทนของรัฐบาลได้ชี้แจงมูลเหตุของการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตนั้น เกิดจากการพิจารณาของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการลงโทษประหารชีวิตว่าควรมีในประเทศสยามหรือไม่ ต่อมา นายเรอเน กียอง ได้ทำบันทึกสรุปความว่ายังไม่ควรยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศสยามและคณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาเห็นชอบด้วยและให้ระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน[27]

นอกจากนี้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ยังมีความเห็นโต้แย้งการอภิปรายในเรื่องการยกเลิกโทษประหารว่า ประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญจำนวนมากยังคงมีโทษประหารชีวิต หากเลิกโทษประหารชีวิตแล้วจะทำให้โจรผู้ร้ายเพิ่มมากขึ้น ดังปรากฏว่าบางประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตกลับนำวิธีการลงโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ ประกอบกับเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นไม่ใช่หลักการของร่างพระราชบัญญัติที่กำลังพิจารณาในที่ประชุม ซึ่งตามความเห็นของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หากจะพิจารณาเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตควรมอบให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร[28]

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเสียงข้างมากรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา พ.ศ. 2477 และที่ประชุมได้พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 รวดเดียว

ท้ายสุดที่ประชุมเสียงข้างมากได้ลงมติรับรองให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ อันสะท้อนให้เห็นว่าผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการลงโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับฝ่ายรัฐบาล แต่เปลี่ยนวิธีการลงโทษประหารชีวิตจากการตัดศีรษะเป็นการยิงเป้า รวมถึงจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยมิต้องทรงลงพระปรมาภิไธยบังคับคดีประหารชีวิต

ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2477 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงโทษประหารชีวิต คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขวิธีพิจารณาความอาชญา พ.ศ. 2477 กับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. 2477 ซึ่งจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเสียงข้างมากให้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกเป็นกฎหมายได้[29]

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการนำกฎหมายเกี่ยวกับการประหารชีวิตทั้ง 3 ฉบับขึ้นถวายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทรงลงพระนามและจัดการออกประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายกลับนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7[30]

โดยในส่วนของกฎหมาย 3 ฉบับนี้ รัชกาลที่ 7 ทรงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มพระราชอำนาจในการลงโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกับในสมัยระบอบเก่า โดยพระองค์ไม่มีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงพระนามและประทานร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับกลับคืนมายังสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีกระแสพระราชดำรัสทางโทรเลขเกี่ยวกับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับว่า “ในส่วนการเปลี่ยนวิธีประหารจากฟันด้วยดาบเป็นยิงด้วยปืนนั้นไม่ทรงขัดข้อง แต่ข้อที่ให้ยกเลิกการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลงโทษประหารชีวิตนักโทษ ทรงพระราชดำริว่า ยังไม่เหมาะสมที่จะออกกฎหมายเรื่องนี้ในระวางนี้ ทรงพระราชปริวิตกหลายประการ…”[31]

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติเป็นการชั่วคราว แต่รัฐบาลไม่สามารถถอนร่างพระราชบัญญัติได้เนื่องจากผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ดังนั้น พระองค์จึงต่อรองกับรัฐบาลโดยวางเงื่อนไขในการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ การให้ผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิต จะต้องให้ตนเองหรือญาติทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแทนได้ ในระหว่างที่ยังมิได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ มีพระราชประสงค์ให้งดการประหารชีวิตไว้ก่อน และในการนำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องดำเนินการไม่ละเลยและชักช้า ซึ่งรัฐบาลได้มีความเห็นชอบตามพระราชประสงค์ของพระองค์ทุกประการ

ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรีจึงเสนอเรื่องนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามวิถีทางของระบอบรัฐธรรมนูญ[32]

จนในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2477 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวและได้ลงมติยืนยันตามมติเดิม จากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายเพื่อให้ผู้สำเร็จราชการฯ ลงพระนามอีกครั้ง แต่รัชกาลที่ 7 ไม่ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้สำเร็จราชการฯ ลงพระนามภายใน 15 วันตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับดังกล่าวบังคับใช้เป็นกฎหมายได้[33]…


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “โทษประหารชีวิตหลังการปฏิวัติ 2475 : แนวคิด การเมือง และข้อถกเถียงในการลงทัณฑ์ด้วยความตายของรัฐไทย (พ.ศ. 2475-99)” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2558

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564 (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่)


เชิงอรรถ :

[5] คณะเสนาบดี เป็นสถาบันการเมืองที่สืบเนื่องจากระบอบเก่า และสามารถดำรงอยู่หลังการปฏิวัติสยาม โดยไม่ได้ถูกยกเลิกเหมือนอภิรัฐมนตรีสภาและองคมนตรีสภา ซึ่งในระบอบใหม่การดำเนินงานของคณะเสนาบดีอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร คือ คณะกรรมการราษฎรตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553), น. 333-337.

[6] รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ครั้งที่ 1 (1 กรกฎาคม 2475).

[7] หจช. (๒)สร.0201.10/9 เรื่องเปลี่ยนระเบียบการอ่านคำพิพากษาฎีกาโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิตให้จำเลยฟังก่อนกราบบังคมทูลอย่างคดีถึงที่สุดเพียงศาลอุทธรณ์ (17 กันยายน 2475-20 ตุลาคม 2475).

[8] “ที่ 42/235 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2475,” ใน หจช. (๒)สร.0201.10/9 เรื่องเปลี่ยนระเบียบการอ่านคำพิพากษาฎีกาโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิตให้จำเลยฟังก่อนกราบบังคมทูลอย่างคดีถึงที่สุดเพียงศาลอุทธรณ์ (17 กันยายน 2475-20 ตุลาคม 2475).

[9] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.16.2/2 จะเลิกโทษประหารและเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตกับเรื่องระเบียบการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-18 เมษายน 2494).

[10] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง (20 สิงหาคม 2477), น. 579-580.

[11] “บันทึกเรื่องโทษประหารชีวิต ของอาร์. กียอง ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2476,” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] “ที่ 3965/2476 ลงวันที่ 25 กันยายน 2476,” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

[16] “ที่ 3924/2476 ลงวันที่ 25 กันยายน 2476,” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

[17] “ที่ 289/2477 ลงวันที่ 12 เมษายน 2477,” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.16.2/2 เรื่องจะยกเลิกโทษประหารชีวิตและเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตกับเรื่องระเบียบการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-18 เมษายน 2494).

[18] “ที่ 52/547 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2477” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

[19] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553), น. 19.

[20] ธัญญรัตน์ ทิวถนอม. “การลงโทษประหารชีวิต : อำนาจ ความรุนแรง และรัฐไทย”. น. 103.

[21] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 9/2477 (24 เมษายน 2477).

[22] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง (20 สิงหาคม 2477), น. 547.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. 555.

[24] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง (20 สิงหาคม 2477), น. 550-551.

[25] เรื่องเดียวกัน, น. 560-561.

[26] เรื่องเดียวกัน, น. 568-569.

[27] จากการตรวจสอบหลักฐานรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ. 2476-77 กลับไม่พบการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้ระงับการพิจารณายกเลิกโทษประหารแต่อย่างใด

[28] เรื่องเดียวกัน, น. 582-583.

[29] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 สมัยวิสามัญ สมัยที่ 2 (22 สิงหาคม 2477), น. 617-634.

[30] ดูเพิ่มเติมใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544), น. 9-19.

[31] “ที่ 430/1098 ลงวันที่ 10 กันยายน 2477” ใน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

[32] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517), น. 156-157.

[33] “คำสั่งนายกรัฐมนตรี,” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 (5 พฤษภาคม 2478), น. 323-324.

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 9/2477 (24 เมษายน 2477).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 81/2493 (18 ธันวาคม 2493).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2497 (27 มกราคม 2497).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2497 (3 มีนาคม 2497).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 28/2497 (4 พฤษภาคม 2497).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 37/2497 (3 พฤศจิกายน 2497).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 44/2497 (12 กรกฎาคม 2497).

รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 85/2497 (8 ธันวาคม 2497).

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง (20 สิงหาคม 2477).

รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ครั้งที่ 1 (1 กรกฎาคม 2475).

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. “เรื่องเลขเสร็จที่ 34/2497 บันทึกเรื่องโทษประหาร,” เข้าถึงได้จาก http://appthca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2497&lawPath=c2_0034_2497#short (มีนาคม 2558).

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.2/2 เรื่อง พ.ร.บ. ว่าด้วยเปลี่ยนระเบียบวิธีการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-22 เมษายน 2478).

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สลค.3.16.5/13 เรื่องนักโทษเด็ดขาดชาย ประถม อุบลอิ่มชัย และประยูร ถกประโคม ขอพระราชทานอภัยลดโทษ (13 กรกฎาคม 2499-8 สิงหาคม 2499).

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.2/75 เรื่องพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา 2499 และประมวลกฎหมายอาญา (31 ตุลาคม 2489-2 กรกฎาคม 2497).

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2)สลค.3.16.2/2 เรื่องจะเลิกโทษประหารชีวิตและเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตกับเรื่องระเบียบการประหารชีวิต (26 กรกฎาคม 2476-18 เมษายน 2494).

หจช. (2)สร.0201.10/9 เรื่องเปลี่ยนระเบียบการอ่านคำพิพากษาฎีกาโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิตให้จำเลยฟังก่อนกราบบังคมทูลอย่างคดีถึงที่สุดเพียงศาลอุทธรณ์ (17 กันยายน 2475-20 ตุลาคม 2475).

หจช. (2)สลค.0201.18.2/12 เรื่องข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ (ตุลาคม-ธันวาคม 2493) (2 ตุลาคม-29 ธันวาคม 2493).

หจช. (3)สร.0201.6.1/13 เรื่องอภัยโทษประหารชีวิต น.ช. วิชิต ศรีเรืองสุข, น.ช. จัน ช้างทอง และ น.ช. ผัน ยั่งยืน (7 ตุลาคม 2496-4 สิงหาคม 2497).

เอกสารชั้นรอง

กรมราชทัณฑ์. “โทษประหารชีวิต,” เข้าถึงได้จาก www.correct.go.th/commit.html (มีนาคม 2558).

“คำสั่งที่ 1807/2487 เรื่องระเบียบการประหารชีวิตนักโทษ,” ใน ทัณฑวิทยา 1, 5 (ธันวาคม-มกราคม 2478), น. 362-365.

“คำสั่งนายกรัฐมนตรี” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 (5 พฤษภาคม 2478).

ณรงค์ บัณฑิตย์. “ทัณฑวิทยา,” ใน วารสารราชทัณฑ์. 4, 4 (สิงหาคม 2499), น. 18-47.

ณัฐพล ใจจริง. “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2490-2500)”. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.

ทัณฑการบัญชา, ขุน. “โทษประหารชีวิตในปัจจุบัน,” ใน ทัณฑวิทยา. 6, 6 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2484), น. 449-454.

ธัญญรัตน์ ทิวถนอม. “การลงโทษประหารชีวิต : อำนาจ ความรุนแรง และรัฐไทย”. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553.

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517.

เพ็ญจันทร์ โชติบาล. พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.

วรนัถ. “การประหารชีวิต,” ใน ทัณฑวิทยา. 8, 2 (มิถุนายน 2485), น. 121-126.

สกลสัตยาทร, หลวง. “แพทย์กับเครื่องประหารชีวิต,” ใน ทัณฑวิทยา. 7, 2 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2485), น. 87-91.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498,” ใน ฟ้าเดียวกัน. 3, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2548), น. 64-80.

______. “จอมพล ป. กับโทษประหารชีวิต : ข้อมูลเพิ่มเติมบางประการที่อาจเกี่ยวข้องกับกรณีประหารชีวิตคดีสวรรคต.” เข้าถึงได้จาก http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document9597.html (มีนาคม 2558).

______. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. “เรื่องเลขเสร็จที่ 34/2497 บันทึกเรื่องโทษประหาร.” เข้าถึงได้จาก http://appthca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2497&lawPath=c2_0034_2497#short (มีนาคม 2558).

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2553.

หนู แจ่มผล. “โทษประหารชีวิต,” ใน ทัณฑวิทยา. 1, 1 (เมษายน-พฤษภาคม 2478), น. 34-50.

______. “โทษประหารชีวิต,” ใน ทัณฑวิทยา. 1, 2 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2478), น. 126-146.

______. “โทษประหารชีวิต,” ใน ทัณฑวิทยา. 1, 3 (สิงหาคม-กันยายน 2478), น. 234-246.

หยุด แสงอุทัย. คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475-95. พระนคร : โรงพิมพ์ชูสิน, 2495.

Chalong Soontravanich. “Small Arms, Romance, and Crime and Violence in Post WW II Thai Society,” in Southeast Asian Studies 43, 1 (June 2005), p. 26-46.

Hood, Roger. The Death Penalty : A Worldwide Perspective. 3rd edition. Oxford : Oxford University Press, 2002.

Reggio, Micheal H. “History of the death penalty,” available from http://www.pbs.org/wgbh/
pages/frontline/shows/execution/readings/history.html (มีนาคม 2558).


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2564