แค่โรคระบาดที่เปลี่ยนไป แต่คนไทยยังเหมือนเดิม?

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2453 บริเวณฝั่งธนบุรี แนวคลองวัดอนงคาราม ที่ตั้งของชุมชนแขก ย่านตึกแดง ในวงกลมคือที่ตั้งของ “โรงพยาบาลโรคติดต่อกัน” ที่ตั้งขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาดกาฬโรค พ.ศ. 2447

การแพร่ระบาดไวรัสมงกุฎ โควิด-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ ที่คนไทยต้องเผชิญร่วมกันนานกว่าสองปี เกิดภาวะชะงักงันของสังคมในแต่ละชุมชน ในขณะที่เทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง สร้างความวุ่นวายไปทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะข่าวสารเรื่องเชื้อไวรัสเผ่าพันธุ์ต่างๆ การแพร่ระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แม้แต่การฉีดวัคซีนป้องกัน ยังกลายเป็นความโกลาหลไปทั่วประเทศ

หลายคนคงเข้าใจว่า เป็นเรื่องของโลกที่เปลี่ยนไป และเป็นเรื่องของโรคที่เปลี่ยนไป แต่หากย้อนไปในอดีตจะพบว่าเคยมีปรากฏการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายมาหลายครั้งหลายคราวแล้ว

ลักษณะของโรงรักษาชั่วคราวในพระนคร เมื่อครั้งเกิดโรคระบาด พ.ศ. 2431 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงเวลาแห่งความเจริญก้าวหน้า สู่ความทันสมัยของสยามประเทศ ทำให้จำนวนประชากรในเขตพระนครเพิ่มจำนวนมากขึ้น การอยู่อาศัยแออัดมากขึ้น เมื่อมีโรคระบาดจากต่างประเทศ ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิต และเกิดความโกลาหลทั่วบ้านทั่วเมือง แต่การระบาดครั้งใหญ่ที่เคยขึ้นก่อนหน้า อาจจะมีบันทึกไว้ เพียงแต่มิได้เก็บเป็นตัวเลขทางสถิติถึงจำนวนผู้ป่วย เสียชีวิตและรักษาหายอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งมีการพัฒนาระบบการสาธารณสุข จึงทำให้มีรายงานการระบาดของกาฬโรคซึ่งเป็นทางการครั้งแรก และมี ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศก 123 (พ.ศ. 2447) ความว่า

พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล  ได้รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่มหาชนให้ทราบโดยทั่วกันว่า ด้วยไข้กาฬโรค เป็นโรคอันพึงกลัว โดยเป็นโรคอย่างร้ายแรง ถ้ามนุษย์หรือสัตว์เป็นขึ้นแล้ว ก็ตายรวดเร็วมากกว่ารักษาหาย และทั้งเปนโรคที่ติดกันโดยง่าย แต่โรคนี้ ตามตำราแพทย์ชาวยุโรป สันนิษฐานว่าเป็นโรคที่มีตัวสัตว์เกิดจากของโสโครก และหนูเป็นสัตว์ต้นเหตุ ที่นำตัวโรค ไปจากตำบลหนึ่งถึงยังตำบลหนึ่ง ยิ่งกว่าสัตว์อย่างอื่น โรคนี้เป็นอยู่ในเมืองต่างประเทศ คือเมืองจีนและอินเดีย มาหลายปีแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์สุขาภิบาล จัดตั้งด่านตรวจเรือกลไฟที่ค้าขาย มาจากเมืองที่เกิดโรค ป้องกันไม่ให้โรคแพร่เข้ามาในพระราชอาณาเขตร์ได้ เปนหลายปี…

ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ราชกิจจานุเบกษา แผ่นพิเศษ เล่ม 21 (19 กุมภาพันธ์ ร.ศ.123 (พ.ศ. 2447 หน้า 871)

แต่ในที่สุดโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาพยาบาลแบบแต่ก่อนได้ และคร่าชีวิตคนในโลกไปเป็นจำนวนมาก ก็ระบาดมาถึงแผ่นดินสยาม เริ่มจากบริเวณตำบลตึกแดง ธนบุรี ซึ่งเป็นโกดังเก็บสินค้าที่ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย นายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมสุขาภิบาล จึงถวายคำแนะนำว่าจำเป็นต้องมีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ครั้นเมื่อเดือนธันวาคม เกิดมีหนูตายมากขึ้นที่ตำบลตึกแดง และในกลางเดือนนั้นเอง ก็เกิดมีกาฬโรคขึ้นในตำบลนั้น…วิธีการพยาบาลรักษาไข้ ถ้าไม่ได้จัดป้องกันให้ถูกต้อง รักษาพยาบาลตามไข้ธรรมดา ไข้นั้นก็อาจติดกันต่อๆ เป็นอันตรายทั้งครัวเรือน เป็นโรคอันตรายอันพึงกลัว เพราะติดต่อกันได้ง่ายเช่นนี้  โดยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร์ เพื่อจะให้พ้นอกาลมรณภัย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ศุขาภิบาล พร้อมด้วยพนักงานกองตะเวน จัดการป้องกันโรคแพร่หลาย…

1.ให้ตั้งโรงพยาบาล สำหรับพยาบาลโรคที่ติดกันได้ ขึ้นที่ตำบลคลองสาน เพื่อจะได้แยกคนที่ป่วยเป็นกาฬโรครักษาพยาบาลต่างหาก ไม่ให้แพร่หลายมากออกไป ในโรงพยาบาลนี้ ให้มีแพทย์ไทยและพนักงาน สำหรับพยาบาลไข้อยู่ประจำ

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2453 บริเวณฝั่งธนบุรี แนวคลองวัดอนงคาราม ที่ตั้งของชุมชนแขก ย่านตึกแดง ในวงกลมคือที่ตั้งของ “โรงพยาบาลโรคติดต่อกัน” ที่ตั้งขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาดกาฬโรค พ.ศ. 2447

2.ในบริเวณที่โรงพยาบาล ให้แยกจัดคนที่อยู่อาไศรย์ เป็นสองพแนกๆหนึ่ง เป็นส่วนโรงสำหรับพยาบาล คนที่ป่วยไข้กาฬโรค อีกพแนกหนึ่ง เป็นส่วนสำหรับคนที่ได้เกี่ยวข้องเนื่องกับผู้ที่ป่วยเป็นกาฬโรคอาไศรย์ คือผู้ที่พยาบาลคนผู้เป็นไข้กาฬโรคโดยไม่ได้ป่วย แต่เป็นที่สงไสยอยู่ว่า ยังไม่สิ้นเขตร์อายุไข้ ที่อาจติดต่อกันได้ กล่าวคือกำหนดภายใน 10 วัน เพื่อให้อาไศรย์อยู่ต่างหาก จนสิ้นเขตร์อายุไข้ อันจะติดกันได้นั้นแล้ว จึงควรกลับยังบ้านเรือน ปะปนกันกับมหาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ผู้ที่ป่วยไข้

3.ในโรงพยาบาลคนป่วยเปนไข้กาฬโรค แม้ถ้าญาติพี่น้องคนป่วย จะไม่รังเกียจเตรียมใจสมัครไปพยาบาลคนไข้เองแพทย์ก็จะยอมให้อยู่รักษาพยาบาล แต่ผู้พยาบาลนั้น จะไปจากโรงพยาบาลไม่ได้ จนกว่าแพทย์จะตรวจเห็นว่าสิ้นเขตร์อายุไข้ติดต่อกันนั้นก่อน

4.ให้มีแพทย์ที่ทราบอาการไข้กาฬโรค เป็นเจ้าหน้าที่ประจำท้องแขวง แม้เกิดมีไข้ที่ สงไสยว่าจะเป็นกาฬโรคเกิดขึ้นในตำบลใด ให้ผู้ปกครองคนไข้รีบนำข่าวแจ้งโรงพักกองตะเวนที่ตั้งอยู่ใกล้ เพื่อกองตะเวนจะได้รีบสั่งความให้แพทย์ประจำท้องที่แขวงไปตรวจ ถ้าอาการเปนกาฬโรคแน่แล้ว ก็จะได้รับคนไข้ไปรักษาพยาบาลในทันทีเพื่อไม่ให้โรคนั้น ติดต่อเป็นอันตรายตลอดครอบครัวหรือญาติ ผู้ใดจะสมัครไปเป็นพยาบาลไข้ตามข้อความข้อ 1 ก็จะได้พาไปด้วยกันกับคนไข้ จัดให้รักษาพยาบาลให้ถูกต้องวิธีพยาบาลไข้ ถ้าหากว่ามีผู้พยาบาลคนไข้ อยู่ก่อนเจ้าพนักงานตรวจในบ้านเรือน เจ้าพนักงานก็จะได้พาไปตรวจรักษา แม้มีไข้ติดต่อกันขึ้น ก็จะได้รักษาพยาบาลในทันทีไม่ให้โรคกำเริบร้ายแรงมากไป ถ้าไม่มีอาการป่วยไข้ ก็จะได้ให้กลับคืนมายังบ้านเรือนในกำหนด 10 วัน  ซึ่งเป็นเขตร์สิ้นอายุไข้ที่ติดต่อกันได้นั้น

5.ให้มีกองเจ้าพนักงาน  สำหรับชำระล้างบ้านเรือนตำบลที่เกิดไข้กาฬโรค เพื่อให้สิ้นตัวสัตว์ที่เกิดโรคในตำบลนั้น

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์สุขาภิบาลเรียบเรียนแจ้งอาการของไข้กาฬโรคโดยสังเขป และแนะนำให้มหาชนปฏิบัติ เพื่อจะได้ป้องกันโรคันตรายแห่งตน

… เกี่ยวกับ อาการของไข้กาฬโรค การที่จะป้องกันไข้กาฬโรค รวมทั้งเมื่อ มีไข้กาฬโรคขึ้นแล้วให้กระทำอย่างนี้

…เมื่อมีคนป่วยที่มีอาการสงไสยว่าจะเป็นไข้กาฬโรคเกิดขึ้นในบ้านหนึ่งบ้านใด ควรจะไปแจ้งต่อโรงพักกองตะเวนที่ใกล้เคียงในทันที และในระหว่างที่แจ้งความนี้ ผู้ใดที่ได้ใกล้เคียงคนเจ็บ ควรจะต้องอยู่ในบ้านทุกคน เมื่อกองตะเวนได้ทราบความแล้ว จะได้รีบแจ้งให้เจ้าพนักงานแพทย์ศุขาภิบาลทราบ เจ้าพนักงานแพทย์จะได้ลงมือจัดการที่จำเปนทั้งสิ้นในทันที ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ไข้กาฬโรคนั้นติดต่อกันในหมู่ครอบครัวในบ้านเรือนและแพร่หลายไปในบ้านเรือนใกล้เคียงและตำบลอื่นๆ…

เจ้าพนักงานตรวจบ้านเรือนประชาชน ป้องกันการระบาดของกาฬโรคที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ที่ระบาดในปี 1896 (พ.ศ. 2439) ที่มา https://scroll.in/article/968584/bombay-plague-of-1896
การทำความสะอาดบ้านเรือนที่เกิดกาฬโรคระบาดในฮ่องกง พ.ศ. 2437 (ภาพจาก www.en.wikipedia.org 1894 Hongkong Plague)

เห็นได้ว่ามีการกักกันบุคคลให้อยู่ในเคหสถาน 10 วัน น้อยกว่าไวรัสโคโรนา 19 ที่ใช้เวลา 14 วัน เรื่องที่น่าสนใจ น่าจะอยู่ในท้ายประกาศ ด้วยมีเหตุการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกี่ยวกับข่าวลือ และการให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโรค การรักษา และการป้องกัน จึงมีบทลงโทษเอาผิด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป

… ให้ราษฎรทั้งหลาย ปฏิบัติตามข้อความในประกาศนี้ เพื่อจะได้พ้นโรคันตรายอันน่ากลัว ดังได้แสดงมาข้างต้นประกาศนี้แล้ว อย่าพากันตื่นตกใจเชื่อถือถ้อยคำบอกเล่าที่ผิดๆ ซึ่งเป็นต้นว่า หมอฝรั่งตรวจจะจับคนอ้วน หรือคนผอมเกินไปโดยไม่ป่วยไข้ไว้เลย ว่าเปนคนป่วยหรือจับเอาตัวคนป่วยไปโรงพยาบาลทายาให้ตายเสีย หรืออันใดอื่นๆ อันไม่เข้าทางรักษาพยาบาลนั้นเลย หากว่าจะมีฝรั่งผู้ใดไปขู่กรรโชกตรวจและจับตัวจะลงเอาเงินทอง ไม่ได้กระทำป้องกันโรค อย่างข้อความในประกาศนี้แล้ว ก็ให้รีบนำความมาแจ้งยังกระทรวงนครบาล หรือเกิดกองตะเวนในตำบลใกล้บ้านทันที พนักงานจะได้สอบสวนเอาตัวผู้ผิดฟ้องร้องเอาโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป…

หลายคนที่คิดว่าโลกนั้น แปรเปลี่ยนไป หรือเกิดการเปลี่ยนขาด แต่จากเอกสารประวัติศาสตร์ที่นำเสนอครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า โลกอาจเปลี่ยนไป โรคร้ายอาจเปลี่ยนชนิด แต่ตัวตนของผู้คน ความนึกคิดและความเขลาของคนไทยยังคล้ายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ.2564