ตามหารูป ควีนวิกตอเรีย (“จ้าววิลาด”) ในวังพระเจ้ากรุงสยาม

ภาพวาดแกะลายเส้นเจ้าวิลาด (ควีนวิกตอเรีย) พ.ศ. ๒๓๘๐ พบในเมืองไทย

พบภาพ “จ้าววิลาด” อายุ ๑๖๕ ปี สมัยพระนั่งเกล้าฯ ที่คนรุ่นเราไม่เคยเห็น และได้หายสาบสูญไปนานถึง ๕ รัชกาล!

สยามสมัยรัชกาลที่ ๓ มีชาติตะวันตกเข้ามาเจรจาขอทำสัญญามากที่สุดรัชกาลหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

ท่ามกลางข่าวสะเทือนขวัญจากการที่จีน พม่า มลายู ถูกย่ำยีโดยนักล่าเมืองขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว พระนั่งเกล้าฯ ตรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อทรงประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคตว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

จากพระราชดำรัสนี้จะเห็นได้ว่า ทรงรังเกียจพวกฝรั่งเป็นพื้นอยู่ ถึงกระนั้นก็ทรงมีพระทัยกว้างขวาง ทรงเปิดโอกาสให้ทูตฝรั่งทุกคนที่มาได้เข้าเฝ้าด้วยไมตรีจิต แม้จะทรงถือพระองค์แบบโบราณ และทรงชังฝรั่งก็ตาม ทรงพยายามปรับพระองค์ให้ทันสมัยกับเหตุการณ์โลก ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียต่อต้านและปฏิเสธการมาของฝรั่งอย่างไม่เป็นมิตร พระนั่งเกล้าฯ โปรดให้ติดพระบรมรูปควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษไว้ในท้องพระโรงอย่างให้เกียรติ สร้างความตื่นตะลึงกับทูตานุทูตฝรั่งผู้พบเห็นอย่างไม่เชื่อสายตา

ผู้เขียนเคยอ่านบันทึกทูตฝรั่งมานานนับสิบปี ชินตากับคำอุทานของชาวตะวันตกทุกคนที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม พากันแสดงความประหลาดใจกับภาพของดรุณีแรกรุ่นซึ่งเวลานี้กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ใส่กรอบอย่างดีแขวนเด่นอยู่ในท้องพระโรง แต่ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะพบหลักฐานในหนังสือไทยสมัยนี้

จนวันหนึ่งอ่านพบบทความที่สะดุดตาชิ้นเก่าที่สุด อ้างถึงภาพประวัติศาสตร์อันเลือนรางนี้ ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “สยามประเภท” ฉบับวันที่ ๑๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) เรื่อง “รูปควีนวิกตอเรียอังกริษ” ปรากฏในหน้า ๖๐๘-๖๐๙ ซึ่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ บรรณาธิการของหนังสือนี้เขียนไว้ว่า…

รูปควีนวิกตอเรียอังกริษ มีในพระที่นั่งอมรินทร์

ท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ลงชื่อรับสยามประเภทมาสี่ปีแล้วมีคำถามว่า “ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเคยหมอบเฝ้าพระกรุณาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเสมอๆ ข้าพเจ้าเคยเห็นรูปควีนวิกตอเรียแต่ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนม์ประมาณ ๑๗-๑๘ ปีเศษ รูปควีนวิกตอเรียในท้องพระโรงนั้น ท่านผู้ใดใครนำมาแขวนไว้ในท้องพระโรง” เดิมเขาเรียกกันว่า “จ้าววิลาด”

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นักอนุรักษนิยมที่สุดในเอเชีย แต่โปรดให้ติดพระรูปควีนไว้ในท้องพระโรง

เรา (สยามประเภท) ขอตอบว่า ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ จะเป็นวันเดือนปีใดไม่ทราบถนัด ได้ทราบชัดแต่ว่า ครั้งนั้นพระยาไทรบุรีได้ส่งพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ควีนวิกตอเรียอังกริษ เป็นพระบรมรูปถ่ายหรือชักรูปกำลังยังทรงพระชนมายุศม์ได้ ๑๗ ปีเศษ พระยาไทรบุรีส่งพระบรมรูปควีนวิกตอเรียอังกริษ เข้ามาทูลเกล้าฯ ให้นำไปบันจุลงในครอบกระจก แล้วให้แขวนติดไว้ที่เหลี่ยมเสา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (ท้องพระโรง) ด้านตะวันตกที่ตรงท้ายพระแท่นเสด็จออกขุนนาง มีรูปอื่นๆ อีก ๒-๓ รูป พระบรมรูปควีนวิกตอเรียนั้นครอบกระจกยาวประมาณศอกเศษ กว้างประมาณคืบ ๖ นิ้วเศษ ในเวลาก่อนโน้นนั้นชาวสยามร้องเรียกว่า “รูปจ้าววิลาด” ท่านผู้หลักผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า “รูปจ้าววิลาดนี้พระยาไทรบุรีส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นรูปถ่ายหรือรูปชักจากพระองค์จ้าววิลาดแต่เมื่อแรกจ้าววิลาดได้ผ่านพิภพใหม่ๆ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเชื่อว่ารูปถ่าย ทรงเชื่อว่าเป็นรูปเขียนต่อๆ กันมา เพราะในเวลาโน้นในกรุงสยามยังไม่เคยมีช่างถ่ายรูปเลย…”

ฟังดูออกจะเป็นเรื่องแปลก ที่พระนั่งเกล้าฯ กษัตริย์ไทยโบราณผู้ที่ฝรั่งร่ำลือกันว่าเป็นนักอนุรักษนิยมที่สุดในเอเชีย ทรงเคร่งครัดในจารีตประเพณีแบบเก่าและล้าหลัง จะทรงทำพระทัยได้ถึงขนาดมีพระดำริให้ติดรูปพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นผู้หญิงไว้ในท้องพระโรงอันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเคยทรงบริภาษควีนไว้ต่อหน้าขุนนางของพระองค์ เมื่อเซอร์เจมส์บรุค เข้ามาขอแก้สัญญาครั้งหนึ่งว่า “ซึ่งเชมส์บรุกเข้ามาพูดจาครั้งนี้ จ้าววิลาดก็เป็นเพียงเจ้าผู้หญิงจะคิดราชการให้เข้ามาพูดจาหาเหตุพาลวิวาท เถิงเพียงนี้ได้เจียวหรือ!?”

ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดฝีมือวินเทอร์ฮอลเทอร์ ค้นพบในอังกฤษ

เพื่อให้เห็นภาพแจ่มชัดขึ้น ขอท้าวความย้อนหลังไปเมื่อในรัชกาลที่ ๒ พระนั่งเกล้าฯ ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงกำกับดูแลพระคลังหรือกรมท่า (การต่างประเทศ) เป็นเวลาถึง ๘ ปี ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้กิจการบ้านเมืองการค้าติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งที่ไม่ทรงตรัสภาษาอังกฤษเลย ทรงรับทูตอังกฤษ ชื่อจอห์น ครอเฟิด ในปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้เข้าเฝ้าและนับถือพระองค์ท่านมาก ขนาดเขียนไว้ว่า “เป็นผู้ฉลาดที่สุดในบรรดาเจ้านายและขุนนางไทย” และยังเปรียบเทียบกับชาวเอเชียอื่นๆ ว่า “ไม่มีความรู้สึกร้ายกาจที่จะผูกพยาบาท” ทรงคุ้นเคยกับผู้แทนพวกอังกฤษอื่นๆ อีกที่มาเข้าเฝ้า อาทิ ร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ (พ.ศ. ๒๓๖๘) นายริทซัน (พ.ศ. ๒๓๘๑) และเซอร์เจมส์บรุค (พ.ศ. ๒๓๙๓) นอกจากอังกฤษแล้วทรงรับรองทูตฝรั่งอเมริกัน และชาวยุโรปอีกหลายชาติ

พระราชกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ขนาดนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อวอลเตอ ฟ. เวลลา เขียนไว้ว่า “น่าจะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินในทวีปอาเซียพระองค์อื่นได้ทรงกระทำในสมัยนั้น”

ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ ค้นพบในอังกฤษ

ทูตอังกฤษในระยะนั้นโดยมากเป็นตัวแทนของผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียที่เรียกว่า “เมืองบังกล่า” ทำให้พระราชไมตรีดำเนินไปอย่างไม่สนิทสนมเท่าที่ควร การสื่อสารที่ต้องแปลผ่านล่ามชาวมลายูผู้ขาดทักษะและไม่มีความรู้ ตลอดจนการยึดติดกับธรรมเนียมโบราณของไทยเคร่งครัดจนเกินไป เช่น การหมอบกราบ และการห้ามไม่ให้สบพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีครั้งหนึ่งที่ทรงถามปัญหาซึ่งครอเฟิดเกรงกลัวอยู่คือ “พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงทราบหรือเปล่าว่าท่านมาที่นี่” ครอเฟิดทูลตอบว่า “พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษหาทรงทราบไม่ เพราะสถิตอยู่ไกลเกินไป” ความพยายามเชื่อมสัมพันธไมตรีในยุคนั้นจึงเป็นการทำระดับผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียเท่านั้น

พระนั่งเกล้าฯ ทรงใคร่จะติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษโดยตรง แต่ก็ไม่สำเร็จจนสิ้นรัชกาล

เมื่อทรงได้รับพระบรมรูปควีนในเวลาต่อมา โดยการทูลเกล้าฯ ถวายของพระยาไทรบุรี ก็โปรดให้ติดประดับไว้เป็นพระเกียรติยศ พระรูปดังกล่าวติดอยู่ที่เสาท้องพระโรงตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๐-๒๓๘๑ ในขณะที่ควีนมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา และติดอยู่เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงพระดำริเห็นพ้องว่าประเทศสยามจะปลอดภัยในอนาคตได้แต่ด้วยทำให้ฝรั่งนับถือ

เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษของควีนวิกตอเรีย ยังได้มีโอกาสเห็นภาพนั้นอีกครั้งเมื่อได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ รูปยังอยู่ที่เดิมนับเป็นเวลายาวนานถึง ๑๘ ปีเต็มจึงถูกปลดลงไปไว้ที่อื่น และไม่มีใครได้เห็นอีกเลยเป็นเวลาถึง ๑๖๕ ปี

ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดพร้อมพระโอรสธิดา ค้นพบในอังกฤษ

พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้เขียนได้พบภาพควีนวิกตอเรียที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ณ พระที่นั่งแห่งหนึ่งในเขตพระราชฐาน ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต เป็นภาพควีนเมื่อพระชนมายุ ๑๘ พรรษาเศษ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “การ์เตอร์” อันเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ เสด็จฯ ผ่านพิภพขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระปิตุลาธิราช พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๐

หลักฐานสำคัญหลายประการที่ห้อมล้อม “ภาพปริศนา” นี้อยู่ มีเหตุผลให้เชื่อว่าเป็นพระรูปเดียวกันกับรูปจ้าววิลาด สมัยพระนั่งเกล้าฯ กล่าวคือ…

๑. ข้อเท็จจริงเรื่อง “รูปควีนวิกตอเรียอังกริษ” ในหนังสือสยามประเภท เป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุด ที่มาของข้อมูลเป็นไปได้ว่าถูกถ่ายทอดมาจาก “หนังสือหอหลวง” อีกทีหนึ่ง ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรัสถึงผลงานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ใน “นิทานโบราณคดี” ว่านายกุหลาบผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือต้นฉบับเก่าแก่ประเภทพงศาวดารและสาระความรู้ต่างๆ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องที่คัดมาจากหนังสือหอหลวง ถึงแม้จะทรงค่อนแคะภายหลังว่า นายกุหลาบคัดลอกมาโดยพลการก็ตามที นับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปริศนาภาพนี้

๒. เห็นพ้องตามทฤษฎีที่นายกุหลาบว่าพระยาไทรบุรีส่งพระรูปนั้นมาถวายพระนั่งเกล้าฯ นั้นมีเหตุผลที่น่าเชื่อถืออยู่ เพราะในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ นั้นพระยาไทรบุรีให้อังกฤษเช่าเกาะหมากอยู่ (ปีนัง) จึงน่าจะมีโอกาสได้รับหรือครอบครองรูปควีน จากผู้แทนรัฐบาลอังกฤษที่ตนสนิทสนมอยู่ พอถึงเวลาขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อถวายเครื่องบรรณาการในฐานะเจ้าประเทศราชมลายู จึงได้นำพระรูปมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วยในโอกาสเดียวกัน

๓. ในปีถัดมา คือเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ บริษัทอีสท์อินเดียส่งนายริดซันเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อขอซื้อข้าวไทย พร้อมกับถืออักษรสาส์นและเครื่องบรรณาการจากผู้สำเร็จราชการอังกฤษเพื่อขอเข้าเฝ้าพระนั่งเกล้าฯ ก็มิได้มีพระรูปควีนมาด้วย ของถวายในคราวนั้นเป็นของที่ระลึกธรรมดา อาทิ พรมอังกฤษ, แผนที่ลอนดอน, ขวดแก้วเจียระไน ฯลฯ

๔. ยืนยันตามพระดำรัสของพระนั่งเกล้าฯ ในสยามประเภท ที่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปเขียนหรือรูปวาดอย่างชัดเจน (ที่จริงควรเรียกภาพวาดลายเส้น-ผู้เขียน) เพราะในเวลานั้นกรุงสยามยังไม่มีช่างถ่ายรูป แม้ในประเทศอังกฤษเองก็เพิ่งจะมีการคิดวิธีถ่ายรูประบบ “เวทเพลท” สำเร็จเอาเมื่อหลังปี พ.ศ. ๒๓๘๒ แล้ว และอีกหลายปีกว่าจะสามารถถ่ายภาพบุคคลได้โดยสมบูรณ์

๕. ขนาดจริงของรูปเป็นขนาดเดียวกันกับที่บันทึกไว้ คือ ความยาวศอกเศษ กว้างคืบ ๖ นิ้วเศษโดยประมาณ สภาพเดิมๆ

๖. อ้างตามบัญชีของถวายโดยทูตอังกฤษที่มาขอเข้าเฝ้าพระนั่งเกล้าฯ รวมทั้งหมด ๔ ท่านดังกล่าวแล้ว ไม่มีผู้ใดนำพระรูปควีนมาถวายเลย เครื่องบรรณาการทุกชิ้นเป็นเพียงของที่ระลึกจากผู้สำเร็จราชการอังกฤษทั้งสิ้น

๗. ยืนยันตามหลักฐานสำคัญที่สุด ในบันทึกของเซอร์จอห์น เบาริ่ง ที่มาเข้าเฝ้าพระจอมเกล้าฯ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ว่าท่านยังเห็นรูปภาพวาดแกะลายเส้น (ENGRAVING) ของควีนวิกตอเรียจริง เป็นที่น่าสังเกตว่าเซอร์จอห์นมาคราวนั้นก็มิได้มีพระรูปควีนมาด้วย

๘. ยืนยันตามทูตอังกฤษคนต่อมา ที่ได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าฯ อีกคือ นายแฮรี่ สมิท พาร์กส์ ในปีถัดมาคือ พ.ศ. ๒๓๙๙ ท่านผู้นี้ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “พระรูปควีน ชุดที่ ๒” อันประกอบด้วยกระจกฉากรูปถ่ายควีนวิกตอเรียเมื่อได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ๑ รูป และกระจกฉากรูปถ่ายควีน เมื่อมีบุตร ๘ คนอีก ๑ รูป จึงเป็นภาพชุดใหม่ที่พระจอมเกล้าฯ โปรดให้แขวนไว้แทนพระรูปเดี่ยวภาพแรกในเวลาต่อมา

๙. ประมวลตามผลพิสูจน์ของผู้เขียนเองเมื่อได้นำสำเนาของภาพวาดลายเส้นนี้ไปค้นคว้าที่กองจดหมายเหตุ ณ พิพิธภัณฑ์ “บริติช มิวเซียม” อันทรงเกียรติของกรุงลอนดอน กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ก็ได้รับคำยืนยันว่าเป็นรูปภาพวาดลายเส้นที่ทำขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๐ จริง นอกจากนั้นยังได้รับความกระจ่างว่ารูปควีนในช่วงแรกแห่งการเสวยราชย์นั้น วาดโดยศิลปินผู้โด่งดังประจำราชสำนักชื่อ นาย ฟ. วินเทอร์ฮอลเทอร์ ซึ่งน่าจะรวมไปถึงรูปชิ้นประวัติศาสตร์ที่พบในเมืองไทยด้วย (หมายถึงรูปถูกวาดขึ้นก่อนแล้วจึงนำไปแกะลายเส้น-ผู้เขียน)

๑๐. ที่บริติช มิวเซียมนั้น ผู้เขียนได้รับคำแนะนำให้ไปหาข้อมูลจากสิ่งพิมพ์โบราณร่วมสมัยแถวร้านหนังสือเก่าย่านถนนชาริงครอส ที่นั่นยังพบภาพเก่าในหนังสือ “ชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และเรื่องราวในรัชกาลของพระองค์” ตีพิมพ์เป็นที่ระลึกช่วงวันสวรรคตของพระนางในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ คงไม่มีอะไรสำคัญเกินไปกว่าสำเนารูปวาดอีก ๔-๕ ภาพในหนังสือเล่มนั้นที่ ฟ. วินเทอร์ฮอลเทอร์ได้วาดไว้ รวมถึงภาพพระราชสวามี ปรินซ์ อัลเบิร์ด และภาพเมื่อควีนมีพระโอรสธิดาแล้วจึงได้นำมาลงเปรียบเทียบให้ดูเล่นสนับสนุนหลักการเดิมในข้อ ๘ และ ๙ อีกชั้นหนึ่ง

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ ที่ติดรูปควีนวิกตอเรีย

ความชัดเจนในรายละเอียดและหลักฐานสำคัญที่พบในเมืองไทย และในอังกฤษ มีผลต่อการชำระตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และถ้าการคาดการณ์เป็นจริง ก็จะมิใช่การค้นพบที่ธรรมดาเลย เพราะพระรูปควีนอันหาค่ามิได้นี้จะกลายเป็นวัตถุโบราณประเภทมรดกของชาติไทย เฉกเช่นอับเฉาตุ๊กตาหินจากเมืองจีนที่นำเข้ามาในรัชสมัยเดียวกันได้อย่างสบายๆ

นอกจากนั้นยังสามารถขึ้นทำเนียบภาพชิ้นโบแดงของบุคคลสำคัญของโลกภาพแรกที่มาถึงเมืองไทย ก่อนหน้าวิวัฒนาการภาพถ่ายจะอุบัติขึ้น

เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพควีนชุดที่ ๒ (ในข้อที่ ๘) สมัยพระจอมเกล้าฯ กลับสูญหายไปอีกในวันนี้ และอาจเป็นปริศนาให้ตามหากันต่อไปอีกนาน

แต่ไม่ต้องเสียใจ ผู้เขียนขอแถมภาพควีนเป็นที่ระลึกให้อีก ๑ ภาพก็แล้วกัน ภาพนี้เก่าพอใช้ และทรงคุณค่าไม่น้อยหน้าภาพอื่นเลย เป็นรูปถ่ายควีนวิกตอเรียตัวจริงเมื่อทรงพระชรามากแล้ว พระราชทานให้พระจุลจอมเกล้าฯ คราวเสด็จประพาสอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๔๐

ภาพนี้ดูไม่ยาก เพราะทรงลงพระปรมาภิไธย และปี ค.ศ. ๑๘๙๗ กำกับไว้อย่างใจเย็น และยังเก็บรักษาไว้คู่กับรูปจ้าววิลาดสมัยพระนั่งเกล้าฯ นั้น

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย ภาพวาดลายเส้นจ้าววิลาด มรดกของชาตินี้ถูกจัดแสดงอย่างสง่างามภายใน “ห้องของเล่น” บนพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ในทุกวันนี้


เชิงอรรถ

๑. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, กษัตริย์วังหน้า, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์แพร่การช่าง ๒๕๑๕

๒. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒ เรื่องทูตฝรั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเทียม ลดานนท์ ๒๕๐๖

๓. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ศรีหงส์, ๒๔๗๗

๔. พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต, กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คลังวิทยา ๒๕๐๕

๕. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ, นิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวง, กรุงเทพฯ โรงพิมพ์กฤษณปกรณ์ ๒๕๐๑

๖. Sir.John Bowring, The Kingdom and people of Siam oxford University Press. 1977


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560