กำเนิด “โรงรับจำนำ” ยุคแรกสมัยรัชกาลที่ 4 เผยเทคนิค “จีนฮง” ทำกิจการรุ่งเรืองได้อย่างไร?

เงินบาท เหรียญเงิน กรุงเทพฯ ตอกตรา พระมหามงกุฎราคาเฟื้อง พ.ศ. 2399 เปรียบเทียบ ตัวอย่าง เหรียญทองแดง เมืองไท ตราดอกบัว และ ตราช้าง จ.ศ. 1197
เหรียญเงินกรุงเทพฯ ตอกตราพระมหามงกุฎราคาเฟื้อง พ.ศ. 2399 เปรียบเทียบกับตัวอย่างเหรียญทองแดงเมืองไท ตราดอกบัว และตราช้าง จ.ศ. 1197 (พ.ศ. 2378)

“โรงรับจำนำ” แห่งแรก สมัยรัชกาลที่ 4 มี “จีนฮง” ชาวจีนเป็นผู้ก่อตั้ง 

การรับจำนำนั้นเชื่อว่ามีมาแต่สมัยโบราณ จะเริ่มมีขึ้นในสมัยไหนนั้นยากที่จะสืบค้นหรือระบุได้แน่ชัด แต่การรับจำนำมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วอย่างแน่นอน ดังที่ปรากฏการรับจำนำในสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกำหนดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2284 ว่ามิให้จำนำสิ่งของในเวลากลางคืน ดังความว่า

“ถ้าผู้ใดต้องการเงิน จะเอาสิ่งรูปพรรณ ทอง นาก เงินและเครื่องทองเหลือง ทองขาว ดีบุก ผ้าแพรพรรณนุ่งห่มและเครื่องศาลตราวุธ ช้าง ม้า ทั้งโคแลกระบือมาขายและจำนำนั้น ให้เอาไปขายแลจำนำแก่กันในเวลากลางวัน ถ้าจะซื้อขายกันในเวลากลางคืนนั้น ก็ให้ซื้อกันแต่เครื่องกับข้าวของกิน และสิ่งของเอามาขายมาว่าทำเวลากลางวันนั้น ถ้าแลเป็นรูปพรรณเก่าใหม่ ผู้ซื้อผู้รับจำนำ เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน เห็นสมควรจะเป็นของผู้นั้น ๆ ก็ให้ซื้อให้จำนำกันเถิด”

การรับจำนำในสมัยนั้นยังมิได้ตั้งเป็นโรงหรือสถานที่สำหรับการรับจำนำโดยเฉพาะ คงจะกระทำกันตามบ้านเรือนหรือสถานที่นัดพบกันเท่านั้น ในยุคต่อมาจึงคิดตั้งโรงรับจำนำขึ้นเป็นการเฉพาะ

จีนฮง เจ้าของ “โรงรับจำนำ” แห่งแรก สมัยรัชกาลที่ 4 

โรงรับจํานํา ที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2409 ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยคนจีนชื่อว่า “เจ๊กฮง” หรือ “จีนฮง” ตั้งโรงรับจำนำขึ้นเป็นแห่งแรกบริเวณประตูผี หรือสี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน มีชื่อว่าโรงรับจำนำ “ย่องเซี้ยง”

ช่วงแรกที่เปิดโรงรับจำนำ มีผู้ไปจำนำของอยู่เพียงไม่กี่คน แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดและมีหัวในทางค้าขายของจีนฮง เขาจึงคิดใช้วิธีกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าทั่วไปครึ่งหนึ่ง และล่อใจด้วยการรับจำนำของในราคาสูง แม้บางครั้งของที่รับจำนำจะเป็นของที่ไม่ค่อยจะดีหรือไม่ค่อยมีราคา แต่หากเห็นว่าพอจะมีกำไรบ้างเล็กน้อย จีนฮงก็จะรับจำนำไว้ ไม่ให้ผู้ที่มาจำนำต้องผิดหวังกลับไป

ด้วยการบริการที่ดี ดอกเบี้ยถูกกว่าเจ้าอื่น สถานที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องไปจำนำกันเองตามบ้านเรือนอีกต่อไป จึงทำให้กิจการโรงรับจำนำของจีนฮงรุ่งเรืองและเป็นที่นิยมมาก

จีนฮงยังได้คิดทำบัญชีเล่มหนึ่งขึ้นที่มีชื่อ “ตึ๊งโผว” สำหรับจดวันที่รับจำนำและรายละเอียดสิ่งของที่จำนำ พร้อมทั้งมีตั๋วประทับตรายี่ห้อให้ไว้แก่ผู้จำนำด้วย เพื่อจะได้เป็นหลักฐานแก่ทั้งสองฝ่าย ป้องกันการหลงลืมและการคดโกง ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็กำหนดลงไว้ในตั๋วที่ให้แก่ผู้จำนำไป โดยมีข้อสัญญาชัดเจน ดังปรากฏในตั๋วว่า “ถ้าผู้ใดไม่ส่งดอกเบี้ยในเดือนไหน ของผู้นั้นก็เป็นหลุด จะขายเสียเมื่อไหร่ก็ได้”

หลังจากกิจการจีนฮงประสบความสำเร็จ จนอาจสร้างผลประโยชน์มหาศาล ทำให้มีการตั้ง โรงรับจำนำ ผุดขึ้นมากมายเอาอย่างจีนฮงบ้าง เพราะการตั้งโรงรับจำนำในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุม ใครอยากตั้งก็ตั้งได้ ไม่ต้องมีการขออนุญาต และยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม เจ้าของโรงรับจำนำโดยส่วนมากแล้วเป็นคนจีน มีทั้งคนจีนที่มีฐานะดี หรือหากมีฐานะปานกลางก็จะรวบรวมกันเป็นกลุ่มเอาเงินมารวมกันตั้งโรงรับจำนำ

แล้วเพราะเหตุใด คนไทยถึงไม่นิยมตั้งโรงรับจำนำ? เรื่องนี้มีอธิบายไว้ในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ เล่ม 6 เดือนมีนาคม ร.ศ. 109 ความว่า

“เหตุใดคนไทยเราก็ย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้วว่า เกิดผลมากในการรับจำนำ ทำไมไม่คิดออกตั้งเป็นโรงรับจำนำขึ้นบ้างเล่า ขอชี้แจงให้เห็นการรับจำนำนี้มีประโยชน์มากจริงอยู่ แต่ทว่าคนไทยจะคิดตั้งขึ้นแล้ว เกรงว่าจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน เพราะเหตุที่เป็นข้าศึกแก่คนไทย ในเรื่องรับจำนำมีหลายอย่าง จะชี้ตัวอย่างที่พอเห็นความจริงด้วยกันได้ว่า วิไสยคนไทยเราเกรงความร้อนใจเป็นประมาณทั่วกันทั้งนั้น เรื่องรับจำนำนี้ มีแต่ความร้อนใจเป็นเบื้องต้นประเดี๋ยวต้องว่าความแทนคนนั้นด้วยเรื่องนั้น แทนคนนี้ด้วยเรื่องนี้ ตั้งแต่เสียเงินเสียทองเป็นเบื้องปลาย ไหนจะมีเรื่องอะไรต่ออะไรอีก ต้องตกเป็นผู้รับความร้อนใจอยู่อย่างนี้ร่ำไป แม้ถึงเห็นผลมีจริงก็ต้องเห็นโทษอยู่อย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่สามารถตั้งโรงรับจำนำขึ้นได้เพราะเหตุนี้”

กิจการโรงรับจำนำรุ่งเรืองขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในราว พ.ศ. 2433 ปรากฏว่ามีโรงรับจำนำในกรุงเทพฯ กว่า 200 โรง รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่ากิจการโรงรับจำนำมีทั้งคุณและโทษ ส่วนที่มีคุณ คือ ชาวบ้านที่ขัดสนเงินทุนที่จะนำมาหากินเลี้ยงชีพ ย่อมเอาทรัพย์สินไปจำนำเพื่อนำเงินไปทำทุนโดยง่าย แต่ส่วนที่มีโทษ คือ ชาวบ้านผู้มีสันดานทุจริตไม่ได้ทำมาหากินเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ทำการปล้นชิงวิ่งราวเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาแล้วนำไปจำนำได้เงินมาโดยสะดวก จึงเป็นช่องทางให้โจรผู้ร้ายก่อการกำเริบ แต่จะเลิกหรือห้ามตั้งโรงรับจำนำนั้นก็จะเป็นการเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่หากินเลี้ยงชีพโดยสุจริต ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 ตรงกับ พ.ศ. 2438

โรงรับจำนำ
โรงรับจำนำ (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

กำเนิดพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ. 114 มีหลักสำคัญ คือ ให้ผู้จะดำเนินกิจการโรงรับจำนำสิ่งของที่มีต้นเงินต่ำกว่า 400 บาทลงมา ต้องขอใบอนุญาต โดยเสียค่าใบอนุญาตเดือนละ 50 บาท และต้องชำระล่วงหน้า หากในเดือนต่อไปมิได้ชำระค่าธรรมเนียม ถือว่าใบอนุญาตนั้นขาดอายุ ผู้ใดฝ่าฝืนตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือใบอนุญาตขาดอายุ ถือว่ามีความผิด และยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย, การกำหนดให้ทำตั๋วจำนำและบัญชีเป็นหลักฐาน ฯลฯ

การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงเป็นการเริ่มต้นบทบาทของรัฐ ในการเข้ามาควบคุมโรงรับจำนำทั้งหลาย ซึ่งกลายเป็นสาเหตุให้โรงรับจำนำที่ตั้งกันมาแต่ก่อนต้องสลายตัวเลิกล้มกิจการไปทั้งหมด เนื่องจากไม่มีผู้ใดมาติดต่อขอใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำขึ้นเลย

กระทั่งในปีต่อมา นายเล็ก โทณะวณิก ได้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำชื่อว่า “ฮั่วเส็ง” ขึ้น ที่ตำบลบ้านหม้อ ถนนพาหุรัด โรงรับจำนำฮั่วเส็งจึงถือว่าเป็นโรงรับจำนำที่ถูกกฎหมายแห่งแรกของประเทศ โดยเปิดกิจการเรื่อยมานับแต่นั้น กระทั่งเลิกกิจการไปเมื่อถูกลูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากตั้งโรงรับจำนำฮั่วเส็งขึ้น จึงเริ่มมีคนจีนขออนุญาตจัดตั้งโรงรับจำนำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงรับจำนำเพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัย โดยได้มีการตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2480 มีสาระสำคัญ คือ การอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำจะต้องทำโดยการประมูล กำหนดระยะดำเนินงานคราวละ 5 ปี และกำหนดอัตราดอกเบี้ยเสียใหม่

อย่างไรก็ตาม โรงรับจำนำ มีเฉพาะในกรุงเทพฯ (ธนบุรีและพระนคร) เท่านั้น รัฐยังไม่อนุญาตให้ตั้งในต่างจังหวัด เนื่องจากจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาค การตรวจตราควบคุมโรงรับจำนำ และสิ่งของที่นำมาจำนำทำได้ยาก ไม่รวดเร็ว เป็นช่องให้คนร้ายนำสิ่งของที่ขโมยนำไปจำนำได้สะดวก เพราะไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การตั้งโรงรับจำนำขึ้นตามต่างจังหวัดจะมีผลร้ายมากกว่าผลดี

ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติโรงรับจำนำฉบับ ร.ศ. 114 และฉบับ พ.ศ. 2480 จึงอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำขึ้นแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น

ใน พ.ศ. 2498 มีโรงรับจำนำเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 69 โรง แต่วงเงินที่นำออกบริการรับจำนำมีอยู่อย่างจำกัด ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี มิหนำซ้ำโรงรับจำนำบางแห่งยังเลี่ยงกฎหมาย คิดค่าบริการเพิ่มเติมซึ่งสร้างภาระให้กับชาวบ้านมากขึ้น ดังนั้น ในปีดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ตั้ง “โรงรับจำนำของรัฐ” ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทยอีกโรงหนึ่ง

ต่อมา พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อ “โรงรับจำนำของรัฐ” มาเป็น “สถานธนานุเคราะห์” เพื่อให้แตกต่างจากโรงรับจำนำของเอกชน ถึง พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้อนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำขึ้นได้ โดยมีชื่อว่า “สถานธนานุบาล”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อรสรวง บุตรนาค. (2542). โรงรับจำนำ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เลิฟแอนด์ลิพเพรส.

โรม บุนนาค. (2554). 100 แรกมีในสยาม. กรุงเทพฯ : กิเลนการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564