เผยแพร่ |
---|
นับแต่จีนประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 โจวเอินไหล นอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขายังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลา 10 ปี อีกด้วย
โจวเอินไหลกล่าวกับเจ้าหน้าที่การทูตที่เพิ่งเริ่มงานว่า “ประเทศจีนใหม่ไม่เหมือนประเทศจีนเก่า การทูตไม่มีแบบอย่างให้จำเริญรอยตาม จะต้องเริ่มต้นกันใหม่…เราจะไม่ลอกเลียนตามวิธีของประเทศทุนนิยม รูปแบบการทูตของโซเวียตก็มิใช่จะเหมาะสมกับประเทศจีนทั้งหมด”
ในการประชุมกรุงเจนีวา เมื่อปี 1954 เพื่ออภิปรายแก้ปัญหาเกาหลีโดยสันติวิธีและปัญหาการฟื้นฟูสันติภาพในอินโดจีน ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศจีนกับอเมริกาคู่ปรปักษ์กันนั่งร่วมโต๊ะเจรจากัน เวลานั้นไม่ว่าจะเป็นบทบาทในเวทีโลก, บารมีทางการเมือง หรืออำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ จีนเทียบอเมริกาไม่ได้
สายตาหลายคู่จับจองมาที่โจวเอินไหล
เพราะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายอเมริกัน จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกัน ดำเนินนโยบายตั้งตนเป็นศัตรูและไม่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ว่าสมาชิกของคณะผู้แทนพบหน้ากันอยู่ในห้องประชุมเกือบจะทุกวัน ดัลเลสกลับไม่อนุญาตให้สมาชิกในคณะผู้แทนของเขาติดต่อกับชาวจีน ทั้งกำชับให้สมาชิกคณะผู้แทนอเมริกันเมินเฉยต่อชาวจีนหากต้องพบหน้ากันในระหว่างการประชุมครั้งนั้น
ดัลเลสเองถึงกับสาบานว่า จะไม่คบหากับคณะผู้แทนจีนเด็ดขาด ยกเว้นแต่รถของเขาบังเอิญไปชนเข้ากับรถที่โจวเอินไหลนั่งมาเท่านั้น และยังมีข่าวร่ำลือกันว่า ดัลเลสปฏิเสธที่จะสัมผัสมือกับโจวเอินไหล ซึ่งพบกันโดยบังเอิญที่ห้องพักผ่อนในอาคาร
หลังจากการประชุมใหญ่ครั้งแรกของการประชุมเจนีวาผ่านไป คณะผู้แทนของอเมริกาก็เปลี่ยนหัวหน้าคณะเป็น นายพลวอลเตอร์ บีเดล สมิท เสนาธิการใหญ่ของไอด์เซนฮาวในยามสงคราม แต่ท่าทีของหัวหน้าคณะผู้แทนของอเมริกายังคงเป็นเช่นเดิม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการติดต่อกับโจวเอินไหลบ้างหรือไม่
นายพลสมิทตอบติดอารมณ์ขันว่า การติดต่อแต่เพียงอย่างเดียวระหว่างเขากับโจวเอินไหลก็คือ ได้ร่วมกันใช้ผ้าเช็ดมือม้วนที่แขวนอยู่ในห้องน้ำเท่านั้นเอง
ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการประชุมเจนีวา นายพลสมิทที่ดูเหมือนจะมีท่าทีที่ผ่อนปรนลง เขาเป็นฝ่ายเริ่มต้นสนทนากับล่ามของโจวเอินไหลในห้องบาร์เหล้า เป็นท่าทีที่มีความหมาย โจวเอินไหลรู้สึกว่า คณะผู้แทนอเมริกานั้นทุกคนมิใช่มีท่าทีต่อจีนเป็นเช่นเดียวกับดัลเลส
วันรุ่งขึ้นโจวเอินไหลเข้าไปในห้องบาร์เหล้า เห็นนายพลสมิทกำลังรินกาแฟอยู่ที่เคาน์เตอร์ โจวเอินไหลเดินไปหาและยื่นมือออกไปทักทาย นายพลสมิทแสดงอาการอึกอักอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนโต้ตอบอย่างรวดเร็ว โดยรีบเอามือขวายกถ้วยกาแฟขึ้นมา (มือซ้ายของเขาคีบซิการ์อยู่ตัวหนึ่ง) เป็นการจงใจแสดงให้เห็นว่ามือทั้งสองของเขาไม่ว่าง อย่างไรก็ดีทั้งสองยังสนทนากันสั้นๆ ด้วยความเป็นมิตร
ไม่นานต่อมา ในเปิดการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้าย โจวเอินไหลกำลังสนทนาอยู่กับคนอื่นในห้องพักผ่อน นายพลสมิทเดินตรงเข้าไปทักทายโจวเอินไหล นายพลสมิทกล่าวถึงการประชุมว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และกล่าวชื่นชมความสามารถทางการทูตของโจวเอินไหลว่าน่าประทับใจอย่างยิ่ง ทั้งมีความยินดีที่ได้รู้จักโจวเอินไหล
โจวเอินไหลตอบกลับว่า “คราวก่อนที่เราพบหน้ากัน ผมเป็นคนยื่นมือให้คุณก่อนไม่ใช่หรือ?”
นั่นทำให้นายพลสมิทคิดถึงการพบกันครั้งก่อน ที่เขาไม่สัมผัสมือกับโจวเอินไหล ด้วยการทำให้ “สองมือไม่ว่าง” รู้สึกขัดเขินอยู่ในใจ
เหตุที่นายพลสมิทหัวหน้าคณะของคณะผู้แทนอเมริกา ไม่มีจับมือทักทายกับนายกรัฐมนตรีจีน? นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อดัลเลสยังอยู่ในเจนีวา เคยออกคำสั่งไว้ว่า ไม่อนุญาตให้จับมือทักทายกับชาวจีน
คำสั่งห้ามของดัลเลสถูกทะลายลง ด้วยการไกล่เกลี่ยของ ฮัมฟรีย์ ดูวิลเลียม อุปทูตอังกฤษประจำปักกิ่งที่มาเข้าร่วมการประชุมด้วย คณะผู้แทนจีนกับคณะผู้แทนอเมริกาพบปะกัน เพื่ออภิปรายวาระการเจรจาในเรื่องการส่งคนของทั้งสองฝ่ายที่ถูกกักตัวเอากลับประเทศ และตามมาด้วยการพบปะเจรจาระดับเอกอัครราชทูตของทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา
ข้อมูลจาก
ฟางจี้เฉิง, เจียงกุ้ยหนง-เขียน บุญศักดิ์ แสงระวี-แปล. โจวเอินไหล ฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564