กรมไปรษณีย์โทรเลขไทย ตั้งที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 เป็น “ไปรษณีย์จีน”

ที่ทำการไปรษณีย์หมายเลข 8 ที่ให้บริการเรื่องโพยโดยเฉพาะ ในภาพเป็นความเสียหายที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์การประกันภัยไทย)

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์และเปิดการไปรษณีย์กับต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 กรมไปรษณีย์โทรเลขจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ที่ 2 เป็นที่ทำการสำหรับการรับฝากนำจ่ายและปิดถุงแลกเปลี่ยนไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศโดยเฉพาะ ที่ตึกเล็กบริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม ตำบลสี่พระยา ทั้งได้ออกพระราชบัญญัติการไปรษณีย์สยาม จุลศักราช 1247 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2428 

แต่ขณะนั้นประเทศจีนยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ การรับและส่งโพยก๊วนทางประเทศจีนยังเป็นหน้าที่ของเอเยนต์โพยก๊วน ที่ตั้งอยู่ตามท้องถิ่นเช่นเดิม ส่วนการส่งกลับเข้ามาก็ยังอาศัยการมัดรวมเป็นห่อฝากเข้ามากับเรือกลไฟเอเยนต์โพยก๊วนในประเทศไทย รัชกาลที่ 5 จึงรับสั่งให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่ใช้ไปยังประเทศอื่นๆ โดยอนุญาตให้นายหน้าโพยก๊วนรวบรวมจดหมายที่ชาวจีนฝากส่งถึงประเทศเข้าเป็นห่อ ทั้งนี้โดยกำหนดให้เอเยนต์โพยก๊วนในประเทศไทยต้องนำห่อจดหมายมาเสียค่าธรรมเนียมแก่กรมไปรษณีย์โทรเลข ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 2

Advertisement

แต่กลับพบปัญหาเรื่องการลักลอบส่งโพยก๊วน, จดหมายฝาก และหนังสือเข้ามา เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ปราบปรามให้หมดไปได้ยาก ดังความในบาญชีรายงานกรมไปรษณีย์ จํานวน ร.ศ. 110 ถึง 113 ว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

“ถ้ายังไม่มีการไปรสนีย์เปนของราชาธิปตัยในแผ่นดินจีน การลักซ่อนหนังสือฝากหลีกเลี่ยงทางไปรสนีย์  ดั่งนี้ แลการหนีไปรสนีย์ในส่วนหนังสือฝากจากกรุงสยามส่งไปยังเมืองจีนเป็นต้นนั้นจะห้ามปรามให้หมดยังเป็นการขัดข้องทําไปไม่ได้ตลอด แต่อย่างไรก็ดีเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ยังมีทางอยู่อย่างหนึ่งที่ภอจะเป็นการช่วยต่อสู้ความทําผิดกฎหมายนั้นให้เบาบาง ลงได้บ้างคือคิดตั้งออฟฟิศไปรสนีย์เฉภาะสําหรับการหนังสือจีน เหมือนอย่างที่เขามีใช้กันอยู่แล้วที่เมืองสิงคโปร์ขึ้นในกรุงเทพฯ สักออฟฟิศหนึ่งการนี้ควรจะต้องให้รีบมีขึ้นโดยเร็ว

ออฟฟิศไปรสนีย์ที่เมืองสิงคโปร์นั้นเขาได้ตั้งขึ้นเมื่อปีคริศศักราช 1876 (พ.ศ.2419) แลได้ใช้มาได้ 19 ปีมาแล้ว เมื่อเริ่มจะตั้งนั้นก็เป็นธรรมดาต้องได้รับความไม่ภอใจจากจําพวกคนจีนที่ได้เคยหาผลประโยชน์ในการนั้นมาแต่ก่อน แลเมื่อวันที่เปิดการให้เป็นอันใช้ได้นั้นก็ได้เกิดความเอะอะกันในหมู่พวกจีนที่ไม่ภอใจเป็นการใหญ่ จนต้องปราบปรามกันจนถึงแก่ความล้มตายกันบ้าง…

วิธีของการนั้นเป็นที่ให้เกิดความน่าภอใจมาก คือผู้สําหรับเป็นเจ้าพนักงานออฟฟิศนั้นเขาเลือกเอาคนจีนที่มีความรู้ดีๆ มาตั้งแลคิดค่าจ้างให้เป็นเงินแบ่งจากจํานวนเงินผลประโยชน์ที่เก็บได้นั้นให้ 2 ส่วนใน 5 ส่วน นอกจากออฟฟิศใหญ่นั้นยังยอมให้มีออฟฟิศไปรสนีย์จึงเป็นออฟฟิศสาขาด้วยอีกหลายแห่ง ออฟฟิศสาขาเหล่านั้นต้องมีใบอนุญาตเสียค่าธรรมเนียมรับใบอนุญาตด้วย เมื่อสิ้นปี ร.ศ. 112 (พ.ศ.2437) ออฟฟิศไปรสนีย์จีนสาขาอย่างนี้มีอยู่ถึง 51 แห่งอยู่ในความควบคุมของพวกพ่อค้าจีนต่างๆ แซ่ที่มีชื่อเสียงปรากฏในเมืองสิงคโปร์

ออฟฟิศสาขาเหล่านี้สําหรับคอยรับสรรพหนังสือฝากต่าง ๆ จากมหาชนแล้วรวมเป็นมัดๆ มาส่งยังออฟฟิศไปรสนีย์จีนมาเสียค่าไปรสนีย์เรียงฉบับ มีอัตราฉบับละ 3 เซ็นต์ ออฟฟิศสาขาเหล่านี้มีกงสีเป็นพวกเดียวกันคอยรับธุระอยู่ที่เมืองจีนสำหรับจําหน่ายหนังสือที่ฝากออกไปนั้นอีกชั้นหนึ่ง แลส่วนหนังสือที่ฝากมาจากเมืองจีนนั้นก็เดินตามวิธีคล้ายกัน คือเมื่อมาถึงออฟฟิศสาขาที่เมืองสิงคโปร์ก็ต้องเข้าไปเสียค่าไปรสนีย์ที่ออฟฟิศไปรสนีย์จีน หรือตรงไปที่ออฟฟิศไปรสนีย์ใหญ่ก่อนจึงจะแจกแก่ผู้รับได้ จํานวนหนังสือที่มีไปมาโดยทางออฟฟิศไปรสนีย์จีนที่เมืองสิงคโปร์ดังนี้ เมื่อปี ร.ศ.112 มีรวมประมาณ 323,000 ฉบับ

อนึ่งเมื่อได้คิดดูว่า คนชาติจีนซึ่งพํานักอยู่ในกรุงเทพฯ มีถึงกว่า 100,000 คน แลรวมทั้งกรุงสยามมีประมาณล้านคน แลทุกวันนี้คงจะต้องมีการลักลอบส่งหนังสือออกไปยังเมืองจีนโดยทางผิดกฎหมายไปรสนีย์คือส่งไปโดยคนสามัญพาไปบ้าง แลคนลูกจ้างในเรือเมล์พาไปบ้างปีละหลายพันฉบับ ก็ต้องเป็นที่เหนได้ว่าถ้าแม้ได้ตั้งออฟฟิศไปรสนีย์พิเสศสําหรับพวกจีนดั่งที่ได้อธิบายแล้วนั้นคงจะมีผลประโยชน์แก่พระราชทรัพย์ขึ้นได้อีกเป็นอันมาก

ในปี พ.ศ. 2451 ทางการไทยจึงได้จัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ที่ 8 ขึ้นเป็น “ที่ทำการไปรษณีย์จีน”  

ก่อนการจัดตั้งที่ทําการไปรษณีย์จีน ทางการไทยจัดการแก้ไขปัญหาการลักซ่อนรับส่งจดหมายของชาวจีนในประเทศไทยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนเมื่อ พ.ศ. 2450 (ร.ศ. 125)  เมื่อประเทศจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์แล้ว ได้เปิดที่ทําการไปรษณีย์ขึ้นตามท่าเรือต่างๆ กรมไปรษณีย์โทรเลขไทยจึงได้ติดต่อกับกรมไปรษณีย์กรุงปักกิ่งเพื่อที่จะส่งหนังสือโพยก๊วนโดยทางไปรษณีย์ตรงไปยังที่ทําการของกรมไปรษณีย์จีนตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งกรมไปรษณียจีนก็ตกลงยินยอมจะจัดส่งต่อไปให้ยังผู้รับ

ดังนั้นทางการไทยจึงคิดจะเปิดที่ทำการไปรษณีย์เฉพาะรับส่งหนังสือจีนโดยเฉพาะขึ้น เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ชาวจีนและกรมไปรษณีย์โทรเลขจะเป็นผู้จัดการรับส่งหนังสือจีนเหล่านั้นออกไปเองโดยคิดค่าส่งตามอัตราสากล จึงนัดประชุมหัวหน้าจีนในกรุงเทพเพื่อสอบถามความคิดเห็นหลายครั้ง

ในที่สุดได้ผลสรุปว่า “จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดออฟฟิศไปรสนีย์ขึ้นอีกออฟฟิศหนึ่ง เรียกชื่อว่า ออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 8 จะตั้งที่ถนนเยาวราชใต้ตรอกเข้าสาร ตําบนสําเพ็ง สําหรับรับส่งหนังสือพวกจีนแลใช้เจ้าพนักงานจีน เพื่อจะได้เป็นการสะดวก แก่พวกจีนต่อไป”

กำหนดเปิดที่ทําการไปรษณีย์ที่ 8 ในวันที่ 1 เมษายน รัตน โกสินทร์ศก 126 โดยคาดว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 160,000 บาท/ปี ส่วนรายจ่ายนั้นรวมทั้งเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่างๆ คงไม่เกิน 10,000 บาท/ปี น่าจะทำกําไรสุทธิประมาณ 150,000 บาท/ปี นับว่าเป็นรายได้ที่สูงมากในขณะนั้น

นอกจากนี้ทางกรมไปรษณีย์ทั้งสองประเทศ ยังอนุญาตให้รวมจดหมายโพยเหล่านั้นเข้าเป็นห่อได้ตามแบบเดิม เนื่องจากขณะนั้นประเทศจีน ยังไม่ได้จัดตั้งที่ทําการไปรษณีย์ได้อย่างทั่วถึง บางตําบลจึงจําเป็นต้องส่งไปยังเอเยนต์โพยก๊วนในประเทศจีนให้จัดส่งต่อให้ตามแบบเดิม โดยรวมเข้าห่อเพื่อไม่ให้เกิดการสูญหาย แต่ต้องปิดตราไปรษณีย์เป็นรายฉบับในอัตราสากล

ในตอนค่ำวันที่เปิดที่ทำการ กระทรวงโยธาธิการเชิญพวกเอเยนต์โพยก๊วนชาวจีนมารับพระราชทานอาหารเลี้ยงอย่างธรรมเนียมจีน พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อเป็นการสังเกตดูว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร ปรากฏว่าบรรดาเอเยนต์ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยในรุ่งขึ้น         ( 2 เมษายน รัตนโกสินทรศก 126)  เอเยนต์โพยก๊วนต่างๆ มาส่งหนังสือถึง 8,200 ฉบับ ได้เงินค่าตั๋วตรา 1,535 บาท ถือว่าได้ว่าเหนือความคาดหมายมาก

ความนิยมไปรษณีย์ที่ 8 นั้นปรากฎในจดหมายกราบบังคมทูล (รัชกาลที่ 5) ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2451ที่พระยาสุขุมนัยวินิต เสนาธิการกระทรวงโยธาธิการ ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้แสตมป์ฤชากรมาแทนตั๋วตราไปรษณีย์เป็นการชั่วคราว เนื่องจากที่ทำการไปรษณีย์เลขที่ 8 มีผู้มาใช้บริการจำนวน โดยเฉพาะถ้าเป็นวันที่เรือเมล์ออกจะมีหนังสืออย่างน้อย 6,500 ฉบับ ทำให้เกิดยุ่งยากในการติดตั๋วตราไปรษณีย์ เพราะตั๋วตราไปรษณีย์ที่มีราคาสูงสุดคือดวงละ 1 บาท  แต่หนังสือห่อหนึ่งต้องติดตั่วตราไปรษณีย์ 200-300 ดวง จึงปรึกษากับกระทรวงการคลังมหาสมบัติเห็นควรใช้แสตมป์ฤชากรดวงละ 10 บาท 20 บาท และ 40 บาท แทนเป็นการชั่วคราว จนกว่าตั๋วตราไปรณณีย์ที่มีราคาสูงแบบใหม่จะเข้ามาถึง

พ.ศ. 2500 ที่ทำการไปรษณีย์เลขที่ 8 ย้ายสำนักงานใหม่ไปตั้งอยู้ที่ตำบลป้อมปราบ และเรียกชื่อใหม่ว่า “ที่ทำการไปรษณีย์ป้อมปราบ” ส่วนจากส่งโพยนั้นสิ้นสุดลงเมื่อมีสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ พ.ศ. 2518 คนจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยสามารถเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองได้ด้วยตนเอง หรือโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์แทน


ข้อมูลจาก

สุชาดา  ตันตสุรกฤกษ์. โพยก๊วน การส่งเงินกลับประเทศโดยชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม 2532

วิภา จิรภาไพศาล. ” ‘โพยก๊วน’ประวัติศาตร์สังคมและเงินตราของจีนโพ้นทะเล” ใน, ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับเดือนสิงหาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564