การเมืองปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ความเคลื่อนไหวในราชสำนัก หลังฉากการผลัดแผ่นดิน

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บ้านเมืองว่างเว้นจากการศึกสงคราม พระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินยังคงกระทำตามอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวคือ เวลาเช้าเสด็จลงทรงบาตร แล้วเสด็จออกเลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง ทรงรับฟังการรายงานพระคลังมหาสมบัติ และเสด็จขึ้นแท่นออกขุนนาง

แต่เวลากลางวันที่เป็นเวลาสำหรับพระราชกิจฝ่ายใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมักทรงการช่างด้วยฝีพระหัตถ์แทน โดยเฉพาะงานแกะสลักที่พระองค์โปรดอย่างมาก ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานสำหรับช่างมหาดเล็กขึ้นข้างในพระราชวัง และพระองค์ทรงงานช่างเป็นเวลาประจำทุก ๆ วัน ในตอนบ่ายเป็นช่วงเวลาสำหรับสำราญพระราชอิริยาบถ พระองค์เสด็จประทับที่เฉลียงท้องพระโรง ทรงฟังรายงานการก่อสร้างบ้าง และเบิกกวีเข้าเฝ้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครบ้าง

ครั้นถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จออกทรงธรรมและทรงฟังราชการต่าง ๆ ต่อจากนั้นจึงเสด็จออกขุนนางที่ท้องพระโรง หรือบางวันเสด็จที่พระที่นั่งสนามจันทร์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลของพระองค์ หลังจากนั้นเวลายี่สิบเอ็ดนาฬิกาทรงสำราญพระราชอิริยาบถข้างฝ่ายใน เช่นทอดพระเนตรละครหรือเสด็จลงสวนขวาต่อไปจนสิ้นเวลา [1] จึงกล่าวได้ว่ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุขอย่างยิ่ง 

อย่างไรก็ดี รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงริเริ่มโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการกรม หรือตั้งขึ้นเป็นเจ้าทรงกรม เสมือนเป็นที่ปรึกษาราชการให้กับพระเจ้าแผ่นดินและเสนาบดี [2] เจ้าทรงกรมเป็นผู้มีอำนาจครอบคลุมในกรมที่ตนได้รับมอบหมาย ทั้งสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และพระยาโกษาธิบดี ล้วนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้กำกับราชการกรมหรือเจ้าทรงกรมทั้งสิ้น จึงทำให้อำนาจในการบังคับบัญชาราชการกรมต่าง ๆ ไม่ผูกขาดอยู่ที่ตัวเสนาบดีผู้ดำรงตำแหน่ง

เพราะในทางความเป็นจริงผู้กำกับราชการกรมคอยเป็นที่ปรึกษาราชการต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน สามารถทำหน้าที่แทนเสนาบดีได้ เป็นการคานอำนาจกับอำนาจของเสนาบดีและมุขมนตรี ตลอดจนเป็นการช่วยแบ่งเบาพระราชภาระราชการแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดิน [3] ดังสังเกตเห็นได้จากพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดังกล่าวข้างต้น พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนมากกับการทรงงานช่างและทรงสำราญพระราชอิริยาบถทอดพระเนตรการละคร หรือเสด็จลงสวนขวา เป็นต้น

เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เป็นหลักในการบริหารราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาแต่ต้นรัชกาลมีด้วยกันสามพระองค์ คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (จุ้ย) ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า และทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป, สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ทรงกำกับราชการกรมมหาดไทยและกรมวัง และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ทับ) ทรงกำกับราชการกรมท่า (รวมถึงพระคลัง) และกรมพระตำรวจว่าความฎีกา โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงไว้วางพระราชหฤทัยในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มากกว่าเสนามาตย์และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดทั้งหมด [4]

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานภายในศาลาทรงยุโรป
หลังองค์พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (จุ้ย) ทรงเสด็จทิวงคตเมื่อวันพุธ เดือนแปด ขึ้นสามค่ำ ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 เวลาสิบเอ็ดนาฬิกา [5] ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงว่างลงจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหตุที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “ตำแหน่งที่พระมหาอุปราช…เปนตำแหน่งที่สำหรับพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงษผู้มีความชอบยิ่งใหญ่เฉพาะพระองค์” [6] สอดคล้องกับเมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย (จุ้ย) ขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระราชบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เพราะ 

พระราชอนุชาจะทรงมีพระชนมายุไล่เลี่ยกับพระองค์ ทำศึกสงครามฝ่าฟันอันตรายมาด้วยกัน…เมื่อกรมหลวงอิศรสุนทร (ฉิม) เสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติ และโปรดให้อุปราชาภิเษกสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย เป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทั้งสองพระองค์ทรงพระราช ดำริปรึกษากัน โปรดให้จัดบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่แบ่งแยกกันรับราชการ ผู้พี่รับราชการในพระราชวังหลวง ส่วนผู้น้องรับราชการในฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นเช่นนี้ทุกตระกูล เพื่อให้ข้าราชการวังหน้ากับวังหลวงสมัครสมานกัน [7]

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (จุ้ย) เสด็จทิวงคต ขุนนางข้าราชการวังหน้าส่วนใหญ่จึงย้ายมาสมทบในตำแหน่งข้าราชการฝ่ายวังหลวงในระหว่างที่ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างอยู่เป็นเวลาถึงเจ็ดปีตราบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต และจึงเหลือเจ้านายที่เป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดินอยู่สองพระองค์ คือ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ 

สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ทรงเป็นแกนนำเจ้านายที่นับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ทรงสนับสนุนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เพราะทรงปรารถนาตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นบำเหน็จความชอบ ดังปรากฏความว่า “กรมหลวงพิทักษมนตรีมั่นพระทัยและรอคอยวันเวลาจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และรับสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดเป็นรัชทายาท” [8]

ทั้งนี้ ยังพบหลักฐานแสดงความไม่ลงรอยกันระหว่างสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้ใกล้ชิดสนิทสนมและสนับสนุนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือกล่าวได้ว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพอยู่คนละข้างกับกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ซึ่งปรากฏถ้อยความในลักษณะของผู้ไม่ลงรอยกันแต่ต้องเขียนจดหมายถึงกันด้วยหน้าที่ราชการและความเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องตักเตือน เมื่อทางกรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงรับทราบข่าวสารที่กองทัพซึ่งกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นผู้บัญชาการได้เบียดเบียนราษฎรเมืองเพชรบุรีในปี พ.ศ. 2364 ดังความว่า

ลุศักราช 1183 ปีมเสงตรีศกเปนปีที่ 13 ฝ่ายกองทัพซึ่งไปตั้งฟังราชการอยู่ที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบูรีนั้น เหนว่าไม่มีการศึกสงครามแน่แล้ว ก็ให้กองทัพตัดไม้ทำแพขนเอาสีลาก้อนใหญ่ ๆ บรรทุกเข้ามาถวาย ใช้ในการก่อภูเขาในพระราชวังอีก ฝ่ายกองทัพพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย ตั้งอยู่เมืองเพชรบูรีนั้นนายพันนายกองเบียดเบียนราษฎรได้ความเดือดร้อนหนัก กรมหลวงพิทักษมนตรีทราบความแล้ว มีจดหมายออกไปถึงเจ้าพระยาโกษาธิบดี พระยาเสนาธิเบศรให้กราบทูลกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ใจความว่า จะมีหนังสือห้ามปรามเตือนสะติออกมาเกลือกจะไม่เหนด้วย จะว่าอิดฉาแกล้งใส่ความด้วยไม่มีตัวว่าเปนแต่คำเล่าฦา

บัดนี้ได้ความชัดรู้ด้วยกันมากแล้วว่ากักเรือราษฎร เกบเรือจะลำเลียงเข้า เจ้าของเรือก็เปนบ่าวนายทัพนายกอง ต่างมีอาญาสิทธิคุ้มครองเสียสิ้น เวียนแต่ลากไปลากมา เกือบจะวิวาทชกต่อยกันขึ้น ที่ใครโฉดเขลาเกบได้ก็สั่งไปลำเลียง ที่มีสติปัญญาฉ้ำชองถึงใจก็รอดตัว โดยแต่เรือจะเข้าออกก็ต้องเสียเบิกล่อง น้ำตาลม่อหนึ่งจึ่งได้เข้ามา แล้วราษฎรมีเข้าอยู่เกวียนหนึ่ง ก็ต้องจัดซื้อเสียบั้นหนึ่ง น้ำตาลราษฎรซื้อขายกัน หกม่อเปนเงินบาทเฟื้อง ก็จัดซื้อว่าเปนหลวงเจดม่อบาทจะปฤกษาราชการก็เปนพวก ๆ กัน ถ้อยความเก่าใหม่ก็เอามากล่าวสับสน บันดาสิ่งของในเมืองเพชรบูรี หาภอความนายทัพนายกองแต่ที่ประโยชน์ไม่เลอียดลงไปจนไม้ไผ่ แลเขาโคก็เปนของต้องการไปเสียสิ้น ในข่าวเล่าฦาว่าดังนั้น ก็พลอยวิตกกลัวจะเสียรางวัดด้วย ๆ เปนผู้กราบทูลพระกรุณาให้ออกมาสำเรจราชการแล้วเหนว่ามิใช่ผู้อื่น [9]

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2365 สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ทรงพระประชวรอย่างหนัก เมื่อเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่สนิทสนมกับพระองค์เดินทางไปเยี่ยมก็ทรงรับสั่งในทุกครั้งไปว่า “บุญพี่น้อยแล้ว ทนอำนาจท่านผู้มีบุญไม่ได้ จะขอลาก่อน” [10] โดยพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ทั้งนี้ “ผู้มีบุญ” ที่กรมหลวงพิทักษ์มนตรีกล่าวถึงเห็นว่าน่าจะเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เพราะเป็นเจ้านายที่ทรงมีอำนาจและอิทธิพลในราชการแผ่นดินอย่างสูงมากยิ่งขึ้นโดยตลอดนับแต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (จุ้ย) เสด็จทิวงคต เครือข่ายอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำกระฎุมพีของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชดำเนิน กรุงเทพฯ (ภาพโดย Paolobon140, via Wikimedia Commons)

โดยในปีที่กรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นผู้สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ บุนนาค) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมพระคลังและกรมท่า [11] และงานซึ่งเคยอยู่ในความดูแลของกรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) ในการกำกับดูแลกรมมหาดไทยและกรมวังก็ตกอยู่ในการดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ [12] ซึ่งก็เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือกล่าวได้ว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหรือฐานอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) อำนาจทางการเมืองในการบริหารงานราชการแผ่นดินโดยมากตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจทางการเมืองหรือเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แทบทั้งสิ้น ดังที่ปรากฏในบันทึกความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้มีอำนาจและมีอิทธิในราชสำนักอยู่มาก พระองค์ทรงเป็นที่รักและเกรงกลัวแก่เจ้านาย ขุนนาง และราษฎรทั่วไป แม้แต่กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งเป็นผู้มีพระชนมายุมากกว่าและมีอำนาจมากมาก่อนก็ยังต้องยำเกรงในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทำให้ขุนนางและราษฎรที่ได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือเช่นนี้พากันนิยมนับถือในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นอันมาก [13]

ทั้งนี้ ในบันทึกความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณได้กล่าวว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นที่รักใคร่ในหมู่ขุนนางข้าราชการและราษฎรทั้งหลาย เพราะขุนนางและราษฎรต่างนับถือพระองค์ยิ่งกว่าเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใด ๆ ด้วยเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชมารดาของพระองค์ได้เปิดโรงครัวขนาดใหญ่ เลี้ยงดูข้าวปลาอาหารอย่างดีแก่เจ้านายและขุนนาง ทั้งเวลาขาเข้าและขาออกจากการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมมหาราชวัง [14] และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ยังทรงพระกรุณาให้ตั้งโรงทานเลี้ยงดูไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทุกวันพระที่บริเวณหน้าวังท่าพระที่ประทับของพระองค์ขณะนั้นด้วย [15]

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางท่านจึงลงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะทรงไม่ตรัสมอบเวนพระราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด มากกว่าที่พระองค์ทรงไม่สามารถตรัสได้เพราะพระอาการประชวร [16]

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเรียกประชุมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ โดยแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ มีพระชนมายุสมควรจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่พระยาเศวตรคชลักษณ์ช้างเผือกคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยล้ม เป็นสัญลักษณ์ของคราวเคราะห์เป็นลางร้าย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงเห็นควรให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงผนวชโดยเร็วที่สุด [17] ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ตอนหนึ่งว่า

ครั้นมาถึงเดือนเจดปีวอกฉอศกพระยาเสวตรอัยราพระยาเสวตรคชลักษ์ณ เจบไม่จับหญ้าน้ำ ครั้งถึงณวันประหัศเดือนเจดขึ้นเจดค่ำ พระยาเสวตรอัยราล้ม ครั้นณวันเสารเดือนเจดแรมแปดค่ำ พระยาเสวตรคชลักษ์ณล้ม ครั้นมาถึงเดือนแปดทรงพระราชดำหรัสต่อพระราชวงษานุวงษว่า สมเดจพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ มีพระชนม์ควรจะอุปสมบทแล้ว แต่เปนคราวเคราะร้าย ช้างสำคัญของสีบ้านสีเมือง เปนเหตุลงอย่างนี้ให้จัดการโดยควร อย่าให้เสียปีเสียเดือนเลย [18]

ในวันรุ่งขึ้นจึงได้เริ่มการจัดพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานสมโภชเวียนเทียนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วในวันต่อมา

รุ่งขึ้นณวันพุฒเดือนแปดขึ้นสิบสองค่ำ เสดจทรงพระเสลี่ยงตามธรรมเนียม ได้ตั้งกระบวนแห่ออกประตูวิเสศไชยศรี มีกระบวนช้างกระบวนม้าพลเดินเท้าถือทนูเกาทัณสรรพอาวุธทุกภาษา มีเครื่องสูงชุมสายพัดโบก จามรทานตวันบังแทรกบังสูรย์ กลองชะนะแตรสังข์ประโคมมาน่าพระที่นั่ง พร้อมพรั่งด้วยกระบวนหลังแลกระบวนน่า เลี้ยงเข้าประตูสวัสดิโสภามาประทับน่าเกยมาศ เสดจยุรยาตรขึ้นเกยน่าพลับพลาเปลื้องเครื่อง เสดจโดยพระราชยาน จนถึงอัฒจันพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม

ทรงโปรยเงินเสรจเสด็จมาสู่พลับพลาเปลื้องเครื่องต้นแล้ว สรงอุทกะธาราทรงพระภูษาจียเขียนทองฉลองพระองค์ครุยกรองทอง รัดพระองค์ธัมรงค์เพชร์เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถได้อุปสมบทเปนพระภิกษุ ต่อสมเด็จพระสังฆราชเปนพระอุปัชฌา พระราชาคณเปนอันดับ ครั้นอุปสมบทเปนพระภิกษุแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลสมเด็จพระพรรษา พระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายในก็ได้ถวายเครื่องปริกขารแลไตรจีวรเปนอันมาก ครั้นเสรจการผนวชแล้วก็ประทับอยู่ในพระอุโบสถ เวลาบ่ายพระสงฆราชาคณได้สวดพระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า พระสงฆ์ฉันเปนการฉลองเสรจแล้ว เสด็จไปสถิตอยู่วัดมหาธาตุในวันนั้น [19]

หลังจากงานพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เพียงหนึ่งสัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเริ่มพระอาการประชวร แต่แรกรู้สึกว่าเมื่อยมึนพระองค์ จึงเสวยพระโอสถข้างที่แต่ไม่ถูกกับโรคจึงทำให้พระองค์เกิดพระอาการเซื่องซึม ไม่สามารถตรัสสั่งสิ่งใดได้ แก้ไขอย่างไรก็ไม่ทรงฟื้นจากพระอาการประชวร พระองค์ทรงพระประชวรเพียงแปดวันเท่านั้น ในวันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 เวลาสิบเก้านาฬิกาสามสิบนาที พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต [20]

ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระชวรก่อนที่จะเสด็จสวรรคต มีการแบ่งแยกหน้าที่ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรก ได้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษรณเรศ, พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นสุนทรธิบดร, พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร, พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ และพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ได้ทรงประคับประคองสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งกลางวันกลางคืน

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สมเด็จพระส้มพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ทรงจัดแจงให้พระราชสงครามจางวาง, หลวงวิสูตรโยธามาตย์, หลวงราชโยธาเทพเจ้ากรม กับขุนหมื่นช่างทหารมีชื่อ ทำพระแท่นที่พระบันทมสำหรับทรงประทับในขณะที่ทรงพระประชวร มีพระวิสูตรและเพดานดาษด้วย และจัดทำเสวตรพัตรหนึ่งองค์ พระแท่นที่สรงองค์หนึ่งองค์ และให้ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน มหาดเล็กที่รักษาพระองค์อยู่ตามป้อมประจำซองล้อมพระราชวังโดยพร้อมเพรียงกันตามตำแหน่งแห่งที่ทุกกรมกอง [21]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

สังเกตได้ว่าบุคคลที่สังกัดในแต่ละกลุ่มมักเป็นผู้อยู่ในเครือข่ายหรือมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ดังเช่นในกลุ่มแรกซึ่งนำโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เจ้านายที่ปรากฏพระนามสังกัดกลุ่มนี้ ล้วนแต่สนิมสนมและปฏิบัติว่าราชการงานแผ่นดินเคียงกันมากับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทั้งสิ้น โดยต่อไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายเหล่านี้เจริญในหน้าที่การงานราชการแผ่นดินอย่างมาก โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ที่ได้เป็นถึงกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในทันทีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยใกล้ชิดปฏิบัติราชการด้วยกันมาเป็นเวลานาน กับทั้งยังมีส่วนเกื้อกูลกันในทางเศรษฐกิจการค้า 

ส่วนในกลุ่มที่สอง สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นผู้ที่แสดงตนอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการเสวยราชย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ โดยปรากฏว่าเมื่อพระวชิรญาณภิกขุทรงได้ยินข่าวที่ว่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ต่างเห็นพ้องต้องกันให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงนำความไปตรัสปรึกษากับกรมขุนอิศรานุรักษ์ โดยกรมขุนอิศรานุรักษ์ทูลแนะนำว่าพระวชิรญาณภิกขุควรคิดจะเอาสมบัติตามที่มีสิทธิ์ แต่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาที่ทรงผนวชอยู่ขณะนั้น กับทั้งพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาที่ทรงนับถือมาก ต่างไม่เห็นด้วยที่พระวชิรญาณภิกขุคิดจะเอาพระราชสมบัติด้วยเห็นว่าไม่ใช่เวลาอันสมควรที่จะปรารถนาเช่นนั้น พระวชิรญาณภิกขุจึงต้องตัดสินพระทัยทรงผนวชต่อไป [22]

เมื่อขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจวนใกล้จะเสด็จสวรรคต พระวชิรญาณภิกขุหรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้ายังพระบรมมหาราชวังตามคำลวงของอำมาตย์ผู้หนึ่ง ซึ่งทูลว่าพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ครั้นเมื่อพระวชิรญาณภิกขุเสด็จมาถึงยังเขตพระบรมมหาราชวัง อำมาตย์ผู้นั้นกลับนำพาพระองค์เสด็จไปประทับ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีทหารเป็นยามทำหน้าที่ควบคุมพระองค์ไว้ ถึงแม้พวกที่จงรักภักดีต่อพระองค์ขอเข้าเฝ้าเยี่ยมก็ไม่ได้ พระองค์จึงต้องประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลานานกว่าสามวัน

จนกระทั่งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วเสร็จ จึงได้นำพระวชิรญาณภิกขุเสด็จพระราชดำเนินกลับประทับ ณ วัดราชาธิวาส สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏในโคลงลิขิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ในพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ความว่า

สุดรแวงปิตุราชใกล้   สวรรคต

แม้พระราชชิโนรส   รุ่มตั้ง

เพลิดเพลินแต่เจริญพรต   พรหมะวิหารแฮ

ไปหวาดอัยญาติยั้ง   ข่าวเหี้ยมเตรียมหลอนฯ

จึ่งบทะจรสู่เวิ้ง   วังหลวง

อมาตย์เท็จเชีญเสด็จลวง   ลอบอ้าง

โองการท่านเรียกดวง   ปิยะดนุชะซีเอย

ด่วนใฝ่เฝ้าเจ้าช้าง   ชนกมื้อดูรามัยฯ

เขาเชีญไปวัดแก้ว   มรกฎ อกอา

พักณพระอุโบสถ   ก่อนเฝ้า

หับทวารส่งทหารปด   เป็นรัก ขารา

ฉุกละหุกกลับรุกเร้า   รวบรังขังคุม พระเอยฯ

กุมไว้ในโบสถ์สิ้น   ลับดวาร พ่ออา

ไร้มิตศิษย์บริพาร   พี่น้อง

คึกคักแต่พนักงาร   สนมนิเวสะรักษ์ฤา

ยอมพิทักษ์หรือคอยจ้อง   จับมล้างพรางไฉน สูเอยฯ

มีใยใครว่าท่า   ทนงหยัน พระฤา

ฟ้ามกุฏทรงประยุติ์ธรรม์   ทุกข์น้อย

ยามเสวยพระเคยฉัน   เอกะภัต เสวยรา

ไปพักฟังถั่งถ้อย   ตระหนักถ้วนกระบวนหลอน ไฉนรา

อนุสรณ์สมถะแก้   กมลดาล เดือดฤา

ถวิลมรณะสติญาณ   หยั่งซึ้ง

ถึงกรรมก็จำลาญ   ชีวาตม์ ประลัยเลย

แม้รอดทอดชนมัตรึ้ง   ผนวชเบื้องบุญสมานฯ

พรหมวิหารผ้านแผ่   เม็ตตา

มล้างเล่ห์ตอบเวรา   เล็กแค้น

ผืนสมัยนั่นใช่ฐา   นานศิษย์ สุคตเอย

เธียระชาตไปปมาทแผ้น   พสัทธ์พส้าธรรมะฐานฯ

สงสารข้าบานล้วน   ลลานภัย

บ้างหลบบ้างเวียนรไว   ห่วงเจ้า

ห่อนตระหนักจักเป็นไฉน   อนาคต พระนา

อยากจะเฝ้าห้ามเฝ้า   ต่างเพียนมเจียมตัวฯ

อยู่หัวสวรรคตแล้ว   ลือกัน

กรมเจษฎ์เชษฐาถวัลย   ราชย์รั้ง

จวนอุโบสถสามวัน   จึ่งปล่อย องค์รา

เสด็จกลับคืนยั้บยั้ง   วัดเวิ้งสมอรายฯ [23]

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ.2367-2394)

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ โดยสอดคล้องกับพระนิพนธ์โคลงลิขิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์ข้างต้นที่ว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวร พระวชิรญาณภิกขุเสด็จเข้าไปประทับอยู่ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความตอนหนึ่งว่า

พอทรงผนวชได้ 13 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงประชวร ตั้งแต่ ณ วันเสาร์ เดือน 8 แรม 7 ค่ำ มาถึงวันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1186 ก็เสด็จสวรรคต ในเมื่อเวลาทรงพระประชวรพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม [24]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวต่อมาอีกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งต่อพระโอษฐ์ให้พระองค์ฟังว่าในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระแท่นทรงเครื่องในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออกจนพระบรมชนกนาถทรงเสด็จสวรรคต 

ได้เสด็จเข้าไปประทับในที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรนั้นทุกวัน โดยประทับที่พระแท่นทรงเครื่อง ซึ่งอยู่เคียงกันกับพระแท่นที่ทรงศีล ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันออก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงประชวรแลเสด็จสวรรคตในที่นั้น เมื่อเวลาเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรรณแสง จนประชวรลมวูบไม่รู้สึกพระองค์ตกลงมาจากพระแท่น [25]

ซึ่งขัดกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนต้นและสอดคล้องกับพระนิพนธ์ในพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ว่าในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่อย่างไรก็ดี ยังมีหลักฐานยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงอยู่ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต และพระองค์ทรงถูกข่มขู่คุกคามทางการเมืองขณะครองเพศบรรพชิตเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเข้าเฝ้าพระบรมศพพระบรมชนกนาถ จนถึงกับพระบังคลไหลเปียกสบงที่ทรงนุ่งอยู่ขณะนั้น ดังความว่า

พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลําดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทําอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทําอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน [26]

จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าในช่วงผลัดเปลี่ยนรัชกาลและก่อนหน้านั้นมา ฐานอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทั้งที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติ การทรงงานร่วมเรียงเคียงกันมาจนเกิดความสนิทสนมรักใคร่ และความสัมพันธ์บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับเหล่าชนชั้นนำกระฎุมพี มีความแข็งแกร่งและทรงอิทธิพลในราชสำนักอย่างมาก จนสร้างความเกรงกลัวแก่ฝ่ายที่สนับสนุนและรวมถึงตัวของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เองด้วย โดยผลปรากฏว่าการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งพระราชอาณาจักรสยามของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็ไร้ซึ่งการต่อต้านและท้าทายพระราชอำนาจ

 


เชิงอรรถ :

[1] สำนักราชเลขาธิการ. (2555). เรื่องพระราชานุกิจ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์. หน้า 6-7. และ พระราชานุกิจ “บันทึกเรื่องงานใน 1 วัน” ของในหลวงรัชกาลที่ 1-5. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562. จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_32081.

[2] จุฬารัตน์ ชูจิตารมย์. (2528). พระมหากษัตริย์กับการใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติในการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2325-2394. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 89. 

[3] ปฏิพัทธ์ วรโพธิพัฒน์. (2557). โครงสร้างอำนาจการปกครองแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 29.

[4] แหล่งเดิม. หน้า 40.

[5] นฤมล ธีรวัฒน์ (ผู้ชำระต้นฉบับ), นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. หน้า 67. เวลาตามปฏิทินสุริยคติเทียบจาก คล้อย ทรงบัณฑิตย์. (2507). ปฏิทิน 250 ปี พ.ศ. 2325 ถึง 2575. กรุงเทพฯ: ส.ธรรมภักดี. หน้า 73.

[6] ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ 5 เล่มที่ 3 จ.ศ. 1248. หน้า 369. อ้างถึงใน วุฒิชัย มูลศิลป์. (2557). “มหาชนนิกรสโมสรสมมุต” : พระราชประเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์. วารสารราชบัณฑิตยสถาน 39, (1) : 48.

[7] ปฏิพัทธ์ วรโพธิพัฒน์. (2557). โครงสร้างอำนาจการปกครองแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 35-36.

[8] นันทนา กปิลกาญจน์. (2539). การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ เรื่องบทบาทของวังหน้าสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2428. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 38. อ้างถึงใน แหล่งเดิม. หน้า 37.

[9] นฤมล ธีรวัฒน์ (ผู้ชำระต้นฉบับ), นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. หน้า 98-99. ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน

[10] บดินทรไพศาลโสภณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง. (2552). ความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ. หน้า 75-77. 

[11] อดิศร หมวกพิมาย. (2531). กรมท่ากับระบบเศรษฐกิจไทย: วิเคราะห์โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยธนบุรีถึงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2310-2398. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 44.

[12] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2514). ความทรงจำ. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร. หน้า 63-64.

[13] บดินทรไพศาลโสภณ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง. (2552). ความทรงจำของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ. หน้า 75-77. ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน

[14] แหล่งเดิม. หน้า 55-57.

[15] แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ม.ร.ว. (2531). ใน ศุภวัฒน์ เกษมศรี (บรรณาธิการ). พระราชประวัติ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์. มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์. (หน้า 1-21). กรุงเทพฯ: กองทัพบก. หน้า 19.

[16] ล้อม เพ็งแก้ว. (2534). พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขึ้นครองราชสมบัติอย่างไร?. ศิลปวัฒนธรรม 12, (5) : 112.

[17] วัยอาจ, ดี. เค. (2556). ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, ผู้แปล. กาญจนี ละอองศรี, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.หน้า 274.

[18] นฤมล ธีรวัฒน์ (ผู้ชำระต้นฉบับ), นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพกรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. หน้า 140. ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน

[19] แหล่งเดิม. หน้า 140-141.

[20] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2514). ตำนานวังหน้า. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 13. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. หน้า 50. อ้างถึงใน นันทนา กปิลกาญจน์. (2547). พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 121.

[21] คณะกรรมการเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2530). จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์. หน้า 14-15. อ้างถึงใน ปฏิพัทธ์ วรโพธิพัฒน์ (2557). โครงสร้างอำนาจการปกครองแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์. หน้า 38-39.

[22] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2514). ความทรงจำ. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร. หน้า 63.

[23] นราธิปประพันธ์พงศ์, พระบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2495). มหามกุฏราชคุณานุสรณ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. หน้า 48-49. อ้างถึงใน วันทนีย์ ส่งศิริ. (2525). การขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 58-59.

[24] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2499). วัดสมอรายอันมีนามว่าราชาธิวาส. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ณ เมรุท้องสนามหลวง วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. หน้า 23-24. อ้างถึงใน แหล่งเดิม. หน้า 59-60.

[25] แหล่งเดิม. หน้า 60.

[26] สาปกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล), พระยา. (2529). บันทึกความทรงจำ. 331 ปี สกุลอมาตย์ และ 73 ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์. หน้า 13. อ้างถึงใน ช่วงผลัดแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ถูก “ข่มขู่” ถึงกับ “พระบังคนไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน”. (2562). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_28534.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2564