สมัยรัชกาลที่ 9 เกิดกระแสใหม่ บันทึกประวัติศาสตร์ด้วย “ภาพถ่าย”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชปฏิสันถารกับนักเรียนโรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก จังหวัดนครพนม

ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 9 เป็นเรื่องใกล้ตัว หลายเรื่องเราพบเห็นได้จากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ต่างรายงานเป็นข่าวรายวันจนคุ้นเคย แต่หากหยุดคิดดูก็จะเห็นว่าในรัชกาลของพระองค์เป็นการเริ่มต้นของกระแสบางเรื่อง เช่น การบันทึกประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 9 ด้วย “ภาพถ่าย” อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ดังที่ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “ประวัติ ‘หนังสือประวัติการณ์ประจำรัชกาลที่ 9 ถือกำเนิดจาก ภาพถ่าย (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2560) พอสรุปได้ดังนี้


นิตยสารมากมายในเมืองไทยในช่วงก่อนและหลัง พ.ศ. 2500 ขึ้นปกพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ประกอบการเผยแพร่พระเกียรติคุณไปทั่วทั้งแผ่นดิน พระราชจริยวัตรอันสง่างามและเป็นธรรมชาติติดตาตรึงใจคนรุ่นก่อนมาจนถึงทุกวันนี้ ในจำนวนนิตยสารที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น ดรุณสาร เรวดี ศรีสัปดาห์ ชัยพฤกษ์ เดลิเมล์วันจันทร์ แม่บ้านการเรือน วิทยาสาร สยามนิกร เพลินจิตต์ พิเศษ อนุสาร อ.ส.ท. สตรีสาร และสกุลไทย เป็นต้น…

การบันทึกประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 9 ด้วย “ภาพถ่าย” กลายเป็นกระแสใหม่ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันขึ้นปกนิตยสารและเอกชนนำพระบรมฉายาลักษณ์มารวมเล่มเป็นประมวลภาพเฉพาะกิจพิมพ์แจกในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงคิดริเริ่มจัดพิมพ์เองอันเป็นประเด็นของเรื่องนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ได้กลับมาเป็น “ภาพลักษณ์” อันโดดเด่นของชาติไทยและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเห็นได้จากการออกแบบตราไปรษณียากร (แสตมป์) ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินปรากฏอยู่

รักชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 (AFP)

การออกแบบตราไปรษณียากรยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมามีลักษณะชัดเจนประการหนึ่ง คือ หันกลับมานิยมใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เป็นหลักของเนื้อหาที่แสดงความเป็นชาติ ดังจะเห็นได้จากแสตมป์ที่ออกเพื่อเป็นที่ ระลึกถึงวันทรงบรรลุนิติภาวะของในหลวงรัชกาลที่ 9 พิมพ์ออกจำหน่ายใน พ.ศ. 2490 และชุดบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พ.ศ. 2494 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน…

รัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลัง พ.ศ. 2500 ยังได้ตระหนักว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในฐานะที่มีอิทธิพลเหนือความคิดเห็นของราษฎร พระราชดำรัสของพระองค์มักจะเป็นที่รับฟังและนำไปปฏิบัติเหมือนคำปราศรัยของรัฐบุรุษและผู้พิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง

ภาพพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยที่แสวงหาความมีสิริมงคล เช่น การเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในวันสำคัญทางศาสนา การพระราชทานปริญญาบัตร การพระราชทานเจิมในงานมงคลสมรส การพระราชทานพรปีใหม่ และการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล และพระราชทานความช่วยเหลือในยามทุกข์เข็ญ ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ…

เกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นจุดรวมใจของคนในชาติ โดยเฉพาะภายหลังยุค พ.ศ. 2500 ในสมัยที่ฟิล์มสีและกล้องถ่ายรูปรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นและเกิดภาพถ่ายที่คมชัดและภาพที่ปรากฏดูมีสง่าราศรีและภูมิฐานกว่าแต่ก่อน

นับเนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ในรูปแบบนิตยสาร วารสาร และสูจิบัตร ต่างช่วยกันประชาสัมพันธ์ภาพพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจที่ล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีต่อสาธารณะ

ภาพเหล่านี้ที่มีทั้งสีและขาวดำ บันทึกโดยช่างภาพประจำราชสำนัก และช่างภาพนิรนามตีพิมพ์เผยแพร่กันทั่วไปในหนังสือกึ่งราชการและโดยเอกชน วางจำหน่ายตามแผงหนังสือและร้านหนังสือชั้นนำ และได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งที่ไม่มีเรื่องประกอบความรู้เลย แต่มีพระบรมฉายาลักษณ์อันงดงามขึ้นปกก็เป็นที่พึงพอใจสำหรับคนไทยแล้ว

บางฉบับที่จัดพิมพ์เป็นกรณีพิเศษ เช่น ในวาระวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพิมพ์ในจำนวนจำกัด ก็จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและหมดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาพบนปกที่หาดูได้ยากจากฝีมือการถ่ายภาพที่โดนใจผู้พบเห็นก็มักจะขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีพิมพ์ซ้ำอีก…

ภาพประวัติศาสตร์สำคัญประจำรัชกาลที่ 9 อีกส่วนหนึ่งบันทึกโดยช่างภาพต่างประเทศ ก็เคยมีปรากฏเช่นกันโดยสำนักพิมพ์ต่างชาติ เผยแพร่พระราชกรณียกิจนอกพื้นที่ แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกแง่มุมหนึ่ง รายงานโดยสำนักข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย หรือยูซิส (USIS) ในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2503 และ 2510…

5 กรกฎาคม พ.ศ.2503  ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์  นครนิวยอร์ก

นอกจากนิตยสารหลากหลายสำนักพิมพ์ดังที่เอ่ยชื่อไว้เมื่อตอนต้นที่นิยมขึ้นปกล้นเกล้าฯ พร้อมกับลงบทความเฉลิมพระเกียรติจำหน่ายอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ยังมีหนังสือ “ประมวลภาพ” พระฉายาลักษณ์อีกประเภทหนึ่งที่รวบรวมภาพอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถในโอกาสต่างๆ…

แต่หนังสือประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์โดยทางราชการ เพิ่งจะเกิดขึ้นในภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2511

“จุดกำเนิด” ของหนังสือชุดนี้ แม้จะเป็นของทางราชการ แต่ยังมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเริ่มต้นที่มิใช่ความตระหนักของหน่วยงานราชการโดยตรง ทว่า เป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถต่างหากที่ซาบซึ้งพระราชหฤทัยเมื่อมีผู้มีน้ำใจมาถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นเหตุให้มีพระราชดำริที่จะหาของแจกผู้มาเฝ้าฯ เป็นของกำนัลในวันสำคัญนั้นทุกๆ ปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2564