ตัวเต็ม-ตัวตัด การปฏิรูปอักษรจีน มาตรการรับมือจักรวรรดินิยมของจีน

ตัวอย่างอักษรจีนตัวเต็ม(สีแดง) ตัวตัด(สีเหลือง) จากซ้ายแถวบน แซ่หลิ่ว(เล้า) แซ่เฉิน(ตั้ง) แซ่จาง(เตีย) แถวล่าง แม่, ม้า หรือแซ่หม่า(เบ๊) และมังกร

“อักษรตัวเต็ม-อักษรตัวตัด” ในภาษาจีน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ตัวเต็ม-ตัวตัด” ใครที่เรียนภาษาจีนคงรู้จักตัวต็มตัวตัดกันดี บ้านใครที่มีผู้ใหญ่ในบ้านรุ่น 60 ปีขึ้นไปที่มีความรู้ภาษาจีนที่คุ้นเคยกับตัวเต็ม คงเคยได้ยินท่านเหล่านั้นตำหนิการใช้ “ตัวตัด” ในประเด็นต่างๆ

แต่ทำไมต้องตัด? ตัดจากตัวอักษร? กลับไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง

Advertisement

อักษรตัวตัดนั้นตัดจาก “ข่ายซู-อักษรบรรจง/อักษรมาตรฐาน” ที่เริ่มมีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมบูรณ์ในราชวงศ์วุ่ยยุคสามก๊ก แพร่หลายในยุคราชวงศ์ถัง และใช้กันมาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นอักษรที่สมบูรณ์ลงตัวทั้งรูป เสียง และความหมาย  คำพ้องเสียงก็เขียนต่างรูปกันทำให้แยกความหมายได้ชัด อ่านเป็นภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนก็แยกเสียง แยกความหมายได้ชัดเจน ดังนั้นจึงขอเรียกข่ายซูด้วยอีกชื่อว่า “อักษรตัวเต็ม” หรือ “ตัวเต็ม”

การใช้ข่ายซูในปัจจุบันมักเป็นพื้นที่นอกประเทศจีน เช่น ไต้หวัน และถิ่นจีนโพ้นทะเลเกือบทั่วโลก รวมถึงจีนโพ้นทะเลในไทย แต่เมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์, ความสนใจศึกษาภาษาจีนแพร่หลายมากขึ้น (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความร่วมระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เช่น สถาบันขงจื่อ, ทุนการศึกษาต่างๆ) และที่สำคัญคือจีนเริ่มมีบทบาทบนเวทีโลกในฐานะหนึ่งในชาติมหาอำนาจ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อักษรตัวตัดที่ใช้เป็นหลักในจีนจึงแพร่หลายในถิ่นจีนโพ้นทะเลมากขึ้น รวมถึงประเทศต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนก็ใช้ตัวตัดด้วย 2 เหตุผล คือ ง่าย และเป็นตัวอักษรที่ประเทศจีนใช้

สาเหตุที่ต้อง “ตัด” ตัวอักษร

เนื่องจากประชากรขาดความรู้ มีอัตรการรู้หนังสือต่ำมาก อักษรจีนพัฒนาจากอักษรภาพ อักษรตัวหนึ่งก็คือคำหนึ่งคำ อักษรบางตัวมีเส้นตรง, เส้นขวางกว่า 10 เส้นประกอบกันจึงยากแก่การจดจำ ซึ่งต่างกับภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ที่นำพยัญชนะกับสระมาผสมกันเป็นคำ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในยุคหลังๆ ที่ชาติตะวันตกรุกรานจีนมากขึ้น ปัญญาชนจีนจึงเริ่มปฏิรูปอักษรจีนโดยลดจำนวนเส้นและขีดที่ประกอบเป็นตัวอักษรให้น้อยลง และง่ายกับการเรียนรู้

ขบวนการปฏิรูปอักษรจีนเริ่มขึ้นในตั้งแต่ พ.ศ. 2466 เป็นต้นมา พอถึง พ.ศ. 2478 มีอักษรตัวตัดออกมารวม 2,300 กว่าตัว แต่การปฏิรูปตัวอักษรก็ต้องชะงักไปในช่วงสงครามกลางเมืองและสงครามโลก หลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว รัฐบาลสานงานปฏิรูปอักษรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2498-2529 และประกาศใช้อักษรตัวตัดอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รวม 2,235 ตัว

แล้วการ “ตัด” มีหลักการตัดอย่างไร ขอยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

แม้การใช้อักษรตัวตัดจะง่ายขึ้น เร็วขึ้น แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน ดังกล่าวไปตอนต้นว่า ข่ายซู หรืออักษรตัวเต็ม “อ่านเป็นภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนก็แยกเสียง แยกความหมายได้ชัดเจน” ขณะที่อักษรตัวตัด แม้จะใช้อ่านภาษาถิ่นได้ แต่เพราะมีจุดกำเนิดเพื่อให้การศึกษาภาษาจีนของประเทศง่ายขึ้น มันจึงอ้างอิงและยึดโยงกับภาษาราชการ หรือเสียงจีนกลางเป็นหลัก

ตัวอักษรตัวตัดหลายตัวมีปัญหาที่รูปเดียวกัน แต่ต้องอ่านต่างเสียงในคนละความหมาย ที่เห็นได้ชัดคืออักษร 面 (mian4–ใบหน้า, แป้งหมี่ หรือเส้นหมี่) ถ้าใช้ในความหมาย แป้งหมี่, เส้นหมี่ แล้วภาษาถิ่นเกือบทุกถิ่นอ่านกันคนละเสียง ถ้าออกเสียงคำนี้ตามเสียงจีนกลางในถิ่นต่างๆ คุณอาจไม่ได้กินเส้นหมี่ แต่ได้อะไรก็ต้องลุ้นระทึกเอา


ข้อมูลจาก

ถาวร สิกขโกศล. “วิวัฒนาการรูปลักษณ์อักษรจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564