ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คริสตอฟ คาร์ล แฟร์นแบร์เกอร์ (Christoph Carl Fernberger) ชาวออสเตรียคนแรกที่เดินทางมายัง “อยุธยา” และ “ปตานี” เมื่อ พ.ศ. 2167-2168 ในช่วงที่แฟร์นแบร์เกอร์พำนักอยู่ในปตานี เป็นเวลาที่อยุธยายกกองทัพเข้ารุกราน แฟร์นแบร์เกอร์จึงได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับราชีนีของอาณาจักรปตานี
แฟร์นแบร์เกอร์ ชาวตะวันตกในสงคราม “อยุธยา-ปตานี”
ในครั้งนั้น แฟร์นแบร์เกอร์ ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพของกองทหารชาวคริสต์ร่วมกับชาวปตานีสู้รบกับกองทัพอยุธยา บันทึกของแฟร์นแบร์เกอร์อาจนับได้ว่าเป็นบันทึกเพียงชิ้นเดียวที่กล่าวถึงสงคราม อยุธยา-ปตานี ซึ่งฝ่ายหลังเป็นผู้กุมชัยชนะ
แฟร์นแบร์เกอร์เป็นลูกเรือของบริษัท VOC เดินทางจากยุโรปผ่านทางทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านหมู่เกาะฟิลิปปินส์ จนถึงเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ต้า) แต่เดิมเขาเป็นเพียงพลทหารเวรยาม ก่อนจะได้รับอิสระจากบริษัท และเริ่มทำธุรกิจของตนเอง ทำการค้าขายไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย เอเชียตะวันออก อาณาจักรอยุธยา และปตานี
แฟร์นแบร์เกอร์เดินทางถึงปตานี และพำนักอยู่ที่นั่นในช่วงปลาย ค.ศ. 1623 (พ.ศ. 2166) หรือในช่วงต้น ค.ศ. 1624 (พ.ศ. 2167) ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจาก “รายาอูงู” หรือราชินีม่วง แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ขึ้นครองราชย์ นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า ช่วงแรก ๆ ที่รายาอูงูขึ้นครองราชย์ทรงเริ่มเป็นปฏิปักษ์ต่ออยุธยา ทรงปฏิเสธที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ปกครองเมืองขึ้น มิทรงยอมรับคำนำหน้าว่าพระเจ้า รวมถึงปฏิเสธส่งเครื่องบรรณาการไปยังอยุธยา
ในวันที่แฟร์นแบร์เกอร์เข้าเฝ้ารายาเป็นครั้งแรก เรื่องหนึ่งที่ตรัสถามเขาคือ ก่อนหน้านี้ที่แฟร์นแบร์เกอร์เดินทางไปอยุธยา เคยได้ยินข่าวหรือไม่ว่ากษัตริย์อยุธยามีพระราชประสงค์จะทำสงครามกับปตานี แฟร์นแบร์เกอร์ทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าตอบว่าก็ได้ยินมาบ้าง แต่ไม่ทราบว่าจะทำสงครามด้วยเหตุผล [อันใด]”
แฟร์นแบร์เกอร์เขียนไว้ในบันทึกของเขาต่อว่า “เมื่อหลายปีก่อนเกิดข้อพิพาทครั้งใหญ่ระหว่างราชอาณาจักรเบทาเนียนกับสยาม ทำให้สองราชอาณาจักรกลายเป็นศัตรูและทำสงครามรบราฆ่าฟันกัน…ตอนนี้ทั้งสองอาณาจักรกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน”
ต่อมา หลังจากที่แฟร์นแบร์เกอร์เดินทางถึงปตานีได้ราว 10 วัน ปรากฏว่าเรือดัตช์แตก ลูกเรือที่เหลือรอดขึ้นฝั่งที่ปตานีแต่ทั้งหมดถูกจับ เพราะพวกเขาเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรอยุธยา ไม่กี่วันให้หลังก็มีข่าวว่าอยุธยาส่งกองทัพรุกราน ซึ่งขณะนี้อยู่ห่างจากปตานีราว 30 ไมล์ รายาจึงเรียกประชุมขุนนางและจัดเตรียมกองทัพ ทรงส่งสารไปถึงพวกโปรตุเกสเพื่อขอกำลังสนับสนุน แต่ได้รับการปฏิเสธ เมื่อเป็นเช่นนี้แฟร์นแบร์เกอร์จึงเดินทางเข้าไปยังพระราชวัง
แฟร์นแบร์เกอร์หวังจะช่วยเหลือชาวดัตช์เป็นทุนเดิม จึงเกิดความคิดขึ้นว่าจะขอให้รายาปล่อยตัวชาวดัตช์และคืนอาวุธให้ทั้งหมด เพื่อไปสู้รบกับกองทัพอยุธยา ซึ่งตัวเขาเองรวมทั้งชาวปตานีจะเข้าร่วมสู้รบด้วย อย่างไรก็ตาม รายาตรัสว่า “ถ้าทำอย่างนั้น ชาวฮอลันดาก็จะวิ่งเข้าไปช่วยฝ่ายศัตรูทันที” แฟร์นแบร์เกอร์จึงกล่าวเอาตัวเป็นประกันหากเกิดเช่นนั้นขึ้น เขาก็พร้อมจะรับพระราชอาญา รายาจึงยอมตกลงตามแผนการของเขา
แฟร์นแบร์เกอร์ได้ไปหาชาวโปรตุเกสที่อยู่ในปตานีราว 40 คน ให้ร่วมกันสู้รบด้วย แต่ชาวโปรตุเกสเป็นแต่เพียงพวกพ่อค้า ก็เกิดความลังเลที่จะเข้าร่วมรบด้วย แฟร์นแบร์เกอร์จึงบอกพวกเขาว่า “พวกเขาควรระวังตัวให้ดีถ้าหากพวกเขาไม่อยากร่วมรบ [ในสงครามกับสยาม] การทำเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพวกเราชาวคริตส์ด้วยเช่นกัน” ชาวโปรตุเกสกล่าวขอโทษ และว่าพวกเขาไม่เคยเป็นทหารมาก่อน และไม่มีคนที่จะเป็นผู้นำบัญชาการพวกเขาได้ ที่สุดแล้วชาวโปรตุเกสยินดีเข้าร่วมสู้รบ และยกแฟร์นแบร์เกอร์ให้เป็นผู้บังคับบัญชา เพราะเขานั้นมีประสบการณ์การสู้รบในสงครามใหญ่ที่ทวีปยุโรปมาแล้ว
กองทัพชาวตะวันตกร่วมรบ
แฟร์นแบร์เกอร์เป็นผู้นำของกองทัพชาวคริสต์ ซึ่งประกอบไปด้วยชาวโปรตุเกส สเปน และดัตช์ (ฮอลันดา) จากบันทึกของแฟร์นแบร์เกอร์ สงครามในครั้งนั้นมีรายละเอียดดังนี้
“…เช้าวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2168 กองทัพชาวปตานีกว่า 3,000 คน พร้อมอาวุธครบมือ อันได้แก่หอก ลูกธนู และคันศร ได้เคลื่อนทัพโดยทหารกลุ่มหนึ่งช่วยแบกเสบียงให้พวกเราชาวคริสต์ ในขณะที่ทหารคนอื่น ๆ ต้องแบกเสบียงของตนเอง กองทัพของชาวปตานีมีแม่ทัพเป็นคนท้องถิ่นชื่อ อินลาโก ในวันเดียวกันนั้นเองพวกเราเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ ชุลา (Chula) ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 200 ครัวเรือน ที่นั่นเราได้ข่าวว่าศัตรูอยู่ห่างจากเราออกไปในระยะเดินเท้าประมาณสองวัน พวกเขาได้กวาดต้อนชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นไปหมดแล้ว
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ขณะที่พวกเราอยู่ห่างจากค่ายของศัตรูเพียงแค่สองชั่วโมง พวกเราหารือกันว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โอรังกายะ [หมายความตรงตัวว่า ‘เศรษฐี’ หรือคนร่ำรวยที่มีอำนาจอิทธิพล มักดำรงตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดินในแถบดินแดนมลายู – อ้างอิงจากเชิงอรรถของผู้แปล] ขอคำแนะนำจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้าจะยกทัพเดินหน้าต่อไปและโจมตีศัตรู ขอให้พวกเขา (ชาวปตานี) ตามข้าพเจ้ามา ทุกคนต่างเห็นด้วยกับข้าพเจ้า พร้อมกับตบไหล่และพูดกับข้าพเจ้าว่า ‘บะคันเยียเร อัตติ บิสซาร์ ซามะ อะปะ’ ซึ่งแปลว่า ‘หัวใจของพวกเจ้าช่างหาญกล้าและไม่หวาดกลัวสิ่งใด’
ช่วงสายพวกเราเดินทัพมาเจอกับกองทัพสยามซึ่งยังอยู่ในค่ายของพวกเขา ข้าพเจ้าจึงรีบเรียกกำลังทหารปืนคาบศิลา 20 นายและทหารผิวดำ [ชาวมาเลย์] 300 นายและโจมตีค่ายของทหารสยามทันที ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารยิงปืนเข้าไปในค่าย แต่ฝ่ายสยามยิงโต้ตอบ จนทำให้ข้าพเจ้าต้องล่าถอยออกมา ทหารชาวฮอลันดาหนึ่งนายและทหารผิวดำชาวมาเลย์ 20 นายเสียชีวิตทันทีในสนามรบ
ข้าพเจ้าบอกลิมลาโก [น่าจะมาจากคำว่า panglima ในภาษามาเลย์ หมายถึง แม่ทัพ หรือนายพล – อ้างอิงจากเชิงอรรถของผู้แปล] ว่าพวกเราต้องสู้ให้หนักกว่านี้ แต่เขากลับบอกว่าพวกเราควรยอมแพ้ ข้าพเจ้าสบถใส่หน้าเขาและบอกว่าถ้าเขาไม่อยากสู้ต่อ ข้าพเจ้าก็จะไปสู้กับศัตรูคนเดียวตามลำพัง และจะนำความเรื่องนี้กราบบังคมทูลพระราชินีให้ทรงทราบ เขาจึงยอมทำตามที่ข้าพเจ้าสั่ง
ข้าพเจ้าสั่งให้ทหารปืนคาบศิลาครึ่งหนึ่งยิงปืนใส่กองทัพสยามและถอยออกมา จากนั้นจึงสั่งให้ทหารปืนคาบศิลาอีกครึ่งหนึ่งยิงโจมตีอีกรอบ เพื่อสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายศัตรู จากนั้นจึงส่งกองทหารชาวมาเลย์ผิวดำพุ่งเข้าโจมตี เมื่อศัตรูเริ่มถอยหนี เราก็วิ่งไล่ตาม พวกเราสังหาร [ทหาร] ไปได้ 200 นาย และสามารถจับตัวนายทัพของฝ่ายสยามเอาไว้ได้
เขาร้องขอความเมตตาและขอเจรจาสงบศึก แม่ทัพของฝ่ายเราเรียกร้องให้มีการทำสัญญาสงบศึกไปตลอดกาล โดยเรียกร้องให้ชาวสยามย้ายออกจากราชอาณาจักรของเรา และให้ปล่อยตัวชาวเบโทเนียร์ [ปตานี] ซึ่งถูกจับตัวอยู่ที่ราชอาณาจักรของพวกเขา [กล่าวคือ กรุงศรีอยุธยา] เป็นอิสระ
เมื่อได้ยินเช่นนั้น นายทัพของฝ่ายสยามบอกว่าจะนำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินสยาม [และขอความเห็นชอบเรื่องการทำสัญญาสงบศึก] จากนั้นจึงสั่งให้เตรียมเรือบราวเอ็น [มาจากภาษามาเลย์ว่า perahu อ่านว่า เป-รา แปลว่า เรือ – อ้างอิงจากเชิงอรรถของผู้แปล] ให้พร้อม และส่งทหารหกนายไปพร้อมกับเรือลำนี้เพื่อนำความกราบบังคมทูลกษัตริย์แห่งอยุธยา
[ในขณะเดียวกัน] พวกเราก็เดินทัพไปยังหมู่บ้านชื่อ เบีย (Bia) ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดนี้สองไมล์ และพักแรมอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหกวัน หลังจากนั้น [เมื่อวันที่ 11 หรือ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2168 – อ้างอิงจากเชิงอรรถของผู้แปล] มีขุนนางระดับสูงเชื้อสายกษัตริย์เดินทางมาจากสยาม
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เราทั้งสองฝ่ายได้มาประชุมกันและตกลงว่า [ข้อที่หนึ่ง] ให้ทั้งสองฝ่ายปล่อยทหารของอีกฝ่ายที่จับตัวไว้เป็นอิสระ [ข้อที่สอง] กษัตริย์แห่งสยามจะทรงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อราชอาณาจักรปตานีอีกต่อไป และ [ข้อที่สาม] พระราชินีของเราจะจัดส่งเรือบราวเอ็นจำนวนสามลำ ซึ่งบรรทุกข้าวเต็มลำเรือไปยังสยาม เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรี
[ข้อที่สี่] ในอนาคต [ทั้งสองราชอาณาจักร] จะทำการค้าร่วมกันตลอดไป [กล่าวคือ] โดยมีการเรียกเก็บภาษีอากรและ [ข้อที่ห้า] ทหารของสยามจะพำนักอยู่ [ในปตานี] ได้ไม่เกิน [อีก] สี่วันและห้ามนำทรัพย์สินที่ยึดได้ระหว่างการรบกลับไปยังสยาม ทั้งสองราชอาณาจักรทำสัญญาสงบศึกตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ราชทูตฝ่ายสยามมอบผ้าปักดิ้นทองผืนงามให้ข้าพเจ้าหนึ่งผืนเป็นของขวัญ…”
แม้ปตานีจะได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ แต่ต่อมาอาณาจักรก็เข้าสู่ยุคเสื่อมถอย เนื่องจากปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เริ่มถดถอย รวมถึงการเข้าไปพัวพันปัญหาการเมืองในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมทั้งการเลือกข้างสนับสนุนโปรตุเกส ซึ่งทำสงครามกับดัตช์ ก่อนที่ภายหลังโปรตุเกสจะสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไปจนหมดสิ้น
แฟร์นแบร์เกอร์เดินทางมายังอยุธยา 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2167 (แล้วเดินทางไปยังปตานี เกิดสงครามอยุธยา-ปตานี) และครั้งที่สองระหว่างวันที่ 20-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2168 (หลังจากสงครามเสร็จสิ้น)
จากนั้นเขาไม่ได้กลับมาที่อยุธยาหรือปตานีอีก โดยยังคงค้าขายไปมาในภูมิภาค กระทั่งเดินทางกลับยุโรปใน พ.ศ. 2170
อ่านเพิ่มเติม :
- “ราตูฮิเจา” ราชินีแห่งปตานีพระองค์แรก รับมือการท้าทายอำนาจจากอำมาตย์อย่างไร
- กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง
อ้างอิง :
คลิสตอฟ คาร์ล แฟร์นแบร์เกอร์ : ชาวออสเตรียคนแรกในปตานีและกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2167-2168). กรุงเทพฯ : ศูนย์ยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2564