ท่านผู้หญิงละเอียด ผู้เป็นช้างเท้าหน้า กับการสถาปนาอำนาจ “หลังบ้าน” คณะราษฎร

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภาพจาก อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร 14 สิงหาคม 2527 (ม.ป.ท.,2527)

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เริ่มต้นจากแม่บ้านข้าราชการชั้นผู้น้อย ภรรยานักปฏิวัติ จนถึงภรรยาของบุคคลระดับผู้นำ และมีบทบาทเป็นบุคคลสำคัญในพื้นที่สาธารณะ มีอํานาจและตัวตน รวมถึงการทำงานเป็นตัวแทนของผู้หญิงเชื่อมความสัมพันธ์ สื่อสารกับนายกรัฐมนตรี เพื่อเคลื่อนไหวยกระดับสถานภาพของผู้หญิง

ชานันท์ ยอดหงษ์ เขียนอธิบายถึงบทบาทของท่านผู้หญิงละเอียด หลังบ้าน ผู้เป็น “ช้างเท้าหน้า” ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นสามี ไว้ในหนังสือ “หลังบ้านคณะราษฎร ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง” (สนพ.มติชน, 2564) เนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบายเรื่องบทบาทของท่านผู้หญิงละเอียดไว้ดังนี้

เมื่อท่านผู้หญิงละเอียดเข้าไปเป็นประธานองค์กรเพื่อสตรีอย่าง สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง เป็นหน่วยงานรัฐสำหรับผู้หญิงเพื่อผู้หญิงแห่งแรก และ สโมสรสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง เพื่อเป็นที่รวมตัวกันของผู้หญิงโดยเฉพาะ ให้บรรดาภรรยาข้าราชการ ได้ออกมาสร้างสาธารณประโยชน์และมีส่วนร่วมกับรัฐบาล

ทั้งสํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง และสโมสรสํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง (บ้างเรียกสโมสรวัฒนธรรมหญิง) จึงเป็นพื้นที่ประสานประโยชน์ระหว่างประชาชนหญิงกับรัฐ และสร้างเครือข่ายบริวารทางการเมืองแก่ท่านผู้หญิงละเอียด ขณะเดียวกันภรรยาข้าราชการและทหารหลายคน ถูกสามีกดขี่ข่มเหง ไม่มีอํานาจหรือปากเสียงที่จะต่อสู้กับอํานาจสามีได้ ก็มีพื้นที่เพื่อสร้างอํานาจ และเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเธอ

ที่สำคัญทั้ง 2 องค์กรไม่ได้เป็นแค่เสือกระดาษ ชานันท์ ยอดหงษ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

“สํานักฯ มีอํานาจเหนือหน่วยงานราชการอื่นๆ มีสิทธิอํานาจในการแทรกแซงหน่วยงานราชการอื่นที่มีผู้หญิงรับราชการอยู่ เพื่อคุ้มครองข้าราชการหญิงในหน่วยงานนั้นๆ เนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยงานราชการเป็นพื้นที่ที่ผู้ชายมีอํานาจนําและผูกขาดมายาวนาน สํานักฯ จึงเข้ามาพิจารณาเห็นชอบและสั่งการกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในการบรรจุตําแหน่งราชการ การเลื่อนเงินเดือน หรือการให้ออกจากหน้าที่

สํานักฯ ยังเคลื่อนไหวแก้ไข ‘พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495’ เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเข้ารับราชการฝ่ายตุลาการได้ และต่อมาเมื่อมีการชําระประมวลกฎหมายต่างๆ ซึ่งรวมทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 5 ว่าด้วยครอบครัวและมรดก สํานักฯ จึงรายงานต่อคณะรัฐมนตรีให้แต่งตั้งผู้แทนของสํานักฯ 2 คน ได้แก่ เธอเองในฐานะประธานสํานักฯ และสมาชิกสํานักอีกคนที่เป็นกรรมการด้านกฎหมาย เข้าร่วมในคณะกรรมการชําระสะสางประมวลกฎหมาย ซึ่งสํานักฯ ก็ได้เสนอบันทึก 2 ฉบับ ใน พ.ศ. 2499

เพื่อสร้างความรัดกุมทางกฎหมาย ป้องกันและลงโทษผู้ที่จดทะเบียนสมรสซ้อน คุ้มครองสินสอดทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ค่าทดแทนเลี้ยงดู เข้มงวดรัดกุมข้อบังคับการรับผิดชอบลูกนอกสมรส รวมทั้งการจัดตั้งศาลครอบครัว เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้ว ภรรยามักเลี่ยงใช้สิทธิตามกฎหมายกับสามี บางครอบครัวเป็นแม่บ้านที่พึ่งรายได้หลักจากสามี การหย่าทําให้พวกเธอยากจนลง ผู้ชายบางคนจดทะเบียนสมรสซ้อนซึ่งเป็นการแจ้งความเท็จ และเลี่ยงไม่รับผิดชอบลูกนอกสมรส”

ขณะที่สํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงเป็นหน่วยงานราชการ ที่แม้จะดำเนินการโดยผู้หญิงเกือบทั้งหมด แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย มีประยูร ภมรมนตรี เป็นกรรมการที่ปรึกษาในนาม แต่ “สโมสรสํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง” เป็นสโมสรหญิงล้วนที่อิสระจากการกํากับของรัฐที่เป็นกลุ่มผู้ชาย ตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรฯ ระบุไว้ว่าสมาชิกภาพจะต้องเป็นหญิงไทย ไม่ว่าสามีเธอจะเป็นใครก็เป็นสมาชิกได้ สโมสรฯ จึงเป็นพื้นที่ของผู้หญิงสมัยใหม่ สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อความบันเทิง หรือสาธารณะประโยชน์ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจพบปะนอกบ้านแบบชายตะวันตกชนชั้นกระฎุมพี

นอกจากสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงและสโมสรสํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงแล้ว พ.ศ. 2495 ท่านผู้หญิงละเอียด ยังชักชวนให้ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจัดตั้ง “สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงประจำจังหวัด” ขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยมีรูปแบบการดำเนินงานแบบเดียวกับสโมสรฯ ซึ่งภายหลังมีการขยายออกไปตามอำเภอต่างๆ

จอมพล ป. และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ในงานเปิด สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมศรีลานนาไทย จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพจาก อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร 14 สิงหาคม 2527 (ม.ป.ท.,2527))

สมาคมฯ ประจําจังหวัด ดึงดูดผู้หญิงและภรรยาข้าราชการพบปะเข้าสังคมด้วยตัว โดยไม่ต้องรอสามีพาออกงานอีกต่อไป ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาช่วยเหลือท้องที่ของตน สมาคมฯ ประจําจังหวัด จัดกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนเสมอ เช่น สมาคมฯ ประจำจังหวัดกระบี่แสดงละครเก็บเงินซื้อเครื่องเอกซเรย์ให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด ได้เงิน 60,290 บาท, จังหวัดปทุมธานีออกรักษาเหาให้นักเรียน, จังหวัดสุรินทร์จัดอภิปรายและปาฐกถากฎหมายครอบครัว ฯลฯ

ขณะที่ด้านหนึ่งสมาคมฯ ประจำจังหวัดเป็นสถาบันเพื่อภรรยา แต่อีกด้านก็เสริมสร้างความมั่นคงทางการงานของสามี

เพราะสมาคมฯ ประจําจังหวัดเหล่านี้ มีท่านผู้หญิงละเอียดเป็นศูนย์กลาง เสมือนหนึ่ง “พี่สาวคนโต” ที่เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดสมาคมฯ ประจําจังหวัด ทั้ง 68 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังมีการมอบเงิน สนับสนุนสมาคมฯ และข้อเสนอแนะ ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นสามี ร่วมเดินทางไปด้วย เช่นนี้บรรดาสามีของเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ประจำจังหวัด ย่อมสนับสนุนพวกเธอแน่นอน เพราะมันมีประโยชน์กับตนเองโดยอ้อมด้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2564