“โบราณคดีพิศวง” ที่ไม่น่าเชื่อ และ “ไม่ควรเจอ” ที่พระนครศรีอยุธยา

โบราณคดี โบราณวัตถุ ภาชนะดินเผา ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ นักประดาน้ำงมได้จากแม่น้ำน้อย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า เมืองลพบุรี (ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547)

จั่วหัวเรื่องดังกล่าวนี้ผมไม่ได้มีเจตนาจะเล่าเรื่องผี แต่จะเล่าเรื่องการค้นพบหลักฐาน โบราณคดี บางอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะค้นพบได้ในที่ที่ไม่ควรพบ กล่าวคือ

เมื่อต้นเดือนก่อน สหายร่วมโลกเรื่องวัฒนธรรมและโบราณคดีของผมคนหนึ่งชื่อปริญญา สัญญะเดช เป็นครูสอนวิชาช่างภาพที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และมีนิวาสสถานอยู่แถบริมแม่น้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แจ้งกับผมว่ามีนักประดาน้ำได้งมพบโครงกระดูก ขวานหิน กำไลหิน ภาชนะดินเผา เบ็ดหิน หินดุ (วัตถุใช้ในขั้นตอนขึ้นรูปภาชนะดินเผาก่อนเผา) ฯลฯ ที่ก้นแม่น้ำน้อย ช่วงที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา

ฟังแล้วก็รู้ทันทีว่าเป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุเก่าแก่นานนับพันปี ครั้งยุคหิน ยุคสัมฤทธิ์โน่น ซึ่งจัดเป็นเรื่องน่าพิศวงยิ่ง เพราะพื้นที่แถบนั้นเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ซึ่งนักวิชาการด้านธรณีวิทยาได้ระบุว่าพื้นที่แบบนี้เดิมเป็นทะเล และเพิ่งตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดินเมื่อไม่กี่พันปีก่อน

ฉะนั้นโอกาสจะค้นพบหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุนานนับพันๆ ปี ในเขตที่ราบลุ่มตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้จังหวัดลพบุรีลงไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการนั้น จึงเป็นไปไม่ได้

ผมรีบถ่ายทอดความทรงจำเก่าๆ ที่ครูสอนมาเล่าให้อาจารย์ปริญญาฟัง เพื่อยืนยันว่าผมไม่เชื่อ แต่อาจารย์ปริญญายังยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ได้ฟังใครเล่ามา ด้วยได้เห็นหลักฐานที่นักโบราณคดีใต้น้ำสมัครเล่นทั้งหลายงมขึ้นมากับตาตนเองจากสถานที่แห่งนั้น

เมื่ออาจารย์ปริญญายืนยันมาถึงขั้นนั้น ก็คงต้องไปพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริง

ภาชนะดินเผา ยุคก่อนประวัติศาสตร์
(ซ้าย) ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ นักประดาน้ำงมได้จากแม่น้ำน้อย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า เมืองลพบุรี (ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547)
(ขวา) ขวานหินขัดยุคก่อนประวัติศาสตร์ นักประดาน้ำงมได้จากแม่น้ำน้อย อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า เมืองลพบุรี (ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547)

ไปกันที่บ้านนักโบราณคดีใต้น้ำสมัครเล่นในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ผู้งมได้หลักฐานดังกล่าวก่อน ตามใต้ถุนบ้านหรือบนบ้านของพวกเขาจะพบเห็นโบราณวัตถุแบบที่อาจารย์ปริญญาเล่าเกลื่อนเต็มไปหมด ได้เห็นภาชนะดินเผาบางชิ้นที่มีลวดลายตกแต่งผิวภาชนะขูดขีดคดโค้งแบบที่นิยมกันในยุคก่อนประวัติศาสตร์แถบลพบุรี นครสวรรค์ เป็นจำนวนมาก พบขวานหินขัด ขวานสัมฤทธิ์ ชิ้นส่วนกำไลทำจากงาช้าง เบ็ดตกปลาขนาดใหญ่ทำด้วยหินและสัมฤทธิ์ เห็นแล้วเถียงไม่ได้เลยว่าไม่ใช่หลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์จริง

แต่ในใจก็ให้คอยนึกว่า หรือหลักฐานเหล่านี้พวกนักโบราณคดีใต้น้ำสมัครเล่นซื้อมาจากแหล่งขายสมบัติแผ่นดินที่สวนจตุจักร หรือพรรคพวกนักล่าสมบัติด้วยกันหามาให้ จากนั้นจึงนำไปทิ้งน้ำ แล้วแกล้งบอกเล่าปล่อยข่าวว่าเป็นหลักฐานพบจากใต้น้ำ

แต่เมื่อพิจารณาดูลักษณะผิวของภาชนะ พบว่ามีร่องรอยของการจมน้ำเป็นเวลานานจริง บางชิ้นมีหินปูนเกาะติดหนาด้วยซ้ำ ในใจเริ่มเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จากนั้นได้ไปยังจุดที่นักโบราณคดีใต้น้ำสมัครเล่นงมพบหลักฐานเหล่านี้ได้ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเสนา ติดต่อกับอำเภอบางไทร ไม่พบหลักฐานอะไรนอกจากเศษภาชนะเคลือบจีนสมัยราชวงศ์หยวน และเศษภาชนะเคลือบสมัยสุโขทัย ล้วนแต่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ทิ้งอยู่ตามพงหญ้าริมตลิ่งแม่น้ำน้อย ของเหล่านี้เดิมอยู่ใต้น้ำและถูกงมขึ้นมาแต่ถูกคัดทิ้ง

อาจารย์ปริญญายืนยันว่า วันที่พวกเขางมพบหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้นั้น ตนเองเห็นกับตา ณ สถานที่แห่งนั้น และเห็นพวกเขางมได้มากมายเป็นลำๆ เรือ

เมื่อผมได้เห็นสถานที่จริงก็ยังไม่อยากสรุปอยู่ดีว่าเป็นเรื่องจริง หากแต่มีใจเอนเอียงไปนิดๆ ว่าอาจจะเป็นเรือของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่เลียบแล่นไปตามชายฝั่งทะเลในอดีต และเรือได้อับปางลง ณ ที่นี้ จึงได้พบหลักฐานมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังไม่ปลงใจเชื่อเต็มร้อยว่าหลักฐานที่พบดังกล่าวนั้นเป็นของที่อยู่ที่นั่นมาแต่ดั้งเดิม โดยไม่มีใครสักคนเล่นตลกนำไปทิ้ง และแกล้งว่าพบได้ในภายหลัง

เรื่องทั้งหมดนี้ผมจะไม่สรุปว่าอะไรเป็นอะไร เพราะไม่ใช่คนรู้จริง แต่อยากจะบอกฝากให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร หรือคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทราบและช่วยพิสูจน์ต่อไปเพื่องานวิชาการที่ลุ่มลึกมากขึ้น

ผลพวงของข่าวคราวการพบหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งการได้ไปดูสถานที่จริง ทำให้ผมได้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า

ประการแรก

ลำน้ำใหญ่น้อยของเมืองหลวงเก่าของเรา มีโอกาสพบหลักฐานอันทรงคุณค่าในการใช้เป็นข้อมูลศึกษาประวัติศาสตร์อาณาจักรอยุธยาอีกมาก และมีมากจนกระทั่งมีอาชีพนักโบราณคดีใต้น้ำสมัครเล่น งมโบราณวัตถุใต้น้ำขายกันเป็นอาชีพมานมนานกาเล

หากได้ฟังพวกเขาเล่าสิ่งที่พวกเขาพบก็จะรู้ได้ว่าหลักฐานดีๆ จำนวนมากที่พบนั้นเป็นหลักฐานสำคัญชี้ชวนให้เห็นว่า พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองศูนย์กลางการค้านานาชาติที่สำคัญยิ่งในอดีต เช่น พบเครื่องถ้วยชาติต่างๆ พบซากเรือจม พบปืนใหญ่ เป็นต้น หลักฐานเหล่านี้เมื่อพวกเขางมได้จะถูกขายไปกับนักสะสมต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และไม่มีส่วนราชการใดๆ หยุดยั้งหรือสนใจสิ่งที่พวกเขาพบหาได้มา

ฉะนั้นหลักฐานที่พวกเขาพบ จึงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสาระประวัติศาสตร์อาณาจักรอยุธยาให้จับต้องดูสมจริงสมจังได้มากยิ่งขึ้น ในทางตรงข้ามหลักฐานดังกล่าวกลับเป็นแค่เพียงของตกแต่งบ้านของพวกนักสะสมเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะหลักฐานนั้นคือทรัพย์ของแผ่นดิน ตามกฎหมายแล้วไม่มีใครมีสิทธิ์ครอบครองได้ เรื่องนี้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรต้องพิจารณา

ประการที่สอง

ผมเริ่มมองเห็นว่า โครงการหรืองานที่เพิ่มพูนความรู้อย่างลุ่มลึกของวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเรานั้น ดูจะน้อยๆ ลงกว่ายุคก่อนหน้า การขุดค้นเพื่อความรู้ใหม่ๆ ทางโบราณคดีแทบไม่ค่อยได้ยิน ที่คุ้นเคยหูสำหรับการทำงานทำนองนี้คือ การบูรณะโบราณสถานเพื่อการท่องเที่ยว

เมื่อนโยบายเทใจไปยังเรื่องดังกล่าว เราจึงพบว่าแหล่งโบราณคดีที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วประเทศนั้นจึงถูกลักลอบขุดค้น ไถเกรดทิ้งไป หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งหมายถึงว่าเราคงมีโอกาสน้อยลงที่จะเพิ่มเติมเต็มความรู้ใหม่ๆ ให้กับเรื่องราวในอดีตของประเทศเรา ซึ่งว่าไปแล้วเรื่องราวที่รู้กันนั้นมีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ได้ศึกษากัน เรื่องนี้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องน่าจะแก้ไข

ประการที่สาม

หากหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบ ไม่ใช่ของจริงแต่เป็นการจัดฉาก ก็ย่อมแสดงว่าธุรกิจพัวพันกับการค้าโบราณวัตถุเป็นเรื่องซับซ้อนมาก มักมีการปรุงแต่งสร้างเรื่องได้แนบเนียนอย่างไม่น่าเชื่อ ฉะนั้นผู้ใดที่มีเงินเหลือเฟือคิดจะสะสมโบราณวัตถุ โดยเฉพาะประเภททรัพย์แผ่นดินคงต้องระวัง เพราะนอกจากเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้ว ในที่สุดท่านต้องจ่ายเงินไปจำนวนมาก แต่ที่ได้กลับมาคือของปลอมมูลค่าเพียงหลักสิบหลักร้อยบาทเท่านั้น

ว่ากันว่าเรื่องหลอกลวงและวัฒนธรรมแบบศรีธนญชัย เป็นเรื่องที่คนไทยจำพวกหนึ่งถนัดนัก จอมเซียนทั้งหลายโดนกันมามากแล้ว จึงขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงซื้อหาโบราณวัตถุประเภททรัพย์ของแผ่นดินนำมาสะสมเป็นของส่วนตัว เพราะจะมีส่วนได้ช่วยกันเก็บรักษาแหล่งโบราณคดีไม่ให้มีการขุดทำลายนำโบราณวัตถุมาขาย อีกทั้งท่านอาจจะไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับอีกด้วย

วันนี้ผมขอทำหน้าที่เสมือนเป็นโฆษกกรมศิลปากรสักวัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2560