“ธนาคารบีจีแซด” ที่โปแลนด์ อนุสาวรีย์ที่ห้ามเคลื่อนย้าย ไม่ว่าเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร

ธนาคารบีจีแซด บีเอ็นพี พารีบาส์ เมืองวรอสลอฟ ประเทศโปแลนด์ (ภาพถ่ายโดย จูเลีย มูแล จากหนังสือ ACCIDENTALLY WES ANDERSON)

เมื่อกล่าวถึงอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่เป็นอาคาร หลายท่านคงนึกถึง อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ-อาคารที่รอดพ้นจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางการทิ้งระเบิดปรมาณูมากที่สุดในบรรดาอาคารที่ยังตั้งทนต่อแรงระเบิด

ขณะที่ในยุโรปก็มีอาคารของ “ธนาคารบีจีแซด บีเอ็นพี พารีบาส์ ที่เมืองวรอสลอฟ ประเทศโปแลนด์” คืออีกหนึ่งพยานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่มีการประกาศให้เป็น “อนุสาวรีย์ที่ห้ามเคลื่อนย้าย”

เรื่องราวธนาคารบีจีแซด บีเอ็นพี พารีบาส์  และ เมืองวรอสลอฟ วอลลี โควัล-เขียน, ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ-แปล อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ACCIDENTALLY WES ANDERSON (สนพ.broccoli, 2564) ไว้ดังนี้


ในช่วงพันปีที่ผ่านมา เมืองวรอสลอฟอยู่ตรงทางแยกของประวัติศาสตร์ภูมิภาคยุโรปกลางมาโดยตลอด มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของโบฮีเมีย โปแลนด์ ออสโตรฮังการี ปรัสเซีย และเยอรมนี ปัจจุบันนี้กลับมาเป็น ส่วนหนึ่งของโปแลนด์อีกครั้ง

ตลอด 200 ปีก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองนี้เคยเป็นที่รู้จักในนามเบรสเลา แต่เมื่อสงครามปะทุ มันกลายมาเป็นเมืองหลวงของแคว้นซิเลเซียตอนล่าง และสุดท้ายก็กลายเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของนาซีและเป็นเมืองใหญ่แห่งสุดท้ายที่ยอมจํานน ต่อโซเวียต

ปลายฤดูร้อนปี 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรปรับพรมแดนใหม่และคืนเมืองแห่งนี้ให้โปแลนด์ ผู้อาศัยชาวเยอรมันของเมืองเบรสเลาถูกขับไล่เพื่อเปิดทาง ให้การหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ ซึ่งจะอยู่อาศัยในเมืองวรอสลอฟที่ “ใหม่” แต่ “เก่า”

แม้ 70 เปอร์เซ็นต์ของสาธารณูปโภคพื้นฐานจะเสียหายจากสงคราม แต่ผู้อาศัยชุดแรกๆ ในวรอสลอฟยุคใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตากําจัดร่องรอยการอยู่อาศัยของชาวเยอรมันที่หลงเหลือออกไป อาคารหลายแห่งถูกทําลาย ถนนหลายสายเปลี่ยนชื่อใหม่ และบรรดาเศษซากจากอดีตถูกปล่อยให้พังทลาย เมื่อซากปรักหักพังถูกขนย้ายออกไป

แต่ยังมีบางสิ่งทรงค่าและสีสันสวยงามได้รับการยกเว้น

อาคารที่ตั้งของธนาคารบีจีแซดในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในปี 1827 และสร้างใหม่อีกครั้งช่วงก่อนสิ้นศตวรรษที่ 19 ในรูปแบบสมัยใหม่เช่นที่เห็น แม้แต่ผู้บุกเบิกใจแข็งแห่งวรอสลอฟที่มุ่งกําจัดความเป็นเบรสเลาจนเกลี้ยงและเปลี่ยนโฉมเมืองแห่งใหม่ของพวกเขา ยังเคารพความเป็นมรดกตกทอดและคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ของอาคารเคร่งขรึมและสง่างามหลังนี้

หลังสงคราม ระเบียงถูกบูรณะใหม่และกรรมสิทธิ์ของอาคารถูกเปลี่ยนมือ แต่โครงสร้างหลักรอดพ้นจากการเกิดใหม่แสนโกลาหลของวรอสลอฟมาได้

เมื่อม่านเหล็กล่มสลายในปี 1989 ผู้นําของเมืองและชุมชนแห่งนี้ก็เปิดรับมรดกความหลากหลายของเมืองวรอสลอฟมากขึ้น สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้อย่าง ดีคือการที่ธนาคารแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็น “อนุสาวรีย์ที่ห้ามเคลื่อนย้าย” ไม่ว่าชื่อเมืองจะเปลี่ยนไปเช่นไร

แม้อาคารหลังนี้จะเป็นพยานความโหดร้ายของนาซี การกดขี่จากโซเวียต การปล่อยปละละเลยของคอมมิวนิสต์ และความย่อยยับจากสงคราม แต่ความอยู่รอดของมันผ่านช่วงเวลาแสนโหดร้ายในประวัติศาสตร์นั้นช่างน่าประทับใจ

การดํารงอยู่ของเมืองแห่งนี้ เป็นสิ่งยืนยันความสามารถในการชื่นชมความงดงาม ที่พวกเรามีร่วมกัน นั่นคือการรับรู้ที่ไร้ประเทศ ไร้พรมแดน ไร้ขีดจํากัด การที่มันไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด ทําให้มันเป็นของพวกเราทุกคน

(หนังสือ Accidentally Wes Andeson รวบรวมภาพสถานที่สุดมหัศจรรย์จากทั่วทุกมุมโลก พร้อมให้ทั้งแฟนและ non-fan ได้ดื่มด่ำกับสุนทรียะแบบเวสๆ ของ เวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับ นักเขียนบท นักแสดง และโปรดิวเซอร์ ทั้งหนังยาว หนังสั้น และหนังโฆษณา ชาวอเมริกันผู้โด่งดัง

ภาพสถานที่ในหนังสือมองแล้วแทบออกมาจากฉากในหนังของเวส แอนเดอร์สัน แต่สถานที่เหล่านี้ล้วนพบเจอได้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเส้นสายรายละเอียดหมดจดสะอาดตา ความสมมาตรเป๊ะปัง และโทนสีพาสเทลอันเป็นซิกเนเจอร์

สถานที่เหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านภาพถ่ายล้ำๆ จากสถานที่จริงโดยฝีมือของ contributor จากทั่วโลก พร้อมเรื่องราวสนุกๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง คลิกชมคลิปข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเพิ่มเติมได้จากที่นี่)


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2564