มรดกโลกทางวัฒนธรรม

เกณฑ์สำคัญที่สุดในการพิจารณาว่าอะไรเป็น “มรดกโลก” ของคณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโกก็คือ สิ่งนั้นต้องมีคุณค่าในทางสากล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นมรดกทางธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรม

ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่าทำให้เมื่อ “จารึกพ่อขุนรามคำแหง” ถูกคัดเลือกให้เป็นมรดกโลก ปัญหาว่า “ปลอม” หรือ “จริง” จึงเข้ามาเกี่ยว

จารึกหลักนี้อ้างว่า แต่ก่อนนี้ไม่มี “ลายสือไทยนี้” (แปลว่าไม่มีลายสือไว้เขียนภาษาไทยเลยก็ได้ หรือแปลว่าไม่มีลายสือแบบนี้ที่ท่านคิดขึ้นก็ได้) พ่อขุนรามคำแหงจึงคิดและสร้างลายสือไทยไว้

ถ้าจารึกหลักนี้เก็บเอาอักษรไทยและอักขรวิธีไทยระบบแรกเอาไว้อย่างจารึกอ้าง (ไม่ว่าตัวจารึกจะสร้างขึ้นในรัชสมัยรามคำแหงหรือหลังจากนั้นก็ตาม) อย่างน้อยตัวอักษรนั้นก็ถูกใช้แพร่หลายในสยาม ไปจนถึงลาว และไทดำ (ตามการสันนิษฐานของนักปราชญ์บางท่านที่ว่าตัวอักษรไทดำสัมพันธ์สืบเนื่องกับตัวอักษรสุโขทัย)

เกิดระบบตัวอักษรที่มีลักษณะ “สากล” อย่างไรไม่ต้องสงสัย ถึงไม่เกี่ยวกับฝรั่งแต่ก็ต้องนับว่ากว้างขวางในหมู่คนที่ใช้ภาษาไทยพอสมควร

ฉะนั้น ถ้าจารึกถูกปลอมขึ้นในสมัยหลัง ก็ทำให้น่าสงสัยในส่วนที่พึงเรียกว่าคุณค่า และทำให้น่าสงสัยในส่วนที่อาจเรียกได้ว่าในทางสากล

ผมไม่สามารถตัดสินได้หรอกครับว่าปลอมหรือจริง และก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้ (แต่ขยะแขยงต่อความอันธพาลของนักวิชาการบางคนที่เชื่อว่าจริง เช่น พยายามดึงประเด็นให้กลายเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยท่าที “มึงไม่เชื่อกู มึงเข้าคุก” เราจะยังเหลือการถกเถียงทางวิชาการอยู่ในสังคมนี้หรือ)

ผมสงสัยความเป็นมรดกโลกของจารึกในแง่เนื้อหาว่ามีคุณค่าในทางสากลจริงหรือ

และยิ่งถ้าดูว่าเนื้อหาดังกล่าวถูกใช้ประโยชน์ในทางการเมืองอย่างไรแล้ว ก็ยิ่งสงสัยหนักขึ้นว่านั่นคือสิ่งที่คณะกรรมการยูเนสโกเห็นว่าเป็นคุณค่ากระนั้นหรือ เลยพลอยสงสัยคุณค่าของกรรมการเหล่านั้นไปด้วย

เมื่อกลับไปดูเนื้อหาของจารึกหลักนี้ ก็จะพบว่ามีลักษณะพิเศษหนึ่งเดียวเฉพาะ (unigeness) มากมายจนทำให้ตัวของมันเองไม่เป็นมรดกแก่ใครเลย รวมทั้งคนสุโขทัยและคนอยุธยาด้วย

ภาพของความใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนอย่างที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑ นี้ ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่นอีกเลย ซ้ำยังมีร่องรอยของความห่างเหินมากขึ้นอย่างชัดเจนด้วย เช่น พัฒนาราชาศัพท์จนซับซ้อนมากขึ้น และแน่นอนว่าไม่ใช่แบบแผนที่อยุธยารับเอาไปด้วย โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับกฎมณเทียรบาลของอยุธยา ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายกย่องพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชาเต็มที่

พระภิกษุขึ้นนั่งบนขดานหินอันเป็น “ราชบัลลังก์” ยิ่งแล้วใหญ่ เทียบเคียงกับอะไรไม่ได้สักอย่าง ธรรมาสน์และราชบัลลังก์นั้นถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด (แม้นักประวัติศาสตร์ศิลปะอาจตีความธรรมาสน์ว่าจำลองความเป็นเขาพระสุเมรุเหมือนกันก็ตาม) เพราะราชบัลลังก์นั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะให้ใครคนอื่นไปนั่งได้ ในปลายอยุธยา กรมขุนอนุรักษ์มนตรีขึ้นไปนั่งขัดดาบอยู่บนราชบัลลังก์เท่านั้น พระเจ้าอุทุมพรซึ่งเป็นพระอนุชาเสด็จหนีออกไปลาผนวชเลย

ความสมดุลระหว่างพระราชอำนาจและพระสงฆ์ในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ ไม่ปรากฏอีกเลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ พระราชูปถัมภ์กลับมีความสำคัญต่อคณะต่างๆ ของสงฆ์มากขึ้น

พระเจ้าแผ่นดินลงมาไต่สวนเนื้อความคดีต่างๆ ด้วยพระองค์เองกับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ไม่เคยปรากฏที่ไหนในราชอาณาจักรต่างๆ ของสยามอีกเลย

เนื้อความโดยทั่วไปของจารึกหลักที่ ๑ ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะของตัวเอง ซึ่งหาจารึกภาษาไทย (ที่จริงรวมภาษาอื่นๆ เช่น มอญ, เขมร, ชวา, มลายู, สันสกฤต, บาลี ฯลฯ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย) เทียบเคียงไม่ได้ด้วย ถ้าจะหาอะไรมาเทียบให้ได้ ก็ต้องบอกว่าคล้ายกับคำประณามพจน์ของวรรณกรรมราชสำนักในต้นรัตนโกสินทร์ (ซึ่งแตกต่างจากคำประณามพจน์โดยทั่วไปในวรรณกรรมอยุธยา)

แม้แต่ชื่อรามคำแหงหรือที่จารึกและหลักฐานอื่นอาจเรียกว่ารามราชก็หมดบารมีสำหรับอ้างถึงอีกนับตั้งแต่ประมาณสิ้นสมัยต้นอยุธยาลงไป

ผมไม่ต้องการจะบอกว่าจารึกหลักที่ ๑ เขียนขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน หรือเขียนขึ้นในสมัยสุโขทัย-ต้นอยุธยาอย่างแน่นอน ผมอยากจะชี้เพียงว่า เนื้อความในจารึกหลักนี้เขียนขึ้นในยุคสมัยและด้วยบุคคลที่คิด, เชื่อ และมองโลกแตกต่างจากคนไทยในสมัยสุโขทัยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ถ้าเขาเป็นคนในต้นรัตนโกสินทร์ เขาก็เพียงแต่เสกสรรสภาวะที่ไม่มีจริงในกรุงสุโขทัยขึ้นเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่าง

ถ้าเขาเป็นคนสุโขทัย สิ่งที่เขาทิ้งไว้ก็ไม่ถูกนับเป็นมรดกของใครสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๔

จึงนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่แปลกๆ สักหน่อย เพราะไร้คุณค่าและความหมายแก่ลูกหลานตลอดมา จนเพิ่งถูกยัดเยียดให้เป็นมรดกเพียงร้อยปีเศษมานี้เอง

และเนื้อหาที่ถูกยัดเยียดเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานตรงนี้แหละครับ ที่ผมสงสัยอย่างมากว่า คณะกรรมการของยูเนสโกมองเห็นว่ามีคุณค่าในทางสากลได้อย่างไร

เนื้อความของจารึกหลักที่หนึ่งถูกใช้เป็นอุดมการณ์สำหรับลัทธิการปกครองที่เป็นอริกับประชาธิปไตยสองอย่าง หนึ่งคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๕ และสองคือระบอบเผด็จการทหารซึ่งครอบงำสังคมไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาจน พ.ศ. ๒๕๑๖

ส่วนหนึ่งของแนวคิดเกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนั้นลอกเลียนมาจากระบอบเดียวกันของยุโรป นั่นก็คือแนวคิดผู้เผด็จการที่ทรงการุณยธรรม (benevolent despotism) แนวคิดทำนองเดียวกันนี้จะดึงเอามาจากระบอบราชาธิราชของไทยในอดีตได้หรือไม่?

คำตอบก็คือได้ เพราะก็มีการพูดถึงพระเมตตาการุณยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎรเหมือนกัน รวมทั้งคติธรรมราชาด้วย

แต่แนวคิดของไทยและฝรั่งต่างกันนิดหน่อย ไทยเน้นความเมตตากรุณาด้วยการรักษาธรรมและขนบประเพณีอันดี จึงเป็นระบอบปกครองที่มีลักษณะสถิต หมายความว่ารักษาอุดมคติอันสูงส่งให้ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง

ในขณะที่ benevolent despotism ของฝรั่งนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่กษัตริย์ฝรั่งแย่งอำนาจจากพระและขุนนางท้องถิ่นไว้ได้แล้ว และมุ่งจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อเสริมพระราชอำนาจให้แข็งแกร่งโดยอ้างความอยู่ดีมีสุขของราษฎร (หรือของรัฐ) เป็นความชอบธรรมของพระราชอำนาจ

เมตตาการุณยภาพของผู้ปกครองเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนี่แหละครับ ที่ค้นหาอะไรในวัฒนธรรมการเมืองของไทยมาสนับสนุนได้ยาก ยกเว้นก็แต่จารึกหลักที่ ๑ นี้เอง

ที่จารึกประกาศว่าไม่เก็บจังกอบก็ตาม ใครใคร่จักค้าช้าง, ค้าม้า, ค้าเงิน, ค้าทอง ก็ค้าได้ตามสะดวกก็ตาม หรืออนุญาตให้ไพร่และมูลนายทั้งหลายสามารถทิ้งมรดกทั้งหมดให้แก่ลูกหลานโดยรัฐไม่มาเอาส่วนแบ่งก็ตาม ไม่ใช่การประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนตามที่มีบางท่านกล่าวอ้าง ถ้าดูจากเอกสารสมัยหลังจากนั้น จะเห็นได้ว่านี่เป็นแบบปฏิบัติที่ไม่ปกติ แต่ผู้ทำจารึกต้องการประกาศว่าเจ้าเมืองสุโขทัยพระราชทานข้อได้เปรียบเหล่านี้ เพื่อหวังประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองบางอย่าง

(สิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่การ “พระราชทาน” อย่างแน่นอน แต่หลักการต้องยอมรับว่าสิทธิเหล่านั้นมีติดตัวมนุษย์มาเพราะเขาเป็นมนุษย์)

ฉะนั้น จารึกหลักที่ ๑ จึงเป็นเอกสารแสดงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองโดยผู้ปกครอง จนเกิดความอยู่ดีมีสุขของประชากรสุโขทัยดังที่กล่าวในตอนท้ายของจารึก

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนั้นอ้างความชอบธรรมเดียวกันนี้ คือเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา (นับตั้งแต่ดึงอำนาจเข้าศูนย์กลาง ไปจนถึงเดินรถรางและสร้างโรงพยาบาล) ก็เพราะมีความเมตตากรุณาอย่างสูงต่อไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร

ระบอบปกครองของพ่อขุนรามคำแหงในจารึกถูกนักปราชญ์สมัยนั้นตีความว่าจำลองมาจากพ่อปกครองลูก คือมีแต่ความรักความหวังดีต่อผู้ใต้ปกครองอย่างเต็มเปี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครองอย่างเต็มเปี่ยมด้วยเช่นกัน มีการสร้างคำศัพท์ขึ้นเรียกระบอบอย่างนี้ว่า Patemal (istic) Democracy

ผมไม่ทราบว่าคำสองคำที่ขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามเช่นนี้เข้ามาขยายกันและกันได้อย่างไร แต่นี่คืออุดมการณ์แห่งความชอบธรรมที่จะเผด็จอำนาจไว้เด็ดขาดแต่ผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว ทั้งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเผด็จการทหาร ซึ่งขยายความขึ้นไปอีกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย

ยิ่งเมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกท้าทายมากขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เนื้อความที่ถูกตีความในแนวนี้ยิ่งถูกนำมาใช้เพื่อผดุงการเผด็จอำนาจของกลุ่มเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้น พระแท่นมนังคศิลาบาตรซึ่งมีการกล่าวถึงอยู่แห่งเดียวในจารึกหลักนี้ถูกนำมาผนวกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งแต่เดิมคือพิธีกรรมอภิเษกองค์อวตารของพระเจ้า เป็นต้น และส่วนใหญ่ของการตีความระบอบการเมืองของสุโขทัยซึ่งท่องจำกันต่อมาจนถึงบัดนี้ ล้วนเขียนขึ้นในรัชสมัยนี้เป็นต้นมาทั้งนั้น

ระบอบเผด็จการทหารก็อาศัย “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” นี้แหละในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดหลักการประชาธิปไตยของประเทศสืบเนื่องกันมากว่าสองทศวรรษ “พ่อขุนอุปถัมภ์” คือภาพจำลองของพ่อขุนรามคำแหงตามที่นักปราชญ์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ตีความจากเนื้อหาของจารึกเหล่านี้

พ่อซึ่งรักลูกไม่เท่ากันจะบำบัดเยียวยาความเจ็บท้องข้องใจของไพร่บ้านพลเมืองอย่างยุติธรรมละหรือ ลูกซึ่งไม่เป็นที่รักของพ่อจะบำบัดเยียวยาความทุกข์ของตนเองได้อย่างไร ในเมื่อพ่อเผด็จอำนาจไว้เด็ดขาดแล้วแจกจ่ายทรัพยากรไปในหมู่พรรคพวกบริวารซึ่งเป็นลูกรักของตัวเองเท่านั้น

เรื่องราวของความยากแค้นลำเค็ญของประชาชนไทยภายใต้ระบอบปกครองที่เผด็จอำนาจไว้กับคนกลุ่มเล็กๆ เช่นนี้ แม้ยังไม่มีใครเขียนขึ้นมาเป็นประวัติศาสตร์ แต่ก็มีหลักฐานบอกให้รู้ไว้มากมายเหลือคณนา

ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า เนื้อหาของจารึกหลักที่ ๑ มีคุณค่าในทางสากลได้อย่างไร ยกเว้นแต่ว่ายูเนสโกส่งเสริมระบอบปกครองที่อำนาจถูกเผด็จไว้ในมือคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบเผด็จการทหาร

ผมสงสัยการยกย่องสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมใดๆ ให้มีฐานะเป็นระดับโลกเสมอ เพราะวัฒนธรรมใดๆ มีนัยะความหมายเฉพาะสำหรับสังคมและยุคสมัยหนึ่งๆ เสมอ กรรมการระดับโลกชุดไหนก็ตามย่อมจะ “ตาเถื่อน” กับนัยะความหมายเฉพาะเช่นนี้ และการตัดสินจึงกลายเป็นแค่การประกวดเรียงความคำร้องของประเทศสมาชิกเท่านั้น เพราะกรรมการมีตาที่จะพิจารณาอยู่ได้เพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงไม่เคยภาคภูมิใจที่อะไรของวัฒนธรรมไทยถูกยกเป็นระดับโลก และไม่เข้าใจด้วยว่าเราจะกระเย้อกระแหย่งไปหาสิ่งที่ไม่เป็นเกียรติยศเหล่านี้ทำไม

สุนทรภู่นั้นเป็นกวีเอกของไทยคนหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ ตราบเท่าที่ยังมีคนอ่านภาษาไทยอยู่ในโลกนี้ สุนทรภู่ย่อมต้องเป็นกวีเอกอยู่ตราบนั้น

การยกย่องท่านขึ้นเป็นกวีเอกของโลกโดยกรรมการที่อ่านภาษาไทยไม่ออกจะเป็นเกียรติยศได้อย่างไร


(พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๒๐๔ วันที่ ๑๒-๑๘ กันยายน ๒๕๔๖)