เจ้าภาษีนายอากร ระบบผูกขาด ทำท้องพระคลัง ร. 5 ป่วน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษร (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเบอร์นี ระหว่างไทย-อังกฤษ ในปี 2369 ด้วยสนธิสัญญาดังกล่าว ทําให้รัฐไทยสูญเสียรายได้จากการผูกขาดและยกเลิกระบบการค้าโดยพระคลังสินค้า รัฐไทยในเวลานั้นก็คือ การนำวิธีการเก็บภาษีอากรโดยให้เอกชนเป็นผู้ประมูล การดําเนินการผูกขาด ที่มีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ที่เรียกว่า “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” มาใช้ 

โดยรัฐกำหนดให้เจ้าภาษีนายอากรมีหน้าที่ รวบรวมภาษีมาส่งมอบให้รัฐ แต่ไม่นับเป็นข้าราชการของรัฐโดยตรง อย่างไรก็ตามบุคคลเหล่านี้จะมีอํานาจทางการเมืองและอภิสิทธิ์เหนือราษฎรทั่วไป มีอํานาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับภาษีอากรด้วย ยิ่งเป็นเจ้าภาษีนายอากรในหัวเมืองแล้ว อํานาจและอิทธิพลเหมือนเจ้าเมืองย่อยๆ ทีเดียว

ระบบเจ้าภาษีนายอากรยังอาศัยโครงสร้างในระบบศักดินาเดิมในการแสวงหาผลประโยชน์ ระบบนี้สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนําของไทย ด้วยปรากฏว่า เบื้องหลังของเจ้าภาษีนายอากรก็คือ ขุนนางราชสำนัก หรือเจ้านายบางพระองค์ ที่จะให้การคุ้มครองเพื่อให้พ้นจากการลงโทษทางกฎหมาย หากเจ้าภาษีนายอากรที่อยู่ในการคุ้มครองของตนกระทําผิดหรือเก็บภาษีเกินขอบเขต

เมื่อเจ้าภาษีนายอากรมีชนชั้นนำเป็นผู้อุปถัมภ์ ก็เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

ต้นรัชกาลที่ 5 ต้องประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังตามที่บัญชีระบุมีจํานวนเงิน 40,000 ชั่ง แต่ตัวเงินจริงกลับมีอยู่เพียง 20,000 ชั่ง หรือใน พ.ศ. 2414 เมื่อต้องพระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ เป็นจํานวนเงิน 11,000 ชั่ง เจ้าหน้าที่พระคลังมหาสมบัติผู้รับผิดชอบด้านการเงินต้องวิ่งหาเงินจํานวนนี้ถวาย รัชกาลที่ 5 เองได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “เงินไม่พอจ่ายราชการ ต้องเป็นหนี้ตั้งแต่งานพระบรมศพตลอดมาจนถึงปีมะแม เป็นเงิน 100,000 ชั่ง”  

ปัญหาดังกล่าว มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้ควบคุมตําแหน่งพระคลัง (ระหว่าง พ.ศ. 2411- 2416) เมื่อเจ้าภาษีนําเงินค่าภาษีมาส่งให้ เจ้าพระยาภาณวงศ์ฯ จะเก็บไว้เองและนำมาใช้จ่ายทั้งในกิจการราชการแผ่นดิน เช่น  ค่าจ้างชาวจีนเลื่อยไม้ทําพระเมรุ, ซื้อไม้ทําประภาคารที่สมุทรปราการ ฯลฯ ใช้ในกิจการส่วนตัว  เช่น สร้างบ้านให้ บุตรชาย, แจกเงินภรรยาน้อย บุตร และคนใช้  รวมถึงนำเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์ด้วยการปล่อยกู้คิดดอกเบี้ย ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2416 ทันที หลังจากรัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้นเป็นกษัตริย์ทีมีอำนาจการบริหารเต็มที่ จึงดำเนินการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างรัฐและอำนาจให้แข็งแกร่ง รวมถึงการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากร โดยทรงเริ่มขบวนการปฏิรูปโดยการจัดตั้ง “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ให้มีน้าที่รวบรวมรายได้ของแผ่นดิน ควบคุมการประมูลและการชำระเงินภาษีของเจ้าภาษีนายอากร เจ้าภาษีนายอากรต้องชำระเงินโดยตรงกับหอรัษฏากรพิพัฒน์ไม่ต้องผ่านขุนนางเหมือนเดิม


ข้อมูลจาก

พรรณี บัวเล็ก. สยามในกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5, สำนักพพิม์เมืองโบราณ พ.ศ. 2541


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2564