เผยแพร่ |
---|
ลูกชาวนาสาวหมอลำ
ศิริพร อำไพพงษ์ เดิมชื่อ ศิริมา อำเคน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2507 เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี ชื่อเล่น เม็ก (ต้นหมากเม็ก) คนในครอบครัวเรียก นางเม็ก บ้างเรียก โจ้ โดยทั่วไปเรียก “นาง” หรือ “พี่นาง”
ศิริพรเกิดในครอบครัวชาวนา เป็นลูกคนที่ 7 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน พ่อของศิริพรเป็นหมอลำ มีวงเป็นของตัวเองชื่อว่า “กองมี แสงอรุณศิลป์” รับงานแสดงหมอลำเพลิน-หมอลำเรื่องในละแวกไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก จะหยุดรับงานแสดงในช่วงฤดูทำนา ประมาณช่วงหลังออกพรรษาจึงเริ่มรับงานอีกครั้ง
ศิริพรเติบโตในครอบครัวหมอลำทำให้เธอซึมซับและเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ด้วยเป็นคนความจำดี ทำให้ร้องเพลงหมอลำได้โดยไม่ต้องเรียนหรือฝึกซ้อมมากนัก “มันก็ซึมซับทุกวันที่เราได้ยิน ไม่ชอบก็ต้องชอบ (ยิ้ม) เหมือนอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ได้ยินพ่อ ได้ยินพี่สาวพี่ชายร้อง เวลาเขาซ้อม เป่าแคน ดีดพิณ เราอยู่ในเหตุการณ์ตลอด มันก็ซึมเข้าไปในตัว… พี่เริ่มไปร้องหมอลำกับวงของพ่อ ตั้งแต่ตอนอายุ 17-18 ไปเป็นหางเครื่อง เป็นแดนเซอร์ เต้น ร้อง ลำ ทำทุกอย่างที่พ่อให้ทำ” [1]
ศิริพรเคยประกวดร้องเพลงชนะที่ 1 ในแนวของ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” กับ “ลุงเขียว” โฆษกวิทยุที่เมืองเลยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น [2] จากนั้นเมื่อโตขึ้นมาก็มาทำงานช่วยเหลือทางบ้าน เป็นนักร้องเพลงหมอลำประจำวงของครอบครัว มีพี่ชายเป็นพระเอก พี่สาวเป็นนางเอก ซึ่งเจ้าตัวรวมถึงคนอื่น ๆ ต่างคิดไม่ถึงว่าหลายปีให้หลังเธอจะกลายเป็นนักร้องชื่อดัง
ชิวิตที่พลิกผัน
ชีวิตของศิริพรพลิกผัน เมื่อพี่สาวที่เป็นนางเอกป่วย เธอจึงได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงเป็นนางเอกแทน ซึ่งศิริพรก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเธอจดจำบทและวิธีการแสดงได้แม่นยำจากการที่คลุกคลีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ศิริพรเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นเมื่อเริ่มออกไปแสดงกับคณะอื่น หลังจากที่วงของครอบครัวต้องหยุดทำไปเนื่องจากพ่อมีอายุมากขึ้น
กระทั่งราวช่วง พ.ศ. 2526 ชีวิตของศิริพรพลิกผันอีกครั้ง เมื่อประยูร จันทรุศร พาเธอไปร้องเพลงที่ทีวีช่อง 4 ขอนแก่น (ทีวีขาวดำ) กับคณะสุเทพ ดาวดวงใหม่ และได้พบกับอาจารย์นคร แดนสารคาม การพบปะกันในครั้งนี้ทำให้ชีวิตของศิริพรเปลี่ยนไป [3]
ศิริพรเริ่มมีผลงานอัดเสียง โดยเริ่มเข้าไปอัดเสียงกับค่ายกรุงไทยออดิโอ โดยครูดอย อินทนนน์ เป็นผู้เปลี่ยนชื่อให้เธอใหม่ นั่นคือ “ศิริพร อำไพพงษ์” ศิริพรให้สัมภาษณ์ว่า “ชื่อจริงชื่อศิริมา เปลี่ยนเป็นพร อาจารย์ดอย อินทนนน์ บอกว่า เอามาออก ไม่รู้อะไรจะมาบ้าง ถ้ามาดีก็ดีไป ตอนที่มาอัดใหม่ ๆ ก็เอาเป็นศิริพร… นามสกุล อำเคน ที่นี้การตั้งชื่อนักร้อง ต้องให้คล้องจอง นามสกุลต้องสละสะสวยหน่อย ศิริพร อำไพพงษ์ บ้านป่าขาดอนอะไรแบบนี้” [4]
อาจารย์นคร แดนสารคาม ชอบน้ำเสียงของศิริพรจึงนำกลอนให้ร้องและพาเข้าสู่วงการ อัดเพลงชุดแรกที่มีชื่อว่า “สาวภูพานรำพึง” ตามด้วยชุดที่ 2 “พบรักที่หัวลำโพง” ผู้ฟังเริ่มชอบเสียงโดยเฉพาะเพลง “วาสนาดอกหญ้า” ที่เป็นเพลงเด่นกลอนดี จากนั้นจึงเริ่มอัดเสียงติดต่อกันรวดเดียว ชุดที่ 3 “ทุ่งร้างนางคอย” ชุดที่ 4 “น้องนกอกหัก” ชุดที่ 5 “อดีตรักหนองหาน” ผลการประพันธ์ของไก่ฟ้า ดาวดวง [5]
ศิริพรให้สัมภาษณ์บอกเล่าชีวิตในช่วงเวลานั้นว่า “ช่วงที่ทำวงกับที่บ้าน รายได้ก็ไม่มากทั้งวงได้เงินแค่สามพัน ห้าพัน ก็พอประทังอยู่ไป พอมีโอกาสทำเพลงชุด ‘พบรักที่หัวลำโพง’ แม้จะมีชื่อขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่โด่งดังอะไร ทำต่อไปอีก 5 ชุด รู้สึกว่าไม่มีอะไรดีขึ้น จึงคิดจะเลิกร้องเพลง” [6]
ดวงยังขัด
เมื่อเธอกำลังย่างเข้าสู่วัยเบญจเพส ศิริพรสูญเสียพ่อด้วยโรคมะเร็ง เธอจึงหันหลังให้กับหมอลำและการแสดง ไม่ได้ออกไปร้องเพลงเป็นเวลากว่า 3 ปีเต็ม โดยกลับไปทำนาที่บ้าน ศิริพรชอบทำนา เธอให้สัมภาษณ์ว่า “ทำเพราะอยากทำ สนุกดี ชอบดำนากับสายฝน นางเป็นคนชอบน้ำฝน มันชื่นใจ ทำให้ไม่เหนื่อย และได้ความรู้สึกเก่า ๆ ทำให้มีความสุข” [7]
แต่แล้วชะตาชีวิตก็เปลี่ยนอีกครั้ง ในเย็นวันหนึ่งขณะที่ศิริพรกำลังเกี่ยวข้าว ครูเพลงที่เคยร่วมงานกันมาแต่ก่อนอย่าง ไก่ฟ้า ดาวดวง ชักชวนเธอให้ไปร้องเพลงในงานกฐินที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ เฮียเล็ก ชอบหมอลำมาก จึงชักชวนไปร้องเอาเงิน ปรากฏว่าศิริพรได้พวงมาลัยคล้องคอราว 30,000 บาท ทำให้เธอรู้สึกดีใจมาก “หยุดไป 3 ปี พี่ไก่ฟ้า ดาวดวง เขาเป็นนักจัดรายการก็มาหา บอกให้ไปร้องเพลง เราคิดว่าดีกว่าไม่มีอะไร” [8]
ชีวิตของศิริพรพลิกผัน หลังจากได้พบกับเฮียเล็ก ซึ่งได้สนับสนุนศิริพรให้กลับคืนวงการอีกครั้ง และออกผลงานเพลงชุด “อาลัยรักที่ชุมพร” เมื่อราว พ.ศ. 2533 อย่างไรก็ตาม เพลงหมอลำในช่วงเวลานั้นกำลังได้รับความนิยมสูงมาก ทั้งจินตหรา พูนลาภ, สาธิต ทองจันทร์ และเดือนเพ็ญ อํานวยพร เพลงของศิริพรจึงไม่ฮิตติดลมบนเท่านักร้องคนอื่น ศิริพรให้สัมภาษณ์ “ดวงเรายังขัดอยู่… การที่จะแหวกตลาดยากมาก เพราะหมอลำตอนนั้นบูมมาก ๆ” [9]
โบว์รักสีดำ-ปริญญาใจ
หลังจากผลเพลงชุด “อาลัยรักที่ชุมพร” จึงทำต่อมาอีก 3 ชุด แล้วจึงไปทำผลงานเพลงชุด “โบว์รักสีดำ” กับค่ายพีจีเอ็ม ศิริพรเล่าถึงเพลงนี้ว่า “เพลงมันยาวมาก มันเป็นกลอนลำประยุกต์ขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้คิด (ว่าจะดัง) แต่ว่าคนที่แต่งเขาดูลายมือให้… เขาบอกว่ายังไงก็ดัง อาจารย์สุพรรณ ชื่นชม มั่นใจทั้งเพลงและลายมือ เพราะเขาเป็นนักแต่งอยู่แล้ว เขาแต่งให้นักร้องดังหลายคน” [10]
โบว์รักสีดำส่งให้ชื่อของศิริพรโด่งดังเป็นพลุแตก ไปที่ไหนผู้คนแห่ตามมาดูถล่มทลาย เทปขายดีระเบิด วงดนตรีรับงานจนไม่มีเวลาพัก [11] เดินสายรับงานเดือนหนึ่งกว่า 40 งาน ศิริพรกล่าวถึงเพลงโบว์รักสีดำว่าเป็นเพลงที่พลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ
หลังจากโด่งดังจากเพลงโบว์รักสีดำ ศิริพรรู้สึกท้อถอย เกิดอาการเบื่อ และคิดจะเลิกร้องเพลงอีกครั้ง แม้ว่าเพลงโบว์รักสีดำจะยังคงเป็นที่นิยมมาโดยเสมอก็ตาม ต่อมา ครูสลา คุณวุฒิ (ซึ่งแต่งเพลงล้างจานในงานแต่ง ให้ศิริพรตั้งแต่ตอนอยู่ค่ายพีจีเอ็ม) ชักชวนศิริพรเข้าสู่ค่ายแกรมมี่โกลด์ นั่นทำให้ชีวิตของศิริพรพลิกผัน (อีกครั้ง) จากผลงานเพลงปริญญาใจ ใน พ.ศ. 2543
จะเห็นได้ว่าตลอดชีวิตของนักร้องเมืองอุดรคนนี้ มีจังหวะขึ้นและลงเสมอ เคยล้มเลิกความตั้งใจร้องเพลงแต่ก็กลับมาสร้างชื่อเสียงโด่งดังได้อีกครั้ง ศิริพรเคยให้สัมภาษณ์ว่า “มันเหมือนชีวิตถูกลิขิตมาอยู่ตรงนี้ เพราะจะเลิกตั้ง 3-4 ครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้เลิกสักที” [12]
ศิริพรกล่าวถึงความสำเร็จของเพลงปริญญาใจว่า “จริง ๆ ขายได้เยอะกว่านี้นะ แต่เขาจะบอกแค่ยอดกลม ๆ คือ หนึ่งล้านตลับ ส่วนตัวพี่เองก็ธรรมดา ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะพี่เป็นนักร้องมานาน ตอนโบว์รักสีดำก็ขายได้ถล่มทลาย ตอนนั้นเกินล้านตลับไปเยอะ พี่ก็เลยเฉย ๆ พี่รู้สึกเหมือนเป็นนักร้องใหม่อยู่เรื่อย (ยิ้ม) ตอนไปลงตลาด ยังไม่มีทีวีเปรี้ยงปร้างแบบนี้ ไปไหนคนก็แตกตื่น มากอด มาหอม มาถ่ายรูป มันก็เลยเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพี่ไปแล้ว” [13]
ศิริพร x Bodyslam
ชื่อของ “ศิริพร อำไพพงษ์” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อเธอร่วมงานเพลงกับวง Bodyslam ในเพลงคิดฮอด เมื่อ พ.ศ. 2553 ศิริพรเล่าเบื้อหลังเพลงนี้ว่า
“เขา (อาทิวราห์ คงมาลัย-ตูน) เป็นคนเล่าให้เราฟัง… ตอนนั้นเขาหยุดไป หยุดไปกี่ปีก็ไม่รู้ เขาจะเริ่มมาอัดใหม่ เขาก็หาเพลงที่จะมาเป็นอัลบัมในชุดนี้ ในชุดคราม เขาก็ไปหาลำตัด ลำฉ่อย ลิเก สารพัดสารเพ แล้วมาเปิดเทียบกัน… เขาก็ทำเป็นดนตรีออกมานิด ๆ หน่อย ๆ พ่อเขาก็ช่วยคิดด้วย แต่น้องตูนเขาบอกว่า ตอนที่เขายังเป็นเด็กอยู่ ยังไปโรงเรียน พอเขาเปิดเพลงนี้ โบว์รักสีดำให้ฟัง ประจำ เขาชอบดนตรี” [14] อาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีเพลงโบว์รักสีดำในวันนั้น ก็คงไม่มีเพลงคิดฮอดในวันนี้
เพลงโบว์รักสีดำเป็นเพลงที่สร้างชื่อให้ “ศิริพร อำไพพงษ์” โด่งดังเป็นพลุแตก ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2564 เพลงนี้ก็มีอายุครบ 30 ปี ผูกใจคนไทยจนได้รับความนิยมมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เพลงโบว์รักสีดำเป็นเพลงอมตะ เป็นเพลงในตำนาน ก็คงไม่กล่าวเกินจริงไปนัก
อ้างอิง
[1] [13] ณ ชล. (พฤศจิกายน, 2558) ปรากฏการณ์อีสานพันล้าน ศิริพร อำไพพงษ์ และ ตั๊กแตน ชลดา. ออล แม็กกาซีน. ปีที่ 10 : ฉบับที่ 7
[2] [3] [5] [11] กว่าจะมาเป็น ‘ศิริพร’ วันนี้. หนังสือพิมพ์มติชน 20 มีนาคม 2548
[4] [9] เพชรรามา ตอน ศิริพร อำไพพงษ์, จาก www.youtube.com/watch?v=cwgPNzX7h2Y&ab_channel=FreeTV
[6] [7] [8] [12] ศิริพร อำไพพงษ์ กับชีวิตที่ถูกขีดเส้น. หนังสือพิมพ์มติชน 9 สิงหาคม 2544.
[4] [10] [14] ตัวจริง นาง ศิริพร อำไพพงษ์, จาก www.youtube.com/watch?v=KXr4PSMWZV4&ab_channel=one31
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2564