เผยแพร่ |
---|
หากถามว่า “รัฐประหาร พ.ศ. 2490” มีผลอย่างไรกับการเมืองของไทย หนึ่งในคำตอบที่ดีในเรื่องนี้ก็คือข้อเขียนของศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในคำนำเสนอหนังสือ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (มติชน, 2557) ตอนหนึ่งว่า
“หลังการทำรัฐประหาร 2490 สำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการก้าวขึ้นมามีบทบาทนำและครอบงำการเมืองไทย ต่อไปของกลุ่มทหารรุ่นใหม่ซึ่งต่างจากฝ่ายนำของคณะราษฎร คณะทหารไม่ได้ผ่านการศึกษาและมี ประสบการณ์ในเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศเสรีนิยม หากแต่พวกเขาทั้งหมดเป็นผลผลิตของการศึกษาการทหารในประเทศไทยเอง นายทหารรุ่นใหม่เหล่านี้จึงแทบไม่มีประสบการณ์และความรับรู้ในจารีตของระบบประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกมาก่อนเลย”
เช่นนี้ การรัฐประหาร 2490 จึงไม่ได้เป็นที่สนใจเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น
ปี 2490 ที่ทำการรัฐประหาร สื่อต่างชาติโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกที่มีการปกครองด้วยระบอบประชิปไตย จึงมีการเขียนบทวิจารณ์เกี่ยวเหตุการณ์การเมืองไทยครั้งนั้นคงมีไม่น้อย
ตัวอย่างบางส่วนนั้น สุชิน ตันติกุล ได้เรียบเรียงไว้ใน รัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกี่ยวกับบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ชื่อดัง 2 ฉบับ หนึ่ง คือ “นิวยอร์กไทม์” หนังสือพิมพ์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา หนึ่ง คือ “แมนเชสเตอร์ การ์เดียน” หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “เดอะ การ์เดียน”)
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2490 ลงข่าววิจารณ์รัฐประหาร ดังนี้
“จอมพลหลวงพิบูลสงคราม ผู้เผด็จการโดยพฤตินัยแห่งประเทศไทยจาก ค.ศ. 1938-1944 ได้เข้ายึดอํานาจอีกครั้งหนึ่งในรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่ว่าปัจจัยหนุนการล้มรัฐบาลของธํารงจะเป็นเช่นไร และไม่ว่าวิกฤตกาลทางการเมืองปัจจุบันจะคลี่คลายไปในรูปใด การสังเกตการณ์อันหนึ่งย่อมเป็นที่ใกล้เคียงพอใช้ นั้นคือว่า นาฬิกาการเมืองได้ถูกหันกลับแล้ว…
ดูเหมือนจะมีความหวังอยู่น้อยเหลือเกินว่าจอมพลได้เปลี่ยนวิถีความนึกคิด แม้กิจขั้นแรกของท่านในการจัดตั้งอภิรัฐมนตรี ซึ่งท่านเองไม่มีชื่อรวมอยู่ด้วย อาจจะชี้ให้เห็นถึงการตัดสินใจที่จะธํารงอย่างน้อยที่สุดก็ผิวนอกของประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามการกระทําเช่นนี้ อาจอนุสนธิมาจากความหวาดกลัวปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ของบริติชและสหรัฐอเมริกามากกว่าการเปลี่ยนรูปไปสู่รัฐธรรมนูญ ความร่วมมือของจอมพลกับญี่ปุ่นยังไม่ลืมเลือนไปเลยทั้งในกรุงลอนดอนและ วอชิงตัน
ในระยะ 2 ปีนับแต่สิ้นสงครามประเทศไทยได้มีคณะรัฐบาลอันแผกเพี้ยนกันถึง 4 คณะ ซึ่งแต่ละคณะก็หาสามารถควบคุมคะแนนเสียงส่วนมากในรัฐสภาไม่ แต่ละคณะรัฐบาลต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหางบประมาณซึ่งแต่ละปัญหาล้วนก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้โดยง่ายเลย…”
หนังสือพิมพ์แมนเชสเตอร์ การ์เดียน ฉบับประจําวันที่ 20 พฤศจิกายน 2490 ได้วิจารณ์รัฐประหารครั้งนี้ว่า
“การปฏิวัติในประเทศไทยมีลักษณะประหลาดอยู่ในทันทีที่จอมพลพิบูลสงครามได้มีอํานาจขึ้นก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลอันประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือและในหมู่นั้นบางคนก็เคยเป็นฝ่ายค้านอย่างรุนแรงของจอมพล เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่า รัฐบาลชุดที่ถูกโค่นไปนั้นมิได้เป็นที่นิยมของประชาชนมากมาย
ดังนั้นการคบคิดล้มล้างรัฐบาลชุดนั้นจึงเป็นที่รู้แจ้งในวงการอันกว้างขวาง ประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ฉะนั้นจึงมีผู้เคืองแค้นผู้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นอันมาก แม้ว่าข่าวลือเรื่องคอร์รัปชั่นจะยังไม่กระทบถึงนายปรีดีเองก็ตาม
ส่วนจอมพลนั้นได้ให้คํามั่นสัญญาว่าตนจะอยู่บนเวทีในเวลาอันจํากัด เหมือนเช่นที่ทหารผู้กระทําตามการปฏิวัติหลายคนได้เคยทํามาแล้ว จอมพลแถลงว่าท่านจะได้ปลีกตัวไปในทันทีที่ได้กวาดล้างคอร์รัปชั่นเสร็จสิ้นแล้ว เครื่องมือสําหรับทดลองรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การประชุมของสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งอย่างเสรี
ส่วนการปฏิวัติในตอนต้นเช่นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่เป็นที่น่าจะมั่นใจได้ รัฐบาลชุดใหม่ดูน่าจะหาความมั่นคงได้ยาก รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ เสรีนิยม…และข้าราชการที่เคยอยู่ ใต้อุปการะของผู้เผด็จการ”
การรัฐประหาร 2490 จึงไม่ใช่แค่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น หากยังสร้างผลกระทบต่อไปอีกยาวนาน
ข้อมูลจาก
สุชิน ตันติกุล. รัฐประหาร 2490. สำนักพิมพ์มติชน, ธันวาคม 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2564