รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอาณานิคมตะวันตก สิงคโปร์ ปัตตาเวีย พม่า อินเดีย

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันปิยมหาราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

การขยายตัวของชาติตะวันตกในเอเชีย จากรูปแบบของ “การค้า” จนถึงการตั้ง “อาณานิคม” ซึ่งประเด็นหลังแม้จะไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของประเทศเดิม แต่ก็ยากจะหลีกเลี่ยง และบางครั้งก็ต้องจำยอม สำหรับประเทศสยามทำอะไรหลายอย่างจึงผ่านวิกฤติครั้งนั้นมาได้ รวมถึง การเสด็จประพาส “อาณานิคม” ของชาติตะวันตก ของ รัชกาลที่ 5 ทั้ง สิงคโปร์ ปัตตาเวีย พม่า อินเดีย

อะไร และสิ่งใด? ที่ทำพระองค์ตัดสินใจเสด็จประพาส, ทอดพระเนตรเห็นอะไรบ้าง สู่ผลจากการเสด็จประพาสนี้

Advertisement

ราชสำนักสยามสนใจวิธีการจัดอาณานิคมของตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แม้ว่าพระองค์จะไม่เคยเสด็จประพาสต่างประเทศ แต่ทรงให้ความสำคัญโดยส่งคนไปศึกษาดูงานเพื่อนำมาปรับปรุงประเทศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ในเรื่องนี้ว่า

“…ทางรอดของสยามในอนาคตขึ้นอยู่กับการที่ทำให้ฝรั่งนับถือ ต้องเปลี่ยนรัฏฐภิบาลโนบายของประเทศสยามให้ฝรั่งนิยมว่า ไทยพยายามบำรุงบ้านเมืองให้เจริญตามอริยธรรม เพราะว่าต่อไปภายหน้าคงจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้นทุกที…”

พระราชดำริดังกล่าวคงมีอิทธิพลต่อรัชกาลที่ 5 ไม่น้อย

เมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2411 พระองค์ยังทรงพระเยาว์จึงมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทน การเสด็จประพาสต่างประเทศในช่วงเวลาที่มีผู้สำเร็จราชการแทนนี้เกิดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ การเสด็จประพาสสิงคโปร์ และปัตตาเวีย ใน พ.ศ. 2413, สิงคโปร์ พม่า และอินเดีย ใน พ.ศ. 2414

สิงคโปร์และปัตตาเวีย คือการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 เกิดจากคำแนะนำของมิสเตอร์น็อกซ์ (Knox) กงสุลอังกฤษ ที่เสนอเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในการจัดการศึกษาวิธีการปกครองถวายแด่รัชกาลที่ 5 โดยให้เสด็จทอดพระเนตรเมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ เมืองปัตตาเวีย และเมืองเสมารัง ซึ่งเป็นอาณานิคมฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) เพื่อศึกษาวิธีการปกครองตามแบบอย่างของอังกฤษ และศึกษาความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบตะวันตก เพื่อนำมาใช้ปฏิรูปประเทศไทยให้ทันสมัย

และอีกสาเหตุหนึ่งที่มิสเตอร์น็อกซ์เสนอให้รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองในสิงคโปร์น่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างสิงคโปร์ สยาม และหัวเมืองมลายูมีมากขึ้น ที่มีการกระทบกระทั่งทางการค้า ระหว่างคนในบังคับอังกฤษกับคนในบังคับสยามบริเวณหัวเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้น แต่อังกฤษไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จออกจากกรุงเทพฯ พร้อมเจ้านายชั้นสูง และข้าราชการ ตามเสด็จรวม 208 คน เสด็จพระราชดำเนินเมืองสิงคโปร์เป็นเมืองแรก ตลอดระยะเวลา 7 วัน ที่ประทับในสิงคโปร์ที่ทรงทอดพระเนตรได้แก่ โรงทหาร, เรือรบอังกฤษ, การไปรษณีย์, โรงเรียน, โรงพยาบาล, ที่ทำการโทรเลข, ศาล, อู่กำปั่นเรือ ฯลฯ

จากนั้นพระองค์เสด็จไปเมืองปัตตาเวีย และเมืองเสมารัง โดยเสด็จประพาสสถานที่สำคัญในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งคล้ายๆ กับที่เสด็จในสิงคโปร์ และเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ รวมเวลา 38 วัน

การเสด็จประพาสในครั้งนี้เชื่อว่ามีผลต่อพระราชดำริในการบริหารบ้านเมืองของพระองค์ในภาพรวมไม่น้อย ใน พ.ศ. 2417 ภายหลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2 ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ที่คาดว่ามาจากการเสด็จทอดพระเนตรการแบ่งสายงานปกครอง และการจัดตั้งสภาขุนนางที่ปรึกษาราชการที่ปัตตาเวีย การจัดการปกครองที่ฮอลันดา

ภายหลังเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเมืองปัตตาเวีย รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์เสด็จประพาสยุโรป แต่มีอุปสรรคบางประการ จึงเสด็จประพาสสิงคโปร์ พม่า และอินเดียแทน การเตรียมการเสด็จครั้งนี้คัดเลือกผู้ตามเสด็จจำนวน 40 คน ประกอบด้วยเจ้านาย และขุนนางคนสำคัญ

วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2414 รัชกาลที่ 5 เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดยเรือพระที่นั่งบางกอกผ่านอ่าวไทย อ้อมแหลมมลายู แวะที่เมืองสิงคโปร์ มะละกา จากนั้นเสด็จต่อไปยังมะละแหม่ง และย่างกุ้ง

ที่เมืองมะละแหม่ง พระองค์ทอดพระเนตรอุตสาหกรรมส่งออกไม้สักโดยไม้สักบางส่วนถูกส่งมาจากล้านนา จากนั้นเสด็จไปเมืองย่างกุ้งเป็นเวลา 4 วัน โดยเสด็จไปสักการะเจดีย์ชเวดากอง และทอดพระเนตรคลังสรรพาวุธ

ในบันทึกของสลาเดน (E.B. Sladen) เริ่มตั้งแต่การรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ที่เมืองย่างกุ้ง จากนั้นจึงพาพระองค์เสด็จเมืองกัลกัตตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ว่าการอาณานิคมอินเดียของอังกฤษ ขณะนั้น ลอร์ด มาโย (Lord Mayo) อุปราชผู้สำเร็จราชการเป็นผู้รับเสด็จ ประทับที่เมืองกัลกัตตา เมืองเดลี เมืองอัครา เมืองลัคเนา เมืองบอมเบย์ เมืองเป็นนาเรส (พาราณสี) และเสด็จกลับมาประทับที่เมืองกัลกัตตา จากนั้นจึงเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2414 รวมทั้งสิ้น 92 วัน

ระหว่างประทับที่เมืองกัลกัตตาทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เช่น ป้อมปราการ โรงกษาปณ์ พิพิธภัณฑ์ โรงงานผลิตปืน โรงงานทอกระสอบ สวนสัตว์ โรงงานจ่ายน้ำประปา ฯลฯ จากเมืองกัลกัตตาพระองค์เสด็จไปเมืองเดลีโดยทางรถไฟ สลาเดน บันทึกถึงหมายกำหนดการพิเศษในเมืองนี้ไว้ว่า

“นับเป็นโอกาสอันดีที่การเสด็จประพาสอินเดียครั้งนี้ มาตรงกับการรวมพลซ้อมรบครั้งสำคัญในเมืองเดลี ราชอาคันตุกะชาวสยามจะมีโอกาสได้ชมการรวมพลครั้งใหญ่ทางกองทหารอังกฤษทุกหน่วยเหล่าและการปฏิบัติทางการทหารเต็มรูปแบบ แสดงแสนยานุภาพทหารอันเกรียงไกรของอังกฤษ พร้อมทั้งฝึกทหารตามยุทธวิธีทันสมัยของยุโรป”

ในเมืองเดลี เสด็จประพาสเมืองภูทับซึ่งมีการซ้อมรบครั้งใหญ่ จากนั้นเสด็จโดยรถไฟไปเมืองอัครา เสด็จไปเมืองลัคเนาเพื่อทอดพระเนตรการฝึกหัดทหาร เสด็จไปเมืองบอมเบย์ทอดพระเนตรป้อมปราการ การสาธิตการยิงปืนใหญ่ อู่ต่อเรือ เรือรบ และประภาคาร รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยออกจากเมืองกัลกัตตา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2414 เสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้ เข้าสู่ปากน้ำ สมุทรปราการและกรุงเทพฯ

ภายหลังจากเสด็จกลับจากอินเดียราวปีเศษ มีความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อล้านนาเกิดขึ้น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พระองค์ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2414 รัชกาลที่ 5 ทรงมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงตัดสินพระทัยคือ การขยายอำนาจเข้าสู่ล้านนา ปรากฏในจดหมายกระทรวงการต่างประเทศ โดยเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดีมีไปถึงสลาเดนในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2416 ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งพระยาจำรูญราชไมตรีเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม พระยาสมุทรบุรารักษ์เป็นผู้ช่วยเอกอัครราชทูต และพระมหามนตรีศรีองครักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจในขวาเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน

การเสด็จประพาสครั้งนี้เป็นการตอกย้ำให้ชนชั้นนำสยามเข้าใจถึงศูนย์อำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่จีน และอินเดีย โดยอินเดียกลายเป็นอาณานิคมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับอังกฤษ การจัดการปกครองที่อังกฤษเข้าไปดูแลไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีอากร การรักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อย รวมทั้งวิทยาการความก้าวหน้าต่างๆ เช่น การโทรเลข โรงพยาบาล โรงสี โดยเฉพาะการรถไฟที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งทางด้านการปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษสามารถควบคุมความสงบในอินเดียได้

ภาพแสนยานุภาพทางการทหารและการปราบกบฏที่มีประสิทธิภาพของอังกฤษ น่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นด้วยกับแนวทางการทูตในการต่อรองกับมหาอำนาจ เช่นอังกฤษมากกว่าที่จะใช้กำลังเข้าสู้รบแบบพม่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564