สมัย ร. 4 ฝรั่งเศสได้เขมรส่วนนอก เพราะการอนุมัติของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (นั่งกลาง) กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่สมัย รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าในการทำสนธิสัญญากับราชทูตปรัสเซีย (นั่งขวาสุด)

ปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) เป็นปีที่ดินแดนเขมรส่วนนอก (พื้นที่ประเทศเขมรตอนล่างทั้งหมดถึงชายแดนญวน) ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ที่หรือที่คนไทยใหญ่เรียกว่า การเสียดินแดนครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 หากเบื้องหลังครั้งนี้ ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์นอกตำราฯ” มีสาเหตุจากการ “อนุมัติของเจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์” มาดูลำดับเรื่องราวนี้ที่ไกรฤกษ์ อธิบายไว้กัน

“เขมรตกเป็นประเทศราชของสยามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1782 (พ.ศ. 2325) แต่พอถึงปี ค.ศ. 1813 (พ.ศ. 2356) ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของญวน แล้วกลับมาสวามิภักดิ์กับไทยอีกครั้งในปี ค.ศ. 1846 (พ.ศ. 2389) โดยนัยนี้เขมรต้องส่งบรรณาการมายังราชสำนักไทยทุกๆ ปี ในขณะเดียวกันก็จัดส่งไปยังกรุงเว้ (เมืองหลวงของญวน) ด้วยทุกๆ 3 ปี

ในแง่การเมือง เขมรได้สูญเสียอธิปไตยไปแล้วเมื่อคราวที่สยามกับญวนทำสงครามต่อกัน นั้นก็คือต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าอธิราชเหนือเขมร สำหรับฝรั่งเศสนั้น เขมรจะทำให้ดินแดนที่ครอบครองใหม่ในคาบสมุทรอินโดจีนสมบูรณ์ขึ้น ฝรั่งเศสจึงต้องการเข้ามาแทนที่สยามในเขมร และพร้อมจะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขมรจากการที่ตนได้ครอบครองญวนภายหลังยึดไซ่ง่อนได้ในปี ค.ศ. 1859 (พ.ศ. 2402)

สนธิสัญญาฝรั่งเศส-ญวน ที่ฝรั่งเศสทำกับญวนในปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) ทำให้ฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าของโคชินไชน่า (ภาคใต้ของญวน) ประกอบด้วยหัวเมืองทั้งหกคือ เบียนหัว เจียดินห์ ดินห์เทือง ฮวงโห อังเกียง และฮาเตียน อีกทั้งปากแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งเท่ากับได้ครอบครองปากแม่น้ำโขงอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ แต่ 3 หัวเมืองแรกก็เป็นพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในเขตของเขมรด้วย ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงต้องการแย่งไปจากไทยซึ่งเป็นเจ้าอธิราชเหนือเขมรอยู่

ต่อมานายพลทหารเรือฝรั่งเศสคนหนึ่งนามว่า พลเรือตรี กรองดิเยร์ ก็เข้าไปยังพนมเปญ แล้วเกลี้ยกล่อมให้พระนโรดม กษัตริย์เขมรทำสัญญาอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1863 สัญญาฉบับนี้ ช่วยปลดแอกเขมรจากการเป็นเมืองขึ้นของไทย โดยทางฝรั่งเศสถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน สำคัญต่อการเข้าไปมีบทบาทยิ่งขึ้นในการผนวกดินแดนเพิ่มเติม ปูทางไปสู่การตั้งสหภาพอินโดจีนในที่สุด

ต่อมาพระนโรดมก็กลัวความผิด เพราะเหมือนการแปรพักตร์จากราชสำนักไทยไปอยู่กับฝ่ายตรงข้าม จึงรีบเขียนสาส์นแก้ตัวเข้ามายังเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ที่กรุงเทพฯ ออกตัวว่าจำใจทำไป เพราะถูกฝรั่งเศสบังคับ แต่ใจจริงแล้วยังจงรักภักดีต่อไทย โดยขอทำสัญญาลับกับไทยว่ายังเป็นเมืองประเทศราชของไทยต่อไป

พอรัฐบาลฝรั่งเศสรู้ระแคะระคายก็โจมตีสัญญาฉบับใหม่ของสยามกับเขมร ว่าเป็นโมฆะ และข่มขู่ให้ไทยสละสิทธิ์เหนือเขมรทันที

เมื่อเห็นฝรั่งเศสเอาจริง และฝ่ายไทยก็ไม่พร้อมที่จะทำสงครามกับชาติมหาอำนาจ รัฐบาลสยามก็กลับลำหันมาเจรจาประนีประนอมกับทางฝรั่งเศส และหยุดความพยายามที่จะเอาเขมร (ส่วนนอก) กลับคืนมา

สยามยอมสละภาคตะวันออกของเขมรไปเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ดังเจตนารมณ์ที่ได้ยืนยันไว้เมื่อส่งคณะทูตถึงปารีส ในปี ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) เหตุการณ์นี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์โดยตรง

โดยในปี ค.ศ. 1817 (พ.ศ. 2410) ท่านก็ได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนโตของท่านให้เดินทางไปปารีสอีกครั้งเพื่อลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ปักปันเขตแดนเขมร พร้อมเปิดใจที่จะยกดินแดนผืนนี้ให้โดยไม่ติดใจเอาความ ดังคำชี้แจงต่อไปนี้

‘เขมรตกอยู่ภายใต้อารักขาของฝรั่งเศสโดยปราศจากเงื่อนไข และไทยก็ยินยอมอย่างเต็มใจ รัฐบาลไทยไม่เคยปรารถนาที่จะได้ประเทศนี้กลับคืนมาอยู่ใต้การปกครองอีก ข้าพเจ้าขอให้ท่านได้โปรดเรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีด้วยว่าเราลืมปัญหาข้อนี้หมดแล้ว และขอให้ท่านวางใจด้วยว่าไทยไม่เคยมีความคิด ไม่เคยแม้ปรารถนาที่จะต่อต้านการดำเนินงานนี้ให้เป็นผลสำเร็จ’

การตัดสินใจของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงค์ซื้อใจรัฐบาลฝรั่งเศสในหลายกรณี สร้างความพึงพอใจให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3 อยู่ไม่น้อย และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท่าทีของฝรั่งเศสเปลี่ยนไปจากความเป็นปฏิปักษ์ต่อสยาม เป็นเก็บสยามไว้เป็นมิตรประเทศที่คุยกันรู้เรื่อง จนเกิดกระแสใหม่ของการสร้างค่านิยมในตัวท่านอัครมหาเสนาบดีให้ได้รับการยอมรับอย่างสูงส่งในสมัยหนึ่ง”


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก, สำนักพิมพ์มติชน กุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564