ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระยอดฟ้า ยุวกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุได้ 11 พรรษา ตามพระราชประวัติที่ปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ เช่นฉบับพระราชหัตถเลขา หรือฉบับบริติชมิวเซียมต่างระบุว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราช และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
พระองค์ครองราชย์อยู่ได้เพียงปีกว่าๆ ก็ถูกขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์จับพระองค์ไปประหารชีวิตเสีย เพื่อให้ขุนวรวงศาธิราชได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นพระมเหสี
แต่หากท่านใดเคยชมภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยทัย” ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในปี 2544 กำกับการแสดงโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล อาจจะพอจำกันได้ว่า ในเรื่องนี้ สมเด็จพระยอดฟ้า มิได้เป็นพระราชโอรสในแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แต่ประการใด แต่ถูกกำหนดให้เป็นเป็นพระราชโอรสของพระนางศรีจุฬาลักษณ์ ชายาอีกพระองค์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราชแทน
ตามท้องเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่กำหนดให้พระชายาศรีจุฬาลักษณ์สิ้นพระชนม์ลงหลังจากมีพระประสูติกาลพระยอดฟ้าไม่นาน พระยอดฟ้าจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดโดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
จากข้อมูลของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ระบุว่า หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงโครงเรื่องไปจากหลักฐานที่ปรากฏด้วย 2 เหตุผลหลักก็คือ
1. หลักฐานที่อ้างว่า พระยอดฟ้า เป็นโอรสของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา บริติชมิวเซียม หรือ พันจันทนุมาศ (เจิม) ล้วนไม่น่าเชื่อถือ ส่วนฉบับที่น่าเชื่อถืออย่างพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ และเอกสารของต่างประเทศ ระบุแต่เพียงว่า พระยอดฟ้าเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่มิได้ระบุว่าใครเป็นพระมารดา
2. ในวาระสุดท้ายของแม่อยู่ศรีสุดาจันทร์ พงศาวดารฯ ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้เล่าความว่า
“…โขลงชักปกเถื่อนเช้ามาทางวัดแม่นางปลื้มเข้าเพนียดวัดซอง สมุหนายกกราบทูล ตรัสว่าพรุ่งนี้เราจะไปจับ…ครั้นเช้าตรู่ขุนวรวงศาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และราชบุตรี ซึ่งเกิดด้วยกันนั้น พระศรีศิลป์ [โอรสซึ่งเกิดกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช] ก็ลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกันมาตรงคลองสระบัว…”
จากความตอนนี้ ผู้สร้างภาพยนตร์มองว่า นี่คือภาพของครอบครัวที่อบอุ่นพ่อแม่ลูกเดินทางไปดูการจับช้างด้วยกัน โดยเฉพาะผู้เป็นแม่พาลูกทั้งที่เกิดจากสามีใหม่และสามีเก่าลงเรือลำเดียวกันเดินทางไป ผู้สร้างภาพยนตร์จึงไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่า นี่คือแม่ที่จะฆ่าลูกในไส้ได้ลงคอ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงแปลงให้พระยอดฟ้าเป็นโอรสของพระชายาศรีจุฬาลักษณ์แทนที่จะเป็นแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ตามที่มีหลักฐานปรากฏ
ฟังเหตุผลของทางผู้สร้างภาพยนตร์แล้ว ก็ให้แปลกใจชอบกลกับการอ้างว่า หลักฐานที่มีปรากฏในพงศาวดาร “ล้วนไม่น่าเชื่อถือ” จึงเลือกที่แปลงเรื่องเดิมเสีย เพราะข้อเท็จจริงใหม่ที่แปลงเข้ามาไม่มีฐานทางประวัติศาสตร์อะไรให้เชื่อตามได้เลย
เหตุผลข้อแรกจึงเหมือนเป็นการอ้างขึ้นเพื่อพรางวัตถุประสงค์หลักในข้อสอง ซึ่งเป็นเรื่องของ “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ส่วนตัวของผู้สร้างภาพยนตร์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปะดังที่ พิเศษ กล่าวว่า
“วิธีการแปลความหมายทางประวัติศาสตร์ของผู้สร้างภาพยนตร์อันเป็นผลิตผลทางศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งวิธีการเช่นนี้ย่อมใช้ไม่ได้กับวิธีการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันเป็นวิชาการค้นหาความจริงในโลกปัจจุบัน แต่ก็ไม่อาจที่จะกล่าวได้อย่างเด็ดขาดว่าอะไรคือข้อเท็จจริง (Fact) กันแน่ เพราะการใช้เหตุผลอธิบายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางวิชาการนั้น เป็นเหตุผลคนละอย่างกับของผู้สร้างงานศิลปะซึ่งอาจจะพูดว่าเป็นเหตุผลทางอารมณ์ (Sentimental reason) ก็คงจะได้”
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์จึงเป็นงานศิลปะที่สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้โดยมีข้ออ้างที่คนทั่วไปยอมรับ (เป็นงานสร้างสรรค์เพื่อความบันเทิง – คนรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง) แต่ผู้ที่อ้างเช่นนี้อาจหลงลืมไปว่าใช่ทุกคนจะรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานยืนยันกันทุกคน เรื่องเล่าที่ปรากฏบนภาพยนตร์อาจเป็นเรื่องเล่าที่พวกเขารับรู้เป็นครั้งแรกก็เป็นได้
งานวิจัยจาก Washington University ยังพบว่า ในการสอนประวัติศาสตร์ด้วยการใช้ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เสริมในชั้นเรียน แม้จะมีส่วนทำให้เด็กๆ จดจำข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ในส่วนที่ภาพยนตร์มีเนื้อหาขัดจากตำราประวัติศาสตร์ นักเรียนก็มักจะจำเนื้อหาที่พวกเขาได้ชมจากภาพยนตร์มากกว่าข้อเท็จจริงตามตำรา บางครั้งมากเกือบถึงร้อยละ 50
การบอกว่าภาพยนตร์ไม่มีผลต่อความคิดของคนจึงเป็นเรื่องที่น่ากังขา การทำภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ขึ้นมาสักเรื่อง ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลายจึงน่าจะหันมาคำนึงถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น
อ้างอิง:
1. “สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นโอรสของใคร”. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544
2. “Historical Movies Help Students Learn, But Separating Fact from Fiction Can Be Challenge”. The Source, Washington University in St. Louis. <https://source.wustl.edu/2009/08/historical-movies-help-students-learn-but-separating-fact-from-fiction-can-be-challenge/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2559