เผยแพร่ |
---|
จุดบรรจบของแม่น้ำน้อยและคลองบางบาล ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของ “วัดสีกุก” อาณาบริเวณนี้สมัยสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เคยเป็นที่ตั้งของค่ายสีกุก และเป็นสมรภูมิที่สำคัญครั้งหนึ่ง สงครามที่ไม่ปรากฏในหลักฐานไทย แต่ปรากฏในหลักฐานพม่า
น. ณ ปากน้ำ เคยสำรวจพื้นที่วัดสีกุกเมื่อ พ.ศ. 2509 ได้บรรยายสภาพไว้ว่า เป็นจุดที่มีทางแม่น้ำโค้งเป็นเกือกม้า พม่าจึงสร้างค่ายตรงวัดสีกุก ทำกำแพงตัดปลายเกือกม้าจรดสองข้างแม่น้ำ ก่อกำแพงอิฐอย่างแข็งแรง มีพื้นที่หลายสิบไร่ มีโคกช้าง โคกม้า ไม่ผิดอะไรกับเมือง ๆ หนึ่ง
สมรภูมิที่สีกุกนี้ พงศาวดารพม่ากล่าวว่า เมื่อกองทัพพม่าฝ่ายใต้ที่นำโดยมังมหานรธา ตีเมืองสุพรรณบุรีได้แล้วจึงเคลื่อนทัพมุ่งมายังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายไทยจึงส่ง “พระยาปะละ” พร้อมไพร่พล 6 หมื่นคน มาตั้งรับ
ฝ่ายไทยยกกองทัพออกมาตั้งรับนอกเมืองสีกุก มังมหานรธาจึงส่งกองทัพเข้าประจัญบาน จนกองทัพฝ่ายไทยถูกตีแตก จากนั้นฝ่ายพม่าเข้าตีค่ายสีกุกให้ทหารปีนกำแพงทั้ง 4 ด้าน แม้ฝ่ายไทยจะต้านทานอย่างสุดกำลัง แต่ไม่นานกองทัพพม่าก็ยึดสำเร็จและจับตัวผู้รักษาเมืองไว้ได้ มังมหานรธาให้รวบรวมผู้คน ช้าง ม้า อาวุธ แล้วตั้งผู้รักษาเมืองสีกุกที่ยอมอ่อนน้อมเป็นผู้รักษาเมืองสีกุกต่อไป
ความผิดพลาดในสมรภูมิครั้งนี้คือที่ตั้งของค่ายสีกุก เนื่องจากบริเวณที่เป็นเกือกม้า หรือที่ตั้งของค่ายสีกุกนั้น ตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำน้อย ด้านหน้าค่ายจึงหันหากองทัพพม่า ด้านหลังค่ายจึงประชิดแม่น้ำ นับเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายไทย ซึ่งควรจะตั้งค่ายอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำมากกว่า โดยใช้แนวแม่น้ำน้อยและคลองบางบาลเป็นปราการธรรมชาติ
อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ กล่าวว่า “ตำบลสีกุก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา… เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ด้วยที่ตั้งนั้นอยู่ตรงจุดบรรจบของคลองบางบาล ที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเกาะมหาพราหมณ์ มาบรรจบกับแม่น้ำน้อยที่ไหลมาทางทิศตะวันตกและหักโค้งลงไปทางทิศใต้ โดยมีวัดสีกุก ตั้งอยู่ตรงโค้งเกือกม้าที่คลองบางบาลกับแม่น้ำน้อยมาชนกันพอดี
ดังนั้น ตำบลสีกุก จึงเป็นชัยภูมิเหมาะกับการตั้งทัพรับศึกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือเส้นสำคัญฝั่งตะวันตก ที่ใช้เดินทางไปเมืองสุพรรณบุรี และด้วยเส้นทางของคลองบางบาลกับแม่น้ำน้อยที่มีลักษณะการไหลจากเหนือลงใต้ ทำให้มีภูมิศาสตร์ที่เหมาะจะเป็นปราการป้องกันชั้นดีของกองทัพอยุธยา
เมื่ออ่านเหตุการณ์การปะทะกันที่ตำบลสีกุกในพงศาวดารพม่าอย่างละเอียด จะเห็นว่ากองทัพอยุธยากลับไม่ได้ใช้แนวโค้งเกือกม้าของแม่น้ำน้อยกับคลองบางบาลเป็นปราการชั้นแรกในการรับศึก แต่กลับยกกองทัพข้ามฝั่งแม่น้ำไปตั้งมั่นที่ตำบลสีกุก ทำให้แนวแม่น้ำกลับไปอยู่ด้านหลังของค่าย อีกทั้งยังส่งกองทัพใหญ่ออกไปตั้งรับนอกค่าย ดูคล้ายจะมั่นใจในฝีมือการรบของทหารอยุธยาเป็นอย่างมาก กลายเป็นความประมาทอย่างใหญ่หลวง
เพราะเมื่อกองทัพได้เข้าประจัญบานกันจริง ๆ ทหารอยุธยาสู้ฝีมือและความชำนาญศึกของทหารพม่ามิได้ จึงแตกฉานถอยหนีไป จากนั้นทัพพม่าก็เข้าตีค่ายเมืองสีกุก ซึ่งมีทหารตั้งรับอยู่ภายในค่ายเมืองอีกชั้น ใช้เวลาไม่นานก็สามารถพิชิตค่ายได้สำเร็จ ถ้ารายละเอียดของเหตุการณ์ที่พงศาวดารพม่าเล่าไว้เป็นความจริง ก็นับว่าพระยาปะละ แม่ทัพอยุธยาดำเนินยุทธศาสตร์การตั้งรับได้ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง…”
เมื่อยึดค่ายสีกุกได้ มังมหานรธาไม่ได้ใช้ที่นี่เป็นค่ายใหญ่ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม หลักฐานพม่ากล่าวถึงค่ายวัดสีกุกน้อยมาก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าที่นี่ไม่ใช่ค่ายใหญ่ของมังมหานรธาตามที่หลักฐานไทยมักกล่าวถึง ซึ่งมีเหตุการณ์บางช่วงเวลาที่อาจทำให้ฝ่ายไทยเข้าใจไปว่าที่นี่คือค่ายใหญ่ของมังมหานรธา
อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ วิเคราะห์ว่า เพราะมังมหานรธาใช้ค่ายสีกุกเป็นแหล่งพักพลช้างพลม้าขนาดใหญ่ ในช่วงที่ปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาในฤดูน้ำหลาก คนกรุงศรีอยุธยาจึงอาจเข้าใจเองว่าค่ายสีกุกคือค่ายใหญ่ของมังมหานรธา
แต่ค่ายใหญ่ของมังมหานรธาตั้งอยู่ที่ใด หาคำตอบได้ในบทความ “สีกุก ไม่ใช่ค่ายใหญ่มังมหานรธา และบ้านกานนี ตั้งอยู่ที่ใด?” เขียนโดย อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2564
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564