การปกปิดข้อมูล-กลบเกลื่อนเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ ซาร์นิโคลาสที่ 2 สมัยเป็นรัชทายาท

ภาพชาวญี่ปุ่นพยายามปลงพระชนม์รัชทายาทแห่งรัสเซีย ภาพขยายจากหน้าหนังสือพิมพ์ Le Progrès Illustré (ภาพจากบทความ “การรอดชีวิต” และ “เบื้องหลัง” การลอบปลงพระชนม์ราชวงศ์รัสเซีย คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2552

พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย และพระประยูรญาติถูกปลงพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1918 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัสเซีย ในหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่ไม่เพียงจดจำเหตุการณ์น่าสะเทือนใจในปี 1918 หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น มีอีกเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำ นั่นคือเมื่อครั้งซาร์นิโคลัสที่ 2 เคยถูกลอบปลงพระชนม์ขณะยังเป็นเจ้าชายนิโคลาส อเล็กซานโดรวิช (Nicholas Alexandrovich) หรือซาเรวิตช์ (Tsesarevich of Russia) รัชทายาทแห่งจักรวรรดิรัสเซีย

บทความ “กรุสมบัติซาร์ ลายแทงใหม่ที่ปลายทาง” โดย ไกรฤกษ์ นานา เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2562 บรรยายที่มาที่ไปของเหตุการณ์ไว้ว่า เมื่อปี ค.ศ. 1891 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงใช้ให้ซาเรวิตช์นิโคลาส (ภายหลังเสวยราชย์เป็นซาร์นิโคลาสที่ 2) ในฐานะองค์มกุฎราชกุมาร (ต่อไปจะเรียกว่าสมเด็จพระบรมฯ) เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิดเส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรีย ณ เมืองวลาดิวอสต็อก

กรณีนี้เป็นเหตุทำให้ได้เสด็จฯ ไปเยือนตุรกี อียิปต์ อินเดีย ซีลอน สิงคโปร์ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งสยามด้วย บนเส้นทางไปยังเมืองดังกล่าว

เรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จฯ มายังสยามนั้นปรากฏรายละเอียดที่น่าสนใจในบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี ราชเลขานุการในพระองค์ของซาเรวิตช์นิโคลาส ด้วย แต่ในที่นี้จะเอ่ยถึงเฉพาะเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ที่เกิดขณะเสด็จเยือนญี่ปุ่นเท่านั้น

ไกรฤกษ์ นานา บรรยายเหตุการณ์ตอนหนึ่งไว้ในบทความ “กรุสมบัติซาร์ ลายแทงใหม่ที่ปลายทาง” ใจความส่วนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)


 

การเสด็จมาเยือนกรุงสยามของซาเรวิตช์จะส่งผลดีต่ออนาคตทางการเมืองของไทย ความประทับใจที่พระราชอาคันตุกะได้รับจากที่นี่จะตราตรึงอยู่ในพระราชหฤทัยนานหลายปีนับจากนี้ แต่ความหมายในการมาก็มิได้ถูกใจทุกฝ่ายเสมอไป เจ้าบ้านชาวเอเชียอีกชาติหนึ่งที่ซาเรวิตช์ตั้งพระราชหฤทัยผูกมิตรด้วยกลับมีปฏิกิริยาตรงกันข้าม ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบอย่างรุนแรงต่อการสร้างภาพของชาวเอเชีย จนแขกผู้มาเยือนแทบเอาชีวิตไม่รอดกลับไป

ขบวนเสด็จผ่านดินแดนต่างๆ ไปด้วยความเรียบร้อยและทรงพบการต้อนรับที่ให้เกียรติและประทับใจยิ่ง จนกระทั่งประเทศสุดท้าย ก่อนถึงชายแดนรัสเซีย นั่นคือ “ญี่ปุ่น” วันที่ 15 เมษายน 1891 เรือพระที่นั่งพร้อมขบวนเรือรบคุ้มกันอีก 6 ลำ เข้าเทียบท่า ณ เมืองนาโกชิมา

การเสด็จมาญี่ปุ่นของซาเรวิตช์เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางนานนับเดือนก่อนหน้านี้ โครงการ “เมกะโปรเจ็คต์” ของเส้นทางรถไฟขนาดมหึมาของรัสเซีย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะและผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในคาบสมุทรเกาหลี และจีนแผ่นดินใหญ่ และแน่นอนที่จะทำให้อิทธิพลดั้งเดิมของญี่ปุ่นในภูมิภาคส่วนนี้ของโลกเป็นอันตราย การเยือนของประมุขจากมหาอำนาจยุโรปสร้างความครั่นคร้ามและหวาดระแวงให้มหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างเห็นได้ชัด แต่จะทำอย่างไรได้ในเวลานี้ปัญหาเฉพาะหน้าของญี่ปุ่นก็คือการปิดบังความรู้สึก และการทำใจดีสู้เสือ แต่เหตุการณ์อันเลวร้ายก็เกิดขึ้นจนได้ที่เมืองโอทฉุ (Otsou) นักประวัติศาสตร์เรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า กรณีเมืองโอทฉุ[3]

ในขณะที่พงศาวดารไทย (จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เขียนไว้ด้วยความภาคภูมิใจถึงเกียรติประวัติแห่งการเสด็จมาเยือนกรุงเทพฯ ของซาเรวิตช์ ก่อให้เกิดผลดีต่อสยามประเทศอย่างมหาศาลนั้น

พงศาวดารญี่ปุ่นกลับต้องกลบเกลื่อนความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อราชสำนักรัสเซียตลอดมา แม้พงศาวดารรัสเซียก็ยังปกปิดข้อมูลเหล่านี้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เหตุการณ์โดยละเอียดค้นพบเพียงชิ้นเดียวในเวลานี้ เห็นจะมีก็แต่คำให้การของบุคคลผู้ประสบเหตุเท่านั้น

เจ้าชายอุคทอมสกี (Prince Esper Oukhtomsky) แห่งรัสเซีย สมาชิกท่านหนึ่งในขบวนเสด็จได้บันทึกเรื่องราวการเสด็จเยือนซีกโลกตะวันออกของซาเรวิตซ์ เขียนไว้โดยละเอียดในหนังสือเล่มใหญ่ 2 เล่มคู่ ชื่อ Voyage en Orient de S.A.I. le Césarevitch ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1898 ชี้เงื่อนไขที่ไม่เคยได้รับการอธิบายมาก่อน ดังนี้

“ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่รับรองได้เกี่ยวกับเหตุร้ายและผลที่ติดตามมา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

หลังจากคณะของสมเด็จพระบรมฯ เสร็จสิ้นการเสด็จประพาสทางชลมารคในทะเลสาบบีวา (Biva Lake) แล้ว ทุกคนก็มุ่งหน้าไปยังที่ว่าราชการจังหวัดเพื่อพักรับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมฯ ได้ทรงเล่าถึงความประทับใจที่ทรงได้รับจากการต้อนรับในเกียวโตและโอทฉุ ขอบพระทัยท่านผู้ว่าฯ ที่ต้อนรับอย่างดียิ่ง

เวลา 13.20 น. สมเด็จพระบรมฯ เสด็จสู่เกียวโตตามเส้นทางเดิม ขบวนเสด็จดำเนินกลับเป็นแถวตามกันไป นำคณะโดยอธิบดีกรมตำรวจ ติดตามด้วยอธิบดีกรมวัง ทิ้งระยะห่างออกไปอีก ๕๐ ก้าว ก็เป็นสมเด็จพระบรมฯ ประทับบนรถลาก [ที่เรียกรถเจ๊ก – ผู้เขียน] มีคนลากนำ 1 คน และมีคนดันอยู่ด้านหลังอีก 2 คน

เจ้าชายจอร์จแห่งกรีกประทับบนรถคันหลัง ต่อมาเป็นเจ้าชายอริกูซาวา (Prince Arigousawa) พร้อมด้วยราชองครักษ์กลุ่มหนึ่งถูกส่งมาถวายอารักขาจากสำนักพระราชวัง ตั้งแต่แรกเสด็จมาถึงประเทศนี้ องครักษ์ชุดนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ขบวนรถลากยังติดตามอยู่ด้วยเอกอัครราชทูตรัสเซียและเจ้าชายบาเรียทิงสกี (Prince Bariatinsky) จากนั้นเป็นผู้ตามเสด็จคนอื่นๆ ตรอกที่รถลากผ่านไปนั้นแคบมาก มีความกว้างเพียง 8 ฟุตเท่านั้น นอกจากแคบแล้วยังแออัดด้วยผู้คน คือตำรวจ 2 แถวที่ยืนรักษาการณ์อยู่ ขบวนรถลากซึ่งนั่งได้คันละ 1 คน วิ่งตามกันไปเป็นแถวยาวเหยียดถึง 50 คัน

ชายคนหนึ่งชื่อ ชูดะ ซานโช (Tsouda Santso) ในเครื่องแบบตำรวจ แท้จริงก็คือนักฆ่าเลือดเย็น เขาติดตามคณะของเรามาตั้งแต่ทะเลสาบแล้ว แต่มิได้แสดงพิรุธอะไรให้เห็น เพราะความแน่ใจที่จะพบสมเด็จพระบรมฯ อีกในตอนบ่ายๆ ไม่มีใครสังเกตเห็นความผิดปกติในตัวตำรวจผู้นี้เลย

ทันใดนั้นเมื่อรถลากของสมเด็จพระบรมฯ ผ่านหน้าเขาไป เขาก็กระโดดออกมาจากแถวพลตระเวน แล้วกระชากดาบที่เป็นอาวุธประจำตัวออกมาแล้วกระโดดขึ้นเงื้อดาบฟันลงไปที่พระเศียรของสมเด็จฯ พระบรม ทรงเอี้ยวตัวหลบ อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่พ้นคมมีด ซึ่งกรีดลงบนหน้าผากด้านขวาของพระองค์เป็นแผลขนาด 9 เซนติเมตร

ทันใดนั้นก็ทรงกระโดดลงจากรถทางด้านซ้าย จังหวะนั้นเองเจ้าชายจอร์จแห่งกรีก ซึ่งอยู่ในรถคันหลัง ก็กระโดดลงมาแล้วกระหน่ำตีซามูไรคนนั้นด้วยไม้เท้าที่ทรงถืออยู่ นาทีเดียวกันนั้นคนลากรถก็ได้แสดงความกล้าหาญโดยปรี่เข้ามาชกต่อยนักฆ่าจนเสียหลักล้มลง เจ้าชายจอร์จแห่งกรีกทรงแย่งดาบไปจากมือซามูไร ซึ่งลงไปกองอยู่ที่พื้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 20 วินาที ตำรวจคนอื่นๆ ก็กรูกันเข้ามาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แล้วนำสมเด็จพระบรมฯ ไปยังบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด ทรงฝืนตรัสกับพวกเราว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก นายแพทย์รัมบัค เมื่อมาถึงก็รีบทำแผลให้ทันที ในระหว่างนี้สมเด็จพระบรมฯ ทรงเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ให้ทุกคนฟัง รวมทั้งเจ้าชายญี่ปุ่นที่อยู่ ณ ที่นั้นด้วย

ท่านอัครราชทูตของเรารีบรุดไปดูนักฆ่า ซึ่งบัดนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่ง เขามีสีหน้าเย็นชา ท่านทูตถามคำถามเขา 2-3 คำ เขาก็ตอบคำถามนั้นด้วยดวงตาที่เคียดแค้น

สมเด็จพระบรมฯ เสด็จไปพักอยู่ที่เรือนผู้ว่าฯ ทรงได้รับการต้อนรับอย่างพินอบพิเทาที่นี่ หมอทำแผลให้เป็นครั้งที่ 2 รถไฟขบวนพิเศษถูกจัดเตรียมเพื่อนำเสด็จสู่เกียวโตโดยด่วน แพทย์หลวงประจำคณะซึ่งคอยอยู่บนเรือรบได้รับการติดต่อล่วงหน้าทางโทรเลข ให้เดินทางมาตรวจดูพระอาการและทำแผลเป็นครั้งสุดท้าย

ในวันรุ่งขึ้นคือ 30 เมษายน เราได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ [คือพระเจ้ามัตสุฮิโต – ผู้เขียน] กำลังเดินทางจากโตเกียวมายังเกียวโต เพื่อทรงเยี่ยมซาเรวิตช์ด้วยพระองค์เอง [นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้นคือ นายมัตซูกาตะ มาซาโยชิ ได้ทูลแนะนำให้จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงทราบถึงความร้ายแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยเกรงกันว่าอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลรัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศสงคราม ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีความพร้อมที่จะตอบโต้ จึงได้แนะนำให้จักรพรรดิญี่ปุ่นรีบเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และขอประทานอภัยโทษก่อนที่สถานการณ์จะบานปลาย – ผู้เขียน]

เวลา 11.00 น. องค์จักรพรรดิญี่ปุ่นก็เสด็จฯ มาถึง ท่านทูตไปรับเสด็จที่สถานีรถไฟ มีพระราชดำรัสให้ถวายรายงานเข้าไปยังซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในรัสเซีย ทรงยอมรับว่าวิกฤติการณ์คราวนี้ทำให้เสียพระราชหฤทัยมาก และทรงยืนยันว่าจะประทับอยู่ที่นี่จนกว่าพระอาการของซาเรวิตช์จะดีขึ้น ในวันรุ่งขึ้นจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงเป็นผู้นำเสด็จไปส่งถึงเรือพระที่นั่ง ณ เมืองโกเบ

ตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ 1-13 พฤษภาคม สมเด็จพระบรมฯ ประทับพักฟื้นอยู่บนเรือพระที่นั่ง และมีพระอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ ซาร์ทรงส่งพระราชโทรเลขมาแนะนำให้สมเด็จพระบรมฯ เดินทางกลับทันที จักรพรรดิญี่ปุ่นมีพระราชประสงค์จะเลี้ยงพระกระยาหารมื้อสุดท้ายถวาย ทว่าหมอหลวงกลับไม่แนะนำให้ลงจากเรือพระที่นั่ง แต่ให้ทูลเชิญจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จขึ้นมาบนเรือรบรัสเซียแทน”[7]

นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันวิเคราะห์ว่า การปองร้ายโดยซามูไรญี่ปุ่น ทำให้ซาร์รัสเซียทรงมีทัศนคติไม่ดีต่อรัฐบาลญี่ปุ่นนับจากนั้น พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่ามันเป็นอุบัติเหตุ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นความพยายามฆ่าอย่างอุกอาจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อใดที่ต้องตรัสถึงคนญี่ปุ่น ก็มักจะทรงเรียกว่า “พวกลิง” ทุกครั้งไป ความบาดหมางนี้ยังส่งผลให้พระองค์ตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามกับองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นที่ทรงรู้จักเป็นอย่างดีแบบไม่มีเยื่อใย ใน ค.ศ. 1904

นักประวัติศาสตร์ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นได้หลีกเลี่ยงที่จะจดจำหรือวิพากษ์วิจารณ์กรณีลอบปลงพระชนม์ซาเรวิตช์ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แต่นักวิเคราะห์การเมืองก็มักจะกล่าวถึงโดยไม่ลังเลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้กระทบกระเทือนจิตใจของซาร์นิโคลาสที่ 2 ตลอดมา และเป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้รัสเซียประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1904 สำหรับนักโบราณคดีก็ได้ทำหน้าที่ของตนโดยเก็บหลักฐานผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เช็ดคราบพระโลหิตจากบาดแผลของซาร์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ ณ เมืองโอทฉุ[3]

เพื่อเป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์สมัยซาร์อย่างตรงไปตรงมา ทางการจึงได้จัดแสดงพระภูษาชั้นใน (เปื้อนพระโลหิต) ที่ทรงในวันเกิดเหตุที่ญี่ปุ่น โดยหวังที่จะอธิบายจุดเด่นและจุดด้อยของระบอบซาร์ไปพร้อมๆ กันให้เป็นที่ประจักษ์…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[3] ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5. สำนักพิมพ์มติชน, 2553.

[7] Oukhtomsky, Esper Esperovitch, Prince. Voyage en Orient de S.A.I. le Cesarevitch. Paris, 1898.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2564