ไม้กันหมา หุ้นลม ตั้งบริษัท นั่งตำแหน่งประธาน และการแตกกันของคณะรัฐประหาร 2490

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ภาพต้นฉบับจาก หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2516

พฤศจิกายน 2490 กลุ่มนายทหารนอกประจำการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, น.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร, พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่บริหารประเทศมาได้เพียง 5 เดือน ที่เรียกว่า “รัฐประหาร 2490”

29 มกราคม 2491 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาล พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างรับรอง แต่หลังจากนายควง อภัยวงศ์ บริหารประเทศมาเพียง 1 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานไปอีก 10 ปี

แต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นในกลุ่ม “คณะรัฐประหาร 2490” เรื่องนี้ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เขียนไว้ใน “กำเนิดไม้กันหมาใน”  ซึ่งขอคัดย่อมาเพียงบางส่วนพอสังเขป

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491 ด้วยแนวนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [เทพ โชตินุชิต] เรียกประชุมตัวแทนสมาคมการค้าต่างๆ ขอร้องให้แต่ละสมาคมบังคับสมาชิกให้ลดราคาสินค้าลง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 รัฐบาลก็ประกาศควบคุมราคาสินค้าประเภทอาหาร, วัสดุก่อสร้าง, สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

แต่ปรากฏว่าบรรดาพ่อค้าคนจีนสมัยนั้นยังคงเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายได้ครบถ้วน จึงถูกตำรวจจับกุมและเรียกค่าปรับอย่างเฉียบขาด

ณรงค์ เพชรประเสริฐ เจ้าของหนังสือกลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย สรุปภาพสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้นว่า “ยุคนั้นธุรกิจของคนจีนต้องโดนมรสุมอย่างหนัก ถูกจับกุม จ่ายค่าปรับ ถูกรัฐบาลบังคับให้โอนกิจการ เรียกได้ว่าถูกบีบทุกวิถีทาง ทั้งนี้เพื่อจะให้บรรลุนโยบาย ‘ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น’ จากนี้จึงทำให้พ่อค้าจีนต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดโดยการเข้าหา ‘ผู้มีอำนาจ’ และขอความกรุณาให้ช่วยคุ้มครองกิจการของตนโดยจะคิด ‘ค่าตอบแทน’ ให้ ระบบการ ‘ขายความคุ้มครอง’ จึงได้เกิดขึ้น”

“วิธีการซื้อความคุ้มครองของพวกพ่อค้าจีนเริ่มขึ้นในปี 2495 โดย บริษัท ประกันภัยหัวหิน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 ได้ปฏิรูปกิจการของตน เชิญนายพันตำรวจโท พันศักดิ์ วิเศษภักดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม กรมตำรวจ ไปเป็น ‘ประธานกรรมการบริษัท’ จากนั้น บริษัท เอเซียพลัส ก็ได้เชิญ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ ไปเป็นประธานบริษัทบ้าง และแล้วการเชิญผู้มีอำนาจทางราชการเข้าไปเป็นกรรมการประธานกรรมการก็ได้แพร่หลายในหมู่พ่อค้าชาวจีนอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่จะเข้าไปในฐานะของผู้คุ้มครองอันเสมือน ‘ไม้กันหมา’ ให้กับพ่อค้านักธุรกิจชาวจีนเท่านั้น หากขณะเดียวกันบรรดานายทหารและนายตำรวจอันเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐประหารต่างพากันจัดตั้งกิจการส่วนตัวในลักษณะของบริษัทอภิสิทธิ์ด้วยความคึกคัก”

โดยเฉพาะภายหลังการรัฐประหาร 2490 พ่อค้านักธุรกิจเชื้อสายจีนต้องการให้นายทหารนายตำรวจคณะรัฐประหาร เข้าไปเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการเพื่อเป็นผู้ประกันความปลอดภัยจากการคุกคามของทางราชการโดยการมอบ “หุ้นลม” ให้

นั่นทำให้นักการทหารและนักการเมืองบางคน นอกจากจะถือหุ้นลมแล้วยังได้ก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้น, หรือร่วมทุน ดังนี้

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้แก่ บริษัท กระสอบไทย จำกัด, บริษัท ส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ จำกัด, บริษัท ส่งเสริมปอแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท ค้าไม้ทหารสามัคคี จำกัด ฯลฯ

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้แก่ บริษัท พิทักษ์สามัคคี จำกัด, บริษัท กระสอบไทย จำกัด, บริษัท อาภรณ์พรรณพาณิชย์ จำกัด ฯลฯ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แก่ บริษัท บางกอกเดินเรือและการค้า จำกัด, บริษัท ธัญญะไทย จำกัด ร่วมจัดตั้ง บริษัท บางกอกสหกรรมการค้า จำกัด, บริษัท ไทยทำ จำกัด, บริษัท เหมืองแร่ บูรพาเศรษฐกิจ ฯลฯ

ต่อมาเมื่อแต่ละคนต่างมีหน้าที่ทางราชการเติบโตขึ้น มีผลประโยชน์ที่ทางธุรกิจที่จะส่งเสริมฐานะขยายตัวขึ้น สมาชิกคณะรัฐประหาร 2490 ก็แตกเป็น “กลุ่มซอยราชครู” กับ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” และเริ่มความขัดแย้งที่กินลึกไปในทางการเมืองและทางการทหารอีกด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก

พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์. “กำเนิดไม้กันหมา, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2563.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2564