“วรรนคดีสาร” กับการ “ส้างชาติ” ของ จอมพล ป. ผ่านบทประพันธ์ร้อยแก้ว-ร้อยกรอง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ชม ผลผลิต การเกษตร
จอมพล ป. พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ชื่นชมผลผลิตจากการส่งเสริมที่ดินทำกินการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพของราษฎร

ในสมัยการ “ส้างชาติ” ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้านหนึ่งรัฐได้ส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยอย่างแข็งขัน โดย จอมพล ป. ได้จัดตั้ง “วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 เป็นสมาคมทางภาษาและวรรณคดี ทำการรวบรวมความรู้ด้านภาษาและวรรณคดี และได้ออกหนังสือชื่อว่า “วรรนคดีสาร” เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านภาษา วรรณคดี และวรรณคดีวิจารณ์

เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี และวรรณคดีวิจารณ์ โดยในหนังสือเล่มนี้มีบทประพันธ์ประเภทร้อยกรองมากกว่าร้อยแก้ว แต่หากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วจะพบว่ามีเรื่องของการส่งเสริมนโยบายสร้างชาติ และการสร้างภาพลักษณ์และบารมีของจอมพล ป. ซึ่งมีมากกว่าการส่งเสริมความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีไทย อันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการผลิตหนังสือวรรนคดีสารและการจัดตั้งวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย

“ส้างชาติ”, ชาติไทย, ความเป็นไทย, เชื่อผู้นำ ฯลฯ จึงถูกแฝงและสอดแทรกไปกับอักขระของบทประพันธ์เหล่านี้แทบทั้งหมด

ในหนังสือวรรนคดีสารมีบทประพันธ์ที่กล่าวยกย่องเรื่องการสร้างบารมีของจอมพล ป. หลายด้าน ยกตัวอย่างบทประพันธ์เรื่อง “กตัญญูกตเวที” บทประพันธ์ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ได้กล่าวถึงการสร้างบารมีของจอมพล ป. ในด้านการส่งเสริมฐานะของสตรีไว้ดังนี้

“…จอมพลพิบูลฯ วิริยะมาด   มนะกาดถกนชัย

ผู้ยากลำบากกลประลัย   ก็มิท้อระย่อเกรงฯ

…ผู้มานะมั่นวิริยะกล้า   นิจพาพิบูลผล

มอบไห้ประชานิกรดล   จิตเอื้ออำนวยสันติ์ฯ

…ท่านรักและล้นมุทิตจิต   นิจคิดจะเมตตา

ท่านเปี่ยมมโนจะกรุนา   กิติไห้สตรีผองฯ

ไม่ท้อจะส้างวิริยะกิจ   สุภสิทธิ์จำนงปอง

ยกเกียรติสตรีกิติผยอง   พิสเช่นก็เพ็นแขฯ…”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นอกจากนี้ วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยยังได้จัดประกวดบทประพันธ์ชิงเงินรางวัล โดยมุ่งหมายจะทำให้การประพันธ์ทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สุภาษิต ฯลฯ ได้ “จเรินก้าวหน้าไปทันตาเห็น” ดังเห็นได้จากการที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งคุณภาพของบทประพันธ์ “ก็ดีขึ้นหย่างน่าชื่นชม”

ในหนังสือวรรนคดีสาร ฉบับพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ได้ตีพิมพ์บทประพันธ์ประจำเดือนสิงหาคมที่ได้รับรางวัลของ “คนะกัมการส่งเสริมวัธนธัมภาสาไทย” จำนวน 5 บทประพันธ์ ซึ่งเป็นการนำสุภาษิตไทยมาประพันธ์ ได้แก่ สุภาษิตที่ 1 “มือไม่พาย หย่าเอาเท้าราน้ำ” บทประพันธ์ของ หม่อมหลวง วงสุตม์ธร อิสราภรน์, สุภาษิตที่ 2 “หย่าหมายน้ำบ่อหน้า” บทประพันธ์ของ นายชั้น จิตวิภาต, สุภาษิตที่ 3 “ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน” บทประพันธ์ของ พ.ส.ว., สุภาษิตที่ 4 “หย่าตีงูไห้กากิน” บทประพันธ์ของ พระมหาไพทูรย์ วังน้อย วัดสระเกศ และ สุภาษิตที่ 5 “น้ำขุ่นไว้ไน น้ำไสไว้นอก” บทประพันธ์ของ นางสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา

ซึ่งบทประพันธ์ทั้งหลายนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีแก่ประชาชน และยังสะท้อนแนวคิดการ “ส้างชาติ” ในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จาก สุภาษิตที่ 1 “มือไม่พาย หย่าเอาเท้าราน้ำ” บทประพันธ์ของ หม่อมหลวง วงสุตม์ธร อิสราภรน์ ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญของการ ชาติไทย, การ “ส้างชาติ”, ความเป็นชาติ, ความสามัคคี, การร่วมแรงร่วมใจ ฯลฯ ดังนี้

เมื่อเราลงนาวาฝ่าลมคลื่น   จะราบรื่นแล่นรุดถึงจุดหมาย

ต้องร่วมมือแขงขันช่วยกันพาย   ทั้งหยิงชายหย่าเกี่ยงเลี่ยงมารยา

มือไม่พายหย่าเอาเท้าราน้ำ   ถึงแม้เรือไม่คว่ำก็ช้าล่า

เรือลำอื่นเขาไปไกลลิบตา   แต่นาวาเรายังขืนโต้คลื่นลม

เปรียบจะส้างชาติไทยไห้ไหย่ยิ่ง   ต้องร่วมกันจิง ๆ จึงเส็ดสม

ช่วยกันคิดเหลียวแลแก้เงื่อนปม   ที่ยังด้อยค่อยระดมโดยจิงจัง

หย่าไจเบาเอาแต่ตำหนิว่า   จะเหมือนดังนาวาไม่ถึงฝั่ง

มือไม่พายปากหย่าค่อนทอนกำลัง   อาดพลาดพลั้งเรือจมล้มชาติเอย

บทประพันธ์ดังกล่าวใช้ “เรือ” เป็นสัญลักษณ์แทน “ชาติ” คนพายเรือก็คือคนในชาติที่ต้อง “ร่วมมือแขงขัน” ในการพัฒนาชาติไปสู่ความเจริญ หากไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน และมีคน “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ก็จะทำให้ชาติไม่พัฒนาหรือพัฒนาอย่างเชื่องช้า ชาติอื่นที่เปรียบเป็น “เรือลำอื่น” ก็อาจจะ “ไปไกลลิบตา” ดังนั้น หากจะ “ส้างชาติไทย” จึงต้อง “สามัคคี” ร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งเป็นอีกคุณลักษณะที่รัฐต้องการให้ประชาชนมีสิ่งนี้

สรุปแล้ว หนังสือวรรนคดีสารซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ภาพลักษณ์และบารมีของ จอมพล ป. และสนับสนุนนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมและเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามรัฐนิยมและปฏิบัติตามผู้นำ และหนังสือวรรนคดีสารพยายามชี้ให้คนอ่านเห็นถึงประโยชน์ของการปฏิบัติตามรัฐนิยม โดยพยายามสื่อสารถึงคนอ่านว่าการปฏิบัติตามรัฐนิยมเป็นเรื่องที่สร้างความสุขให้แก่ผู้ปฏิบัติ และยังส่งผลไปสู่การ “ส้างชาติ” ให้เจริญอีกทางหนึ่งด้วย

 


อ้างอิง :

วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย. (พศจิกายน, 2485). บทประพันธ์ที่ได้รับรางวันของคนะกัมการส่งเสิมวัธนธัมภาสาไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2485. วรรนคดีสาร. ปีที่ 1.

เชอร์รี่ เกษมสุขสําราญ. (กรกฎาคม-ธันวาคม, 2555). วรรณคดีสารกับการสร้างภาพลักษณ์และบารมีของผู้นำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม. วารสารมนุษยศาสตร์. ปีที่ 19 : ฉบับที่ 2.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2564