ซุบซิบนินทาในสังคมศักดินา เมื่อไพร่นินทาเจ้า พระภิกษุนินทาพระนารายณ์

(ภาพประกอบเนื้อหา) ชาวบ้านมารับเสด็จรัชกาลที่ 5 ณ วัดป่าโมก เมืองอ่างทอง

ในสังคมไทยในอดีต พระมหากษัตริย์หรือบุคคลต้องยอมจำทนเพื่อยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่ามีบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้กระทำสามารถทูลทัดทาน ซึ่งถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เหตุที่ผู้ปกครองมีพระราชอำนาจมาก อาจจะสามารถกระทำความผิดได้ และเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิด จึงได้ตราบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการยับยั้งการใช้พระราชอำนาจของพระองค์

ดังนั้น ข้าราชการโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งที่ใกล้ชิด ต้องมีสิทธิ์ที่จะว่ากล่าวตักเตือน คัดค้าน หรือทัดทานการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือพระราชโองการที่ไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ แม้จะเป็นการหมิ่นประมาทพระราชโองการ หรือติเตียนว่ากล่าวพระมหากษัตริย์ แต่หากเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการนินทาพระมหากษัตริย์ ก็มีแนวคิดว่าหากกษัตริย์มิได้ยินด้วยพระองค์เองก็ไม่ควรจะถือสาหาความกัน ดังปรากฏในเรื่องพระภิกษุนินทาพระเจ้าแผ่นดิน เล่าถึงว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชโองการให้อำมาตย์มาถามพระพรหม (อาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ว่าพระสงฆ์วัดวังไชยนินทาพระเจ้า (หมายถึงพระมหากษัตริย์) ว่าพระเจ้ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน และพระเจ้าให้ขับออกไปนั้นชอบหรือไม่

พระพรหมเห็นว่าการที่สงฆ์นินทาพระมหากษัตริย์ย่อมไม่ชอบ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ยินด้วยตนเอง อย่าไปถือสาหาความ เพราะคนอื่นที่มาเล่าหรือพูดต่อนั้นอาจจะคิดประจบประแจงหรือหวังผลประโยชน์

“ถ้าข้าหลวงได้ยินนั้นกูว่าด้วยมิได้ เกลือกมันจะใคร่ได้ยศฐานันดรศักดิ์เจียดเงินพานทอง แลมันเอามาเท็จมาทูล มันจะทำให้พระเจ้าได้บาป ทั้งกูผู้หลงนี้ก็จะได้บาป พระเจ้าก็มิได้ยิน กูก็มิได้ยิน แลกูจะว่าด้วยมิได้ แลกฎหมายเอาคำกูไปกราบทูลแก่พระเจ้าว่าถูกระนี้เถิด”

รวมถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก็ทรงไม่ถือเอาโทษผู้ที่นินทา เพราะถือว่าย่อมเป็นเรื่องไม่มงคลต่อผู้พูดเอง ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 เรื่องตั้งพันปากพล่อย ว่า มีอ้ายกรุดไปพูดจาว่าในหลวง จากนั้นมีคนนำไปพูดลือกันต่อว่าพระองค์ทรงตั้งให้อ้ายกรุดนี้เป็นพันปากพล่อยเหมือนดังที่เคยมีการตั้งพันสีพันลาในสมัยธนบุรี จึงประกาศว่าทั้ง 2 อย่างนั้นไม่เหมือนกัน อย่าให้คนเชื่อเรื่องนี้

“มีพระบรมราชโองการดำรัสอ่อน ๆ ออด ๆ ว่าใครว่าในหลวงตั้งอ้ายกรุดปาราชิก เป็นพันปากพล่อยเหมือนขุนหลวงตากตั้งพันสีพันลาดังนี้ ว่าไม่ถูกไม่เหมือนเลย ใครอย่าเชื่อคำนั้นว่าถูกจริง…”

และอธิบายถึงเหตุที่ตั้งอ้ายกรุดเป็นพันปากพล่อยว่า

“…ก็อ้ายกรุดนี้มันพูดไม่เกรงใจใครเหมือนบ้า มันได้ยินได้เห็นอะไร ก็พูดไม่มีประมาณ ในหลวงจึงตั้งให้เป็นอ้ายพันปากพล่อยตามที่มันที่ได้เป็นบ้านั้น แลมันว่าอะไร ในหลวงก็ไม่เอาเป็นจริงนัก เอาแต่ที่มีสลักสำคัญจริง ๆ สำคัญ ๆ เหมือนอ้ายกรุดว่า มหาขำเป็นปาราชิก ในหลวงก็ไม่เอา ว่าพระประดิษฐ์นิเวศน์ทำอะไร พูดอะไรประหลาด ๆ ก็ไม่เอา ว่าใครหยาบช้าต่อในหลวง ก็ไม่เอา ว่าปลัดกรมเปรมดูถูกหม่อมเจ้าเกียรติคุณ ก็ไม่เอา ว่าหลวงพัสดีพึ่งปล่อยเชิงลาคนคุกที่มีบรรดาศักดิ์ ก็ไม่เอา อื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ก็ไม่เอา

มหาขำแลพระประดิษฐ์นิเวศน์แลปลัดกรมเปรมแลคนอื่น ๆ จะต้องว่าในหลวงไม่เป็นเหมือนขุนหลวงตาก เถียงคนที่ว่าอย่างนั้นบ้าง เรื่องอ้ายผลปาราชิกหลวงเสน่ห์สรชิตเข้ากับผู้ร้ายลักพระแสง เรื่องพระมหาเทพเฆี่ยนอ้ายจางวางพม่าว่ามาเข้าเฝ้า เรื่องพระยาศรีสหเทพฉ้ออิฐ สืบได้จริง ได้สลักสำคัญ แม่นยำจริงเอาเป็นคดีชำระ ก็พระยาศรีสหเทพและพระมหาเทพนี้ในหลวงยังเห็นแก่หน้า ยังเลี้ยงอยู่ไม่เอาโทษ เหมือนอ้ายผลแลหลวงเสน่ห์สรชิตนั้น จะต้องมีความกตัญญูรู้บุญคุณต่อในหลวงบ้าง จึงจะเป็นมงคล คนที่นินทาในหลวงผิด ๆ ไม่เป็นมงคล มาหลายท่านหลายนายแล้ว…”

เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยดั้งเดิม แม้จะอยู่ภายใต้ระบบศักดินาที่ชีวิตของผู้คนมีความแตกต่างกันมากในเรื่องชนชั้น แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงถูกประชาชนนำไปพูดวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทา แม้ว่าจะเป็นการพูดข่าวลือที่ไม่จริง แต่พระมหากษัตริย์กลับทรงไม่ลงโทษและทรงประกาศอธิบายข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องราวที่เป็นความจริง

แนวปฏิบัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวคิดทางพุทธศาสนาในสังคมไทย ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับการยึดถือในชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะเรื่อง “ขันติ” ที่ผู้ปกครองต้องมีความอดทนอดกลั้น หรือหลัก “อุเบกขา” ในพรหมวิหาร 4 ว่าด้วยความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียง ด้วยชอบหรือชัง ความวางใจเฉยได้ไม่ยินดียินร้าย

เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น ดังเช่นเหตุการณ์ในพุทธศาสนาที่มีนางจิญจมาณวิกากล่าวร้ายใส่ความพระพุทธเจ้า โดยใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยวิธีระงับพระทัย

­­­­­­­­­สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ซุบซิบนินทาในสังคมศักดินา : เสรีภาพหรือเรื่องต้องห้าม” เขียนโดย คทาพล ตรัยรัตนทวี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2564