ชาวเขากับการขุดหา “สมบัติใต้ดิน” ที่แหล่งโบราณคดีอมก๋อย

แหล่งโบราณคดีหรือสุสานที่มีลักษณะเป็นวงกลม ในภาพจะเห็นแนวร่องที่ถูกขุดอ้อมเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ตรงกลางวงกลมจะพบโบราณวัตถุและกระดูกถูกฝังอยู่

อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ทำให้ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งชาวบ้านชาวเขาในพื้นที่เลือกที่จะละทิ้งเรือกสวนไร่นา เข้าป่าเพื่อขุดหาโบราณวัตถุขาย “สมบัติใต้ดิน” ที่ถูกฝังมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าอาชีพดั้งเดิมของพวกเขาเสียอีก

สุรพล ดำริห์กุล ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีที่อมก๋อยได้อธิบายว่า การแสวงโชคขุดโบราณวัตถุขายเพิ่งจะมีขึ้นในช่วง พ.ศ. 2527 ซึ่งเริ่มมาจากการแสวงโชคที่จังหวัดตาก พบโบราณวัตถุจำพวกเครื่องปั้นดินเผาที่มีสภาพสมบูรณ์สวยงามหลายรูปแบบ จนเมื่อการแสวงโชคในจังหวัดตากลดน้อยลง ชาวเขากลุ่มหนึ่งที่เคยไปแสวงโชคที่จังหวัดตาก จึงได้ขยายอาณาเขตขุดค้นทำมาหากินในเขตรอยต่อจังหวัดตากกับจังหวัดเชียงใหม่ จนพบแหล่งโบราณคดีและเริ่มขึ้นที่บ้านแม้วเทย ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

นับแต่นั้นมา อมก๋อยก็กลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ของนักแสวงโชค

นักโบราณคดีประสบปัญหาในการเข้าไปยังพื้นที่ ทั้งจากเส้นทางที่ทุรกันดาร ขาดความร่วมมือ และประสบการณ์ในการเข้าถึงแหล่งโบราณคดี เมื่อนักโบราณคดีไปถึงแหล่งโบราณคดี ก็มักพบว่าถูกขุดจนพรุนไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม สุรพล ดำริห์กุล และคณะสำรวจ ลงพื้นที่สำรวจและได้พบข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่อมก๋อย

บริเวณที่พบโบราณวัตถุนั้นกระจายอยู่ทั่วไปตามเนินเขาในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านแม้วแม่เทย บ้านเมืองตื่น ตําบลแม่ตื่น บ้านมูเซอหลังเมือง ตําบลม่อนจอง บ้านแม่ลาน บ้านตุงลอย บ้านดอยบ่อแก้ว ตําบลอมก๋อย บ้านยางหลังป่าข่า บ้านอมแรด บ้านแม่แฮ ตําบลยางเปียง เป็นต้น

แหล่งโบราณคดีหรือสุสานแบบวงกลมขนาดย่อมที่เห็นเป็นแนวในภาพหลังบุคคล

จากการสำรวจและสอบถามจากกลุ่มผู้ขุดโบราณวัตถุ กล่าวว่า บริเวณที่พบโบราณวัตถุนั้นมีลักษณะเป็นสุสาน ซึ่งจะพบว่าในแต่ละหลุมที่ขุดนั้นจะพบทั้งหลุมแบบที่ฝังทั้งโครงกระดูกร่วมกับโบราณวัตถุ และฝังหม้อกระดูกร่วมกับโบราณวัตถุอื่น ๆ โดยสุสานส่วนใหญ่จะมีหลุมฝังเป็นจำนวนมาก และมักพบว่ามีส่วนสัมพันธ์กับซากวัดร้างตามยอดเนินเขา ชาวบ้านเรียกสุสานเหล่านี้ว่า “ป่าเห้วลัวะ” (คำว่า “ป่าเห้ว” ภาษาคำเมืองหมายถึง ป่าช้า, คำว่า “ลัวะ” หมายถึงชาวลัวะหรือละว้า กลุ่มชนสมัยโบราณในพื้นที่อมก๋อย ซึ่งคำว่า อมก๋อย มีที่มาจากภาษาลัวะ จากคำว่า อำ-กอย หมายถึง ต้นน้ำหรือขุนน้ำ)

สุรพล ดำริห์กุล อธิบายสรุปเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีหรือสุสานที่ฝังโบราณวัตถุเหล่านี้ ซึ่งสามารถจําแนกให้เห็นได้อยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้

“ลักษณะแรก แหล่งโบราณคดีหรือสุสานชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นวงกลม กล่าวคือ พื้นดินจะถูกขุดเป็นร่องกว้าง พูนดินขึ้นมาทั้งสองข้างในรูปวงกลม ตรงกลางจะเป็นที่ฝังโบราณวัตถุตลอดจนภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก เส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลมนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 7 เมตร จนถึงใหญ่สุดร่วม 25-30 เมตร ลักษณะของแหล่งโบราณคดีดังกล่าว คณะสำรวจของเราได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบ และขุดหลุมทดสอบในเวลาอันรวดเร็วจากหลุมขนาดเล็กสุดที่ชาวบ้านหลงเหลือไว้ในเขตบ้านยางหลังป่าข่า ตำบลยางเปียง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวอำเภออมก้อยไปในทางทิศใต้

แหล่งดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณคดีหรือสุสานชนิดวงกลมขนาดใหญ่ บนยอดเนินเขาเป็นซากวัดร้างที่ถูกไถทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุจนเกลื่อนไปหมด ถัดลงมาตามลาดเชิงเขาทางทิศเหนือและใต้ จะพบมีสุสานที่ถูกขุดเป็นร่องวงกลมขนาดใหญ่น้อยมากมายอยู่ติด ๆ กันไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง ชาวบ้านกล่าวว่าในเนินเขาถัดไปที่มีลักษณะสุสานเช่นนี้อีก 2-3 กลุ่มเช่นกัน รวมทั้งในเขตตำบลอื่น ๆ อีกด้วย หลุมดังกล่าวส่วนใหญ่จะขุดพบโบราณวัตถุร่วมกับใหบรรจุกระดูก

ลักษณะที่สอง เป็นหลุมศพหรือสุสานที่ตั้งอยู่ตามลาดชะโงกเขา ลักษณะของหลุมสุสานชนิดนี้มักจะพบอยู่ในภูมิประเทศที่ลาดจากยอดเขาลงมา และที่ลาดเขานั้นจะมีลักษณะพิเศษเป็นชะโงกเงื้อมยื่นออกมา แบบที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “กิ่ว” หลุมที่พบฝังโบราณวัตถุจะพบกระจายอยู่ทั่วไปบนลาดชะโงกเขานี้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งพอจะสังเกตได้จากรอยยุบของดินเป็นรูปหลุมรี ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของดินที่เคยถูกขุดมาก่อน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ ที่แหล่งโบราณคดีแบบนี้เองที่กล่าวกันว่า มักจะพบมีโครงกระดูกฝังร่วมกับโบราณวัตถุเป็นบางหลุม และบางหลุมก็พบเพียงหม้อบรรจุกระดูกร่วมกับโบราณวัตถุอื่น ๆ

ลักษณะที่สาม ที่ตั้งของสุสานหรือแหล่งโบราณคดีแบบนี้จะคล้ายกับลักษณะที่สอง เพียงแต่ว่าสุสานแบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากรอยยุบของดิน แต่บางครั้งจะมีก้อนหินปักวางอยู่บนหลุมเป็นเครื่องหมาย แต่ก็ไม่เสมอไป การค้นพบแหล่งโบราณวัตถุประเภทนี้มักจะพบได้ด้วยการขุดหาจากประสบการณ์และบางกลุ่มใช้เครื่องมือตรวจสอบหาโลหะเป็นเครื่องชี้นำ”

เป็นที่รู้กันของชาวเขาในอมก๋อย โดยเฉพาะคนแก่คนเฒ่าว่าบริเวณเนินเตี้ย ๆ เป็นสุสานเก่าแก่มาก่อน บางเนินมีสัญลักษณ์เป็นหลักหินปักอยู่ บางเนินก็ไม่มี แต่ชาวเขาสังเกตได้ด้วยจากประสบการณ์ว่าเนินเขาเหล่านี้ไม่ใช่เนินเขาธรรมชาติ หากขุดลงไปก็จะพบโบราณวัตถุ

ภาชนะดินเผา โบราณวัตถุที่อมก๋อย

สุรพล ดำริห์กุล ตั้งข้อสังเกตจากการลงพื้นที่สำรวจว่า แหล่งโบราณคดีที่อมก๋อยมีความเกี่ยวข้องกับหลุมฝังศพของมนุษย์ในช่วงระยะเวลาที่ไม่ใหม่ไปกว่าสมัยล้านนา และโดยเฉพาะที่เมืองตื่นหรือบ้านแม่ตื่น พบว่าเป็นชุมชนมาแต่โบราณ มีซากวัดกระจายอยู่โดยทั่ว น่าจะมีความสัมพันธ์และเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เป็นเจ้าของสุสานเหล่านั้น

สำหรับโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบมีทั้งเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ชนิดที่ไม่เคลือบมีตั้งแต่ หม้อ ไห คนโท ชนิดที่เคลือบมีทั้งผลิตจากเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง และเตาจากแหล่งสุโขทัยก็พบเช่นกัน รวมทั้งเครื่องเคลือบจากจีนและอันนัม (เวียดนาม) และยังพบโบราณวัตถุอื่นอีก เช่น อาวุธสำริด หอก ดาบ กลองมะโหระทึก กำไลสำริด ต่างหูสำริด เต้าปูนสำริด เบี้ยจั่น ลูกปัดหิน ฯลฯ

ภุชชงค์ จันทวิช เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ซึ่งเคยลงพื้นที่สำรวจแหล่งโบราณคดีที่อมก๋อย ได้สอบถามชาวมูเซอที่บ้านมูเซอหลังเมือง ทำให้ทราบข้อมูลว่า รายได้หลักนอกจากการทำการเกษตรต้องห้ามแล้ว ก็จะปลูกกาแฟ ละหุ่ง ข้าวโพด แต่รายได้สำคัญยังได้มาจาก “สมบัติใต้ดิน” จำพวกเครื่องกระเบื้อง บางแหล่งสามารถขุดโบราณวัตถุได้จำนวนหลายพันชิ้น ได้ราคาขายส่งแหล่งละ 5-6 แสนบาท

ภุชชงค์ จันทวิช เล่าว่า “การขุดที่อมก๋อยชนกลุ่มน้อยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ราว 50 คน กลุ่มย่อยมีประมาณกลุ่มละ 8-10 คน อุปกรณ์การขุดได้แก่เหล็กแหลมยาวประมาณ 70 เซนติเมตร จอบและเสียม ซึ่งชาวเขามูเซอเป็นผู้ทำเองในหมู่บ้าน การซื้อขายนั้นจะมีหัวหน้ากลุ่มและขายพร้อมกันหมด เลือกชิ้นไม่ได้เรียกว่าขายรวมกอง เพื่อจะไปหารกับจำนวนคนขุดในกลุ่ม…

การขุดนั้นจะออกเดินทางแต่ตอนเช้า หลังจากการเลี้ยงข้าวหมูแล้ว จะกลับมาอาบน้ำตอนพลบค่ำ จะส่งขายกับพ่อค้าคนกลางตอน 3-4 ทุ่ม พ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่จะไปจากจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย เงินที่ได้จะนำไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับดำรงชีพและเครื่องบรรเทาความทุกข์ เช่น ทีวีและวีดีโอ ซึ่งขณะนี้ (พ.ศ. 2528) ในหมู่บ้านมีอยู่ 2 เครื่องรับชัดเจนแจ่มใสดีครับ ก็เป็นหมู่บ้านพัฒนามูเซอ ต้องมีกันบ้าง…”

กระนั้น เราไม่อาจตำหนิเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วได้ เพราะการลักลอบขุดโบราณวัตถุขายเป็นปัญหาที่ “ปลายน้ำ” ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากปัญหา “ต้นน้ำ” จากหลายเรื่อง เช่น การศึกษา, เศรษฐกิจ, การคมนาคม ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้าถึงบริการจากรัฐ อย่างทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน

จานลายนกกา เป็นลายพิเศษที่พบมากจากหมู่บ้านมูเซอหลังเมือง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจานจากเตาเผาเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ด้านข้างสูง 4.5 เซนติเมตร

ภุชชงค์ จันทวิช กล่าวว่า “ที่นี้หันมาดูเรื่องกฎหมายสำหรับคนอยู่ ในเมืองกันบ้างว่ามันยังไงกันแน่ ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า พระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 24 ว่าไว้ว่า

‘โบราณหรือศิลปวัตถุที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้ง ณ ที่ใด ๆ โดยพฤติกรรมซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าที่ซึ่งซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งไว้จะอยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือความครอบครองของบุคคลใดหรือไม่ ให้ตกเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ผู้เก็บต้องส่งมอบพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วมีสิทธิจะได้รับรางวัลหนึ่งในสามแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น’

ปัญหาจากความจริงมีอยู่ว่า คนเก็บได้หรือคนขุดได้นั้นเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีบัตรประจำตัวหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นเพียงชาวป่าอยู่กันแบบบรรพชนดึกดำบรรพ์ และบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงและมีจริง ๆ’ แล้วจะพูดกันเรื่องกฎบัตรกฎหมายกันรู้เรื่องหรือ?

ความยุติธรรมกับคนเหล่านี้ เรามีพร้อมแล้วหรือยัง?”


อ้างอิง :

ภุชชงค์ จันทวิช. (กรกฎาคม, 2528). อมก๋อย : ปัญหาสุดท้ายของประวัติศาสตร์ล้านนา. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 : ฉบับที่ 9.

สุรพล ดำริห์กุล. (กันยายน, 2528). สุสานนิรนามที่อมก๋อย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2564