เด็กไทยถามอะไร นักบินอวกาศอะพอลโล 11 มนุษย์โลกชุดแรกผู้เยือนดวงจันทร์

(จากซ้าย) นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และเอดวิน อัลดริน  มนุษย์โลกกลุ่มแรกผู้สำรวจดวงจันทร์ (ภาพจาก Nasa photo)

วันที่ 20 กรกฎาคม 2512 ยานอวกาศ “อะพอลโล 11”  ลงจอดบนดวงจันทร์ ลูกเรือทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง, เอดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ ออกจากยานดังกล่าวลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์  โดยอาร์มสตรองเป็นมนุษย์คนแรกที่ลงมาประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์

ปลายเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกันนั้น นักบินอวกาศทั้ง 3 เดินทางมาเมืองไทย มีผู้แทนนักเรียนไทยจากโรงเรียนจิตรลดา, โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนวชิราวุธ และผู้แทนชุมนุมวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีโอกาศได้พูดคุย สอบถามเรื่องที่พวกเขาสงสัย มาดูกันว่า นักเรียนไทยเมื่อ 50กว่าปีก่อนถามอะไร? และคำตอบเป็นอย่างไร คำถามคำตอบใดตรงกับใจท่านผู้อ่านบ้าง

ดร.ระวี ภาวิไล และ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “การสนทนากับนักบินอวกาศ” ดังนี้

1. คำถามของโรงเรียนจิตรลดา ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ถาม “นีล อาร์มสตรอง” ว่า รอยเท้าของนักบินอวกาศที่เหยียบลงบนดวงจันทร์ ทําไมจึงลึกไม่เท่ากัน นั่นแสดงว่าความหนาของผู้นบนพื้นผิวไม่เท่ากันใช่ไหม พอจะบอกได้หรือไม่ว่าภายใต้ผนพื้นหินเป็นอย่างไร

นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า โดยทั่วไปบริเวณ ที่ยานอะพอลโล 11 ไปลงในทะเลแห่งความสงบ รอยเท้าที่ปรากฏบนพื้นลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร นอกจากบริเวณขอบหลุม ซึ่งอาจลึกลงถึง 10 เซนติเมตร รอยเท้าบนฝุ่นมีขอบที่คม ที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นวาา เป็นฝุ่นละเอียดที่จับกันแน่นพอสมควร นักวิทยาศาสตร์เยอรมันผู้ชํานาญในเรื่องนี้คาดว่า รอยเท้าเช่นนี้คงจะเป็นรอยติดอยู่ไปประมาณ 10-15 ล้านปี นอกจากจะมีผู้อื่นไปย่ำลบเสียก่อน

2. คำถามของโรงเรียนสิรินธร ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนสิรินธร ถาม เอควิน อัลดริน ว่า ศูนย์อวกาศที่ฮูสตัน ควบคุมบังคับยานอวกาศอย่างไร และที่เรียกว่า ควบคุมบังคับด้วยมือ นั้นทําอย่างไร

เอดวิน อัลดริน ตอบว่า คําถามนี้น่าสนใจมาก สําหรับคําถามตอนแรก ศูนย์อวกาศที่ฮูสตันในรัฐเท็กซัสรับช่วงคุมยานอวกาศจากแหลมเคนเนดี เมื่อยานอวกาศเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยเรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์อวกาศควบคุมบังคับยานอวกาศโดยวิธีการ สื่อสารสองระบบด้วยกัน คือ อาจส่งคําสั่งเป็นคําพูดทางวิทยุไปยังนักบินอวกาศให้ปฏิบัติตาม หรืออาจส่งสัญญาณคําสั่งไปกับคลื่นวิทยุไปสู่อุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ให้แปรเป็นการเคลื่อนไหวของกลไกต่างๆ ในยานอวกาศโดยตรงที่เกี่ยวได้

ทางด้านยานอวกาศนั้น ก็จะส่งข่าวสารเกี่ยวกับสภาพของยานอวกาศเองกับสภาพแวดล้อม ลงมายังศูนย์อวกาศภาคพื้นดินตลอดเวลา เพื่อว่าเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะได้ตรวจสอบความปลอดภัยของยานอวกาศ และดําเนินการแก้ไขทันท่วงที ถ้าหากว่าจะมี ความบกพร่องเกิดขึ้น

ในการเดินทางออกสู่อวกาศแต่ละครั้ง ได้มีการวางแผนการดําเนินงานเป็นขั้นๆ อย่างละเอียดทีเดียวว่า นักบินอวกาศและยานอวกาศจะต้องดําเนินการอะไรบ้างเป็นลําดับไป ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร ทางศูนย์อวกาศก็จะแจ้งให้นักบินอวกาศ ทราบล่วงหน้าโดยทางวิทยุ

สําหรับคําถามเรื่องการควบคุมบังคับยานอวกาศด้วยมือ (manual control) ขอตอบว่า ยานอวกาศมีการเคลื่อนไหวอยู่สองจําพวกด้วยกัน คือการเปลี่ยนทิศทางของการเคลื่อนที่ และการลดหรือเพิ่มความเร็ว การเปลี่ยนทิศทางนั้น กระทําโดยแรงขับดันของจรวดขนาดเล็ก ควบคุมโดยกลไกอัตโนมัติ สําหรับการเพิ่มหรือลดความเร็วใช้จรวดแรงขับดันสูง เช่น ในขณะเมื่อยานอวกาศจะผละจากวงทางโคจรรอบโลก เข้าสู่วงทางโคจรมุ่งสู่ดวงจันทร์ การเดินเครื่องและหยุดเครื่องจรวดทําด้วยกลไกอัตโนมัติซึ่งมีความแม่นยําสูง

อย่างไรก็ตาม ถ้าประสงค์นักบินอวกาศก็อาจเข้าควบคุมการนี้โดยตนเองได้ โดยมีที่บังคับจัดไว้ในยานอวกาศ ในการลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ นักบินอวกาศอาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกอัตโนมัติโดยตลอด แต่ตามที่เป็นจริงในการเดินทางของอะพอลโล 11 อาร์มสตรองได้เข้าควบคุมด้วยมือเองโดยรับช่วงจากกลไกอัตโนมัติ เมื่อยานอีเกิลอยู่สูงจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 เมตร และได้นํายานอวกาศล่องพ้นจากบริเวณซึ่งมีก้อนหินขรุขระไปหาที่ซึ่งราบเรียบกว่า และนํายานอวกาศลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์โดยปลอดภัย ด้วยการควบคุมบังคับด้วยมือ (manual control)

3. คําถามของโรงเรียนวชิราวุธ ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธถาม ไมเคิล คอลลินส์ ว่า ฟิล์มถ่ายรูปที่ใช้ต้องทําพิเศษเพื่อให้ทนต่อความร้อนใช่ไหม

คอลลินส์ ตอบว่า ในการเดินทางไปดวงจันทร์โดยยานอะพอลโล 11 ครั้งนี้ ต้องประสบสภาพที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ขณะที่ยานอวกาศกลับลงมาสู่ผิวโลก ผิวนอกของยานอวกาศมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 5000 องศาฟาเรนไฮด์ (ประมาณ 2760 องศาเซนติเกรด) เพราะการขัดสีกับบรรยากาศทําให้ความเร็วลดช้าลง พลังงานความเร็วเปลี่ยนไปเป็นความร้อน

และบริเวณพื้นผิวดวงจันทร์ด้านสว่างอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 250 องศา ฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 120 องศาเซนติเกรด) บริเวณด้านมืด อุณหภูมิต่ำประมาณ – 250 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ – 155 องศาเซนติเกรด) ก้นหลุมบนดวงจันทร์ อุณหภูมิสูงกว่า 250 องศาฟาเรนไฮต์อีก เพราะความร้อนและแสงซึ่งสะท้อนไปมาภายในหลม ด้วยเหตุนี้ ในการเดินทางไปดวงจันทร์ครั้งที่แล้ว นักบิวอวกาศจึงยังไม่ลงไปในบริเวณหลุม

ยานอวกาศก็ดี กล้องถ่ายรูปก็ดี ได้ถูกอาบไว้ด้วยสิ่งป้องกัน และสะท้อนความร้อน ฉะนั้นภายในกล้องถ่ายรูปอุณหภูมิก็ปกติธรรมดา ฟิล์มถ่ายรูปที่ใช้ก็เป็นฟิล์มธรรมดา มิได้ทําขึ้นเป็นพิเศษ

4. คําถามของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถาม นีล อาร์มสตรอง ว่า เมื่อท่านถูกกักตัวไว้หลังจากเดินทางกลับมาแล้วนั้น น้ำที่ท่านอาบ และของแข็งของเหลวที่ขับถ่ายออกจากร่างกายถูกเก็บเอาไปตรวจ หรือปล่อยทิ้งไปอย่างไร

นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า การตรวจสอบทางการแพทย์ที่กระทำต่อนักบินอวกาศ ซึ่งกลับมายังโลก ในระยะต้นนั้น เพ่งเล็งตรวจสอบทางด้านสุขภาพจิตเป็นข้อสําคัญ เพื่อจะศึกษาดูว่า การออกไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ในอวกาศเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนานนี้ จะมีผลประการใดต่อจิตใจของนักบินอวกาศบ้าง ผลนี้จะได้นําไปพิจารณาปรับปรุงการเดินทางสู่อวกาศในคราวต่อ ๆ ไป

สําหรับการขับถ่ายของแข็งของเหลวจากร่างกายนั้น ปรากฏว่าในระยะ 2-3 วันแรก หลังจากกลับมาถึงโลก มีความผิดปกติอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้น ทุกอย่างก็กลับคืน สู่สภาพปกติ

5. คําถามของผู้แทนชุมนุมวิทยาศาสตร์ฯ ผู้แทนชุมนุมวิทยาศาสตร์ ถามเอดวิน อัลดริน ว่า การทดลองเกี่ยวกับลมสุริยะได้ผลอย่างไร ลมสุริยะมีอันตรายอย่างไร และทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนผิวดวงจนทร์ได้หรือไม่

อัลดริน ตอบว่า ดวงอาทิตย์มิได้ส่งแต่พลังงานแสงสว่างและความร้อนออกมาเท่านั้น ยังมีพลังงานอื่น และอนุภาคบางชนิด ที่เรียกว่า อนุภาคลมสุริยะ หรือลมสุริยะ มาด้วย การทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์จะวัดปริมาณของอนุภาพเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ กําหนด โดยทําแผ่นโลหะคล้ายจอภาพยนตร์เล็กๆ ไปวางตั้งไว้บนดวงจันทร์ ให้หันรับอนุภาคจากดวงอาทิตย์ เมื่อกลับมายังโลกก็นําแผ่นโลหะนี้มาด้วย ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์กําลังศึกษารายละเอียดอยู่

ผลที่ทราบในขั้นแรก อยู่ในเกณฑ์ที่นับว่าการทดลองได้ผล กล่าวคือ ที่แผ่นนี้มีอะตอมของฮีเลียม นีออน อาร์กอน คริปตอน และซีนอน ซึ่งดวงอาทิตย์ส่งมา ติดอยู่ ธาตุนี้เป็นธาตุที่ไม่รวมตัวกับธาตุอื่นง่าย ๆ

ลมสุริยะไม่มีอันตรายต่อนักบินอวกาศ หรือยานอวกาศแต่อย่างใด และอนุภาคเหล่านี้ไม่สามารถจะทะลุผ่านแม้แต่แผ่นโลหะบาง ๆ หรือชุดอวกาศได้

6. คําถามจากนักเรียนผู้นั่งฟังการสนทนา ขอถาม นีล อาร์มสตรอง ว่า เพราะเหตุใดท่านจึงได้อยากเดินทางไปสู่ดวงจันทร์

นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า เด็กจํานวนมากในทุกยุคทุกสมัย ได้ เคยเฝ้ามองดวงจันทร์ และเคยใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปถึงดวงจันทร์มาแล้ว ข้าพเจ้าเองนั้นเมื่อเป็นเด็กเล็กเท่ากับผู้ถาม ก็ได้เคยมีความใฝ่ฝันเช่นนี้ ข้าพเจ้าบังเอิญโชคดีที่ได้ทำความฝันนี้ให้แป็นผลสำเร็จ เพราะในปัจจุบันความเจริญทางวิชาการมีมากพอถึงขั้นสร้างจรวดเป็นพาหนะเดินทางไปถึงและกลับม่ได้ และมีผู้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไป

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เมื่อเด็กๆ อายุเท่าผู้ถามได้เติบโตขึ้นจนอายุเท่าข้าพเล้ว เชื่อว่าคงจะมีเด็กเหล่านั้นหลายคน ที่จะได้ก้าวลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์แน่

 


ข้อมูลจาก ดร. ระวี ภาวิไล, ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต. “การสานทนากับนักบินอวกาศ” ใน, วารสารวิทยาศาสตร์  ปีที่ 23 เล่มที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรก 8 มกราคม 2564