นำ “รูปหวิว” มาใช้ในสงครามจิตวิทยา สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผลจริงหรือ?

ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตกแต่งกราฟฟิกเพิ่มเติม)

“เจอสายตายั่วยวนของสาวผมบลอนด์เข้าไปอย่างนี้ ทหารหนุ่มกลัดมันที่จากบ้านจากเมือง ห่างไกลไออุ่นจากสาวๆ มานานคงจะใจอ่อนกันบ้างล่ะ (วะ)”

นี่คงเป็นความคิดของฝ่ายปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแน่ พวกเขาจึงใช้ภาพเปลือยกระตุ้นตัณหามาขึ้นหน้าใบปลิวประกบข้างข้อความเชิญชวนให้บรรดาทหารสัมพันธมิตรทิ้งอาวุธยอมแพ้แต่โดยดี

บนใบปลิวดังกล่าวมีข้อความภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ว่า

“ตั๋วขอยุติการรบ

ใช้ตั๋วใบนี้เพื่อรักษาชีวิตของท่าน ท่านจะได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี

จงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้:

1. เดินมายังฝั่งแนวรบของเราพร้อมโบกธงขาว

2. สะพายปืนบนไหล่ซ้าย หันปากกระบอกปืนลงชี้ไปด้านหลัง

3. แสดงตั๋วใบนี้กับทหารยาม

4. พวกคุณจะพากันยอมจำนนกี่คนก็ได้ ด้วยตั๋วใบเดียวกันนี้

กองบัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพญี่ปุ่น

จงร้องเพลงเพื่อสันติภาพ จงภาวนาเพื่อสันติภาพ”

เจอเข้าไปแบบนี้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรหลายๆ คนคงจะรีบก้มเก็บเป็นแน่ ไม่ว่าทหารรายนั้นจะมีเจตนายอมยกธงขาวจริงๆ หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าสมัยนู่นไม่ใช่ยุคอินเตอร์เน็ตที่รูปโป๊จะหากันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวหน้า ซึ่งนั่นคงทำให้ทหารหนุ่มหลายนายอดอยากปากแห้งกันมาพอควร

และในอีกทางหนึ่ง หากทหารที่เก็บใบปลิวนี้ขึ้นมาเป็นพวกที่หมดใจจะรบจริงๆ แต่ถูกจับได้ก่อน ก็อาจจะอ้างว่า “นี่ข้าเพียงแต่เก็บรูปโป๊ไว้ดูคลายเหงาเท่านั้น” ก็ยังได้

ผู้เขียนไม่ได้นั่งนึกเอาเองสนุกๆ เพราะผู้เชี่ยวชาญเขาก็มองเห็นคล้ายๆ กัน เช่น พอล ลิเนบาร์เกอร์ (Paul Linebarger) นักวิชาการที่ชำนาญเรื่องเอเชียตะวันออก และสงครามจิตวิทยาบอกว่า ผู้ชายที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มมักให้ความสนใจในเรื่องเพศเป็นปกติอยู่แล้ว การที่ชาวอเมริกันคุ้นเคยกับภาพที่เผยเนื้อหนังของหญิงสาวแต่กลับต้องมาอยู่ห่างไกลจากเรื่องพวกนี้ จึงกลายเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ชาติศัตรูสามารถนำมาแสวงหาประโยชน์ในการทำลายขวัญกำลังใจได้

การใช้ภาพยั่วตัณหาในการทำสงครามจิตวิทยาไม่ได้มีแต่เฉพาะกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของหลายกองทัพก็เอามาใช้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเยอรมันที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบที่กองทัพญี่ปุ่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างทั้งนี้จากคำกล่าวอ้างของ พ.ท.มาห์มูด คาน ดูร์รานี (Lieutenant Colonel Mahmood Kan Durrani) แห่งกองพลพหวัลปุระ (Bahawalpur Infantry) ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นหน่วยทหารที่รับใช้บริติชอินเดีย แต่ปัจจุบันกลายเป็นกองพลแห่งปากีสถานไปแล้ว

ตอนที่ พ.ท.ดูร์รานี ถูกจับโดยกองทัพญี่ปุ่นในมาลายา เขาอ้างว่าตัวเองไปได้ยินคำพูดของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่มาให้แนะนำเกี่ยวกับการใช้ใบปลิว ซึ่งหนึ่งในคำแนะนำนั้นก็คือ

“บนใบปลิวควรจะมีภาพของหญิงงามหากเป็นไปได้ ด้วยเป็นวิธีการที่ใช้โดยพวกเยอรมันมาก่อนในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เครื่องมือนี้จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่า เหล่าทหารจะพากันหลงใหลมัน และจะช่วยเร่งเร้าตัณหาของพวกเขา ในใจของพวกเขาจะพากันจมปลักอยู่กับความรัก จนเกลียดการต่อสู้”

แต่วิธีการนี้มันได้ผลจริงหรือ? เฮอร์เบิร์ต เอ. ฟรีดแมน (Herbert A. Friedman) อดีตทหารผ่านศึกกองทัพสหรัฐฯ บอกว่า แผนแบบนี้ไม่ได้ผลตามที่ฝ่ายที่ทำใบปลิวคาดหวังไว้หรอก ตรงกันข้าม ภาพโป๊กลับสร้างความฮึกเหิม กระตุ้นให้แต่ละคนแสวงหากันมาครอบครองและอยากให้ฝ่ายตรงข้ามโปรยภาพแบบนี้ลงมาเยอะๆ อีกต่างหาก

เพราะนอกจากจะช่วยให้คลายเหงาแล้ว บางทีเวลาเข้าห้องน้ำแล้วหากระดาษชำระไม่ได้ ใบปลิวพวกนี้ก็สามารถนำมาใช้ทดแทนได้เป็นอย่างดี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ค้นร่องรอยสิ่งเร้ากามารมณ์ชิ้นแรกๆ ในโลก สู่เส้นทาง “หนังโป๊” ยุค AV-เว็บโป๊


อ้างอิง:

“Looking Back: Sex in Psychological Warfare”. Herbert A. Friedman. The British Psychological Society. <https://thepsychologist.bps.org.uk/volume-22/edition-1/looking-back-sex-psychological-warfare>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2560