ผู้เขียน | ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน |
---|---|
เผยแพร่ |
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดสิงห์บุรี ได้นำร่างพระราชบัญญัติควบคุมหมอดูและหมอทำเสน่ห์ยาแฝด เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหวังควบคุม หมอดู และ หมอทำเสน่ห์ยาแฝด ที่กำลังเป็นภัยต่อประชาชนและสังคม
ส.ส.ท่านนี้มีความคิดเห็นว่า หมอรักษาโรคทั่วไปมีกฎหมายควบคุม เพื่อมิให้หมอมีอิสระเกินขอบเขต การออกกฎหมายควบคุมหมอยังทำให้หมอมีคุณภาพอีกด้วย เช่นเดียวกับหมอดู ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุม ท่านเห็นว่าหมอดูก็เป็นหมอที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ ในบางครั้งการทำนายของหมอดูก็อาจเป็นภัยแก่จิตใจต่อประชาชน ยิ่งประเทศไทยมีประชาชนที่ “หย่อนเยาว์” หรือ “ไร้การอบรมศึกษา” จำนวนมากในสมัยนั้น ก็อาจพากันหลงเชื่อคำทำนายทายทักของหมอดู หรือแม้แต่ผู้มีการศึกษาอบรมมาดี ก็ยังหลงเชื่อหมอดูว่าดีกว่า สูงกว่า ความคิดความเห็น หรือความรู้ดีกว่าของตนเอง
“…หมอดูผู้ที่มีคุณวุฑฒิก็พอทำเนา แต่หมอดูชะนิดหมอเดาเอาแต่ได้อย่างนี้ และย้อมเป็นอันตรายแก่ประชาคมและประชาชนด้วย ทั้งหมอเดาก็มีจำนวนทวีขึ้นตามเหตุการณ์ ส่วนหมอเสน่ห์ยาแฝดนั้น ต้องถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน ผู้ที่หลงเชื่อถือโดยตรง มีแต่ฝ่ายโทษ ยังมองหาผลที่จะเป็นคุณไม่ได้เลย…” นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ส.ส.ท่านนี้ได้สะท้อนปัญหาหมอดูในหลายด้าน ในด้านการเมือง เมื่อจะมีการทำรัฐประหารก็มักไปดูหมอก่อนล่วงหน้าว่าจะสำเร็จผลหรือไม่ แม้แต่เพื่อนของท่านคนหนึ่ง ก็เคยไปดูหมอให้ช่วยทำนายเมื่อครั้งปฏิวัติ 2475
แม้แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมอดูก็เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมักมี “หมอกำมะลอ” หรือไม่ก็ “ภิกษุ” ซึ่งอาจเป็นภิกษุจริงหรือปลอมก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ ลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วบอกประชาชนว่าให้เลือกคนนั้นคนนี้ไปเป็นส.ส.แล้วบ้านเมืองจะเจริญ ภาษีอากรก็จะเลิกได้ ข้าวปลานาเกลือก็เจริญผลิดอกออกผล ถือเป็นการหลอกลวงประชาชน โดยใช้หมอดูเป็นเครื่องมือหวังผลประโยชน์บางอย่าง
ด้านศาสนา นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา ให้เหตุผลว่าหมอดูเป็นเรื่องขัดต่อพุทธศาสนา กล่าวว่า “…หมอดูนั้นถ้าพูดถึงในทางสาสนาแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นการผิดพุทธวัจนะโดยตรง ตามพุทธประวัติไม่มีเลยที่จะให้พระภิกษุสามเณรเป็นหมอดู นั่นเป็นการขัดต่อพุทธศาสนาโดยตรง…”
ด้านการศึกษา เมื่อถึงเวลาสอบไล่ ผู้ปกครองนักเรียนหรือตัวนักเรียนเองไปดูหมอ ให้ช่วยทำนายว่าจะสอบได้หรือไม่ หากทำนายว่าสอบได้ก็กระหยิ่มยิ้มย่อง อิ่มอกอิ่มใจ จนชะล่าใจไม่จับตำราหนังสืออ่าน หากทำนายว่าสอบไม่ได้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเสียอกเสียใจ
ด้านเศรษฐกิจ นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา ยกตัวอย่างเรื่องประชาชนในแถบชนบท เมื่อโคกระบือสูญหายไม่รู้จะไปตามหาที่ไหน ก็ขอให้หมอดูช่วยเหลือ บ้างบอกว่าจะได้คืนก็ออกตามหา บ้างบอกไม่ได้คือก็หมดอาลัย มิหนำซ้ำหากหมอดูบอกลักษณะของโจรโขมยว่ามีลักษณะอย่างนั้น ๆ ก็เกิดสงสัยคนบ้านใกล้เรือนเคียง หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน ก็เกิดกระทบกระทั่งกินแหนงแคลงใจกันอีก จนไม่ไว้วางใจกัน สร้างผลเสียต่อสังคม
ดังนั้น นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา จึงเสนอเก็บภาษีหมอดู โดยให้เสียภาษีปีละ 4 บาท และจำกัดวิชาดูหมอเฉพาะแค่การคำนวนวันเดือนปีเกิดเท่านั้น ซึ่งในความคิดของ ส.ส.ท่านนี้เห็นว่าจะช่วยกำจัดหมอเดาออกไปได้ทั้งหมด
ส่วนหมอเสน่ห์ยาแฝดนั้นค่อนข้างซับซ้อนกว่าหมอเดา จากการที่ นายอำไพ อิศรางกูร ณ อยุธยา ลงพื้นที่เข้าไปสัมผัสกับแวดวงหมอเสน่ห์ยาแฝดมาราวครึ่งปี ท่านตั้งข้อสังเกตว่า หมอเสน่ห์ยาแฝดมีเล่ห์เหลี่ยมมากมายหลายประการ เห็นว่าควรจะควบคุม แม้ว่าผลในทางปฏิบัติจะจับมาคุมขังลงโทษไม่ถนัดนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม นายชอ้อน อำพล ส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่า “…เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นั้นเป็นหมอดู ผู้นั้นเป็นหมอเดา เพราะการเป็นหมอดูนั้นมีวิธีการหลายอย่าง มีแบบอย่างต่าง ๆ กัน และทั้งมีตำหรับตำราด้วย เช่น ดูทางไพ่ป๊อก ดูทางกษิณ ดูทางลมอาณาปาณ คือทางหายใจเข้าออก ดูทางวันเดือนปี ดูทางฤกษ์ยาม ดูชาตาราษี และทางยกเมฆ ตลอดจนดูทางดาราศาสตร์…”
ส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ เห็นว่าร่างกฎหมายยังมีจุดอ่อนในเรื่องการควบคุม ตรวจสอบ และสอบสวนหมอดู ทั้งกฎหมายยังขาดความศักดิ์สิทธิ์ หากผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ไปจะทำให้ขายหน้ามากกว่า “…เพราะเมื่อการควบคุมเราทำไม่ได้ ก็ไม่เกิดผลศักดิ์สิทธิอย่างไร แล้วเมื่อผลศักดิ์สิทธิ์ไม่มีแล้ว ก็จะถือว่าเป็นกฎหมายไม่ได้ และจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใดให้แก่ประเทศชาติเลย…”
ส่วนหมอเสน่ห์ยาแฝดนั้น นายชอ้อน อำพล เห็นว่ามีกฎหมายลักษณะอาญารองรับอย่างรัดกุมอยู่แล้วก็ให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องเองได้
ที่สุด ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงให้มีการลงมติ ผลคือ ส.ส.ส่วนน้อยยกมือเห็นด้วย ส.ส.ส่วนมากยกมือไม่เห็นด้วย ร่างพระราชบัญญัติควบคุม หมอดู และ หมอทำเสน่ห์ยาแฝด จึงเป็นอันตกไป
อ่านเพิ่มเติม :
- จอมพล สฤษดิ์ กับ 2 หมอดูประจำตัว ที่ดูแลด้านโหราศาสตร์
- รู้จักโหร-หมอดู ผู้กำหนดฤกษ์สำคัญให้ผู้นำ ใครคำนวณฤกษ์รัฐประหาร 2490
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2563