“พระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เรื่อง พระโกศพระบรมอัฐิสำหรับพระมหากษัตริย์”

นอกจากพระโกศทองใหญ่ที่ใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคตแล้ว หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบรมอัฐิจะได้รับการบรรจุไว้ในพระโกศพระบรมอัฐิที่สร้างขึ้นตามอย่างพระโกศทองใหญ่แต่มีขนาดย่อมกว่า การสร้างพระโกศพระบรมอัฐิที่ถ่ายอย่างมาจากพระโกศทรงพระบรมศพ คงมีมาแล้วอย่างช้าก็ตั้งแต่ครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในกระบวนเชิญพระบรมอัฐิและพระสรีรังคารที่คัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงภาพพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยาน

พระโกศพระบรมอัฐิที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มักสร้างซ้อนกัน 2 ชั้น “ชั้นใน” เป็นถ้ำศิลาหรือลองศิลา ทำจากหินอ่อน สำหรับเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิในลักษณะเดียวกับพระลองทรงพระบรมศพ “ชั้นนอก” เป็นพระโกศแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎเช่นเดียวกับพระโกศทองใหญ่ ทำจากทองคำลงยาประดับเพชรพลอย เครื่องประดับ

ทั้งดอกไม้เอว ดอกไม้ฝา พู่และเฟื่อง รวมไปถึงดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ทำจากเงินประดับเพชรเช่นเดียวกับที่ประดับพระโกศทองใหญ่ ยอดพระโกศพระบรมอัฐิยังสร้างไว้ต่างกัน 2 แบบ ถอดเปลี่ยนสลับได้ตามวาระการใช้งาน กล่าวคือ ตามปกติเมื่อประดิษฐานบนพระวิมานในหอพระบรมอัฐิ จะสวมยอดปักดอกไม้เพชรพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อเมื่อเชิญประดิษฐานในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานจะถอดยอดนั้นออกแล้วปักพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรตามพระบรมราชอิสริยยศ เป็นฉัตรทองคำฉลุลาย 9 ชั้น ยอดพรหมพักตร์ ภายในกรุผ้าขาว เช่นที่ใช้ทำระไบเศวตฉัตรทุกชั้น

การสร้างพระโกศพระบรมอัฐิสำหรับพระมหากษัตริย์ ยังมีความแตกต่างกันระหว่างพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ และที่ไม่ทรงมีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ด้วย ตามพระราชนิยมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสไว้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ดังนี้

เรื่องพระโกษฐ์พระบรมอัษฐิมีพระราชกระแสของทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 5) ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาฉบับ 1 ว่า ทูลกระหม่อมปู่ (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงแสดงพระราชนิยมไว้ว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีพระราชโอรสเปนพระเจ้าแผ่นดินสืบสันตติวงศ์สนองพระองค์ ให้ใช้พระโกษฐ์เปนกุดั่นประดับพลอย แต่ถ้าเปนพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะพระองค์ให้ใช้เปนลงยาราชาวดี. ที่ทูลกระหม่อมปู่ทรงตั้งเกณฑ์ขึ้นเช่นนี้ พอเดาได้ว่าทรงมุ่งหมายสำหรับพระโกษฐ์พระบรมอัษฐิแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น, แต่ครั้นจะมีพระราชดำรัสออกมาตรงๆ ก็กระไรๆ อยู่. จึ่งได้มีพระราชกระแสรอย่างที่ปรากฏอยู่นั้น.” (ราม.วชิราวุธ 2545, 135 – 136) [ผู้เขียนอธิบายความในวงเล็บ]
พระราชนิยมดังกล่าวซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่พระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา อาจสอดคล้องกับการที่พระโกศพระบรมอัฐิ

รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 สังเกตได้ว่าองค์พระโกศเป็นทองคำลงยา ด้วยไม่ทรงมีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์

ขณะที่พระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 องค์พระโกศเป็นทองคำประดับพลอยแบบที่เรียกว่ากุดั่น ด้วยทรงมีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ จึงอาจแสดงให้เห็นว่าพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ดังกล่าวยังคงได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมาในราชสำนัก ทั้งนี้ ยกเว้นพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 6 ซึ่งปรากฏการประดับเพชรพลอยเป็นกุดั่นแต่ก็มีปริมาณน้อยกว่าที่ปรากฏในพระโกศพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 5

(บทความจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)