เส้นทาง “แรงงานต่างชาติ” ที่เริ่มจากการกวาดต้อนไพร่พล จนถึงการจ้างงาน

ภาพประกอบเนื้อหา - ชาวพม่าส่วนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

การใช้แรงงานต่างชาติของไทยมีมาแต่ในอดีต โดยแรงงานดังกล่าว มักเป็นแรงงานเชลยที่เกิดการกวาดต้อนผู้คนเมื่อชนะศึกสงคราม เพื่อเข้ามาเป็นแรงงาน หรือแรงงานในระบบไพร่ที่สังกัดมูลนายต่างๆ ซึ่งมีการบันทึกในพงศาวดาร

ดังเช่นสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงนั้น การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง, ประตูและป้อมปราการของพระราชวัง, กำแพงพระนคร ฯลฯ บรรดาฝีมือช่างและแรงงานต่างๆ นอกจากแรงงานชาวไทยแล้ว ก็มีแรงงานชาวต่างชาติเป็นชาวเขมร (จาม) และลาว อีกด้วย

โดยแรงงานเขมรถูกเกณฑ์เข้ามาขุดคลองหลายแห่ง เช่น คลองคูพระนครด้านตะวันออก (คลองรอบกรุง), ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง (คลองข้างวัดราชบพิธ, คลองข้างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา), ขุดคลองมหานาค ฯลฯ ส่วนแรงงานลาวก็เกณฑ์มาขุดรากก่อกำแพงพระนคร และสร้างป้อมรอบพระนคร

ส่วนการใช้แรงงานต่างชาติในลักษณะการ “ว่าจ้าง” เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2-3 เมื่อชาวจีนที่อพยพหนีภัยธรรมชาติ ความอดยากในประเทศตนเอง เข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในไทย ทั้งที่เป็นกุลี หรือแรงงานอิสระ รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไป, เป็นแรงงานภาคเอกชนตามโรงเรื่อยไม้ โรงหีบอ้อย และเป็นแรงงานรับจ้างในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของราชการ เช่น การขุดคลองแสนแสบ คลองบางขุนเทียน ฯลฯ

ถึงรัชกาลที่ 4 เศรษฐกิจของประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก เพราะมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก เช่น ชาวยุโรปเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ชาวอินเดียเข้ามาค้าขาย ฯลฯ

ต่อมา เมื่อมีชาวต่างชาติเข้าทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัชกาลที่ 6 ทรงห่วงว่า แรงงานไทยจะถูกแย่งงงานไปเสียหมด ดังนั้น ในปี 2454 โปรดให้ตรากฎหมายเพื่อควบคุมแรงงานและสภาพการทำงาน, ปี 2459 ตรากฎหมายกำหนดให้กรรมกรลากรถ ต้องจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน และมีข้อปฏิบัติว่าต้องมีอายุระหว่าง 18-40 ปี พูดภาษาไทยได้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานแรงงานและควบคุมอาชีพแรงงานต่างชาติฉบับแรกๆ ของไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รัฐบาลได้มีการตรากฎหมายหลายฉบับเพื่อจำกัดอาชีพคนต่างด้าวไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาสงวนอาชีพสำหรับคนไทย พ.ศ. 2483, พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2484 เพื่อสงวนอาชีพและวิชาชีพบางประเภทไว้สำหรับคนไทย และกำหนดพื้นที่ที่ห้ามคนต่างชาติประกอบอาชีพ, พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2485 ที่มีกำหนดให้โรงงานต้องจ้างคนไทยตามจำนวนหรือตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด

ปี 2490 รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายชาตินิยม โดยมีการออกกฎหมายบังคับให้โรงสี และกิจการก่อสร้างที่รับงานของรัฐ มีแรงงานชาวไทยไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ทั้งมีการควบคุมอย่างเข้มงวด และใช้มาตรการรุนแรงกับหัวหน้ากรรมกรชาวจีนที่ก่อเหตุนัดหยุดงานด้วยการเนรเทศกลับประเทศ, การออกกฎหมายควบคุมจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย และขึ้นค่าธรรมเนียมภาษีคนต่างด้าว ด้วยขณะนั้นมีแรงงานชาวจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ปี 2499 รัฐบาลออก พระราชบัญัติสงเคราะห์อาชีพแก่คนไทย พ.ศ. 2499 กำหนดให้เจ้าของกิจการในกิจการที่มีคนงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องจ้างแรงงานสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออก ประกาศคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 52 ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2502 กำหนดให้สถานประกอบอาชีพ 9 ประเภท จะต้องมีสัดส่วนแรงงานไทยมากกว่าแรงงานต่างชาติ

ปี 2515 ยกเลิก พระราชบัญญัติช่วยอาชีพและวิชาชีพ พ.ศ. 2484 แล้วออก ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 (ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515) มาใช้ควบคุมการทำงานของแรงงานต่างชาติแทน โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานในไทยก่อนวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้บังคับใช้ (ก่อน 14 มีนาคม 2516) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ได้ใบอนุญาตทำงานตลอดชีพให้ แต่แรงงานต่างชาติที่เข้ามาหลังกฎหมายประกาศใช้ต้องยื่นขออนุญาตตามหลักเกณฑ์กฎหมายกำหนด  เช่น มีความรู้ความสามารถ และเป็นอาชีพที่คนไทยยังทำได้ไม่ดีพอ

ปี 2516 ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างชาติทำขึ้นมาบังคับใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดงานอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างชาติทำ พ.ศ. 2516 ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างชาติทำ 39 อาชีพ เพื่อคุ้มครองคนไทยไม่ให้ถูกคนต่างชาติแย่งอาชีพ แต่ปรากฎว่ามีคนต่างชาติลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก เช่น ญวนอพยพ ลักลอบทำงานอยู่ในท้องที่จังหวัดต่างๆ โดยเสรี

ปี 2521 รัฐบาลไทยเริ่มมีนโยบายอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และพ.ร.บ. การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 อนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ แต่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ ปี 2535

โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตาก ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ฯลฯ หลังจากนั้นก็มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็น 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชาในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น จังหวัดที่มีการประกอบกิจการประมงทะเล

คลิกอ่านเพิ่มเติม : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดแรงงานอีสานอพยพ “ชั่วคราว” เข้ากรุงเทพฯ


ข้อมูลจาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2548

สุภาวดี ไชยโชค. ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ, สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2562

ภัคสิริ แอนิหน. “แรงงานต่างด้าว: การบริหารและจัดการในประเทศไทย” ใน, วารสารศิลปการจัดการ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2561, มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2563