“สกปรกเหมือนตลาดท่าจีน” รับสั่งของร.5 ที่กรมดำรงฯ ละอายที่ทำให้กริ้ว

รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ถนนถวาย” ปี 2448 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในที่ประชุมเสนาบดีคราวหนึ่ง รัชกาลที่ 5 รับสั่งเปรียบเทียบเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ (อําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) ว่า “สกปรกเหมือนกับตลาดท่าจีน” [ตลาดบ้านท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร]

เนื่องจากการเสด็จประพาสจากบางปะอินไปเพชรบุรี เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2447 ที่ขากลับผ่านสมุทรสาคร ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในเรื่องเสด็จประพาสต้นว่า

เสด็จมาถึงท่าจีน พอเวลาบ่ายแวะขึ้นซื้อเสบียงที่ตลาดบ้านท่าฉลอม แล้วเรือกระบวนใหญ่ยังมาไม่ถึง จึงไปพักทําครัวเย็นที่วัดโกรกกราก

วันที่ 31 กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาคร ขึ้นไปตามลําน้ำไปพักทําครัวเข้าที่วัดบางปลา”

กรรมกรชาวจีนย่านท่านฉลอม กำลังรอยกเข่งใส่ปลาขึ้นรถไฟ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ที่ตลาดบ้านท่าฉลอมนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสกปรกของตลาดจึงเป็นที่มารับสั่งข้างต้น รับสั่งที่ทำให้ขุนนางราชสำนักที่ได้ยิน และไม่ได้ยินด้วยตนเอง หากเกี่ยวข้องก็ไม่อาจนิ่งเฉยได้

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ (ในตราน้อยที่ 20/3990) ถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร ความตอนหนึ่งว่า

ฉันนั่งอยู่ในที่ประชุมรู้สึกละอายใจมาก ที่เมืองนครเขื่อนขัณฑ์จะสกปรกหรือสะอาด ก็ไม่ใช่ธุระของเรา [นครเขื่อนขันธ์ ขึ้นกับกระทรวงนครบาล เมืองท่าจีนหรือท่าฉลอมขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย] แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีน ซึ่งสกปรกจริงสําหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเทียบที่อื่น ที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ก็เสมือนกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน

การที่เป็นดังนี้จึงรู้สึกร้อนใจมาก เห็นว่าถ้าไม่คิดอ่านปัดกวาดจัดถนนในตลาดท่าจีนให้หายโสโครกแล้ว จะเสียชื่อตั้งแต่ตัวฉันตลอดจนผู้ว่าราชการเมือง แลกํานันผู้ใหญ่บ้านในที่นั้นเฝ้าเห็นจะไม่ได้

ฉันมีความร้อนใจอย่างนี้ จึงได้มีตราฉบับนี้มายังพระยาพิไชยสุนทร เมื่อได้รับตราฉบับนี้แล้วขอให้เรียกกํานันผู้ใหญ่บ้านที่ตลาดท่าจีนมาประชุมอ่านตราฉบับนี้ให้ฟัง แลปรึกษากันดูว่าจะควรทําอย่างไร อย่าให้พระเจ้าอยู่หัวทรงติเตียนได้”

พระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาครในเวลานั้น กราบทูลตอบมาว่า “ที่ข้าพระพุทธเจ้าไปเป็นผู้ว่าราชการเมือง มิได้จัดทําให้สะอาด ทิ้งไว้จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติเตียนดังนี้ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ” พร้อมกับทูลเสนอแผนปฏิบัติการปรับปรุงสภาพตลาดให้หาย “สกปรก” โดยจะจัดหาอิฐมาปูถนนตลาดท่าฉลอมตลอดทั้งสาย

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งว่า “สําเร็จเมื่อใดจะออกไปดู”

ชาวบ้านจึงเรี่ยไรเงินกันมอบให้ทางราชการ จัดนักโทษมาปูอิฐถนนตามแผนงานที่กำหนดไว้ ถึงเดือนมกราคม ปี 2448 ถนนยาว 11 เส้น 14 วา 2 ศอก ก็ปูอิฐสําเร็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จออกไปตรวจงานโดยพระองค์เอง เมื่อทรงเห็นว่าเรียบร้อยดี ก็กราบบังคมให้ทรงทราบ

18 มีนาคม ปี 2448 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดําเนินทรงเปิดถนนที่ตลาดท่าฉลอม โดยรถไฟจากสถานีคลองสานไปสถานีมหาชัย แล้วจึงเสด็จฯ ประทับเรือข้ามไปยังท่าฉลอม ดังพระราชดํารัสตอนหนึ่งว่า [จัดย่อใหม่และเน้นคำโดยผู้เขียน]

“…เรามีความพอใจที่ได้ทราบตามคํากล่าวบัดนี้ แลได้เห็นแก่ตาว่าความประสงค์ของเรา แม้แต่เป็นคําปรารภก็เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลายที่จะให้เป็นไปสมความประสงค์ เพราะความประสงค์เรามีอย่างเดียว แต่จะให้ประชาราษฎร์ของเราเป็นศุขทั่วหน้า

การที่ท่านทั้งหลายทําตามนี้ไม่เฉพาะแต่ที่จะได้ความพอใจของเรา แต่เป็นความสุขสําราญและการสะดวกแก่ชนทั้งหลายด้วย การที่จะรักษาถนนอันราษฎรทั้งหลายได้ออกทุนทําครั้งนี้ ถ้าจะทิ้งไว้คอยซ่อมเมื่อชํารุดมากก็จะเหมือนอย่างทําใหม่ และยังจะต้องรับความลําบากก่อนเวลาที่ได้ซ่อมใหม่ไปช้านาน

เพราะฉะนั้น เราได้ยอมยกภาษีเรือโรงร้านเฉพาะตําบลท่าฉลอมนี้ ให้เป็นเงินรักษาถนนให้สะอาดบริบูรณ์อยู่เสมอ และจัดการให้เป็นที่สะดวกตามทุนจะทําได้ให้ผู้ซึ่งอยู่ในท้องที่จัดการรักษาเอง

เมืองนี้เป็นผู้ที่ได้พยายามทําถนนโดยลําพังราษฎรในท้องที่เป็นครั้งแรก คงจะจัดการรักษาถนนตามที่อนุญาตให้ทําได้สําเร็จดีเป็นครั้งแรกเหมือนกัน จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เมืองอื่นสืบไป เราขอตั้งชื่อถนนนี้ว่า “ถนนถวาย” เราสั่งให้เปิดถนนนี้ให้มหาชนเดินไปมาเป็นสําเร็จ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป ขอให้ถาวรมั่นคงเป็นประโยชน์ยืนยาว แลขอให้ชนทั้งหลายอันอยู่ ณ ที่นี้ จงมีความสุขสวัสดิ์ทั่วกันเทอญ…”

ชาวบ้านท่าฉลอม สมุทรสาคร ตั้งโต๊ะวางเครื่องบูชาแบบจีน รอรับเสด็จ รัชกาลที่ 5 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในโอกาสนี้ได้ประกาศพระบรมราชโองการ ให้จัดตั้ง “สุขาภิบาลท่าฉลอม” เป็นสุขาภิบาลในหัวเมืองแห่งแรกของประเทศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ปี 2449 เป็นต้นไป

เมื่อทรงมีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม และทรงประกอบพิธีเปิดถนนถวายแล้ว จึงเสด็จพระราชดําเนินมาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พลับพลาหน้าป้อมวิเชียรโชฎก หลังจากนั้นจึงเสด็จพระราชดําเนินกลับกรุงเทพฯ โดยรถไฟจากสถานีมหาชัยสู่สถานีคลองสาน

 


ข้อมูลจาก

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรสาคร, จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2563