ทีวีไทยถ่ายทอด “APOLLO 11” ลงจอดบนดวงจันทร์ มีค่าใช้จ่ายกี่บาท?

ภาพถ่ายที่เผยแพร่โดย NASA แสดงให้เห็นนักบินอวกาศ Edwin Aldrin เคารพธงชาติสหรัฐอเมริกาบนพื้นผิวดวงจันทร์ ระหว่างภารกิจบนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (ภาพถ่ายโดย NASA / AFP)

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ยาน “อะพอลโล 11” ขององค์การนาซาลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ นำมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก มีการถ่ายทอดการลงจอดให้รับชม ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีการถ่ายทอดห้วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งนี้

ช่อง 4 บางขุนพรหม และช่อง 7 รับหน้าที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียม โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 507,192 บาท หรือประมาณ 24,152 ดอลลาร์สหรัฐ (ช่อง 4 บางขุนพรหม รับภาระ 295,218 บาท และช่อง 7 รับภาระ 211,974 บาท)

ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น

  • ค่าลิขสิทธิ์ 500 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ค่าถ่ายทอดขาขึ้น (Uplink) 4,422 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ค่าถ่ายทอดขาลง (Downlink) 19,230 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าถ่ายทอดขาลงนี้จ่ายให้กับ “กรมไปรษณีย์โทรเลข” และเมื่อหักค่าเช่าช่วงดาวเทียมจำนวน 2,162.34 ดอลลาร์สหรัฐ จะเหลือรายได้สุทธิ 17,067.66 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีผู้อุปถัมภ์สนับสนุนให้ทั้งหมด รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องช่วยสนับสนุนเงินส่วนเลย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้สนับสนุนและร่วมมือกับสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ตามที่จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ว่า

“1. ให้ความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกจัดการบรรยายและอภิปรายเรื่องดวงจันทร์และการเดินทางของอะพอลโล 11 2. ให้ความร่วมมือกับสถานีไทยโทรทัศน์ร่วมอภิปรายการศึกษาเรื่องดวงจันทร์และการเดินทาง

3. ให้ความร่วมมือกับชมรมวิทยาศาสตร์จัดแสดงนิทรรศการและการบรรยายเรื่องดวงจันทร์และโครงการอวกาศสหรัฐ 4. ให้ความร่วมมืิกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ จัดบรรยายเรื่องดวงจันทร์และอะพอลโล 11 ที่ศาลาวันเด็กเป็นเวลา 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการจัดการอภิปรายเพื่อเสนอผลการเดินทางไปยังดวงจันทร์ครั้งนี้ให้ประชาชน นิสิต และนักศึกษาได้ทราบ ตามสถาบันต่าง ๆ อีก…”

จอมพล ถนอม กิตติขจร กล่าวว่า “ประโยชน์อื่นที่ประเทศไทยได้รับอันเป็นคุณค่ามหาศาลก็คือ ประชาชนชาวไทยที่ชมเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งจะยังประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ต่อไป…”

ในยุคที่ข้าวแกงราคาประมาณ 6 สลึง ถึง 2 บาท เทียบกับค่าใช้จ่ายการถ่ายทอดลงจอดบนดวงจันทร์ จำนวน 507,192 บาท คงเป็นเงินที่มีมูลค่ามหาศาลมากในยุคนั้น แต่ก็ยังประโยชน์ต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และอวกาศในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวมาก ถึงขนาดที่นักเรียนในจังหวัดสุรินทร์ เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งถึง นีล อาร์มสตรอง ชื่นชมและเชิญมาเยือนที่โรงเรียน

“ความสำเร็จอันใหญ่ยิ่งในการที่มนุษย์อวกาศของสหรัฐทั้งสามเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้นำโลกเสรี ทั้งเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับเรา เราจึงร่วมชื่นชมยินดีในความสำเร็จครั้งนี้ด้วย…” จอมพล ถนอม กิตติขจร กล่าว


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2563